โดยที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เป็นส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง และเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงาน ปปง. และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้าง
ซึ่งปฏิบัติงานในสำนักงาน ปปง. ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงาน ปปง. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยการกำกับ ตรวจสอบ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดำเนินการ กับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยนำนวัตกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในรูปแบบใหม่มาใช้เพื่อดำเนินมาตรการทางแพ่งและมาตรการอาญากับผู้กระทำความผิด ควบคู่ไปกับการสร้าง องค์ความรู้เพื่อพัฒนาสมรรถนะของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ให้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงานและรู้เท่าทันต่อรูปแบบและวิธีการของอาชญากรรมการฟอกเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ภารกิจของสำนักงาน ปปง. สามารถดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล
ในปีที่ 24 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566) ภายใต้การกำกับดูแลของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการควบคุมดูแลของนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดมูลฐานต่าง ๆ เช่น ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ รวมมูลค่าประมาณ 5,400 ล้านบาท ความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นการพนันผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมมูลค่าประมาณ 66 ล้านบาท ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน รวมมูลค่าประมาณ 236 ล้านบาท ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม รวมมูลค่าประมาณ 128 ล้านบาท ความผิดเกี่ยวกับการพนัน รวมมูลค่าประมาณ 125 ล้านบาท และความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมมูลค่าประมาณ 94 ล้านบาท เป็นต้น โดยสามารถยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรวมมูลค่ากว่า 7,400 ล้านบาท และมีรายคดีสำคัญ เช่น คดีฉ้อโกงหุ้นมอร์ รีเทิร์น จำกัด (ยึดและอายัดทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 4,500 ล้านบาท)
คดีกลุ่มบุคคลลักลอบเปิดเว็บพนันออนไลน์ www.888point.com, ufalike.com, ufa44.com (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 66 ล้านบาท) คดีกลุ่มบุคคลลักลอบเปิดเว็บพนันออนไลน์ superlotjet.com, jokerwallet.game (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 112 ล้านบาท) คดีฉ้อโกงประชาชนห้างหุ้นส่วนจำกัด สถานีหลักสี่ กับพวก (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 18 ล้านบาท) คดีอั้ม PSV (ยึดและอายัดทรัพย์สินรวมมูลค่ากว่า 426 ล้านบาท) คดีลักทรัพย์และปลอมเอกสารสิทธิกรณีเงินสหกรณ์ตำรวจพัทลุง (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 56 ล้านบาท) คดีสร้างโรงแรมบุกรุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา-เกาะหลีเป๊ะ (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 130 ล้านบาท) เป็นต้น รวมทั้งได้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในความผิดมูลฐานด้วย
นอกจากนี้ สำนักงาน ปปง. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เพื่อช่วยเหลือและคืนเงินให้แก่ผู้เสียหาย เช่น ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. ดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 2.06 ล้านบาท) ร่วมกับกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและตำรวจทางหลวงจังหวัดอุดรธานีในการปิดล้อมตรวจค้นเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 90 ล้านบาท) ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในการดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดกรณีการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 130 ล้านบาท) ร่วมกับ FBI และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการสืบสวนขยายผลการกระทำความผิดเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายชาวอเมริกันให้โอนเงินมายังบัญชีในประเทศไทย (อายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 2.7 ล้าน) และได้ส่งมอบเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายชาวอเมริกันเรียบร้อยแล้ว และร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนดำเนินการสืบสวนสอบสวนขยายผลและยึดทรัพย์สินของผู้ต้องหาในคดีฉ้อโกงตามหมายจับของจีนที่หลับหนีมาประเทศไทย (ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่ากว่า 530 ล้านบาท) และได้ส่งมอบเงินคืนให้แก่ผู้เสียหายแล้ว กว่า 400 ล้านบาท เป็นต้น
ในอนาคตที่ย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 25 ภายใต้การกำกับดูแลของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการควบคุมดูแลของนายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงาน ปปง. มุ่งเน้นการสืบสวนขยายผลเพื่อนำไปสู่การยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด อันเป็นการตัดวงจรอาชญากรรมเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานและตัดเส้นทางการเงินของผู้กระทำความผิด รวมทั้งดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'คารม' เตือน ปชช. อย่าหลงเชื่อไลน์ปลอมชื่อ 'สำนักงาน ปปง.'
“คารม” เตือน ปชช. อย่าหลงเชื่อไลน์ปลอมชื่อ “สำนักงาน ปปง. ” อ้างรับปรึกษาปัญหา ระบุ มีบัญชีไลน์บัญชีเดียว ชื่อ @insideamlo
นายกฯ สั่ง ปปง.เร่งยึดทรัพย์แก๊งค้ายา
นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ สั่ง ปปง.มีอำนาจพิเศษสูงต้องทำงานแบบล้วงลูก เร่งยึดทรัพย์ตัดตอนขบวนการค้ายาฯ อย่ามัวแต่ช้า หวั่นโอนเงินหนี กำชับอย่าทำงานแบบไซโลให้เป็นข้อครหา
'เศรษฐา' กั๊กผลสอบบิ๊กสีกากีโยน 'วิษณุ' แถลงแทน!
'เศรษฐา' เผย 'ฉัตรชัย' แจ้งผลสอบ 'บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก' จบแล้ว จ่อเข้าพบวันนี้ มอบ 'วิษณุ' แถลง อุบเป็นบวกทั้ง 2 คนหรือไม่
นายกฯ ยัน ฟัน 'สุรเชษฐ์' เป็นเรื่องภายในตร. 'กิตติ์รัฐ' ย้ำดำเนินการตามกม.
นายกฯ เผยสั่ง 'สุรเชษฐ์' ออกจากราชการ เป็นเรื่องภายในตร. ส่วนสอบ 2 บิ๊กสีกากี มั่นใจ 3 คกก.มืออาชีพ ยืนยันให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 คน ด้าน 'กิตติ์รัฐ' ลั่นไม่หนักใจ มั่นใจดำเนินการตามกม.
ปปง. แต่งตั้งทีมโฆษก ลุยสื่อสารเชิงรุก ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทันสถานการณ์
นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) ได้ลงนามในคำสั่งที่ 520/2566 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เรื่อง แต่งตั้งโฆษก รองโฆษก และผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.)
นายกฯ ตรวจ ปปง.มอบนโยบายทำงานโปร่งใสคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน!
'เศรษฐา' ตรวจเยี่ยม ปปง. มอบนโยบาย กำชับทำงานโปร่งใส บังคับใช้กฎหมายจริงจัง นึกถึงหลักสิทธิมนุษยชน ด้าน 'ฉัตรชัย' ปลื้ม เป็นนายกฯ คนแรกที่มานั่งกํากับดูแลเอง