นายจุติ รมว.พม. สั่งหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ จ.นราธิวาส
กระทรวง พม. / จุติ ไกรฤกษ์ รมว. พม. สั่งทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งช่วยเหลือประชาชนกรณีโกดังเก็บพลุระเบิดที่ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะครอบครัวเปราะบาง เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกือบ 1,000 ราย และให้ พอช. ช่วยเหลือครอบครัวที่บ้านเรือนเสียหาย รวม 770 หลัง วงเงิน 14.9 ล้านบาท รวมทั้งจะมีการซ่อมสร้างบ้านเรือนถาวรและส่งเสริมเรื่องอาชีพต่อไป
สภาพความเสียหายที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กรณีเกิดเหตุโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิดที่ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสนั้น นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดในกระทรวง พม. เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาทุกครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวเปราะบาง ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยติดเตียง เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือดูแลจนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพได้ปกติ
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม.
นายอนุกูล กล่าวว่า กระทรวง พม. ได้วางแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูครอบครัวเปราะบางที่ประสบภัย โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะวิกฤต โดยนักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา และหน่วยงานทีม One Home พม. ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส ลงพื้นที่สำรวจ เก็บข้อมูลครอบครัวเปราะบางที่ประสบภัย พบว่า มีเด็ก 452 คน ผู้สูงอายุ 516 ราย ผู้พิการ 16 ราย และผู้ป่วยติดเตียง 8 ราย รวม 992 ราย โดยจะมีการจัดกิจกรรมบำบัดฟื้นฟูกลุ่มเปราะบางกลุ่มนี้โดยเร็ว
เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.นราธิวาส (พมจ.) สำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ
2.ระยะกลาง เป็นการช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้กับครัวเรือน 682 ครอบครัว วงเงิน 12.27 ล้านบาท โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนเงินค่าก่อสร้างที่พักชั่วคราว ครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท หรือค่าเช่าบ้านตามการจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน และไม่เกิน 6 เดือน รวมเป็นเงินไม่เกิน 18,000 บาทต่อครัวเรือน และสนับสนุนเงินค่าซ่อม/สร้างที่อยู่อาศัยถาวรเบื้องต้น หลังละ 30,000 บาท รวมทั้งสิ้น 88 หลัง วงเงิน 2.64 ล้านบาท (รวมงบช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยเบื้องต้น 14.9 ล้านบาทเศษ)
นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ต่างๆ วงเงิน 1.81 ล้านบาท ตลอดจนการใช้เครือข่ายทีมสหวิชาชีพ (Case Manager) ในพื้นที่ช่วยเหลือครอบครัวเปราะบาง
ทีม พม.ลงพื้นที่ร่วมประชุมกับหน่วยงานในท้องถิ่น
และ 3.ระยะยาว โดยการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพ กองทุนเพื่อประกอบอาชีพ และการซ่อม/สร้างที่อยู่อาศัยถาวร รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ซึ่งทั้งหมดเป็นการช่วยเหลือของกระทรวง พม. เพื่อคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุด
หารช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชน .................................................