สส. เปิดศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) แห่งใหม่ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่

วันนี้ (16 สิงหาคม 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) จัดพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และถ่ายทอดการจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพแก่สังคม ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เปลี่ยนมุมมองขยะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งสู่ Build forward Greener ปรับเปลี่ยนชีวิตวีถีใหม่ อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายวรพล จันทร์งาม รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นประธานพิธี โดยมีนางสาวระเบียบ ภูผา ผู้อำนวยการกลุ่มสื่อสิ่งแวดล้อมและกิจการพิเศษ พร้อมด้วยผู้บริหารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่ และนายอำเภอแม่แจ่ม ให้การต้อนรับ

นายวรพล จันทร์งาม รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากวิกฤติ Climate Change ส่งผลให้ประเทศไทยตกอยู่ในความเสี่ยงอันดับที่ 9 ของโลก ซึ่งถือว่าเป็นอันดับต้นๆ แม้เราจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียง 0.88% เป็นอันดับที่ 19 ของโลกก็ตาม ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้วยเหตุนี้ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นว่าควรมีหน่วยงานที่จะรับมือในประเด็นดังกล่าว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 เพื่อรองรับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นวาระสำคัญของโลกและเป็นการตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นให้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งการจัดการขยะที่ต้นทางเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ดำเนินงานโครงการโรงเรียนปลอดขยะและชุมชนปลอดขยะ ผ่านแนวคิด Zero Waste การจัดการขยะเหลือศูนย์ โดยใช้หลัก 3Rs พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน โรงเรียน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเริ่มจากการจัดการขยะ จากต้นทางแหล่งกำเนิดขยะ การลดปริมาณขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ การจัดการกลางทางโดยระบบการบริหารจัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการจัดการปลายทางโดยการกำจัดที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนได้รับการยอมรับและนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่สามารถปฏิบัติได้จริง ปรับให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันมีศูนย์เรียนรู้ชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) จำนวน 39 ศูนย์เรียนรู้ และมีศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) จำนวน 18 ศูนย์เรียนรู้ ซึ่งกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้พัฒนาพื้นที่ขยายผลอย่างต่อเนื่อง เพราะโรงเรียนปลอดขยะและชุมชนปลอดขยะ ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในระดับพื้นที่ เป็นฟันเฟือนสำคัญขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ ช่วยส่งเสริมความรู้ความเข้าใจ เปลี่ยนมุมมองขยะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงมีส่วนสำคัญในการช่วยลดภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) อันเป็นวาระระดับโลกที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ส่งผลกระทบไม่เฉพาะต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังรวมถึงการปรับตัวทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่ เป็นโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านการมีส่วนร่วมของผู้บริหาร คณะครู กรรมการสถานศึกษาและนักเรียน ในการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นระบบ โดยนำหลักการ 6 ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมรับผิดชอบ ร่วมภาคภูมิใจ และร่วมเปลี่ยนแปลง มาใช้ในการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน นับว่าเป็นหลักการที่ดีและเหมาะสมที่จะเผยแพร่ขยายผลสู่สถานศึกษาเครือข่าย ควบคู่กับต้นแบบความสำเร็จในการจัดการขยะมูลฝอยของโรงเรียนที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของท้องถิ่นเป็นอย่างดี จากความมุ่งมั่นตั้งใจ ร่วมมือจนเกิดผลเป็นรูปธรรม ส่งผลให้โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่ ได้พัฒนาเป็นต้นแบบการจัดการขยะมูลฝอยของจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษา ประจำปี 2565 มีคณะศึกษาดูงานจากหน่วยงานต่างๆ เข้ามาศึกษา แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะมูลฝอยอย่างต่อเนื่อง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นศักยภาพและความพร้อมของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่ จึงส่งเสริมและสนับสนุน พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School ในวันนี้ขึ้น โดยมีเครือข่ายสถานศึกษา คณะครูและนักเรียน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 100 คน ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การมอบทุนสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School พิธีเปิดป้ายศูนย์เรียนรู้โรงเรียนปลอดขยะ Zero Waste School โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 เชียงใหม่ พร้อมเยี่ยมชมฐานกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ จำนวน 15 ฐานเรียนรู้ อาทิ ฐานใต้ร่มพระบารมีรักษ์โลก ฐานกาดหมั้ว ครัวฮอม ฐาน Green Big Cinema เป็นต้น เพื่อถ่ายทอดขยายองค์ความรู้ กระบวนการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางในโรงเรียน ให้แก่ประชาชน ชุมชน สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนใจ นำไปปฏิบัติต่อยอดได้ นายวรพล กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปชป. ระดม สส.-สาขาพรรค ช่วยน้ำท่วมใต้ เปิดครัวทุกพื้นที่

ปชป.พรึ่บ! ระดมช่วยน้ำท่วมใต้ ตั้งครัวกระจายทุกพื้นที่ 'เฉลิมชัย' สั่ง สส.- สาขาพรรค เกาะติดพื้นที่ บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

'กมธ.ต่างประเทศ' ซัดรัฐบาลไร้น้ำยา ผ่าน 3 สัปดาห์ ไร้ข้อสรุป ปล่อยเมียนมาจับ 4 คนไทย

'กมธ.ต่างประเทศ' ผิดหวังทางการไทย ผ่าน 3 สัปดาห์ เมียนมาจับลูกเรือ 4 คน ยังไม่รู้น่านน้ำใคร จี้ 'นายกฯอิ๊งค์' สั่งการเชิงรุก ข้องใจมัวห่วงเสียผลประโยชน์คนบางกลุ่มหรือไม่

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' ของไทย ไม่บ้ายกให้กัมพูชา จ่อติวเข้ม สส. แจงปชช.

'ทักษิณ' ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์ 'เกาะกูด' เป็นของไทย โต้เฟกนิวส์ใช้เอไอปล่อยข่าวมั่ว ชี้ใครจะบ้ายกให้ เตรียมติว สส. เพื่อไทย แจงประชาชนถึงที่มา MOU 44

เตรียมรับมือหมอกควัน-ฝุ่นพิษ 2568

ใกล้จะเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นช่วงเวลาที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จะเริ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินช่วงหลังวันที่ 23 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีฝนที่ลดลง และจะมีมวลอากาศเย็นแผ่เข้ามาบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย