พอช.จัดเวทีสื่อสารสาธารณะ ‘CODI Forum ครั้งที่ 2’ “ฉากทัศน์ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

ผู้ร่วมเสวนา codi  forum  ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’    ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการจัดเวทีสื่อสารสาธารณะ ‘CODI Forum ครั้งที่ 2’  หัวข้อ  “ฉากทัศน์ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”

ผู้ร่วมเสวนา  ประกอบด้วย  นายประนอม  เชิมชัยภูมิ  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย  นายสมบูรณ์  คำแหง  ประธานเครือข่ายรักจังสตูล  นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และศาสตราจารย์  ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ  คณะนิติศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ ‘นิด้า’

กลุ่มอนาคตเชียงรายเคลื่อน ‘Master Plan ภาคประชาชน

นายประนอม  เชิมชัยภูมิ  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงราย กล่าวในประเด็น ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองด้วยสภาองค์กรชุมชน’  มีใจความสรุปว่า  จังหวัดเชียงรายในอดีตมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ  มีคำกล่าวว่าเป็นเมืองที่มี 7 สายน้ำ 35 ดอย”  แต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  สายน้ำเหล่านี้เหือดแห้ง  เหลือเพียง 4 แห่งที่ยังมีสายน้ำไหลริน  ส่วนป่าก็มีสภาพเสื่อมโทรม

“เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงรายเห็นว่า  หากปล่อยให้เกิดสภาพแบบนี้ต่อไป  คนเชียงรายจะมีความยากลำบาก  แต่จะรอให้หน่วยงานรัฐมาแก้ไขปัญหาเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้  จึงใช้เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนฯ มาขับเคลื่อนเพื่อประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน  เช่น  ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ  และหน่วยงานรัฐ  โดยร่วมกันจัดตั้ง ‘กลุ่มอนาคตเชียงราย’ ขึ้นมา  เพื่อเป็นเวทีกลางนำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ” นายประนอมกล่าว

นายประนอม  ประธานเครือข่ายฯ

เขาบอกว่า   กลุ่มอนาคตเชียงรายเริ่มจัดตั้งเมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา  และได้ขับเคลื่อนแสดงบทบาทจนได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดเชียงราย (ก.บ.จ.) ให้มีสัดส่วนคณะกรรมการที่มาจากภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้น  จากเดิมที่มีตนเป็นคณะกรรมการ ก.บ.จ.ภาคประชาชนเพียงคนเดียว

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าจะมี ก.บ.จ. หรือระบบการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ  รวมทั้งมีแผนการพัฒนาจังหวัดที่ดีก็ตาม  แต่ที่ผ่านมายังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน  และที่สำคัญยังขาดแผนการพัฒนาจังหวัดที่มาจากภาคประชาชน  ดังนั้นกลุ่มอนาคตเชียงรายจึงมีเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิด ‘Master Plan ภาคประชาชน’

“ที่ผ่านมา  ทางราชการมีแผนพัฒนาจังหวัดอยู่แล้ว  กลุ่มอนาคตเชียงรายจึงขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดแผนพัฒนาจังหวัดของภาคประชาชน  แต่จะมีการบูรณาการแผนร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคม   เป็นแผนที่ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชาชน  ยึดเอาปัญหาของประชาชนเป็นตัวตั้ง  ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้”  นายประนอมบอก

เขาบอกว่า  ที่ผ่านมา  กลุ่มอนาคตเชียงรายได้ขับเคลื่อนการจัดทำแผนงานพัฒนาจังหวัดตั้งแต่ระดับตำบลและอำเภอแล้ว  โดยนำร่องในพื้นที่  2 ตำบล  2 อำเภอในจังหวัดเชียงราย  เช่น  อำเภอดอยหลวง  และอำเภอแม่สรวย  มีการพูดคุยกับหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  นายอำเภอ  เพื่อให้เข้าใจและยอมรับแผนพัฒนาของภาคประชาชน  ซึ่งมีทั้งแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ  การจัดการ  ดิน  น้ำ  ป่า แผนการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  แผนการพัฒนาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  ฯลฯ

“ส่วนในระดับจังหวัด  กลุ่มอนาคตเชียงราย ได้ประสานงานกับภาครัฐ  ภาคประชาสังคม  และภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อน Master Plan  ภาคประชาชนจังหวัดเชียงราย  โดยจะใช้เวทีต่างๆ เช่น การประชุม ก.บ.จ.  เวทีสภาองค์กรชุมชนตำบล  เพื่อรับฟังข้อมูล  ปัญหา  ความต้องการของประชาชน  แล้วนำมาสังเคราะห์  และจัดทำเป็น Master Plan เพื่อให้มีแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนต่อไป”  นายประนอม  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงรายบอกถึงจังหวะก้าวที่จะเดินต่อไป

รักจังสตูล สร้างพื้นที่กลาง  ดึงทุกหน่วยงานมาทำงานร่วมกัน

นายสมบูรณ์  คำแหง  ประธานเครือข่ายรักจังสตูล  บอกว่า  กลุ่ม รักจังสตูล’  เป็นกลุ่มคนที่ทำงานทางสังคมในจังหวัดสตูล  ซึ่งมีอยู่หลายสิบกลุ่ม  แต่ที่ผ่านมา  ต่างกลุ่มต่างทำงานไปตามเป้าหมายและมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน  ต้องใช้เวลาคุยกันประมาณ 2 ปี  จึงมารวมกันเป็นกลุ่ม ‘รักจังสตูล’  เป็นกลางสร้างพื้นที่กลาง  เกิดเวทีพูดคุย  มีความเป็นเพื่อน  ช่วยกันทำงาน  แม้งานจะแตกต่างกัน  หรือช่วยลดความซ้ำซ้อนของงานได้

ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมนั้น  สมบูรณ์บอกว่า  ปัญหานี้เป็นโจทย์ที่ยาก  มีความซับซ้อน  แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  หลายภาคส่วนได้ขับเคลื่อนเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ  เช่น  พอช.  สสส.  ฯลฯ  แต่หน่วยงานเหล่านี้ยังมีลักษณะต่างคนต่างทำ  จึงควรมีการปรับตัว  สร้างพื้นที่กลาง  เพื่อให้กลุ่ม  องค์กร  ภาคี  และหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสตูลมานั่งคุยกัน  ว่าใครทำอะไร  มีปัญหาอะไร ?  จะช่วยกันหรือออกแบบการทำงานร่วมกันได้อย่างไร ?

นายสมบูรณ์ ‘รักจังสตูล’

นอกจากนี้เขายังบอกด้วยว่า  ในแต่ละจังหวัดจะมีงบพัฒนาจังหวัดๆ ละหลายร้อยล้านบาท  เช่น  จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดเล็กยังมีงบพัฒนาจังหวัดไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท  ขณะที่หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดก็จะมีงบประมาณของตนเองอยู่แล้ว  แต่ที่ผ่านมาประชาชนในจังหวัดสตูลไม่ได้รับรู้และไม่มีส่วนร่วมในการจัดสรรและใช้งบประมาณเลย

“ดังนั้น  หากเราสามารถสร้างกระบวนการ  โดยเอาแผนงานของประชาชนมาเสนอหน่วยงานรัฐ  เพื่อดึงเอางบ 200 ล้านบาทนี้มาใช้เพื่อให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุด  ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้”   สมบูรณ์  ประธานเครือข่ายรักจังสตูลบอก 

พอช. ปรับโครงสร้างการทำงาน  หนุนเสริมชุมชนเข้มแข็ง-ลดความเหลื่อมล้ำ

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  กล่าวในประเด็น ทิศทางและนโยบายของ พอช. ในการหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่นสร้างความเข้มแข็ง  ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม’  มีเนื้อ หาสรุปว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเหลื่อมล้ำทุกมิติสูงมาก   ทั้งความเหลื่อมล้ำเรื่องที่อยู่อาศัย  ที่ดินทำกิน  ด้านเศรษฐกิจ  รายได้  และการเข้าถึงระบบสุขภาพ  ฯลฯ 

นายวิชัย  รอง ผอ.พอช.

“พอช.ยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ  โดยมีแนวทางการทำงานสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง  ให้คนในพื้นที่รวมตัวกัน  ลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเองได้  เปลี่ยนจากการพัฒนาแบบบนลงล่าง  เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากฐานล่างขึ้นไป  โดย พอช.มีวิสัยทัศน์ในช่วงปี 2560-2579  มีเป้าหมายจะทำให้ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน  เมื่อชุมชนเข้มแข็งก็จะสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้”  รอง ผอ.พอช.บอก

เขาบอกด้วยว่า   พอช. ใช้เครื่องมือที่มีอยู่นำไปสู่การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง  เช่น  เรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัย  ซึ่งที่ผ่านมา พอช.ทำไปแล้วประมาณ 200 เมือง  3,000 โครงการ  ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงกว่า 200,000 ครัวเรือน

เรื่องสวัสดิการชุมชน  จากเดิมที่รัฐจัดให้  พอช.สนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันจัดตั้งกองทุนสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือดูแลกันเอง  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศเกือบ 6,000 กองทุน  มีเงินสวัสดิการรวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท  ซึ่งเงินจำนวนนี้  ประมาณ 70-80 %  เป็นเงินที่มาจากชาวบ้าน  ส่วนที่เหลือเป็นเงินสมทบจากรัฐและเงินจากส่วนต่างๆ

นอกจากนี้  พอช.ยังสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยใช้เครื่องมือต่างๆ  เช่น  สนับสนุนการขับเคลื่อน จังหวัดจัดการตนเอง’  โดยให้ขบวนองค์กรชุมชนทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ  ประชาสังคม  นำไปสู่แผนพัฒนาจังหวัดที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม  มีพื้นที่นำร่องทั่วประเทศแล้ว 22 จังหวัด 

รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชน  โดย พอช.มีแผนจะจัดตั้ง สถาบันพัฒนาผู้นำและสังคม’ เพื่อส่งเสริมผู้นำ  สร้างคนรุ่นใหม่  ตลอดจนพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ พอช. ให้มีความเข้มแข็ง  มีประสิทธิภาพ  เพื่อหนุนเสริมงานพัฒนา

“นอกจากนี้  พอช.กำลังปรับโครงสร้างการทำงาน  จากเดิมที่ พอช.มีสำนักงานภาค 5 ภาคทั่วประเทศ  เรากำลังปรับจากระบบสำนักงานภาคให้เป็นการทำงานแบบกลุ่มจังหวัด  มีทั้งหมด 18 กลุ่มจังหวัด  เพื่อให้เจ้าหน้าที่ พอช.ทำงานเกาะติดพื้นที่มากขึ้น  ทำงานเชิงลึกได้มากขึ้น  ซึ่งการปรับโครงสร้างในครั้งนี้จะทำให้ พอช.ได้พัฒนาระบบการทำงาน  ช่วยหนุนเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง  นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ  แก้ไขปัญหาความยากจนได้”  นายวิชัย  รอง ผอ.พอช.กล่าวย้ำ

ศ.ดร.บรรเจิดแนะ “ให้ประชาชนเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา-ดึงหน่วยงานรัฐร่วมแก้”

ศาสตราจารย์  ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ  คณะนิติศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  กล่าวในประเด็น นวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง  ฐานรากประชาธิปไตย  อัตลักษณ์ไทย’  มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า  ประเทศไทยมีระบบการบริหารราชการที่ทับซ้อนกันหลายชั้น  และขาดการบูรณาการการทำงานที่เป็นเอกภาพ จึงทำให้การอำนวยความสะดวกและการแก้ไขปัญหาของประชาชนไม่ประสบผลสำเร็จ

ศ.ดร.บรรเจิด

เช่น  ในระดับจังหวัดมีระบบบริหารราชการที่ซ้อนกัน 5 ชั้น  คือ  1.ผู้ว่าราชการจังหวัด    2.อบจ.  อบต. และเทศบาล   3.หน่วยราชการส่วนกลางที่ไม่อยู่ภายใต้การบริหารของ ผวจ.  4.คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) และ 5.ส่วนราชการระดับภาค   ยกตัวอย่าง  เช่น  หากเกิดปัญหาภัยแล้ง  ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่สามารถสั่งการให้กรมชลประทานมาช่วยแก้ไขปัญหาได้

“แต่ปัญหาของประชาชนมันไม่ได้แยกกรม  กอง  เหมือนกับหน่วยราชการ  ดังนั้นการบูรณาการการทำงานสามารถเริ่มจากภาคประชาชนได้  เพราะประชาชนจะเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง  ไม่ใช่เอากรม กองเป็นตัวตั้ง  เมื่อประชาชนเป็นเจ้าภาพก็จะดึงภาครัฐมาช่วยแก้ไขปัญหาจะทำได้ง่ายกว่า   เพราะภาคราชการก็จะคิดว่านี่คือปัญหาของประชาชน  ไม่ใช่เป็นเรื่องของหน่วยงานใด  หน่วยงานหนึ่ง”  ศ.ดร.บรรเจิดกล่าว

เขาบอกด้วยว่า   ประโยชน์จากการสร้างเวทีกลางของภาคประชาชนและดึงหน่วยงานเข้ามาช่วย  จะทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆ เช่น  1.ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในชุมชนและภาคส่วนต่างๆ ในการบูรณาการการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  มองปัญหาร่วมกัน  2.ประชาชนในพื้นที่จะมีส่วนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหา  และลำดับความสำคัญของปัญหาว่าเรื่องใดเร่งด่วน  ไม่ใช่กำหนดมาจากข้างบน 

3.สามารถเชื่อมโยงทิศทางการพัฒนาในพื้นที่กับงบประมาณแผ่นดินที่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง  และหน่วยงานรัฐไม่ต้องเสียเวลาค้นหาปัญหา  เพราะมีเวทีกลางในการประชุมร่วมกันทั้งเรื่องของปัญหาและงบประมาณ   4เป็นการสร้างประชาธิปไตยรากฐานให้มีความเข้มแข็ง

สร้างดาวดวงเดียวกันเส้นทางลดความเหลื่อมล้ำ

ในช่วงท้ายของการจัดเวทีสื่อสารสาธารณะ ‘codi forum ครั้งที่ 2’  หัวข้อ  “ฉากทัศน์ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม”  ผู้เข้าร่วมเวทีเสวนาได้สรุปทิ้งท้ายในประเด็นต่างๆ  ดังนี้

นายประนอม  เชิมชัยภูมิ  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงราย  กล่าวว่า  ประชาชนเห็นร่วมกันว่าการสร้างพื้นที่กลางมีประโยชน์จริง  แต่จะทำอย่างไรจะทำให้หน่วยงานรัฐเข้ามาร่วม  เป็นพื้นที่กลางของทุกคน ไม่ใช่เป็นพื้นที่กลางเฉพาะของประชาชน  ซึ่งจะทำให้นโยบายการแก้ไขปัญหาของประชาชนเกิดจากพื้นที่กลาง  ไม่ใช่เกิดจากกระทรวง  ทบวง กรมอีกต่อไป

“ถ้าเราสามารถเอาแผนงานของภาคประชาชนมาเป็นแผนงานของจังหวัด  และเอาแผนงานภาคประชาชนของทุกจังหวัดมารวมเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้  ถ้าเป็นไปได้ก็จะทำให้ชุมชนสามารถจัดการบริหารตนเองและประเทศไทยได้”  นายประนอมกล่าวทิ้งท้าย

นายสมบูรณ์  คำแหง  ประธานเครือข่ายรักจังสตูล  กล่าวว่า  การสร้างดาวดวงเดียวกัน  มีเป้าหมายเดียวกัน ภายใต้กระบวนการเดียวกัน  มีโจทย์ใหญ่ว่า บทบาทของภาคีหน่วยงานพัฒนาต่างๆ ที่ทำงานสนับสนุนชุมชน  เช่น  พอช.  สสส.  สช.  จะมีบทบาทอย่างไร  อยู่ตรงจุดไหน?  เพราะแต่ละหน่วยงานต่างก็มีเครื่องมือของตัวเอง  เช่น  พอช.มีเรื่องบ้าน  เรื่องสวัสดิการ   แต่หากหน่วยงานต่างๆ จัดบทบาทตนเองไม่ชัด  การทำงานก็จะวนอยู่ในอ่างเหมือนเดิม 

“เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะนำไปสู่การสร้างดาวดวงเดียวกัน  หน่วยงานต่างๆ ต้องจัดบทบาทตัวเองให้ชัด  เพราะแต่ละหน่วยงานต่างก็มีเครื่องมือหลายอย่าง  และต้องไม่สับสนระหว่างการใช้เครื่องมือกับการสร้างขบวนการชาวบ้าน  เพราะหากขบวนการของชาวบ้านยังดำรงอยู่  ชาวบ้านก็จะจัดการกับปัญหาของตัวเอง  และออกแบบการพัฒนาของตนเองได้”  นายสมบูรณ์กล่าว

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวย พอช.  กล่าวว่า  การสร้างชุมชนเข้มแข็ง  ลดความเหลื่อมล้ำนั้น  ประการแรก  พี่น้องในชุมชนและสังคมจะต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นในตัวเองกลับมา  เพื่อสร้างการขับเคลื่อนทางสังคม  และเปลี่ยนระบบที่ไม่เอื้อให้เป็นจริงได้และมีพลัง   ประการที่สอง ต้องขยายแนวคิด  รูปธรรม  ใหกว้างขวางออกไปในสังคมไทย  และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน  โดยมีภาควิชาการมาหนุนเสริมเพื่อสร้างการยอมรับและเชื่อมั่นจากสังคม

“ประการสุดท้ายต้องสร้างพื้นที่กลางร่วมกัน  ตั้งแต่ระดับตำบลจนถึงระดับจังหวัด  โดยมีชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วม  และวางเป้าหมายร่วมกัน  ไม่ใช่พื้นที่ใคร  พื้นที่มัน  ต้องเป็นพื้นที่ร่วม  ถ้าทำแบบนี้ได้จะนำไปสู่ความร่วมมือ  เกิดการแบ่งปันทรัพยากร  และจะช่วยหนุนทิศทางการพัฒนาพื้นที่ในทุกมิติ  รวมทั้งจะเกิดพลังในการพัฒนาพื้นที่” รอง ผอ.พอช.กล่าว

ศ.ดร.บรรเจิด  คณะนิติศาสตร์ ม.นิด้า  กล่าวว่า  พอช.มีการจัดทำร่าง ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง’ ซึ่งขณะนี้ได้มีการปรับปรุงเพื่อเตรียมพิจารณาร่างระเบียบนี้ใหม่  เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดพื้นที่กลาง  และผลักดันให้ชุมชน  ตำบล  มีแนวทางในการสร้างพื้นที่กลาง  และเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กลางระดับตำบลไปจนถึงระดับจังหวัด  รวมทั้งเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งหากมีระเบียบนี้ออกมาใช้  จะช่วยเอื้ออำนวยประชาชนในการแก้ไขปัญหาได้จริง  และจะเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตยที่มีชุมชนเป็นพื้นฐาน

คนพัทลุงใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นพื้นที่กลางจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด  เป้าหมาย “พัทลุงมหานครแห่งความสุข”

เตรียมจัด ‘codi forum’ ครั้งที่ 3 ที่ จ.พะเยา

นางสาวสุธิดา  บัวสุขเกษม  หัวหน้าสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  กล่าวถึงเป้าหมายในการจัดเวที ‘codi forum’ ครั้งนี้ว่า  1.เพื่อเปิดวงเสวนาทิศทางชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม   2.เพื่อแลกเปลี่ยนและนำเสนอรูปธรรมนวัตกรรมชุมชนเข้มแข็ง แนวทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง และภาคีเป็นแกนหลักในการพัฒนา ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และ 3.เพื่อสร้างการรับรู้ เข้าใจ และขยายผลกับสาธารณะในการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  พอช.ได้จัดงานเสวนา codi forum ไปแล้ว 1 ครั้ง   เรื่อง ‘บ้านมั่นคง  บ้านทุกคนร่วมสร้าง’  และจะมีการจัดเวทีเป็นครั้งที่ 3 (ครั้งสุดท้ายของปีนี้)  ในหัวข้อ Hack พะเยา : ร่วมออกแบบกำหนดอนาคตคนเมืองพะเยา” ที่จังหวัดพะเยา  ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้   ในการจัดเวทีแต่ละครั้งจะมีการบันทึกเทปเพื่อนำเสนอในช่อง YouTube  ผู้ที่สนใจสามารถติดตามกำหนดการเผยแพร่ได้ทาง https://www.facebook.com/codinews/

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ