‘เหลียวหลังแลหน้า’ 23 ปี...ก้าวย่างสู่การปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชนและ พอช.เป้าหมาย ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง...แก้ปัญหาความยากจน-ลดความเหลื่อมล้ำ’

‘พอช.’ ส่งเสริมให้ชุมชนและเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26  ตุลาคม 2543  มีภารกิจสำคัญในการเสริมสร้างให้ชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศเกิดความเข้มแข็ง  โดยยึดหลักการ  ‘ชุมชนและขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาและแก้ไขปัญหา’  พอช.และภาคีเครือข่ายมีบทบาทในการสนับสนุน  ผ่านกิจกรรมและโครงการต่างๆ มากมาย 

เช่น  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ  มีโครงการที่สำคัญ  คือ ‘โครงการบ้านมั่นคง’  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง   การซ่อมสร้างบ้านเรือนที่ยากจนหรือ ‘บ้านพอเพียง’  การพัฒนาที่อยู่อาศัย ‘กลุ่มคนไร้บ้าน’  ทำให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยและขาดแคลนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมากกว่า 3,000 โครงการ/ชุมชน  รวมกว่า 200,000 ครัวเรือน

ส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน  เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นในระดับตำบล/เทศบาลมีกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือดูแลสมาชิกและผู้ด้อยโอกาสตั้งแต่เกิดจนตาย    ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้วกว่า 5,900 กองทุน  มีเงินกองทุนรวมกันเกือบ 20,000 ล้านบาท

ส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล/เทศบาล  ตามภารกิจที่กำหนดเอาไว้ใน พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีกลางในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ของพี่น้องชาวชุมชน  ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบลและเทศบาลทั่วประเทศแล้วเกือบ 8,000 แห่ง

นอกจากนี้   พอช.ยังมีภารกิจในการเสริมสร้างเศรษฐกิจและทุนชุมชน  ส่งเสริมด้านอาชีพและรายได้  การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ  การจัดการภัยพิบัติ การพัฒนาคุณภาพชีวิต  เสริมสร้างศักยภาพผู้นำชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน  ฯลฯ

เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคใต้ระดมน้ำใจ 250,000 บาท  ช่วยเหลือพี่น้องชาวมูโนะ  จ.นราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากโกดังเก็บพลุระเบิดเมื่อเร็วๆ นี้

เหลียวหลัง  23 ปี...ทบทวนเพื่อก้าวต่อไป

ในเดือนตุลาคม 2566 นี้  พอช.จะดำเนินงานครบ 23 ปี  และก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 ซึ่งตลอดระยะเวลา 23 ปีที่ผ่านมา  พอช.  ชุมชน  และขบวนองค์กรชุมชนได้ร่วมกันทบทวน  สรุปบทเรียน  เพื่อนำมาปรับปรุงวิธีทำงาน  ปรับแนวคิดการพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสถานการณ์โลกอยู่เสมอ

โดยเฉพาะความผันผวนแปรปรวนของโลก (Disruption)  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน       ทำให้ พอช.  ชุมชน และขบวนองค์กรชุมชน ไม่สามารถอยู่นิ่งเฉยได้  จึงมีความพยายามที่จะปรับปรุงระบบการทำงานและปรับโครงสร้างขององค์กรเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้

โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565  พอช.  โดย นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  มีคำสั่งแต่งตั้ง ‘คณะทำงานศึกษาแนวทางการปรับระบบการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารองค์กรของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  โดยมี นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานคณะทำงาน  พร้อมด้วยทรงคุณวุฒิ ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน ผู้แทนภาคประชาสังคม ผู้ปฏิบัติงาน พอข.  รวมทั้งหมด 10 คน  มีหน้าที่  เช่น 

1.ศึกษา รวบรวมข้อมูล และเอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาสังเคราะห์เป็นข้อเสนอถึงแนวทางการปรับระบบการการปฏิบัติงานในเบื้องต้น

2.สนับสนุนการจัดกระบวนการ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภาคี บุคคลที่เกี่ยวข้อง  เพื่อนำมาประกอบในการปรับระบบการปฏิบัติงานในระยะต่อไป

3.จัดทำข้อเสนอในการออกแบบระบบการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารองค์กรของสถาบันฯ ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสถาบันฯ และกลไกที่เกี่ยวข้อง

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะรวมตัวกัน  เป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา   มีเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  พอช.  และหน่วยงานภาคีร่วมสนับสนุน

ย้อนมองขบวนองค์กรชุมชน

ทั้งนี้นับแต่มีการจัดตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าว  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 1 ปี  มีการศึกษาแนวทางการปรับระบบฯ  โดยจัดประชุม  สัมมนาคณะทำงาน  การประชุมร่วมกับผู้นำขบวนองค์กรชุมชนและภาคี  และประชุมหารือกับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน พอช.  รวมกว่า 50 ครั้ง   มีข้อสรุปเกี่ยวกับบทบาท  ผลการดำเนินงาน  และสถานการณ์ของขบวนองค์กรชุมชนในช่วงที่ผ่านมา  ดังนี้

1.เกิดเครือข่ายชุมชนที่เชื่อมโยงการทำงานเรื่องต่าง ๆ มาก และเชื่อมโยงการทำงานทั้งระดับท้องถิ่น อำเภอ จังหวัด บางแห่งสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่ได้ดี แต่ส่วนมากยังกระจัดกระจาย  พื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันได้ดีจะมีการทำงานที่ครอบคลุม และร่วมมือต่อเนื่องระหว่างชุมชนและรัฐดีขึ้น

2.ยังมีปัญหาความยากจน รายได้น้อย ขาดพื้นที่ทำกิน  หนี้สินที่เพิ่มขึ้น  คนรุ่นใหม่ทิ้งถิ่น  ทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรม  ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง  แม้จะมีการพัฒนาระบบ  กลไก  กิจกรรม จากหน่วยงานต่าง ๆ ไม่น้อย  แต่มักเป็นอิสระ  ไม่เชื่อมโยงกัน  ดังนั้นแนวทางการพัฒนาเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในพื้นที่จึงเป็นเงื่อนไขการพัฒนาที่สำคัญ  นำไปสู่การแก้ปัญหาที่ต่อเนื่องยั่งยืน

3.ขาดการพัฒนาความรู้ จัดการข้อมูล การพัฒนาแผน และตัวชี้วัดการพัฒนาจากชุมชนฐานราก เชื่อมโยงระบบข้อมูล และการรายงานสมัยใหม่สู่สังคม  และการวางแผนนโยบายเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง  การพัฒนาคน  กลไก ความรู้  ทักษะ  เชื่อมโยงความรู้ชุมชนและความรู้สมัยใหม่  พัฒนากลไกการทำงานร่วมกันของชุมชนและเครือข่าย หรือการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดที่มีส่วนร่วมหลากหลายจากกลุ่มต่าง ๆ ที่กว้างขวาง มีประสิทธิภาพ และสามารถทำงานร่วมกับภาคีและรัฐได้

ยามเกิดภัยพิบัติ  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุจะระดมความช่วยเหลือที่ทันสถานการณ์  ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

เหลียวมอง พอช.

คณะทำงานฯ มีข้อสรุปเกี่ยวกับการทำงานและบทบาทของ พอช. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  เช่น   มีช่องว่างในการแปลงเจตนารมณ์  อุดมการณ์  นโยบาย และเป้าหมายขององค์กรไปสู่การปฏิบัติ

สภาพแวดล้อมทำให้ พอช. มีการดำเนินงานแบบราชการมากขึ้น  การจัดการ  และเอกสารมากขึ้น ทำให้เวลาเพื่อการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งลดลง

การจัดโครงสร้างการบริหารองค์กรมีความเป็นแท่ง และมีลักษณะการทำงานเป็นแนวดิ่งเพิ่มมากขึ้น การประสานเชื่อมโยงระหว่างส่วนงาน และภาพรวมขององค์กรขาดความยืดหยุ่น

ระบบการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานทุกระดับยังขาดความต่อเนื่อง และไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง  ปริมาณงานมีมาก  คนทำงานมีภาวะเครียด  และมีปัญหาเรื่องสุขภาพสูงขึ้น  ฯลฯ

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชนและ พอช.

จากการศึกษา  ทบทวนบทบาท  ผลการดำเนินงาน  และสถานการณ์ของขบวนองค์กรชุมชนและ พอช. ในช่วงที่ผ่านมาของคณะทำงานฯ  นำมาสู่การสรุปผลการศึกษาเพื่อเสนอแนวทางการปรับระบบการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารองค์กรของ พอช.  และนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’  ในการประชุมบอร์ด พอช. ประจำเดือนสิงหาคม  เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา  โดยมี ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานบอร์ด พอช.  เป็นประธานการประชุม  เพื่อเสนอบอร์ดรับทราบและให้ความเห็นชอบเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

โดยคณะทำงานฯ  ได้เสนอหลักคิดสำคัญของการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชนและ พอช.  ดังนี้ 1. สนับสนุนการพัฒนาที่องค์กรชุมชนเป็นเจ้าของ โดยเครือข่ายขบวนขององค์กรชุมชน และภาคีพัฒนาจากพื้นที่เป็นผู้ขับเคลื่อน และเชื่อมโยงการพัฒนาร่วมกัน

2.องค์กรชุมชนร่วมบริหารจัดการทุกระดับ องค์กรชุมชนและภาคีมีส่วนร่วมการบริหารจัดการงานพัฒนาร่วมกันทั้งในพื้นที่ และงานประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ

3.ใช้โครงการพัฒนา งบประมาณเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นขบวนการ เพื่อสร้างคุณภาพ สถานภาพ ได้รับการยอมรับและปรับความสัมพันธ์ เกิดความร่วมมือในการพัฒนาที่เท่าเทียม และมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน ท้องถิ่น  ประชาคม และหน่วยงานรัฐทั้งในจังหวัดและส่วนกลาง

4.เป้าหมายสำคัญเพื่อการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก  การสร้างถิ่นฐานการอยู่อาศัย  การทำมาหากิน มีระบบสวัสดิการชุมชน  มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและมีศักดิ์ศรีของชุมชนเมืองและชุมชนท้องถิ่น สามารถอยู่ร่วมและเป็นพลังพื้นฐานในการพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นและจังหวัด

นางสาวสมสุข  ประธานคณะทำงานศึกษาแนวทาง ฯ

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ  ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแนวทางการปรับระบบการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารองค์กรของสถาบันฯ กล่าวว่า  การปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชน และ พอช. ในครั้งนี้เป็นเหมือนการสร้างเครือข่าย  โดยมีระบบข้อมูลจากข้างล่างเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน การปรับโครงสร้างครั้งนี้ทำให้เกิดระบบชุมชนที่จังหวัด  มีการจัดทำรายงานเชิงพื้นที่  รายงานภาพรวมการพัฒนาในระดับจังหวัดของขบวนองค์กรชุมชนได้  เช่น ชัยนาท  พังงา  อำนาจเจริญ  สตูล  ฯลฯ  เหล่านี้เป็นระบบของชุมชนที่เชื่อมโยงกันจากชุมชน จังหวัด กลุ่มจังหวัด และกลุ่มจังหวัดมีบทบาทในการเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆ  ผนวกรวมกับการบริหารจากส่วนกลางมาสร้างระบบร่วมกันที่เป็นระบบทั่วประเทศไทย

“เป้าหมายสำคัญของการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชนและ พอช.  คือ  เพื่อการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ  มีกลไกกลางในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ระดับจังหวัด  โดยขบวนองค์กรชุมชนเป็นหุ้นส่วนการทำงานที่สำคั มีบทบาทในการสร้างกระบวนการเพื่อให้เกิดการจัดทำแผน  และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาคี สร้างกระบวนการเรียนรู้แนวราบให้เกิดพื้นที่รูปธรรม จัดทำรายงานการพัฒนาจังหวัดของภาคประชาชน และเชื่อมโยงรูปธรรม”  นางสาวสมสุขกล่าว

ก้าวสู่จังหวัดจัดการตนเอง

“องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง”   คือหลักคิดสำคัญที่จะนำมาใช้ในการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชน และ พอช.  ซึ่งจะส่งผลทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง  สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาจังหวัด ร่วมบริหารจัดการโครงการและงบประมาณของ พอช. เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ  โดย พอช.จะออกแบบระบบสนับสนุนงานต่าง ๆ  เช่น  ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ  ระบบการบริหารโครงการ  ระบบการหนุนเสริมการทำงานให้รวดเร็ว  คล่องตัว เป็นระบบที่ถูกต้อง เปิดเผย โดยคนในจังหวัดและสาธารณะสามารถรู้เห็น และเป็นที่รับรู้ร่วมกัน

นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการ พอช. และคณะทำงานศึกษาแนวทางการปรับระบบฯ กล่าวว่า ในระดับจังหวัด มีการกำหนด 10 คุณสมบัติสำคัญของจังหวัดจัดการตนเองขึ้นมา  เพื่อเป็นการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันของขบวนองค์กรชุมชน และประชาสังคม ประกอบด้วย

นายวิชัย  รอง ผอ.พอช. คณะทำงานฯ

1.การรวมกลุ่ม และเชื่อมโยงกันขององค์กรชุมชน และภาคีที่หลากหลายในระดับจังหวัด  2.การจัดทำและเสนอแผนพัฒนาระดับจังหวัดของขบวนชุมชน และประชาสังคมให้เป็นที่ยอมรับของภาคี หน่วยงาน เพื่อให้ได้รับการบรรจุในแผน หรือนโยบายการพัฒนาในจังหวัด  3.มีระบบข้อมูล และตัวชี้วัดการพัฒนาของชุมชนท้องถิ่น มีการรายงานความก้าวหน้า  การสื่อสารอย่างต่อเนื่อง

4.ศึกษา วิเคราะห์ปัญหา และนโยบายสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นในจังหวัด และจัดทำข้อเสนอ แนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  5.โครงสร้าง และกลไกการทำงานที่มีส่วนร่วม ครอบคลุมหลากหลายประเด็นงาน เป็นที่ยอมรับของขบวนชุมชนท้องถิ่น  ภาคีทุกภาคส่วน

6.ระบบการบริหารจัดการ  การทำงานร่วมกันระดับจังหวัด และการส่งเสริม กำกับให้ขบวนชุมชนในจังหวัด เป็นระบบที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้  7.การทำงาน และตัวแทนของขบวนชุมชนจังหวัดเป็นที่รู้จักยอมรับของทุกฝ่าย (visibility) มีที่ทำการศูนย์ที่สามารถใช้ติดต่อประสานงานกลางที่ชัดเจน 

(8) ส่งเสริม สนับสนุนชุมชนเข้มแข็งครอบคลุมทั้งจังหวัด เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการทำงานระหว่างชุมชน และกับภาคีที่หลากหลาย ทำงานเชื่อมโยงกับกลุ่มจังหวัด ภาค และประเทศ  9.พัฒนาคนทุกรุ่น ทุกกลุ่ม มีระบบการเรียนรู้  จัดการความรู้  และการสื่อสารต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

และ 10.ประชุมร่วมกันของชุมชน เครือข่ายชุมชน และภาคีอย่างสม่ำเสมอ และจัดประชุมประจำปี  เป็นสมัชชาจังหวัด  ระหว่างขบวนชุมชน  ประชาสังคม  และภาคีทุกภาคส่วน

“ทั้งนี้จะมีการพิจารณาความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการ  งบประมาณของ พอช. ร่วมกันระดับจังหวัด  ซึ่งใน 77 จังหวัดนั้น ได้มีการเสนอพื้นที่ในกลุ่มจังหวัด เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนใน 20 จังหวัด  จะเริ่มดำเนินการในปี 2567 เพื่อให้เกิดการรับรองสถานภาพในระดับจังหวัด เกิดการพัฒนาแลกเปลี่ยนกันระหว่างจังหวัด กลุ่มจังหวัด ตลอดจนงบประมาณปี 2567 จะต้องออกแบบให้สอดคล้องกับจังหวัดนำร่อง และจังหวัดขยายผล   โดยจะต้องมีการพัฒนา คุณภาพ  แลกเปลี่ยนความรู้  วิธีทำงานของจังหวัดจัดการตนเองชุดนำร่อง พร้อมทั้งการวางแผน พัฒนาความพร้อมสำหรับจังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มจังหวัด  พัฒนาวิธีทำงานของขบวน และ จนท.พอช.ต่อไป”  นายวิชัย  รอง ผอ.พอช. กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปฯ นำร่องในปีหน้า

ชาวพัทลุงใช้สภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือในการสร้าง ‘พัทลุงมหานครแห่งความสุข’ โดยระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน  ทั้งรัฐ  อปท.  ภาคประชาสังคม  ภาคธุรกิจ  และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  ร่วมกันกำหนดแผนพัฒนาจังหวัด  เป็นการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่ ‘จังหวัดจัดการตนเอง’

พอช.ปรับโครงสร้างการบริหาร-สร้างกลไกร่วมการทำงาน

ในส่วนของการปรับโครงสร้างระบบการบริหารของ พอช. นั้น  มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง สอดคล้องกับทิศทางสถานการณ์ของขบวนองค์กรชุมชน โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหารและการทำงานจะแบ่งเป็น

ระดับกลุ่มจังหวัด เป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ร่วมกับภาคี มีความหลากหลาย มีภาคส่วนต่างๆ มาร่วม ทั้งขบวนองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาคีในพื้นที่ ที่จะทำงานเชื่อมโยงกัน ขับเคลื่อนวาระและการดำเนินงานเชิงยุทธศาสตร์  ภารกิจที่สำคัญ คือ

1. สนับสนุนการทำงานจังหวัดจัดการตนเองในระดับจังหวัด ทั้งเชิงประเด็นและพื้นที่2. เชื่อมโยงแผนระดับจังหวัด และนโยบายระดับกลุ่มจังหวัดกับรัฐ และภาคีที่เกี่ยวข้อง  3. ระดมพลัง สร้างทีมงาน สร้างโอกาสให้คนในกลุ่มจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทาง วางแผน และวิธีการทำงานของกลุ่มจังหวัด 4. พัฒนาความรู้ ศักยภาพของผู้นำ และคนในขบวนที่เกี่ยวข้อง 5. สร้างดุลยภาพความสัมพันธ์ในการทำงานจังหวัดและระหว่างจังหวัด

6.บริหารภาพรวมแผนงาน โครงการ งบประมาณ และรายงานของกลุ่มจังหวัด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ความทั่วถึง และยุทธศาสตร์ของพื้นที่ 7. พัฒนาตัวชี้วัดการพัฒนา ติดตามประเมินผล ศึกษา และจัดการความรู้ เผยแพร่สู่สาธารณะ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนร่วมกันพิจารณาคุณภาพจังหวัดจัดการตนเอง เลือกจังหวัดนำร่อง และวางแผนพัฒนาคุณภาพจังหวัดอื่นที่มีอยู่ ให้มีความสามารถเป็นจังหวัดจัดการตนเองให้ได้ครบทุกกลุ่มจังหวัดในเวลา 1-2 ปี

ระดับภาค มีคณะส่งเสริมการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชน ประชาสังคม และภาคี มีบทบาทในการเชื่อมโยงเครือข่ายและขบวนชุมชนในจังหวัด กลุ่มจังหวัดเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ภาคประชาชนทั้งเชิงพื้นที่และเชิงประเด็น  ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาของขบวนชุมชน  ประสานความร่วมมือกับภาคีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในพื้นที่  สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในระดับจังหวัด และกลุ่มจังหวัด  การสร้างกระบวนการเรียนรู้ภาคประชาชน

ระบบการบริหาร พอช. มีการเสนอโครงสร้างใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์  และการปรับระบบการขับเคลื่อนงานพัฒนาในพื้นที่ให้มากและหลากหลายมากขึ้น แบ่งเป็น 4 กลุ่มงาน ประกอบด้วย 1.กลุ่มสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม  2.กลุ่มพัฒนาความมั่นคงที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของชุมชน  3.กลุ่มบริหารเงินทุนและสินเชื่อเพื่อการพัฒนา  และ 4.กลุ่มนโยบาย และบริหารองค์กร  โดยจะมีพื้นที่กลางกลไกการบริหารร่วมกัน

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช. (กลาง) รับฟังรายงานผลการศึกษาการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชนและ พอช. ในการประชุมบอร์ด เมื่อ18 สิงหาคมที่ผ่านมา

ดร.กอบศักดิ์แนะใช้ IT และ social media ปรับ พอช.เป็นองค์กรสู่อนาคต

ทั้งนี้หลังจาก ‘คณะทำงานศึกษาแนวทางการปรับระบบการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารองค์กรของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)’ ได้รายงานผลการศึกษาฯ ให้คณะกรรมการสถาบันฯ  ได้รับทราบถึงผลการศึกษาแนวทางการปรับระบบการปฏิบัติงานและโครงสร้างการบริหารของ พอช. แล้ว  คณะกรรมการสถาบันฯ ได้เห็นเห็นชอบให้ฝ่ายบริหารนำผลการศึกษาไปพิจารณาดำเนินการจัดทำข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง และขั้นตอนกระบวนการของการบริหารที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า การปรับโครงสร้างใหม่ เป็นการปรับที่ก่อให้เกิดกระบวนการที่องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ส่งผลให้การทำงานในพื้นที่นั้นมีการขับเคลื่อนอย่างมีคุณภาพ และจะเกิดการเกื้อหนุนการทำงานในพื้นที่ให้มากขึ้น

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  การขับเคลื่อนงานของ พอช. นั้น  ตนให้ความสำคัญกับเรื่องเทคโนโลยี IT และ social media เพื่อเป็นองค์กรสู่อนาคต รวมถึงกลุ่มงานสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม ที่มีการขับเคลื่อนในระดับกลุ่มจังหวัด และมีทีมส่วนกลางในการประสานขบวนองค์กรชุมชนและประชาสังคม เพื่อพัฒนาผู้นำและนวัตกรรมการพัฒนาชุมชนและสังคม  รวมทั้งมองถึงการปรับปรุงเรื่องคนและกระบวนทัศน์  ถือเป็นการปรับกระบวนการ ให้ขบวนองค์กรชุมชนเข้าถึง และนำระบบ IT มาช่วยทำงาน

“ขณะเดียวกันมีกลุ่มบริหารเงินทุนและสินเชื่อเพื่อการพัฒนา ที่มีเรื่องของเงินที่จะมาสนับสนุน ทั้งในระบบงบประมาณ และการสนับสนุนจากแหล่งอื่นๆ  ส่วนการบริหารภายใต้โครงการที่จะมีมากขึ้น อยากให้มีระเบียบการทำงาน หรือธรรมนูญระดับภาค จังหวัด ตำบล ให้มีเรื่องของ ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ เข้าไป มีการทดลองใช้ นำร่อง สุดท้ายเราจะมีกระบวนทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ทั้งในระดับพื้นที่  จังหวัด กลุ่มจังหวัด  ภาค และระดับประเทศต่อไป”  ดร.กอบศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ตามแผนงาน  คณะทำงานฯ  จะสรุปผลการศึกษา และส่งมอบผลการศึกษาและนำเสนอข้อเสนอต่อผู้อำนวยการ พอช. ได้ภายในเดือนกันยายนนี้  หลังจากนั้นในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม  คณะผู้บริหาร พอช.  จะทบทวน  ปรับระเบียบ  และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง  เพื่อรองรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ของ พอช.  และนำไปปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู้เป้าหมาย.....

“ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน  ลดความเหลื่อมล้ำ...ให้บรรลุผลต่อไป !!”

****************

เรื่องและภาพ  : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา