เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระรายงานประจำปี 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 โดยมี ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. และคณะผู้บริหารเป็นผู้ชี้แจง มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ร่วมอภิปรายและเสนอแนวทางการทำงานเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพแก่ สสส. รวม 30 คน
น.ส.กัลยพัชร รจิตโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สสส. เป็นฐานที่มั่นในการสร้างเสริมสุขภาวะของสังคมไทย ชื่นชม สสส. และภาคีเครือข่ายผู้ตื่นรู้ทางสุขภาพทุกคน แต่ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ตื่นตัวเรื่องสุขภาพมากขึ้นและมีความเข้าใจเทคโนโลยี จึงเสนอให้เพิ่มสัดส่วนคณะทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่และพิจารณาปัญหาสุขภาพร่วมสมัย ทำให้บุคลากรในแวดวงสุขภาพมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทำงานอย่างมีความสุขและให้ความสำคัญกับการบรรเทาความทุกข์ทางสังคม สุขภาพจิต รวมถึงการดูแลผู้สูงอายุ ไม่ควรมองเฉพาะมิติด้านสุขภาพกาย แต่ต้องส่งเสริมการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วม
นางฐิติมา ฉายแสง สส. จ.ฉะเชิงเทรา เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อ่านรายงานประจำปี 2565 ของ สสส. ทั้งเล่ม ชื่นชมการทำงานที่มีกิจกรรมครอบคลุมมิติสุขภาพจำนวนมาก สร้างการมีส่วนร่วมให้คนไทยได้ช่วยกันสร้างเสริมสุขภาพทุกเรื่อง ทั้งทางม้าลาย สร้างอาชีพคนพิการ สร้างเสริมพัฒนาการเด็ก และอื่น ๆ แต่ตั้งข้อสังเกตการป้องกันและแก้ปัญหาประเด็นสิ่งแวดล้อม ที่ยังพบปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร การทิ้งขยะอุตสาหกรรม การใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดวัชพืชในแหล่งน้ำ รวมถึงพฤติกรรมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดจาก สสส. ทำงานหลายเรื่องเกินไป เสนอแนะให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วย และเสียชีวิตในแต่ละปีสูงมาก เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง
นายคอซีย์ มามุ สส. จ.ปัตตานี เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า อยากให้ สสส.เพิ่มการทำงานระดับพื้นที่ โดยเชื่อมงานกับแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ผ่านมาโครงการดี ๆ ที่ สสส. ทำไว้ แต่ไม่มีเจ้าภาพร่วมทำงานต่อ และอยากให้ สสส. แก้ปัญหายาเสพติดมากว่าบุหรี่ เพราะมียาเสพติดอื่นที่มีภัยร้ายแรงมากกว่า จึงควรนำภาษีบาปมาใช้ป้องกันและแก้ปัญหาสิ่งเสพติดในชุมชนด้วย นอกจากนี้ อยากให้ สสส. สร้างความรู้เรื่องสุขภาวะที่ดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ด้วย
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. จ.พัทลุง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สสส. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญทำให้คนมีสุขภาพดีขึ้นอย่างถ้วนหน้า ปัจจุบันคนไทยเผชิญปัญหาโรคไม่ติดต่อ (NCDs) สสส. สามารถร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ป้องกันที่สาเหตุ แต่ก็มี 5 ความท้าทายต่อการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ 1. แม้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง แต่เด็กและเยาวชนมีการสูบมากขึ้น และประชาชนไปสูบอย่างอื่น เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่เถื่อน จะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม 2. แนวโน้มการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่คนที่เป็นมะเร็งตับ ตับแข็ง เส้นเลือดในสมองแตก มีมากขึ้น 3. เสนอแนะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศมากขึ้น 4. อุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนน มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน/ปี ควรให้ความสำคัญเรื่องนี้ต่อไป 5. ปัญหาอื่น ๆ อาทิ กระท่อม กัญชา ออฟฟิศซินโดรม สุขภาพจิต ผู้สูงอายุ อยากให้ สสส. เพิ่มเติมเป้าหมายให้สอดรับกับประเด็นท้าทายเหล่านี้ด้วย
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส. สุโขทัย เขต 1 พรรคเพื่อไทย กล่าวชื่นชมการทำงานของ สสส. ในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เกิดผลงานขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการลดความเสี่ยง NCDs ลดหวาน มัน เค็ม มีการสนับสนุนงบประมาณให้กับภาคีรายใหม่ มากกว่า 2,400 โครงการ ซึ่งควรมีการต่อยอดไม่ทอดทิ้งโครงการเดิมที่ได้ลงทุนไปแล้ว ขณะที่การออกกฎหมายต่าง ๆ เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ขอให้คำนึงถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องด้วย และหวังว่าจะได้เห็นผลงานดี ๆ ของ สสส. ในปีต่อ ๆ ไป
นายสฤษดิ์ บุตรเนียร สส. เขต 3 ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า จากการประเมินผล ทั้งด้านการทำงานและธรรมาภิบาลสะท้อนว่า สสส. ทำงานอย่างมีคุณภาพในการเป็นโซ่ข้อกลางสานพลังภาคส่วนต่าง ๆ นำเงินภาษีบาปมาสร้างกลไกส่งเสริมสุขภาพประชาชนตามพันธกิจได้อย่างดี พร้อมฝากหาแนวทางร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ แก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนำเรียนต่ำกว่า 70 คน จำนวนกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศซึ่งเป็นปัญหาระดับชาติ
ผู้จัดการกองทุน สสส. ชี้แจงในตอนท้ายว่า บทบาท สสส. คือ สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ โดยหนุนกลไกนโยบาย การปรับสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งชุมชน กระตุ้นความรอบรู้ และปรับเปลี่ยนระบบบริการให้สร้างนำซ่อม ส่วนการลดปัญหา NCDs เน้นแก้ปัญหาที่ปัจจัยเสี่ยงต้นเหตุ เช่นส่งเสริมการออกกำลังกาย ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ กินอาหารสมดุล เพราะหากเน้นรักษาผู้ป่วยจะต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน ส่วนการทำงานไม่กระจัดกระจาย แต่มีธงที่ยึดโยงกับแผนระยะ 10 ปี ครอบคลุมเป้าหมายยุทธศาสตร์ 7 ด้าน ได้แก่ 1.ยาสูบ 2.แอลกอฮอล์และยาเสพติด 3.อาหาร 4.กิจกรรมทางกาย 5.ความปลอดภัยทางถนน 6.สุขภาพจิต 7.มลพิษจากสิ่งแวดล้อม เป้าหมายทั้งหมด จะเชื่อมถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ให้คนไทยทุกคนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง โดยมีกลไกกำกับติดตามประเมินผลเข้มข้น นำโดยคณะกรรมการประเมินผลที่แต่งตั้งดดยครม.ตามการเสนอของกระทรวงการคลัง และจะรวบรวมข้อเสนอแนะจาก สส ในวันนี้ไปพัฒนาการดำเนินงานของ สสส ในปีต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง