พิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566
ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี / คณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) จัดสัมมนาวิชาการและมอบรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566 โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมรับรางวัลกว่า 200 รางวัล ด้านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ได้รับรางวัลประเภทการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ‘ระดับดี’ ประเภท ‘ร่วมใจแก้จน’ จากผลงาน ‘บ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ’ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
วันนี้ (7 กันยายน) ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี คณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) จัดสัมมนาวิชาการและมอบรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566 ให้แก่หน่วยงานที่มีผลการดำเนินงานที่เป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิ ภาพการให้บริการภาครัฐ การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และเปิดระบบราชการให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.ร. เป็นประธานในพิธี และมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับรางวัลกว่า 200 หน่วยงาน ประมาณ 800 คนเข้าร่วม
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (ที่ 4 จากซ้าย) ร่วมงานรับรางวัล
“ภาครัฐเปิด ประเทศปรับ พร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน”
ในช่วงเช้ามีการเสวนา เรื่อง “ภาครัฐเปิด ประเทศปรับ พร้อมขับเคลื่อนไปด้วยกัน” ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ดำเนินรายการโดยปิยฉัตร กรุณานนท์
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการ ก.พ.ร. กล่าวมีใจความสำคัญว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการ ปัจจุบันมุ่งเน้น 2 เรื่อง คือ การนำระบบดิจิทัลมาใช้ และระบบภาครัฐที่เปิด โดยเฉพาะระบบภาครัฐที่เปิดกว้างให้ประชาชนรู้จักหน่วยงาน รู้ข้อมูล รู้ว่าหน่วยงานรัฐจะให้บริการ หรืออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้านไหน อย่างไร ? โดยปัจจุบันได้นำ Open Data มาใช้ มีข้อมูลกว่า 10,000 รายการ มีผู้ใช้กว่า 15 ล้านครั้ง
นอกจากนี้ ‘ระบบภาครัฐที่เปิด’ ยังหมายถึงการเปิดให้ประชาชนมาทำสิ่งต่างๆ ร่วมกับหน่วยงานรัฐ โดยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด ตรงใจ ซึ่ง ก.พ.ร.อยากให้ทุกหน่วยงานราชการทำแบบนี้ และสิ่งที่ต้องการสูงสุด คือการแก้ไขปัญหาโดยเปิดให้ภาคประชาชน เอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
เลขาธิการ ก.พ.ร. ยกตัวอย่างว่า การจัดการขยะในทะเล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากขยะบนฝั่งประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่เดิมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ แต่มีงบประมาณในการดำเนินงานน้อย จึงมีความเห็นว่าปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น คนไทยจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน จึงดึงภาคเอกชนมาร่วมกันดูแล และเริ่มตั้งแต่ต้นทางของขยะว่ามาจากแม่น้ำลำคลองสายไหน ก่อนจะไหลลงสู่ทะเล โดยให้บริษัทเอกชนช่วยกันดูแลแม่น้ำคนละสาย ซึ่งปัจจุบันมีหลายบริษัทเข้าร่วม เช่น SCG บริษัทบ้านปู ฯลฯ
นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า การเปิดของภาครัฐ ควรจะมีการทำคู่มือประชาชน เวลาไปติดต่อหน่วยราชการจะได้รู้ว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และจะต้องทำอย่างไร เพราะแต่เดิมประชาชนจะกลัวราชการ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร ทำให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อกับราชการ แต่หากมีการเปิดข้อมูล หรือมีคู่มือประชาชน จะทำให้งานราชการเร็วขึ้น
นอกจากนี้ยังมีปัญหากฎระเบียบต่างๆ เยอะแยะ ล้าสมัย ติดกรอบ ต้องยกเลิก หรือทำอย่างไรให้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็ว รัฐจะสั่งประชาชนให้ไปซ้าย ไปขวา เหมือนแต่ก่อนไม่ได้แล้ว รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุน
เวทีเสวนา
‘กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช.แนะรัฐปรับเพื่อเคลื่อนประเทศ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ถ้าหน่วยงานราชการเปิดวิธีใหม่ เปิดแนวคิดใหม่ เปิดใจต่อการเปลี่ยนแปลง ความแปลกใหม่ โดยนำนวัตกรรมมาใช้ในการทำงาน จะทำให้เราทำงานได้กว้างขวางมากกว่าเดิม ไม่อยู่ในกรอบเดิม หรือทำได้เฉพาะงบประมาณที่มี โดยเฉพาะการเปิดให้คนอื่นเข้ามาร่วมในภาระที่ยิ่งใหญ่ของเรา
“ถ้าเราสามารถดึงพลังของคนอื่นมาใช้ เอามาเป็นพลังของรัฐ เพราะราชการมีคนจำกัด ถ้าทำเองทุกอย่างจะยาก แต่ถ้าเอาพลังของคนอื่นมาเป็นคานงัดในการขับเคลื่อนจะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ง่ายขึ้น” นายกอบศักดิ์ ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าว
ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ยกตัวอย่างการเปิดกว้างของภาครัฐเพื่อให้ประชาชน ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสมบัติของชาติ โดยกรมป่าไม้มี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ซึ่งจะทำให้ชุมชนเข้ามาดูแลป่าไม้ในพื้นที่จำนวน 20 ,000 แห่งทั่วประเทศได้ดีกว่ารัฐ และสามารถใช้ประโยขน์จากป่าได้ เช่น เก็บหาของป่า สมุนไพร และนำไม้บางส่วนมาใช้ประโยชน์ได้
นายกอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.
นอกจากนี้นายกอบศักดิ์ได้กล่าวถึงประเด็นการพัฒนาระบบราชการว่า โจทย์สำคัญของประเทศไทยก็คือโจทย์ของชนบทคนจน ซึ่งเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย เพราะคนจนมีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน เรื่องสุขภาพ เรื่องเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้คนจนอยู่ด้วยความลำบาก ซึ่ง พอช. มีโครงการหลายโครงการ เช่น วันนี้ที่ได้รับรางวัลก็คือโครงการบ้านมั่นคง โครงการนักบริบาลชุมชน โครงการศูนย์เด็ก สุขภาพปฐมภูมิ โครงการเศรษฐกิจฐานราก ฯลฯ ซึ่งตนเห็นว่าสิ่งที่ทางราชการจะช่วยได้มี 4 เรื่อง คือ
1.ในแต่ละปีรัฐบาลต้องใช้เงินประมาณปีละ 8 แสนล้านบาทในการจัดสวัสดิการ และโครงการที่เกี่ยวข้องกับความยากจน แต่ที่ผ่านมามันไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นถ้าเรามาทำวิธีใหม่ มาคิดว่าเราจะสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นเข้ามาช่วยเราได้อย่างไร ? เช่น BOI (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ขณะนี้มีกฎเกณฑ์ใหม่ คือถ้าเอกชนช่วยชุมชน ช่วยวิสาหกิจเพื่อสังคม ช่วยSME BOI ก็จะให้สิทธิประโยชน์ให้หักภาษีได้ เพื่อจูงใจให้เอกชนเห็นถึงประโยชน์ของเรื่องนี้ เช่น ชวนเอกชนมาทำเรื่องการจัดการขยะในทะเล
2.งบบางส่วนของหน่วยงานต่างๆ แทนที่เราจะทำเองทุกอย่าง หัวใจคือเราไม่ต้องทำทุกอย่าง แต่เอางบของเราบางส่วนไปให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม เช่น ทำเรื่องเด็กเล็ก เรื่องผู้พิการ ผู้สูงอายุ เป็นต้น เราสามารถจัดเอางบของเราที่มีบางส่วนไปสู่โครงการที่ใช่ แล้วหามือที่สอง มือที่สามมาช่วยเรา
3.กฎหมาย เรื่องกฎหมายหลายคนอยากจะช่วย แต่หลายคนติดกฎหมาย เช่น เรื่องขยะในทะเล ติดกฎหมายก็คือ ถ้าไปทำที่เก็บขยะที่ปากแม่น้ำอาจโดนจับเพราะผิดกฎหมายเรื่องการเดินเรือ หรือสมัยก่อนพี่น้องประชาชนอยากทำเรื่องธนาคารต้นไม้ ก็ติดกฎหมายว่าปลูกได้ แต่ตัดไม่ได้ ตอนหลังพอเราแก้กฎหมายเรื่องป่าไม้ได้ ตอนนี้พี่น้องประชาชนก็ปลูกต้นไม้กันเต็มที่
“ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งคือ ทุกปีเราต้องขุดลอกคูคลอง แล้วมันมีกฎหมายว่าดินที่ลอกขึ้นมาเป็นสมบัติของชาติของแผ่นดินไม่สามารถหายไปได้ เพราะฉะนั้น พอขุดลอกแล้วต้องเอาดินมาวางข้างๆ คลอง เมื่อฝนมันตกมันก็ไหลไปที่เดิม แล้วปีหน้าก็ขุดลอกใหม่ ต้องแก้กฎหมาย และมีหลายเรื่องที่เป็นลักษณะนี้ ผมกำลังจะทวนว่า นี่คืออำนาจของข้าราชการ ข้าราชการรู้เรื่องนี้ดีที่สุด ลองไปดูว่ามีอะไรที่ไร้สาระบ้าง เราก็ปลดล็อคไป...
เรื่องสุดท้าย ก็คือรางวัลเลิศรัฐ เราต้องสร้างแรงจูงใจให้เอกชนเข้ามาช่วย เราต้องสร้างแรงจูงใจให้ข้าราชการอยากจะทำเรื่องนี้ รางวัลเลิศรัฐก็คือเรื่องนี้” นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนกล่าวในตอนท้าย
ผู้ร่วมงานคับคั่ง
‘พอช.’ รับรางวัล “ร่วมใจแก้จน” บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น
ส่วนช่วงบ่ายเป็นพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ก.พ.ร. เป็นประธานในการมอบรางวัล
รางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 คณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ ได้ประกาศผลการพิจารณารางวัลเลิศรัฐ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานต่างๆ ส่งผลงานเข้าประกวดจำนวน 1,946 ผลงาน มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 238 รางวัล ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน
เช่น รางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ ซึ่งจะมอบให้แก่หน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่น ได้รับรางวัลเลิศรัฐอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบในการสร้างคุณค่า สร้างสรรค์ผลงานการปฏิบัติราชการจนมีผลสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้มีหน่วยงานที่ได้รับรางวัลเกียรติยศเลิศรัฐ 3 หน่วยงาน คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมสรรพสามิต และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (ดูรายละเอียดที่ https://www.opdc.go.th/)
ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ได้รับรางวัลสาขา ‘การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทร่วมใจแก้จน’ (Collaboration towards Poverty Eradication) จากผลการดำเนินงาน ‘โครงการบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ’ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ที่ พอช. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทั้งเมือง
โดยในวันนี้มีนายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. พร้อมด้วยนางสาววรรณา สีหาทัพ สำนักงานบ้านมั่นคงและที่ดิน เป็นผู้แทน พอช. และนางสนอง รวยสูงเนิน คณะกรรมการบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพเดินทางมารับรางวัลเลิศรัฐประจำปี 2566
นางสนอง ผู้แทนบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ (ซ้าย)นายสยาม ผู้ช่วย ผอ.พอช. และนางสาววรรณา ขึ้นรับรางวัล
บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ “แก้ปัญหาทั้งเมือง”
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ พอช.เข้าไปสนับสนุนให้คนจนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2547 โดยมี ‘แม่สนอง รวยสูงเนิน’ เป็นกำลังสำคัญ ทำให้คนจน ผู้ที่บุกรุกที่ดินรัฐและเอกชนในเมืองชุมแพ รวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย นำไปสู่การเจรจาต่อรองขอเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ที่เทศบาลดูแล เพื่อสร้างบ้านมั่นคง (บางชุมชนซื้อที่ดินเอกชนทำโครงการ)
เริ่มจากผู้เดือดร้อนชุมชนเดียว ต่อมาได้ขยายไปสู่ชุมชนคนยากจนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ โดยมีกลไกที่สำคัญคือ ‘คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ’ ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน เช่น เทศบาล ชาวชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ ร่วมเป็นคณะกรรมการ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องบ้าน
บ้านมั่นคงเมืองชุมแพสวยงามไม่แพ้บ้านจัดสรร
เช่น ในปี 2553 ร่วมกันระดมทุนจัดซื้อที่ดินเนื้อที่ 38 ไร่ ราคา 2.6 ล้านบาท เพื่อทำนารวม ปลูกผัก เลี้ยงปลา สร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มจำหน่าย รายได้กลับคืนสู่ชุมชน นอกจากนี้ในช่วงโควิดระบาดตั้งแต่ปี 2563 รวมทั้งเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในภูมิภาคต่างๆ เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพจะระดมข้าวปลาอาหาร น้ำดื่ม สมุนไพร ฯลฯ ไปช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อน
แม่สนอง รวยสูงเนิน หญิงแกร่งเมืองชุมแพ บอกว่า ปัจจุบันเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพช่วยให้คนยากคนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ไม่ต้องกลัวโดนไล่รื้อ จำนวน 13 ชุมชน รวม 1,052 ครอบครัว และมีแปลงนารวม ปีที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวได้ผลผลิตรวม 28 ตัน นำมาแบ่งปันกันกิน มีโรงงานผลิตน้ำดื่ม ขายให้ชาวบ้าน 13 ชุมชน และหน่วยราชการต่างๆ มียอดขายรวมประมาณเดือนละ 1 แสนบาท
แม่สนอง รวยสูงเนิน
นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน เช่น กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ มีเงินหมุนเวียนประมาณ 16 ล้านบาท กองทุนสวัสดิการชุมชนเครือข่ายบ้านมั่นคง มีเงินกองทุนประมาณ 2 ล้านบาท มีกลุ่มออมทรัพย์ให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ฯลฯ ทำให้พี่น้องชุมชนและเครือข่ายได้อาศัยพึ่งพา แก้ปัญหาความเดือดร้อน สร้างความมั่นคงทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ และได้รับรางวัลเกียรติยศจากหลายหน่วยงาน
“รางวัลเลิศรัฐทำให้คนจนๆ ชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างพวกเราดีใจมาก และเกิดความภูมิใจที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องบ้าน เรื่องที่อยู่อาศัยให้คนจนด้วยกัน ตอนนี้เรามีโครงการใหม่ที่คิดจะทำ คือ เรื่องบ้านเช่าราคาถูก เพราะในเมืองชุมแพยังมีคนที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเองอีกมาก เช่น เด็กที่เรียนจบและทำงานใหม่ๆ และคนทำงาน แต่ราคาค่าเช่าบ้านในเมืองชุมแพตกประมาณเดือนละ 3-4 พันบาท เราจะแบ่งเอาที่นาบางส่วนมาทำบ้านแถวประมาณ 20 ห้อง คิดค่าเช่าแค่เดือนละ 1,500 บาท เพื่อช่วยเหลือกัน โดยจะเอาเงินของกองทุนและ พอช. มาทำเรื่องนี้ คิดว่าปีหน้าคงจะเริ่มได้” แม่สนองบอกถึงแผนงานเรื่องที่อยู่อาศัยที่จะทำต่อไป
*************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา