เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2566 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ณ ศูนย์ผลิตและการบริการชีวินทรีย์เกษตรและศูนย์สาธิตและพัฒนานวัตกรรมเกษตรเทิดพระเกียรติ ร.9 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับทุนโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) โปรแกรม “Proof of Concept” จากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (เทดฟันด์) มี น.ส.ปรารถนา อัตตะมณี กรรมการผู้จัดการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด นำชมโครงการ
น.ส.ปรารถนาฯ กรรมการบริษัท วลัยไบโอคอนโทรล จำกัด กล่าวว่า โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ชีวภัณฑ์มาตรฐานสากล ที่เทดฟันด์ให้ทุนสนับสนุนเป็นชีวภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่สุดในปัจจุบัน ทั้งพืชขาดธาตุอาหาร ความเสียหายจากการเข้าทำลายของศัตรูพืช การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมทางการเกษตรที่เกิดจากการดูแลพืชไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตพืชด้อยคุณภาพและลดปริมาณลงเรื่อย ๆ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการขาดทุนและขาดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพของเกษตรกร โครงการไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ภายใต้การดูแลและบ่มเพาะโดยเครือข่ายร่วมพัฒนาผู้ประกอบการ (TED Fellow) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงผลิตชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส มาแก้ปัญหาดังกล่าว โดยนำเชื้อและสารอาหารที่มีความสำคัญต่อการปลูกพืช 5 องค์ประกอบมาผสมกันได้แก่ 1. เชื้อรา Trichoderma asperellum NST-009 สำหรับควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา 2. เชื้อรา Metarhizium anisopliae WU-003 สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยเน้นกลุ่มด้วงและหนอนผีเสื้อ 3. เชื้อรา Beauveria bassiana WU-002 สำหรับควบคุมแมลงศัตรูพืชโดยเน้นกลุ่มเพลี้ย ไรแดง และหนอนผีเสื้อ 4. ธาตุอาหารรองที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต (แคลเซียมและแมกนีเซียม) เสริมความแข็งแรงของผนังเซลล์พืช และเพิ่มศักยภาพกลไกของเซลล์พืชในการต่อสู้กับศัตรูพืช และ 5. สารเสริมความแข็งแรงและกระตุ้นการงอกของสปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ ทำให้สปอร์เชื้อราปฏิปักษ์ทั้ง 3 ชนิด มีอัตราการงอกของสปอร์สูงขึ้น (ความมีชีวิตรอด) และลดระยะเวลาของการงอกของสปอร์ช้าลง
“ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส ใช้กับพืชได้ทุกชนิดเพราะผ่านการทดสอบ โดยศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ว่าสามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราได้ถึง 31 โรค เช่น โรครากเน่าโคนเน่า โรคแอนแทรคโนส โรคเน่าระดับดิน โรคใบจุด และโรคใบไหม้ เป็นต้น ในพืช 14 ชนิด เช่น ทุเรียน พืชตระกูลส้ม ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าว พืชผักต่าง ๆ และไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้ 12 ชนิด เช่น ด้วงแรดมะพร้าว เพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง ไรแดง และหนอนผีเสื้อต่างๆ เป็นต้น และมีธาตุอาหารที่มีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชทุกชนิด” น.ส.ปรารถนาฯ กล่าว
สำหรับ วิธีการใช้งานรูปแบบผงสปอร์ ในพื้นที่แปลงปลูกพืชทำได้ง่ายๆ โดยผสมน้ำตามอัตราที่ฉลากกำหนดพร้อมทั้งคนให้เข้ากัน ก่อนพ่นบนต้นพืชทั้งต้นที่ต้องการป้องกันความเสียหายจากศัตรูพืช และต้นที่เป็นโรค โดนแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย หรือต้นไม่สมบูรณ์เพราะขาดธาตุอาหาร โดยพ่นให้ชุ่มทั่วต้นพืช ในช่วงเวลาตอนเย็น จะช่วยป้องกันการเกิดโรค ป้องกันแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ป้องกันการขาดธาตุอาหาร และรักษาต้นพืชที่เป็นโรค โดนแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย และแสดงอาการขาดธาตุอาหารได้ การันตีความปลอดภัย ทั้งต่อผู้ใช้งาน ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อมระดับสากลตามมาตรฐานองค์กร Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD) โดยห้องปฏิบัติการมาตรฐาน Good Laboratory Practice (GLP) จากต่างประเทศ ดังนั้น ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาไฟฝ์พลัส จึงเป็นนวัตกรรมชีวภัณฑ์ที่สุดล้ำและตอบโจทย์เกษตรกรมากที่สุดในปัจจุบัน
ด้าน ดร.ชาญวิทย์ กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น หรือ TED Youth Startup กลุ่มเป้าหมาย คือ นิสิต นักศึกษา และบัณฑิตจบใหม่ไม่เกิน 5 ปี มีการสนับสนุนทุนใน
2 โปรแกรม หลัก คือ 1. Ideation Incentive Program (IDEA) สนับสนุนทุนมูลค่า 100,000 บาท เป็นรูปแบบทุนให้เปล่าเพื่อให้ผู้ประกอบการได้พิสูจน์แนวความคิดและความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ต่อมาคือ 2. โปรแกรม Proof of Concept (POC) โดยโปรแกรมนี้ จะสนับสนุนทุนตั้งแต่ 750,000-1,500,000 บาท เป็นรูปแบบทุนอุดหนุนสมทบบางส่วน เพื่อให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบและนำไปพิสูจน์ความเป็นไปได้ด้านการตลาด
และในปีงบประมาณ 2567 เทดฟันด์ มีข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเติบโตต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ได้มีมติให้ เทดฟันด์ ดำเนินโครงการ TED Matching Fund ผ่านกลไกความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดย โครงการ TED Matching Fund จะสนับสนุนงบอุดหนุนแก่ผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เติบโตในระยะ Seed ถึง Series – A วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท/ต่อโครงการ เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจให้เติบโต โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการร่วมลงทุนและการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ร่วมลงทุนที่ขึ้นทะเบียนกับเทดฟันด์เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าโครงการ ซึ่งผู้ขอรับทุนจะมีระยะเวลาการดำเนินโครงการไม่เกิน 5 ปี และเมื่อผู้ประกอบการดำเนินงานโครงการประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ และเป็นไปตามตัวชี้วัดของโครงการที่วางไว้ ผู้รับทุนต้องส่งคืนเงินตามมูลค่าที่ได้รับการสนับสนุน พร้อมดอกเบี้ยในอัตราที่ผู้ให้ทุนกำหนด ผู้ที่สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ https://tedfund.mhesi.go.th/ หรือสอบถามข้อมูลการสนับสนุนทุนเพิ่มเติมได้ที่ Line OA : @tedfund
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เทดฟันด์ ชู “โรงอบแห้งอัจฉริยะพลังงานความร้อนร่วม” ตอบโจทย์ BCG Model
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทดฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เทคฟันด์ เผยในรอบ 6 ปี สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมได้กว่า 1,937 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ดร.ชาญวิทย์ ตรีเดช ผู้จัดการกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ เทคฟันด์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)