คนไทยจำนวนหนึ่ง หอบฝันพร้อมแรงกาย ไปขายแรงงานแลกค่าตอบแทนที่สูงกว่าในต่างแดน ด้วยความหวังว่า ตัวเองและคนที่รักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งได้ยินได้เห็นจากคนรู้จัก ว่าไปมาแล้ว ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ฝันนั้น…ยิ่งหอมหวานจูงใจ แต่โจทย์สำคัญคือ จะไปอย่างไรให้ไกลจากการ “เสี่ยงไปเอาดีดาบหน้า” เป็นแรงงานคุณภาพที่สร้างทั้งเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศบ้านเกิด
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์พิเศษว่า ปัจจุบันวิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย มีทั้งสิ้น 5 วิธี คือ 1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 2.กรมการจัดหางานจัดส่ง 3.เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน “20 ปีที่แล้วมี ‘ขบวนการสายนายหน้า’ ที่หลอกหรือชักชวนไปทำงานแบบผิดกฎหมาย เป็นการหลอกโดยคนต่อคน แต่ปัจจุบันมิจฉาชีพนิยมใช้วิธีโฆษณาทางโซเชียล โพสต์ข้อความจูงใจด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริง ทั้งยังมีรูปภาพสถานที่ ให้เบอร์ติดต่อส่วนบุคคล บ้างก็ใช้เป็นชื่อเล่น หากเจอแบบนี้สันนิษฐานได้เลยว่าหลอกลวง” นายไพโรจน์กล่าว
อธิบดีกรมการจัดหางานยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากเป็นการรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ต้องเป็นการรับสมัครงานโดยบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน มีการระบุชื่อ เลขที่ใบอนุญาต ซึ่งสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สถิติการเดินทางของคนไทยไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มเป็นบวก ตั้งแต่หลังการระบาดของโรคโควิด-19 เรื่อยมา โดยในเดือน ม.ค.-ก.ค.66 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย ผ่าน 5 วิธีเดินทาง 42,604 คน และมีกลุ่ม Re-entry ซึ่งกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังจากที่ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยวีซ่าที่ถืออยู่ยังไม่หมดอายุ 24,353 คน รวมทั้งสิ้น 66,957 คนส่งรายได้กลับประเทศ 148,335 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่มีสถิติแรงงานเดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอิสราเอล“ข้อดีของการเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย คือ ได้นวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศที่ไปทำงานกลับมา และนวัตกรรมเหล่านั้น ก็จะถูกนำมาต่อยอดเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานในเจเนอเรชั่นใหม่ที่จะไปทำงานด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว
อธิบดีกรมการจัดหางาน ยังฉายภาพให้เห็นข้อดีของการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่า จะทำให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ มีสิทธิสมัครสมาชิก ‘กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ’ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของประเทศปลายทาง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ต้องทำงานแบบหลบซ่อน ขณะที่การเดินทางไปอย่างผิดกฎหมาย นอกจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานแล้ว ยังถูกนายจ้างเอาเปรียบ และอาจร้ายแรงถึงขั้น ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ “ปัญหาที่เราพยายามแก้ไขอย่างเข้มข้นคือ ‘แรงงานผีน้อย’ ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีผลกับ
การพิจารณาให้โควตาของไทย เพราะมีเกณฑ์พิจารณาจากรายงานปัญหาแรงงานเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วย แต่โชคดีที่ปีนี้เราได้โควตา 4,400 คน และจัดส่งไปทำงานได้ถึง 4,497 คน (เกินโควตา) แสดงว่าทางการเกาหลีมองแล้วว่า ปัญหาผีน้อยจากบ้านเราลดน้อยลง”
ปัจจุบัน กรมการจัดหางานมุ่งมั่นเพิ่มโอกาส ขยายตลาดแรงงานใหม่ โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เช่น กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดิอาระเบีย 2 ฉบับ ได้แก่ฉบับแรงงานทั่วไป และแรงงานทำงานบ้าน ตลอดจนทำบันทึกความเข้าใจด้านการส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาลกับเกาหลีใต้ (Seasonal Worker) รวมถึง ความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศกับ รัฐอิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเดินทางไปทำงานต่างประเทศ อธิบดีกรมการจัดหางานแนะนำว่า ควรเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศ หมั่นพัฒนาทักษะฝีมือในตำแหน่งงานที่จะทำ รวมถึงทักษะภาษา เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจถึงความต้องการของนายจ้างต่างประเทศได้ ต่อมาคือ ความพร้อมด้านค่าใช้จ่าย เช่น ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจโรค ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญก่อนไปทำงาน ต้องศึกษาข้อมูลของประเทศที่จะไป โดยเฉพาะข้อกฎหมาย ตลอดจนความรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียที่แฝงไปด้วยกลลวงของมิจฉาชีพสามารถศึกษารายละเอียดการเดินทางได้ ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th สายด่วน 1506 กด 2 หรือ 1694 และสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือผ่านเว็บไซต์ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่ toea.doe.go.th
‘นี่คือเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในต่างแดนที่กรมการจัดหางานการันตีได้ว่า ‘ไม่ขายฝัน’ อย่างแน่นอน!’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"พิพัฒน์” ลุยเพื่อแรงงาน ถกประกันสังคมเอสโตเนีย ยกระดับบริการให้สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี
อย่าหลงเชื่อ! มิจฉาชีพใช้โซเชียลหลอกไปทำงานฟาร์มออสเตรเลีย
รัฐบาลเตือนภัยอย่าหลงเชื่อกลุ่มมิจฉาชีพใช้โซเชียลหลอกทำงานฟาร์มออสเตรเลีย ย้ำรัฐบาลออสเตรเลีย ยังไม่มีความร่วมมือกับไทยด้านการส่งแรงงานและยังไม่มีนโยบายการออกวีซ่าเกษตรให้กับคนไทย
"พิพัฒน์“ รุก! เพื่อแรงงาน เพิ่มรายได้กองทุนฯ พบบริษัทจัดการสินทรัพย์สวีเดน กางแผนผลตอบแทนระยะยาวเฉลี่ย 8 -10% ต่อปี เพื่อกองทุนยืน
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี
‘พิพัฒน์’ห่วงแรงงานไทย นำคณะ ถก ! ระบบบำนาญสวีเดน สร้างมาตรฐาน พัฒนาบริการผู้ประกันตน รองรับสังคมสูงอายุ
มื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางมารศรี ใจรังษี ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม คณะกรรมการประกันสังคม และที่ปรึกษา (ชุดที่ 14) รวมถึงผู้บริหาร
'พิพัฒน์' ย้ำสิทธิประโยชน์อาชีพอิสระ มอบทุนซื้อบ้าน เงินทดแทนเจ็บป่วย เงินทุพพลภาพตลอดชีวิต บำเหน็จชราภาพ ด้วยประกันสังคมมาตรา 40
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นรุ่นแรก เป็นจังหวัดซึ่งมีประชากรจำนวนมากที่สุดในภาคใต้ ประกอบอาชีพอิสระกว่า 500,000 คน
เคาะ 'รองปลัดคลัง-อธิบดี กสร.' นั่งบอร์ดไตรภาคี ลุยขึ้นค่าแรง 400 ของขวัญปีใหม่
'กระทรวงแรงงาน' เตรียมเสนอชื่อ 'ตัวแทน กสร.-รองปลัดคลัง' นั่งบอร์ดไตรภาคี ขง ครม. 19 พ.ย. เดินหน้าขึ้นค่าแรง 400 บาท เป็นของขวัญปีใหม่