แปลงใหญ่มะพร้าวบางยางใช้แตนเบียน กับดักฟีโรโมน ป้องกันกำจัดหนอนและด้วงแรดมะพร้าว โดยไม่ใช้สารเคมี

กรมส่งเสริมการเกษตร หนุนแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง จังหวัดสมุทรสาคร ใช้แตนเบียนบราคอน และกับดักฟีโรโมน ป้องกันกำจัดหนอนและด้วงแรดที่ทำลายมะพร้าว เน้นทำปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นเพิ่มผลผลิตโดยไม่ใช้สารเคมี และเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าว ช่วยผสมเกสรให้มะพร้าวติดลูกดก

มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของชาวสมุทรสาคร แต่ละปีมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก เนื่องจากจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของมะพร้าว โดยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นที่สามน้ำ ได้แก่ น้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ทำให้เกษตรกรในอำเภอเมืองสมุทรสาคร อำเภอบ้านแพ้ว และอำเภอกระทุ่มแบน นิยมทำสวนมะพร้าวน้ำหอมจำนวนมาก โดยในพื้นที่อำเภอกระทุ่มแบน มีพื้นที่ปลูกกว่า 2,957 ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายผลมะพร้าวและผลิตภัณฑ์แปรรูปจำนวนมาก สร้างงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง

แปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเกษตรกรตัวอย่างที่รวมตัวจัดตั้งเป็นแปลงใหญ่ เมื่อปี 2564 มีนายปกิต บุญเพ็ญ เป็นประธานแปลงใหญ่ ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ราย พื้นที่ปลูก 835 ไร่ โดยแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง มีความโดดเด่นในการรวมกลุ่มและนำนโยบายแปลงใหญ่มาปรับใช้และบริหารจัดการแปลงจนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะการลดต้นทุน การเพิ่มปริมาณผลผลิต และการพัฒนาคุณภาพสินค้า การเพิ่มมูลค่า และช่องทางการตลาดที่หลากหลาย พร้อมขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่นและประชาชนทั่วไปที่สนใจ

นายเอนก ชื่นอารมณ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานเกษตรอำเภอกระทุ่มแบน ได้ให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และช่องทางการตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง ลดการใช้สารเคมี เพื่อลดต้นทุนและหันมาใช้วัสดุในท้องถิ่นแทน เนื่องจากปุ๋ยและสารเคมีมีราคาแพง และเพื่อความปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพแทน โดยปุ๋ยหมักนอกจากจะใช้มูลสัตว์ เศษฟาง หญ้า หรือแกลบ เป็นส่วนประกอบแล้ว เกษตรกรยังใช้ใบหรือทางมะพร้าวที่แห้งหลุดจากต้นนำมาบดหรือสับทำเป็นปุ๋ยหมักอีกด้วย ส่วนน้ำหมักชีวภาพก็จะใช้เศษพืชผัก หรือ เศษปลา มาหมักเพื่อฉีดพ่นบำรุงทางใบและโคนต้น เป็นการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี

ส่วนการกำจัดศัตรูของมะพร้าวโดยเฉพาะหนอน และแมลง ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หลักธรรมชาติบำบัด นั่นก็คือ การใช้แตนเบียนบราคอน ในการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ที่เป็นศัตรูสำคัญของมะพร้าวน้ำหอม สำหรับการเพาะเลี้ยงแตนเบียน จะใช้หนอนผีเสื้อข้าวสารเป็นสถานที่วางไข่ของแตนเบียน โดยแตนเบียนเพศเมียจะใช้เข็มแทงเข้าไปในตัวหนอนและปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้หนอนเป็นอัมพาต แล้วจึงวางไข่บนตัวหนอน และออกเป็นแตนเบียนบราคอนรุ่นต่อไป จากนั้นเกษตรกรจะนำไปปล่อยในสวนมะพร้าว  เพื่อกำจัดหนอนตามธรรมชาติ สามารถหยุดการระบาดของหนอนต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ต่าง ๆ  เช่น เชื้อบีทีในการกำจัดหนอน และกับดักฟีโรโมนในการป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว เกษตรกรไม่ต้องพึ่งสารเคมีแต่อย่างใด และมีการขยายผลองค์ความรู้สู่เกษตรกรรายอื่น ๆ

เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า ส่วนการเพิ่มผลผลิต ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าว เพื่อช่วยผสมเกสร ทำให้มะพร้าวติดลูกดก โดยชันโรงจะมีรัศมีการหากินที่ไกลพอสมควร ดังนั้นหากเลี้ยงชันโรงไว้ จะถือเป็นผู้ช่วยในการผสมเกสรทำให้มะพร้าวติดลูกจำนวนมาก และเกิดรายได้จากการขายน้ำผึ้งชันโรงเป็นการสร้างรายได้เสริม นอกจากนี้ระหว่างที่มะพร้าวยังไม่สามารถให้ผลผลิตได้ เกษตรกรบางส่วนก็ได้ปลูกฝรั่งและพืชอื่น ๆ ระหว่างแถวของต้นมะพร้าว ทำให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง

“สำหรับช่องทางการตลาด นอกจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะขายมะพร้าวผลสดให้กับพ่อค้ารายใหญ่ที่มารับซื้อที่หน้าสวนแล้ว บางส่วนยังส่งเสริมให้เกษตรกรออกร้านจำหน่ายสินค้าร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าของตัวเอง และนำสินค้าแปรรูปต่าง ๆ จากมะพร้าว เช่น มะพร้าวแก้ว มะพร้าวถอดเสื้อ และน้ำมะพร้าวสด มาวางจำหน่าย ส่วนการพัฒนาคุณภาพผลผลิต ได้ส่งเสริมให้ทุกแปลงที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง ได้มาตรฐาน GAP ทุกราย และอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้ได้ GI หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาสินค้าสู่ตลาดพรีเมี่ยมหรือการส่งออกในอนาคต” เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร กล่าว

ด้านนางผุสดี ศรลัมพ์ เกษตรอำเภอกระทุ่มแบน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความโดดเด่นของแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง นอกจากรวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวและด้วงแรดมะพร้าว  โดยใช้แตนเบียนบราคอนและกับดักฟีโรโมน หรือการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตด้วยการเลี้ยงชันโรงในสวนมะพร้าวเพื่อช่วยผสมเกสรแล้ว ยังโดดเด่นด้านการลดต้นทุนการผลิตด้วยการทำปุ๋ยหมักใช้กันเอง โดยใช้วัสดุทางมะพร้าวที่ก่อนหน้านี้เป็นแค่ขยะ นำกลับมาทำเป็นปุ๋ยหมักบำรุงต้นมะพร้าวได้ นอกจากนี้ยังได้รับความอนุเคราะห์จากเอกชนรายใหญ่ที่นำวัสดุเหลือใช้จากโรงงาน เช่น กากตะกอนรีด เปลือกไข่ มาให้กับทางกลุ่มได้นำมาทำเป็นปุ๋ยหมักไว้ใช้ เพื่อลดต้นทุน และลดใช้สารเคมี โดยมีประธานและสมาชิกแปลงใหญ่ทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนงาน จึงถือได้ว่าเกษตรแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง เป็นกลุ่มเล็ก ๆ แต่มีความเข้มแข็งและยั่งยืนมาก

นายปกิต บุญเพ็ง ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน กล่าวถึงการบริหารจัดการสวนมะพร้าวให้ยั่งยืนว่า นำองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร และสำนักงานเกษตรอำเภอกระทุ่มแบนมาปรับใช้ โดยเฉพาะการใช้แตนเบียนบราคอน มากำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว ไม่ต้องพึ่งสารเคมี และตั้งแต่ใช้กันเองภายในสมาชิกแปลงใหญ่ก็ได้ผลเป็นอย่างดี โดยไม่มีใครหันกลับไปใช้สารเคมีอีกเลย นอกจากนี้ยังทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพใช้กันเอง เป็นการเพิ่มผลผลิต โดยนำวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน และในสวนของเราเองมาหมักกับมูลสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำหมักชีวภาพที่นำเศษพืชผัก เศษอาหาร และเศษปลาจากตลาด มาหมักกับกากน้ำตาล  และสารพด. หมักเพียง 15 วัน ก็สามารถฉีดพ่น หรือราดบนโคนต้นมะพร้าวทำให้มะพร้าวเจริญเติบโต เพิ่มผลผลิตได้มาก และเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้อีกทางหนี่ง

“ส่วนการสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่ม เกิดจากพวกเราทำกิจกรรมและถ่ายทอดความรู้ให้กันและกันอย่างสม่ำเสมอ โดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ และเกษตรจังหวัดมาเป็นพี่เลี้ยง แต่ละเดือนจะมีการประชุมกลุ่ม และรายงานความคืบหน้าผลผลิตแต่ละแปลง หรือสอบถามปัญหาของกันและกัน หากพบปัญหาก็จะช่วยกันแก้ไข นอกจากนี้ทุกคนยังมีหุ้นภายในกลุ่ม เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งด้านการเงิน ส่วนรายได้เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีพ่อค้ารายใหญ่มารับซื้อหน้าสวน เกษตรกรเจ้าของสวนไม่ต้องทำอะไร มีหน้าที่เพียงดูแลรักษาสวนมะพร้าวให้เกิดผลผลิตมากขึ้น โดยราคาขายหน้าสวนปัจจุบันขายเป็นลูก ๆ ละ 8-10 บาท ทำให้พออยู่ได้ เช่น สมาชิกบางรายมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 25 ไร่ แบ่งเก็บผลผลิต 20 วันต่อ 1 ครั้ง หรือ 2  เดือน 3 ครั้ง ได้เงินเฉลี่ยครั้งละกว่า 1 แสนบาท ถือว่าเป็นรายได้ที่ดีและมั่นคง” ประธานแปลงใหญ่มะพร้าวน้ำหอมตำบลบางยาง กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6

กรมส่งเสริมการเกษตร ยกชุมพร “เมืองมะพร้าวคุณภาพ” สร้างมาตรฐานเกิดทั้งจังหวัด

มะพร้าว ยังคงเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีพื้นที่ปลูกโดยรวมทั้งประเทศ 862,718 ไร่ โดยให้ผลผลิตแล้วเนื้อที่ 834,000 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาด 842,306 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,010 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างมูลค่ากว่า 6,887 ล้านบาท

กรมส่งเสริมการเกษตร ดัน 'กาแฟบ้านมณีพฤกษ์' สู่แปลงใหญ่ เพิ่มรายได้เกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร เข้าพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกาแฟบ้านมณีพฤกษ์ สู่แปลงใหญ่กาแฟบ้านมณีพฤกษ์ และมุ่งเป้าพัฒนาสู่เกษตรมูลค่าสูง ภายใต้แนวคิด ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม

แปลงใหญ่ผักบ้านบางท่าข้าม สุราษฎร์ธานี ผลิตพืชผักคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน สร้างรายได้สู่ชุมชนกว่า 4 ล้านบาทต่อปี

นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายสำคัญในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร

กรมส่งเสริมการเกษตรดันฉะเชิงเทราเป็นแหล่งผลิตมะม่วงคุณภาพดี ส่งเสริมการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ พัฒนาเป็นผลไม้อัตลักษณ์ ก้าวสู่สินค้า GI

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มะม่วงเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดฉะเชิงเทรา เนื่องจากมีรสชาติดี

กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนต้นพันธุ์เบญจมาศสะอาด ส่งเสริมสมาชิกแปลงใหญ่ จ.อุบลฯ

แปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับบ้านตาติด จ.อุบลราชธานี ขยายพื้นที่ปลูกเบญจมาศมากขึ้น หลังตลาดอีสานขยายตัว ทำให้ต้องการต้นพันธุ์ดีจำนวนมาก ด้านกรมส่งเสริมการเกษตรโดยศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 5