ครั้งแรกของไทย "ปัญญาปฏิบัติ" ขับเคลื่อนสุขภาวะระดับประเทศ

สสส.สานพลัง 38 ภาคี เปิดเวทีประชุมวิชาการระดับชาติด้านสุขภาวะทางปัญญา ครั้งแรกของโลกในเมืองไทย มุ่งเป้าพัฒนาระบบโครงสร้างสุขภาพ นวัตกรรม เครื่องมือขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาของประเทศ ให้มีความชัดเจนและเกิดผลเชิงประจักษ์ ระดมนักวิชาการ-นักปฏิบัติ แชร์ประสบการณ์ "ปัญญาปฏิบัติ" สู่การขับเคลื่อนสุขภาวะองค์รวมระดับประเทศ "หมอประเวศ วะสี" เสนอคู่มือ 15 เส้นทางเข้าถึงแก่นสุขภาวะทางปัญญา นำเสนอประเทศไทยเป็นประเทศแห่งการเจริญสติระดับโลก จัดทัวร์ธรรมะ มีสัปปายะสถาน ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี ประธานที่ปรึกษาการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 “สุขภาวะทางปัญญา : สุขภาพ จิตวิญญาณ และสังคม” กล่าวปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “สุขภาวะทางปัญญา : 15 เส้นทางสู่สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติ" ว่า สุขภาวะทางปัญญามีลักษณะ 3 ประการ คือ 1.มีความสุขยิ่งกว่าความสุขทางวัตถุใดๆ 2.ประสบความงามจากการเข้าถึงความจริง 3.เกิดไมตรีจิตต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง มีความรักที่บริสุทธิ์ไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งสามารถเข้าถึงสุขภาวะทางปัญญาเป็นสิ่งสูงสุดของมนุษยชาติได้จาก 15 เส้นทาง

การนำพาจิตวิญญาณสู่ตัวเราเอง 1.ระลึกบรมสัจจะ 2.สัมผัสธรรมชาติ 3.ตถตา 4.เมตตา 5.กรุณา 6.ภาวนา 7.ทำจิตให้บันเทิง-มองในแง่ดี 8.สัมมาวาจา-สื่อสร้างสรรค์ 9.ไม่เบียดเบียน 10.ศิลปะ 11.เคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีสติ 12.ทำงานด้วยจิตรู้ 13.ปฏิวัติสัมพันธภาพรวมตัวความเป็นชุมชน 14.ชีวันตาภิบาล-การตายดี 15.การเรียนรู้ที่ดี

“คำจำกัดความเรื่องสุขภาพขององค์การอนามัยโลกคือ Health is complete well-being ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ปัญญา ไม่เพียงแค่การไม่มีโรคเท่านั้น แต่เป็นการบูรณาการอยู่ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทั้งหมด ฉะนั้นสุขภาพคือทั้งหมด การจัดงานประชุมครั้งนี้เป็นการระดมความคิดเห็นระดับชาติ เรื่องสุขภาวะทางปัญญาครั้งแรกของโลก มุ่งเป้าพัฒนาระบบโครงสร้างสุขภาพ นวัตกรรม เครื่องมือขับเคลื่อนสุขภาวะทางปัญญาของประเทศ ให้มีความชัดเจนและเกิดผลเชิงประจักษ์” ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเวศเปิดเผย

ประเทศต่างๆ และโลกต้องใช้สุขภาวะที่สมบูรณ์เป็นเป้าหมายให้มีความลงตัว ทุกวันนี้โลกใช้เงินเสรีตามความมั่งคั่ง คิดอย่างแยกส่วน ทำให้โลกเสียความสมดุล สุขภาวะที่สมบูรณ์จะต้องบูรณาการทุกเรื่อง ถ้าโลกทั้งโลกเข้าสู่ดุลยภาพก็จะเกิดความสงบเป็นปกติสุข สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาสูงสุด Complete well-being of mankind around the world เป็นอุดมคติมนุษยธรรมของโลก มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ประกาศว่า Health and Wellbeing mankind are  complete องค์การอนามัยโลกนิยามคำว่าสุขภาพ Health is complete well-being, physically, metally, socially and spiritually

สสส.ในฐานะที่เป็นองค์กรนวัตกรรมทางสังคม เป็นเครื่องมือที่วิเศษมุ่งหมายในการสร้างเสริมสุขภาพให้สมบูรณ์ของมนุษยชาติ สุขภาวะทางกาย จิต สังคม ปัญญา ตลอดเวลา 20 ปี สสส.สนับสนุนกิจกรรมจิตวิวัฒน์  ศูนย์จิตตปัญญา ม.มหิดล จนถึงวันนี้จัดให้มีการประชุมใหญ่ทางวิชาการ สำนัก 11 ทำเรื่องสุขภาวะโดยมีญาณี รัชต์บริรักษ์ ผอ.สำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส.จัดตั้งเป็นศูนย์ความรู้และประสานเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา เป็นแกนหลักจัดให้มีการประชุมในวันนี้ สุขภาวะทางปัญญาหมายถึงสุขภาวะที่เกิดจากความจริงเหนือตัวตน การเข้าถึงความจริงที่เหนือโลก เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดด้วยเหตุผล จากประสบการณ์การปฏิบัติ เป็นปัญญาสูงสุด spiritual หมายถึงคุณค่าเหนือวัตถุ

ธรรมชาติหรือธรรมมี 2 ประการ คือ 1.ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง เราคุ้นเคยเรื่องจักรวาล ดวงดาว พระอาทิตย์ พระจันทร์ โลก ต้นไม้ใบหญ้า สรรพสัตว์ มนุษย์ และ 2.ธรรมชาติที่ปรุงแต่ง เป็นนามธรรม ไม่มีตัวตน ดำรงอยู่เป็นฉากหลังของสรรพสิ่งในสรรพสิ่ง เสมือนหนึ่งการฉายภาพยนตร์ลงบนจอ ภาพที่เห็นบนจอเป็นเรื่องราวต่างๆ คือธรรมชาติที่ปรุงแต่งหรือภาพมายา จอที่ว่างเปล่าเป็นธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง เป็นฉากหลังให้ภาพมายาปรากฏ ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งเชื่อมโยงทั้งหมดของจักรวาลก่อน 1.5 ล้านปี ฉากหลังของจักรวาลจึงกว้างใหญ่ไพศาล ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นอนันตสภาวะ เป็นนิรันดรสภาวะ สงบไม่มีคลื่น ไม่มีความสั่นสะเทือนเป็นสันติสภาวะ ดำรงอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ทั้งในและนอกธรรมชาติที่ปรุงแต่ง เป็น Omnipresent  หรือดำรงอยู่ทั่วไป แต่ไม่มีตัวตนอยู่เหนือความมีตัวตน

มนุษย์แต่โบราณสัมผัสธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำล้วนมีคุณค่า แม่พระธรณี แม่พระคงคา อะไรที่มีคุณค่าเราเรียกว่าพระแม่ ต้นไม้ก็มีคุณค่าเพราะมีรุกขเทวดา เป็นการแสดงความคารพคุณค่าของธรรมชาติ ไม่ทำลายแต่จะต้องช่วยกันรักษาไว้ ชาวอินเดียนแดง ชาวกะเหรี่ยงต่างปกป้องรักษาธรรมชาติไว้ ธรรมะคือธรรมชาติ การฆ่าธรรมชาติเสมือนหนึ่งมาตุฆาตโลก เศรษฐกิจ สังคมเสียสมดุล ขณะนี้โลกปั่นป่วนวุ่นวายเกิดการแย่งชิง ต้องช่วยกันกู้วิกฤต รพินทรนาถ ฐากูร นักปรัชญาได้รับรางวัลโนเบลจากบทกวี คีตาญชลี นำเสนอวิกฤตทางอารยธรรม เมื่อมนุษย์ต้องการวัตถุ

ความสุขทางกายจากวัตถุ เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเปลี่ยนเป็นทุกข์ได้ ความสุขมีอายุสั้น อยากได้จักรยานเมื่อได้จักรยานแล้วมีความสุข เกิดความอยากได้รถยนต์ แม้แต่ความรักระหว่างหญิงชายก็มีอายุสั้น 5-6 ปีก็หมดอายุ Passion หายไปไหน ความรักของดารายิ่งสั้นกว่านั้นอีก เป็นธรรมดาของมนุษย์ที่มีความโลภไม่มีที่สิ้นสุด อยากได้เงินหมื่น เพิ่มเป็นเงินแสน เงินล้านไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อไม่ได้อย่างใจก็มีความโกรธ มีโทสะเป็นความรุนแรง นำไปสู่การแย่งชิง เมื่อรุนแรงก็เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่ยั่งยืน เป็นที่มาของอารยธรรมวัตถุนิยม วิธีที่จะออกจากวิกฤตได้นั้นคือการปฏิวัติจิตสำนึก สุขภาวะทางปัญญามีคุณ 3 ประการ คือ บรมสุข-สุนทรียธรรม-ไมตรีจิตหรือความรักอันไพศาล สุขภาวะทางปัญญาเป็นเครื่องมือที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการเปลี่ยนยุคของมนุษยชาติ มีแรงจูงใจสูงที่จะทำให้เป็นไปได้

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวว่า “We shall need a radically new manner of thinking, if mankind is to survive” เราต้องการวิถีคิดใหม่โดยสิ้นเชิง ถ้ามนุษยชาติจะอยู่รอดได้ ท่านทะไล ลามะ กล่าวว่าโลกป่วยเป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ จึงต้องรักษาด้วยการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual revolution) ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวตั้งแต่ปี 2475 “ถ้าศีลธรรมไม่กลับคืนมา โลกาวินาศ” ทั้งยังกล่าวเสมอว่าต้องช่วยให้มนุษย์ถอนตัวจากวัตถุนิยม ทั้งนี้เออร์วิน ลาสซโล สานิสลาฟ กรอฟ ปีเตอร์ รัสเซลล์ เห็นว่าทางออกจากวิกฤตอารยธรรมวัตถุนิยมคือการปฏิวัติจิตสำนึก

15 เส้นทางที่ใช้สุขภาวะทางปัญญาสู่สุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติมีหลายวิธีมากมาย ไม่ใช่วิธีทางศาสนาอย่างเดียว ลักษณะคล้ายธรรมจักร มนุษย์เราทำให้การศึกษาเป็นทุกข์ เน้นการท่องจำ พระท่องบาลีแล้วเครียด พระเครียด ครูเครียด นักเรียนก็เครียด เป็นการศึกษาที่ผิด การศึกษาที่ถูกต้องต้องทำให้เกิดฉันทะแล้วมีความสุขที่จะเรียนรู้ การเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชี้แจงว่า สสส.มุ่งขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพใน 4 มิติ กาย จิต สังคม รวมถึงมิติสุขภาวะทางปัญญาที่มีชื่อเรียกจิตวิญญาณ จิตตปัญญา จิตวิวัฒน์ จิตอาสาเป็นเสี้ยวหนึ่งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 แต่ยังพบว่าการสร้างเสริมสุขภาวะทางปัญญามีข้อจำกัดในด้านความรู้ความเข้าใจ และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมวงกว้าง สสส.ได้สานพลังศูนย์ความรู้และประสานงานสุขภาวะทางปัญญา มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะ (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย 35 องค์กร จัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเป็นก้าวสำคัญของผู้ร่วมขับเคลื่อนงานสุขภาวะทางปัญญาของไทย เน้นสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ปฏิบัติการ และการใช้/สร้างความรู้ สนับสนุนคนทำงาน นักวิชาการ นักปฏิบัติ และคนที่สนใจในมิติสุขภาวะทางปัญญาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรง แบ่งปันความรู้ ความเข้าใจ มุ่งเป้าขยายผลการเชื่อมโยงองค์ความรู้ในระดับชาติ พร้อมขยายเครือข่ายคนทำงานเพื่อส่งเสริมสังคมสุขภาวะทางปัญญาในอนาคต

ดร.สุปรีดาให้ข้อมูลด้วยว่า “อ.ประเวศชี้ว่าโลกปัจจุบันใช้อารยธรรมตะวันตกมาแล้ว 500 ปี เราเรียนรู้ถึงวิกฤตอารยธรรม เกิดการตื่นตัวที่จะเรียนรู้ทั่วโลกในการเจริญสติ แก้ไขวิธีคิด พัฒนาการรวมตัวกันเป็น IDG รวมตัวกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาจิตใจ เป็นการเชื่อมโยงกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO)” งานประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "ปัญญาปฏิบัติ" แบ่งเป็น 5 ประเด็นหลัก 26 ห้องย่อย อาทิ ธนาคารจิตอาสา : สุขภาวะทางปัญญาวัดได้ มหาวิทยาลัยสุขภาวะ : ระบบการศึกษาที่เกื้อหนุนให้คนเต็มคน สุขภาวะทางจิตวิญญาณของชุมชนชายขอบและผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ การบูรณาการมิติจิตวิญญาณในระบบบริการสุขภาพ มุ่งสานพลังพัฒนาองค์ความรู้ สังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงระบบ นำไปสู่นโยบายการส่งเสริมสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา ที่ส่งผลต่อการพัฒนาสุขภาวะองค์รวมของประเทศ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ส.ค. 2566 ณ อาคารเฉลิมราชกุมารี พรรษา (อาคารจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 800 คน” ดร.สุปรีดาเปิดเผย

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานการจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ เครือข่ายความรู้สุขภาวะทางปัญญา ครั้งที่ 1 เปิดเผยว่า ความพิเศษของการประชุมครั้งนี้ คือการสานพลังทั้งระดับปัจเจกและระดับสถาบัน/องค์กร จัดรูปแบบการประชุมวิชาการที่นำภาควิชาการและภาคปฏิบัติมาเชื่อมโยงเป็นพื้นที่สร้างการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่แยกเป็นงานประชุมวิชาการเพียงอย่างเดียว เนื่องจากการสร้างสังคมสุขภาวะทางปัญญาต้องผ่านการลงมือปฏิบัติ เป็นจุดเริ่มต้นการรวมพลังขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาวะทางปัญญา (Spirituality Development) เพื่อสร้างกลไกการจัดการความรู้ แนวคิด หลักการ ทฤษฎี นวัตกรรมเครื่องมือต่างๆ ผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผสมผสาน ทั้งความรู้จากการอ่าน ฟัง ปฏิบัติ นำไปสู่นโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาของระดับปัจเจกรวมถึงการพัฒนาเชิงระบบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น