ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาส ‘วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล’ ทุกปี
ป.ป.ช. / สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รายงานผลการประเมิน คุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2566 รวม 8,323 หน่วยงาน มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน ซึ่งดีกว่าปีที่ผ่านมา ด้าน ‘พอช.’ ได้คะแนนรวม 93.82 อยู่ในระดับ ‘ผ่าน’ ได้อันดับที่ 8 ขององค์การมหาชน
สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้ทุกหน่วยงานเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่านระบบ ITAs โดยกำหนดตัวชี้วัดในประเด็นต่างๆ จำนวน 10 ตัวชี้วัด เก็บข้อมูลจาก 3 แบบวัด คือ 1.แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน 2.แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก และ 3. แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ โดยในปีงบประมาณ 2566 เริ่มประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2566
ป.ป.ช. แถลงผลประเมิน 8,323 หน่วยงานรัฐปี 2566
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า การประเมิน ITA ในปีนี้ มีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 8,323 หน่วยงาน โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และสิ้นสุดการประเมินในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินและความถูกต้องน่าเชื่อถือทางวิชาการ โดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
พลตำรวจเอกวัชรพล ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (ภาพจากเว็บไซต์ ป.ป.ช.)
“ผลการดำเนินการที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทุกหน่วยงานและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการประเมิน ITA เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (แบบวัด IIT) ของบุคลากรภาครัฐ และการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) ของประชาชนที่มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ จำนวนทั้งสิ้น 1,006,246 คน”
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวและว่า มีผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินเป็นจำนวนมาก ในสัดส่วนที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านคุณธรรมและความโปร่งใสได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการเช่นเดียวกันกับการดำเนินการในปีที่ผ่านมา อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ทั้งนี้ผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า
มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 90.19 คะแนน ซึ่งมีทิศทางแนวโน้วที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 2.62 คะแนน และเมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 6,737 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 80.94 % ของหน่วยงานทั้งหมด 8,323 หน่วยงาน โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 10.42%
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวในตอนท้ายว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 หน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมิน จะมีแนวโน้มที่จะได้ค่าคะแนนเฉลี่ยและมีสัดส่วนหน่วยงานภาครัฐที่ได้ค่าคะแนน 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป ที่สูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่สามารถบรรลุค่าเป้าหมายในปี พ.ศ. 2566-2570 ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบที่กำหนดสัดส่วนหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไปไม่น้อยกว่า 100%
“นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งต่อหน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการเร่งผลักดันและพัฒนาขีดความสามารถในการยกระดับผลการประเมินให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าว
‘พอช.’ ได้คะแนนรวม 93.82 ระดับ ‘ผ่าน’
ส่วนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสหน่วยงานรัฐประเภทองค์การมหาชน ซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542 มีทั้งสิ้น 37 องค์กร ผลการประเมิน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ได้คะแนนรวมสูงสุด 98.06 ระดับ ‘ผ่าน’ ส่วนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้คะแนนรวม 93.82 ระดับ ‘ผ่าน’
การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือ ITA มีตัวชี้วัด 10 ด้าน คือ 1.การปฏิบัติหน้าที่ 2.การใช้งบประมาณ 3.การใช้อำนาจ 4.การใช้ทรัพย์สินของราชการ 5.การแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งการประเมินทั้ง 5 ด้านนี้ จะใช้แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment หรือ IIT (ร้อยละ 30) โดยมีกลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรของ พอช. ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงาน ลูกจ้าง จำนวน 40 คน
6.คุณภาพการดำเนินงาน 7.ประสิทธิภาพการสื่อสาร 8.การปรับปรุงการทำงาน จะใช้แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: หรือ EIT (ร้อยละ 30) กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคคล นิติบุคคล บริษัทเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐอื่นที่มารับบริการ หรือมาติดต่อตามภารกิจของหน่วยงาน โดยวัดผลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก จำนวน 108 คน และ ป.ป.ช.จัดเก็บข้อมูลจากอนุกรรมการภาคกรุงเทพฯ จำนวน 36 คน
9.การเปิดเผยข้อมูล และ 10.การป้องกันการทุจริต จะใช้แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and ransparency Assessment หรือ OIT (ร้อยละ 40) โดยประเมินระดับการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะของหน่วยงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์หน่วยงาน
ทั้งนี้ ป.ป.ช. สรุปผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของ พอช. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ว่า
“อยู่ในระดับผ่านและบรรลุค่าเป้าหมาย คือ มีผลการประเมิน ITA ในภาพรวม 85 คะแนนขึ้นไป แต่มีคะแนนรายเครื่องมือประกอบด้วย IIT, EIT ส่วนที่ 1, EIT ส่วนที่ 2 และ OIT เครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่งมีผลคะแนนน้อยกว่า 85 คะแนน ซึ่งผ่านค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีความโปร่งใส ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยมีคะแนนในภาพรวมอยู่ที่ 93.82 คะแนน”
ตารางภาพรวมการประเมิน พอช.เปรียบเทียบปี 2565 กับปี 2566 มีคะแนนรวมลดลง 1.22
ข้อเสนอแนะและเสียงจากสาธารณะถึง พอช.
รายงานการประเมินของ ป.ป.ช.ยังมีข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของ พอช. ในหลายประเด็น เช่น
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินตามแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้มีการดำเนินการตาม
ตัวชี้วัดที่ 1 การปฏิบัติหน้าที่ โดยมีคะแนนสูงสุดควรรักษามาตรฐานไว้ และควรพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่ 4 การใช้ทรัพย์สินของราชการ
ทั้งนี้ผู้ตรวจประเมินมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานรายประเด็นข้อคำถามที่มีผลการประเมินต่ำ โดยเฉพาะในประเด็นข้อคำถาม เช่น
ข้อ I8 ประเด็น บุคลากรบางรายในหน่วยงานไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการงบประมาณ ดังนั้น หน่วยงานควรจัดให้บุคลากรภายในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ (อ้างอิงจาก o11) หรือมีส่วนร่วมในกระบวนการกำกับติดตามแผนการดำเนินงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ (อ้างอิงจาก o12) เพื่อให้บุคลากรได้เข้ามามีส่วนร่วมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ มีความคุ้มค่า และเกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ฯลฯ
เปรียบเทียบผลการประเมิน พอช. ระหว่างปี 2562-2566 ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินตามแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment : EIT) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้มีการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่ 6 คุณภาพการดำเนินงาน โดยมีคะแนนสูงสุด ควรรักษามาตรฐานไว้ และควรพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการตามตัวชี้วัดที่ 7 ประสิทธิภาพการสื่อสาร
ทั้งนี้ผู้ตรวจประเมินมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานรายประเด็นข้อคำถามที่มีผลการประเมินต่ำ โดยเฉพาะในประเด็นข้อคำถาม เช่น
ส่วนที่ 1 ผู้รับบริการหรือติดต่อราชการเข้าตอบด้วยตนเอง (EIT Public) ข้อ E10 ประเด็น มีผู้รับบริการหรือผู้มาติดต่อราชการกับหน่วยงานบางรายมีความเห็นว่าหน่วยงานยังไม่มีหรือไม่ทราบว่ามีช่องทางการแจ้งข้อมูลหรือร้องเรียนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน
ดังนั้นหน่วยงานควรเผยแพร่ช่องทางการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ผ่านช่องทางออนไลน์ (อ้างอิงจาก o28) โดยจัดให้มีมาตรการคุ้มครองและปกปิดข้อมูลผู้แจ้งเบาะแส นอกจากนี้ควรเผยแพร่ช่องทางดังกล่าวในจุดที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น บริเวณจุดให้บริการหรือจุดประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน ฯลฯ
ข้อเสนอแนะสำหรับการประเมินตามแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ควรพัฒนาและปรับปรุงการดำเนิน การตามแบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (OIT) โดยผู้ตรวจประเมินมีข้อเสนอแนะต่อการประเมินที่ไม่ได้รับคะแนน ในประเด็นดังนี้
1.ตัวชี้วัดย่อย มาตรการส่งเสริมคุณธรรมและความโปร่งใส ได้แก่ (1) ประเด็น มาตรการเสริมสร้างมาตรฐานทางจริยธรรม หน่วยงานควรดำเนินการจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่มีเนื้อหาและองค์ประกอบครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การประเมิน ตลอดจนให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. มาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 และแนวทางที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด
นอกจากนี้ผู้ประเมินจัดเก็บข้อมูล (EIT Survey) ยังได้เสนอแนะความเห็นที่ได้จากการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก เช่น 1.อยากให้มีการอบรมการเขียนโครงการ มีการสื่อสารกันบ่อย ๆ ทั้งภาคและระดับประเทศ เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน
2.พอช. มีเจ้าหน้าที่ทำงานน้อยมากเพราะทำงานทุกจังหวัด พอช. ได้งบประมาณน้อยทำให้บริการประชาชนในพื้นที่ไม่ดีเท่าที่ควร 3.ขอให้เพิ่มงบประมาณ พอช.
4.ควรให้งบประมาณในการทำงานมากกว่าที่ได้ทุกวันนี้ เพราะพอช.เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับภาคประชาชน และมีส่วนช่วยในการสนับสนุนภาคประชาชนมากที่สุด
5.การจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบทุนขับเคลื่อนงานของสภภาองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองให้มากกว่านี้
6.เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารให้มากขึ้น อยากให้มีการอบรมให้ทั่วถึง อยากให้ พอช.หางบประมาณให้มากกว่านี้ อยากให้ พอช.เพิ่มบุคลากร ฯลฯ
พอช. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีค่านิยมถือปฏิบัติร่วมกัน 10 ข้อว่า "คน พม. ทำได้" ได้แก่ เคารพและให้เกียรติกัน มุ่งมั่นตั้งใจทำงาน ตรงต่อเวลา มีการวางแผน ซื่อสัตย์ พัฒนาตนเอง ทัศนคติดี มีวินัย โปร่งใส และบุคลิกภาพดี เพื่อสร้างสังคม พม. ให้เป็นสังคมที่โปร่งใสและใสสะอาด ภายใต้แนวคิด "พม.ไม่ทนต่อการทุจริต มีเป้าหมายเพื่อเป็นองค์กรธรรมาภิบาลที่ไม่ทำ ไม่ทน ไม่เฉย ต่อการทุจริตในทุกรูปแบบ
************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)