ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช. (ยืนที่ 3 จากซ้าย) ร่วมงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตเมื่อเร็วๆ นี้
การเข้าไม่ถึงสวัสดิการจากรัฐของประชาชนทั่วไป ชาวไร่ ชาวนา สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ในปี 2548 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้สนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบลหรือเทศบาลขึ้นมาทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือดูแลกัน ในยามเดือดร้อนจำเป็น เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย
โดยมีหลักการสำคัญ คือ สมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท ขณะที่รัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนในอัตรา 1 ต่อ 1 เพื่อให้กองทุนเติบโต มีความยั่งยืน แล้วนำเงินนั้นมาดูแลช่วยเหลือสมาชิกในยามที่เดือดร้อนจำเป็นตามข้อตกลงของแต่ละกองทุน
ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 18 ปี มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนในระดับตำบล/เทศบาลทั่วประเทศ (ในกรุงเทพฯ เป็นกองทุนระดับเขต) ประมาณ 5,900 กองทุน สมาชิกรวมกันประมาณ 8 ล้านคน เงินกองทุนสะสมรวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท....ดังตัวอย่างกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จังหวัดภูเก็ต !!
18 ปี...สวัสดิการชุมชนคนภูเก็ต
‘ภูเก็ต’ เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเดินทางมาเกือบ 10 ล้านคน ทำรายได้เข้าจังหวัดภูเก็ตประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท รายได้จากการท่องเที่ยวปีละหลายแสนล้านบาท จึงน่า จะทำให้คนภูเก็ตมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกันถ้วนหน้า
แต่โดยข้อเท็จจริง ภูเก็ตยังมีคนที่ยากลำบาก มีกลุ่มเปราะบาง มีคนที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการจากรัฐจำนวนไม่น้อย เช่น คนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม่บ้าน คนค้าขายเล็กๆ น้อยๆ คนเก็บของเก่า-ขยะรีไซเคิล คนรับจ้างทำงานทั่วไป ฯลฯ
วารุณี สกุลรัตนธารา ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต
วารุณี สกุลรัตนธารา ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า เมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศในปี 2548 คนภูเก็ตกลุ่มหนึ่งจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ขึ้นมา เพื่อช่วยเหลือคนที่ยากลำบาก สมาชิกที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เริ่มแรกมีเพียง 2 กองทุน 2 พื้นที่ ในปีต่อๆ มาจึงขยายการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนออกไป โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล อบจ.ภูเก็ต ให้การสนับสนุน เช่น สมทบงบประมาณเข้ากองทุน เพื่อให้กองทุนเติบโตยั่งยืน
จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเต็มพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดภูเก็ต คือ อำเภอเมือง ถลาง และกะทู้ รวม 18 กองทุน สมาชิกทั้งหมด 17,569 คน ช่วยเหลือสมาชิกไปแล้วกว่า 31,876 ครั้ง/คน รวมเป็นเงิน 50,551,000 บาท จำนวนเงินกองทุนคงเหลือ รวม 28 ล้านบาทเศษ
เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลราไวย์ อำเภอเมือง ก่อตั้งในปี 2550 สมาชิกจะต้องสมทบเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท หรือรายปีๆ ละ 365 บาทเข้ากองทุน ปัจจุบันมีสมาชิก 2,145 คน มีเงินกองทุน 2,575,000 บาท มีสวัสดิการ เช่น เกิด ช่วยเหลือ 2,000 บาท เจ็บป่วยช่วยตั้งแต่ 1,000-6,000 บาท เสียชีวิต 5,000-25,000 บาท (ตามอายุการเป็นสมาชิก) เกิดไฟไหม้ภัยพิบัติ ช่วยเหลือตามจริง ไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ในช่วงโควิดตั้งแต่ปี 2563 ช่วยเหลือสมาชิกที่เจ็บป่วยโควิด รวมเป็นเงินเกือบ 1 ล้านบาท
คนเมืองภูเก็ตรวมพลัง “กิน เปลี่ยน เมือง”
วารุณี ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต บอกว่า จังหวัดภูเก็ตไม่มีพื้นที่ทำนา คนภูเก็ตต้องซื้อข้าวสารจากที่อื่นมากิน จึงมีแนวคิดในการทำธุรกิจเพื่อสังคม โดยร่วมมือกับ ‘บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด’ จัดทำโครงการ “กิน เปลี่ยน เมือง” เชื่อมโยงสินค้าจากเกษตรกรสู่คนภูเก็ตโดยตรง
โดยบริษัทจะนำข้าวสารจากชาวนาที่จังหวัดชัยภูมิ เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ปลอดสารพิษ นำมาขายให้แก่สมาชิกเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต และหักรายได้จากส่วนต่างจำนวน 2 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายเพื่อนำมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ ฯ นำไปช่วยเหลือสมาชิกที่มีความยากลำบาก หรือผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางต่อไป เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา
“ที่ผ่านมา คนภูเก็ตซื้อข้าวสารจากที่อื่นมากินตลอด แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปของข้าวสารว่ามาจากไหน มีความปลอดภัยหรือไม่ เราจึงประสานกับบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมฯ นำข้าวสารอินทรีย์จากชัยภูมิมาขายเพื่อให้คนภูเก็ตได้กินข้าวดี มีความปลอดภัยต่อสุขภาพ รายได้จะนำมาสนับสนุนกองทุนสวัสดิการ เพื่อนำไปช่วยเหลือคนยากลำบากให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ บอก
โครงการ ‘กิน เปลี่ยน เมือง’ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต และครั้งที่ 2 จัดงานที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา โดยนำข้าวสารจากชัยภูมิ และข้าวสาร ข้าวสังข์หยด ผลไม้ มังคุด สละ ฯลฯ จากเครือข่ายเกษตรกรจังหวัดพัทลุงมาขาย ทำรายได้กว่า 500,000 บาท
ณรงค์ คงมาก บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรกรลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด กล่าวว่า ในจังหวัดภูเก็ตมีบริษัทที่ค้าข้าวสารรายใหญ่อยู่ 2 ราย มีรายได้จากการขายข้าวสารประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท หากสมาชิกเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตที่มีสมาชิกเกือบ 18,000 คน กินข้าวสารของเครือข่ายฯ ตนเชื่อว่ากองทุนสวัสดิการจะมีรายได้จากส่วนต่างร้อยละ 2 สามารถดูแลสมาชิกได้ ไม่ต้องรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล
ทั้งนี้ข้าวสารที่นำมาจำหน่าย ขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 200 บาท กองทุนสวัสดิการจะได้ส่วนต่างถุงละ 4 บาท ปัจจุบันสมาชิกเครือข่ายช่วยกันซื้อเดือนละหลายพันกิโลกรัม (ยอดขายที่ผ่านมาประมาณ 4 ตัน) นอกจากนี้ยังมีศูนย์เด็กเล็ก อบต. และเทศบาลหลายแห่งช่วยกันอุดหนุน และเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตจะขยายฐานลูกค้าไปยังศูนย์เด็กเล็กทั่วจังหวัดภูเก็ตที่ต้องหุงข้าวสารจัดเลี้ยงเด็กตลอดทั้งปีต่อไปด้วย
นอกจากโครงการกินเปลี่ยนเมืองที่ภูเก็ตแล้ว ณรงค์ บอกว่า บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมฯ จะร่วมกับ พอช.และสภาเกษตรกรแห่งชาติ ขยายโครงการกินเปลี่ยนเมืองสู่กลุ่มจังหวัดที่สอง คือ สุราษฎร์ธานี ศรีสะเกษ และลำปาง ผ่านกลไกบริษัทประชารัฐ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชนต่อไป
“โครงการ ‘กิน เปลี่ยน เมือง’ จะเป็นทางเลือกใหม่ของการจัดสวัสดิการชุมชน บนฐานระบบนิเวศน์เศรษฐกิจและทรัพยากรชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่เต็มแผ่นดิน ด้วยการเพิ่มพลังปัญญาปฏิบัติให้แก่เครือข่ายกองทุนสวัสดิการและขบวนองค์กรชุมชน” ณรงค์จากบริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคมฯ กล่าว
(ภาพจากมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน)
พอช.หนุนใช้ขยะสร้างสวัสดิการ-ลดขยะทะเล
ในแต่ละวันจังหวัดภูเก็ตจะมีขยะทั้งหมดประมาณ 1,000 ตัน แต่โรงงานกำจัดขยะสามารถจัดการได้เพียงวันละ 700 ตัน เหลือขยะตกค้างประมาณวันละ 300 ตัน บางส่วนเป็นขยะพลาสติกที่ตกลงสู่แหล่งน้ำ ไหลลงสู่ทะเล และย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนอยู่ในกุ้ง หอย ปู ปลา หรือเมื่อสัตว์ทะเลกลืนกินเข้าไปก็จะเกิดอันตราย นอกจากนี้เศษซากอวน เชือกพลาสติก ตาข่ายจากเรือประมงก็ทำให้เกิดอันตรายแก่สัตว์ทะเลได้เช่นกัน
ปัญหาขยะทะเลดังกล่าว มูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน ซึ่งทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในจังหวัดภูเก็ต มีสำนักงานตั้งอยู่ที่หาดไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ได้ริเริ่มการจัดการขยะในทะเลในปี 2563
มิเชล มูเย่ ประธานกรรมการมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน (Sustainable Mai Khao) บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิได้จัดอบรมให้ความรู้แก่ชุมชน โรงเรียน เด็กนักเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดขยะ ไม่สร้างขยะ ลดการใช้ถุงพลาสติก เก็บขยะจากชายหาด แล้วนำขยะต่างๆ เช่น ขยะพลาสติก ขวดน้ำดื่ม หลอดดูดน้ำ รองเท้าแตะ ขยะจากอุปกรณ์ประมง เชือก อวน ฯลฯ นำมาแยกประเภท ขยะรีไซเคิลมอบให้ชุมชนและโรงเรียนนำไปขาย ขยะบางชนิดเด็กนักเรียนนำมาทำเป็นชิ้นงานศิลปะ หรือตกแต่งบ้าน
(ภาพจากมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน)
ขณะเดียวกัน เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ นำโดย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ พร้อมด้วยเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตได้มาศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการขยะรีไซเคิลกับมูลนิธิไม้ขาวยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้เครือข่ายกองทุนสวัสดิการฯ ที่มีสมาชิก 18 กองทุน สมาชิกเกือบ 18,000 คนร่วมกันจัดการขยะที่ล้นเมืองภูเก็ต
วารุณี สกุลรัตนธารา ประธานเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ต บอกว่า เครือข่ายกองทุนสวัสดิการฯ จะเชิญคุณมิเชลมาให้ความรู้ในการจัดการขยะ คัดแยกขยะ นำขยะรีไซเคิลมาใช้ประโยชน์ หรือขาย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน หรือนำไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ลดปัญหาขยะในท้องทะเล รวมทั้งช่วยลดอันตรายให้แก่สัตว์ในทะเล ส่วนขยะเปียกหรือขยะจากเศษอาหารในครัวเรือนก็จะสนับสนุนให้สสมาชิกนำมาหมักทำปุ๋ย ใช้ปลูกผักกินในครอบครัว หรือปลูกผักในกระถาง
“ส่วนขยะรีไซเคิล ขยะที่ขายได้ เรามีแผนจะให้สมาชิกรวบรวมขยะ แล้วนำมาขายพร้อมกันทุกเดือน โดยเราจะนัดพ่อค้าขยะรีไซเคิลให้มารับซื้อ เพราะในแต่ละเดือน แต่ละกองทุนจะให้สมาชิกนำเงินมาสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนอยู่แล้ว จึงนัดให้มาขายขยะ และสมทบเงินเข้ากองทุนไปพร้อมๆ กัน จะช่วยลดปัญหาขยะตกค้างในภูเก็ตได้” ประธานเครือข่ายฯ บอก
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’ กล่าวว่า โครงการนี้จะทำให้ขยะหมดไป และจะเอาขยะมาแปลงเป็นเงิน ทำให้เมืองภูเก็ตปลอดขยะ ไม่มีขยะในลำคลองและชายหาด
คณะผู้บริหาร พอช.และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน จ.ภูเก็ต (ดร.กอบศักดิ์ยืนที่ 4 จากซ้าย/มิเชลยืนที่ 5)
พอช.พร้อมหนุนชุมชนตั้งแต่เด็ก-ผู้สูงวัย สร้าง “หมอไกล”
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตว่า ขณะนี้ พอช. กำลังขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศ จำนวน 60 แห่ง เพื่อพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพ มีพัฒนาการที่ดี มีไอคิวดี เพราะที่ผ่านมาเราดูแลศูนย์เด็กเล็กไม่ดี ดูแลเด็กไม่ดี ไอคิวจึงต่ำกว่าเด็กต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งที่จังหวัดภูเก็ต พอช.ได้สนับสนุนการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กแล้ว 2 แห่ง และจะขยายไปยังศูนย์เด็กทุกตำบลในจังหวัดภูเก็ต
“โครงการต่อไปที่ พอช.จะทำร่วมกับชุมชนทั่วประเทศ คือ ‘นักบริบาลชุมชน’ เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ดูแลผู้ป่วยติดเตียง เพราะหากดูแลไม่ดี จะให้ทำเจ็บป่วยมาก เสียค่าใช้จ่ายเยอะ โดยเราจะทำเรื่องนี้ร่วมกับ อสม. รพ.สต. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดอบรมให้มีนักบริบาลชุมชน เพื่อไปดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสม มีค่าตอบแทนให้ผู้ดูแล เพราะถ้าเราดูแลไม่ดี ครอบครัวก็จะหมดค่าใช้จ่ายเยอะ”
ประธานกรรมการสถาบันฯ กล่าว และว่า อีกโครงการที่ พอช.จะทำ คือ “หมอชุมชน” โดยตนได้คุยกับมูลนิธิแพทย์ชนบทแล้ว โดยจะทำร่วมกับกองทุนสวัสดิการชุมชน ลักษณะเป็น “หมอทางไกล” หรือ Telemedicine โดยมีหมอชุมชน 1 คน รับผิดชอบ 1 ตำบล หากตำบลไหนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ก็จะมีหมอชนบท 1 คนทำงานร่วมกับ รพ.สต. รวมทั้งเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการต่าง ที่ พอช.จะทำร่วมกับชุมชนทั่วประเทศ เช่น โครงการป่าชุมชน โครงการธนาคารปูม้า ธนาคารขยะ ฯลฯ โดยประชาชน ชาวชุมชนจะต้องเป็นแกนหลักในการทำโครงการ แต่โครงการต่างๆ เหล่านี้จะไปพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ เพราะรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ชุมชนต้องพึ่งพาตัวเอง ใช้เงินกองทุนที่ชุมชนมีอยู่ รวมทั้ง พอช.จะประสานกับภาคธุรกิจเพื่อมาสนับสนุนชุมชน แต่ชุมชนจะต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เพื่อทำโครงการให้เกิดผลงอกเงย ไม่ใช่เงินลงมาแล้วหมดไป
“โครงการต่างๆ เหล่านี้จะสำเร็จไม่ได้เลยถ้าไม่มีพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตที่มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง จับกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น มีเครือข่ายที่แท้จริง และหลังจากที่มีรัฐบาลใหม่แล้ว พอช.ก็จะทำงานร่วมกับเครือข่ายและรัฐบาลเพื่อสนับสนุนเรื่องสวัสดิการชุมชนให้เข้มแข็งต่อไป !!
เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดภูเก็ตกว่า 500 คน รวมพลังร่วมงานสมัชชาสวัสดิการชุมชนเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา
*************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ