จากภัยพิบัติ……สู่การอนุรักษ์และพัฒนา ‘ดิน-น้ำ-ป่า-คน’ ต้นน้ำพุง อ.ด่านซ้าย จ.เลย

เทือกเขาเพชรบูรณ์มีลักษณะเป็นภูเขาสูงซับซ้อน มีพื้นที่ครอบคลุมภาคเหนือตอนล่างและถาคอีสาน เช่น  จังหวัดเพชรบูรณ์   เลย  เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำหลายสาย เช่น  ป่าสัก  น้ำพุง  ฯลฯ (ภาพจากสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์)

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2544  ที่ตำบลน้ำก้อ  อำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์  หลังจากที่สายฝนได้กระหน่ำหนักติดต่อกันนานหลายวัน  ราวตี 3  ของวันนั้น  มวลน้ำป่าจำนวนมหาศาลจากบนเขาได้ไหลทะลักราวกับเขื่อนแตก  กระแสน้ำที่เกรี้ยวกราดได้พัดพาเอาดินโคลน  ต้นไม้ที่ถูกถอนรากถอนโคนลงมาสู่หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ด้านล่าง  มือยักษ์จากธรรมชาติได้กวาดเอาบ้านเรือน  ผู้คน  สัตว์เลี้ยง  ต้นไม้  เรือกสวน  ไร่นา ฯลฯ จมหายไปกับสายน้ำ

หลังภัยพิบัติยุติลง  พบว่า  มีชาวบ้านตำบลน้ำก้อและใกล้เคียงเสียชีวิต 136 ราย  มีผู้บาดเจ็บ 109 ราย  สูญหาย 4 ราย  บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 188 หลัง  เสียหายบางส่วน 441 หลัง  มูลค่าความเสียหายรวม 645 ล้านบาท  (คมชัดลึกออนไลน์)

นั่นเป็นภัยพิบัติในปี 2544 ซึ่งถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย  หลังจากนั้นก็มีหุตการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ  เป็นเสมือนสัญญาณเตือนที่ธรรมชาติสื่อสารมา…

ภัยพิบัติที่บ้านน้ำก้อ  จ.เพชรบูรณ์  ในปี 2544

จากภัยพิบัติสู่การอนุรักษ์พัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์

ในเดือนกันยายน 2550   เกิดอุทกภัยน้ำป่าจากลุ่มน้ำพุงที่มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  ไหลบ่าลงสู่พื้นราบที่ตำบลโป่ง   อ.ด่านซ้าย  และที่ตำบลนาซำ  อ.หล่มเก่า  จ.เพชรบูรณ์  ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกัน มีผู้เสียชีวิต 6 คน  บ้านเรือนได้รับความเสียหายประมาณ 80 หลังคาเรือน

จีระศักดิ์  ตรีเดช  นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์  บอกว่า   จากกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำป่าสักที่ตำบลน้ำก้อ   อ.หล่มสัก  จ.เพชรบูรณ์  และลุ่มน้ำพุงที่ตำบลโป่ง  อ.ด่านซ้าย  จ.เลย   จากการ ศึกษาพบว่า  มีปัจจัยที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ  โดยลักษณะของธรรมชาติ 4 ประการที่มาบรรจบกัน   คือ

1. พื้นที่มีความลาดชันเกินกว่า 30 % จึงทำให้การไหลของน้ำรวดเร็ว 2.โครงสร้างของหินและดินที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้สูง   3.สภาพป่า  พืชพันธุ์  และสภาพการใช้ที่ดิน  เช่น  การดูดซับน้ำป่าและการยึดหน้าดิน    และ 4.ปริมาณน้ำฝน  หากฝนตกมากกว่า 100  มิลลิเมตรติดต่อกันมากกว่า 3 วัน  จะทำให้ลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำพุงเกิดน้ำป่าไหลหลากได้เพราะดินอุ้มน้ำไม่ทัน

ปัจจัยทั้ง 4 ประการข้างต้น  เป็นความเสี่ยงของพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดภัยพิบัติได้ตลอดเวลา และหากปัจจัยของการเกิดเหตุครบทั้ง 4 ประการ   การเกิดอุทกภัยดินถล่มก็ยังมีโอกาสเกิดแบบซ้ำๆ ได้อีก  เพราะปัจจัยทางธรรมชาติเป็นปัจจัยที่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้   แต่สิ่งที่ชุมชนสามารถทำได้คือ  การจัดการความเสี่ยง  และการเตรียมความพร้อมในการป้องกันภัยพิบัติโดยชุมชน  และชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม  เพื่อลดผลกระทบและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น”  จีระศักดิ์บอก

จีระศักดิ์  ตรีเดช

จีระศักดิ์บอกด้วยว่า  จากปัญหาภัยพิบัติในลุ่มน้ำป่าสักและลุ่มน้ำพุง  ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่เชื่อมโยงและอยู่ในแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์เดียวกัน   ตนจึงร่วมกับภาคประชาสังคม  จัดตั้ง สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์  ขึ้นมาในปี 2554  เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  ระบบนิเวศน์   และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภูมินิเวศน์เทือกเขาเพชรบูรณ์ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมหลายอำเภอในจังหวัดเลยและเพชรบูรณ์ (ติดตามข้อมูลของสมาคมฯ ได้ที่ https://www.appd-th.org/)

จีระศักดิ์บอกว่า  สมาคมฯ เริ่มทำงานในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติที่ตำบลโป่ง  อำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำพุง  เคยเกิดภัยพิบัติในปี 2550  โดยเริ่มทำเรื่องการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนในปี 2554 ก่อน  ซึ่งจากการศึกษาข้อมูลเรื่องภัยพิบัติในลุ่มน้ำพุงที่ผ่านมานั้น  พบว่า

1.ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำพุงไม่ได้รับข่าวสัญญาณเตือนอันตรายมาก่อน  หรือได้รับข้อมูลข่าวสารด้วยความล่าช้าไม่ทันต่อเหตุการณ์  2.เมื่อเกิดกรณีภัยพิบัติประชาชนไม่รู้วิธีเคลื่อนย้ายหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะไม่มีการซักซ้อม  หรือทำความเข้าใจการเผชิญเหตุจากภัยพิบัติ

3.การจัดการปัญหาไม่มีระเบียบ  แบบแผน  ไม่รัดกุม  เหมาะสม  รวมทั้งขาดป้องกันการเกิดภัยทางธรรมชาติในเชิงรุกของชุมชน คือไม่มีระบบการป้องกันเหตุ  และ 4. ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำไม่สนใจการป้องกันเชิงรุก   หรือขาดการมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

“สมาคมฯ จึงนำเอาข้อมูลจุดอ่อนเหล่านี้มาใช้ในการทำงาน  เพื่อให้ชุมชน  ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำพุง  มีระบบเตือนภัยและเฝ้าระวัง  เช่น  มีอาสาสมัครจากชาวบ้านคอยติดตามสถานการณ์น้ำ  มีการให้ความรู้  อบรมซักซ้อมแผนอพยพ  เตรียมจุดอพยพหรือที่พักพิงชั่วคราวที่ปลอดภัย”  จีระศักดิ์บอก

ทั้งนี้ ‘ลุ่มน้ำพุง’  เป็น 1 ใน 8 ลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำป่าสัก  น้ำพุงมีต้นกำเนิดบริเวณป่าเขาในอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  ไหลผ่านตำบลต่างๆ มาบรรจบกับแม่น้ำป่าสักที่อำเภอหล่มสัก  จังหวัดเพชรบูรณ์  รวมความยาวประมาณ 87 กิโลเมตร  จากนั้นแม่น้ำป่าสักจะไหลเรื่อยลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรี และไหลบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

น้ำพุงจะไหลมาบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก (หมายเลข 12) ที่ตำบลหนองไขว่  อ.หล่มสัก  จ.เพชรบูรณ์

เปลี่ยนวิถีการผลิต  ปลูกไผ่-บีกั้ง  “ภูเขาที่กินได้”                                                     

จีระศักดิ์  นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์  บอกว่า  จากการสนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านต้นน้ำพุงมีระบบการจัดการภัยพิบัติและสร้างเครือข่ายขึ้นมาในหลายหมู่บ้าน  หลายตำบลในอำเภอด่านซ้าย  จังหวัดเลย  ตั้งแต่ปี 2554 แล้ว  เขาพบว่า  ภัยพิบัติจากธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นั้น   มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้น  เช่น  การทำลายป่าต้นน้ำ  การปลูกพืชที่ทำลายหน้าดิน  ฯลฯ

“จากการสำรวจพื้นที่ป่าต้นน้ำพุง  พบว่าสาเหตุที่น้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็ว  สร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้านนั้น  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดป่าซับน้ำ  ไม่มีต้นไม้  รากไม้ช่วยยึดหน้าดิน  น้ำป่าจึงไหลหลากพัดพาเอาหน้าดินที่พังทลายลงมา  สร้างความเสียหายให้แก่ชาวบ้าน  ในปี 2556  เราจึงเริ่มส่งเสริมให้ชาวบ้านรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำ  โดยการปลูกต้นไผ่ซึ่งเป็นพืชที่มีรากลึก  โตไว  หน่อกินได้”  จีระศักดิ์บอก

นอกจากนี้สมาคมฯ  ยังส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ปลูกแบบผสมผสาน  ไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายหน้าดิน  และต้องใช้สารเคมีอันตรายที่ไหลลงแหล่งน้ำ   เช่น  ข้าวโพด   มันสำปะหลัง  ขิง  ฯลฯ  โดยพาชาวบ้านไปศึกษาดูงานที่ตำบลแม่พูล  อ.ลับแล  จ.อุตรดิตถ์  ซึ่งสภาพพื้นที่มีความลาดชัน  เป็นภูเขา  คล้ายกับที่ตำบลโป่ง  อ.ด่านซ้าย  จ.เลย   

น้ำพุงในช่วงน้ำแล้ง  มีต้นกำเนิดจากป่าเขาในตำบลโป่ง  อ.ด่านซ้าย  จ.เลย

“เราพาผู้นำชุมชนและชาวบ้านไปดู ภูเขาที่กินได้ที่แม่พูล  อำเภอลับแล  ที่นี่เป็นแหล่งปลูกผลไม้ที่มีชื่อเสียง  โดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หลง  หลิน  ลับแล  มีราคาแพง  เป็นทุเรียนที่ปลูกแบบธรรมชาติ  ปลูกตามไหล่เขา  บนเขา  ที่มีสภาพพื้นที่คล้ายกับตำบลโป่ง  เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อมั่น  หากจะเปลี่ยนจากพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชแบบผสมผสาน”  จีระศักดิ์บอกถึงความเปลี่ยนของชาวบ้านและผู้นำชุมชนที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงปี 2558-2559  และต่อมาพวกเขาได้รวมตัวกันเป็น ‘เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำพุง

ฉลาด  ศรีคำภา  วัย 67 ปี  ประธานเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำพุง  อยู่หมู่ที่ 3 ตำบลโป่ง  เป็นผู้หนึ่งที่ไปดูตัวอย่างที่แม่พูล  เมื่อกลับมาจึงใช้พื้นที่รอบๆ บ้านปลูกไผ่หก   และใช้ที่ดินทำกินเนื้อที่ 10 ไร่  จากเดิมเคยปลูกมันสำปะหลัง  ข้าวโพด  เปลี่ยนมาปลูกไผ่หก  พืชที่กินได้  เช่น  บีกั้ง  อีรอก  กระเจียวยักษ์  ผลไม้  เช่น  ทุเรียน  เงาะ  และไม้เศรษฐกิจ  เช่น  ยางนา  รวมทั้งพืชสมุนไพรต่างๆ 

“ตอนนี้เงาะเริ่มให้ผลและขายได้แล้ว  เป็นเงาะพันธุ์โรงเรียน  ขายกิโลฯ ละ 25 บาท  ส่วนทุเรียนก็เริ่มติดผล  ปีหน้าคงจะออกเยอะ  ส่วนไผ่หก  เอาหน่อมากิน   ขายก็ได้  รสชาติหวานกรอบอร่อย  มี บีกั้งหรือ ดีกั้งดอกกินได้  ขายตลาดกำละ 20 บาท  เราเอาไผ่หกและบีกั้งไปปลูกที่ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนด้วย  เพื่อให้ป่ามีความชุ่มชื้น  มีรากช่วยยึดหน้าดิน”  ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ฯ บอก  

ต้น บีกั้ง หรือ ดีกั้ง หรือ ดีปลากั้ง  ดอกมีรสชาติขมหวานเหมือน ดีของปลากั้ง  เป็นพืชล้มลุก  สูงได้ถึง 1 เมตรเศษ  มีมากทางแถบอุตรดิตถ์  เพชรบูรณ์  และเลย  บางท้องถิ่นเรียก  “นางแลว”  นำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น  ลวกจิ้มน้ำพริก ทำแกงอ่อม  แกงป่า  แกงใส่ปลาแห้ง  ฯลฯ  รสชาติออกขมอมหวาน  ออกดอกหนึ่งครั้งในรอบปี คือช่วงเดือนพฤศจิกายน   ราคาขายในตลาด 1 กำ  20 บาท (ประมาณ 4-5 ดอก)  หากปลูกในพื้นที่ 1 จะทำรายได้ประมาณ 4 หมื่นบาท/ปี

นอกจากนี้บีกั้งยังมีสรรพคุณทางยา  ใบและดอกช่วยขับปัสสาวะ  แก้เบาหวาน  บำรุงกำลัง  ฯลฯ  ต้นบีกั้งจะเจริญเติบโตได้ดีในที่ร่ม  โดยเฉพาะเมื่อปลูกร่วมกับไผ่บริเวณป่าต้นน้ำหรือพื้นที่ริมตลิ่ง  ต้นบีกั้งจะเติบโตเกาะกลุ่มกัน  เมล็ดที่สมบูรณ์จะแตกลงดินและเติบโตขึ้นมาใหม่  กลายเป็นดงบีกั้งที่หนาแน่นช่วยยึดหน้าดิน

ฉลาด  ศรีคำภา   กับต้นบีกั้ง หรือ ‘ดีกั้ง’ หรือ ‘ดีปลากั้ง’ 

7 ปี...ลดการสูญเสียหน้าดินเกือบ 6 หมื่นไร่

ปัจจุบัน  บริเวณรอบๆ บ้านของพ่อฉลาดได้ทำแปลงเพาะพันธุ์บีกั้ง  ไผ่หก  อีรอก  และทุเรียนพันธุ์หมอนทอง  รวมแล้วนับหมื่นต้น  เพื่อเตรียมเอาไว้แจกจ่ายให้ชาวบ้านในตำบลโป่งเอาไปปลูกฟรี  ค่อยๆ ลดพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลัง  ข้าวโพด  มาเป็นพืชที่หลากหลาย  ปลูกแบบผสมผสาน  ลดการใช้สารเคมี ช่วยกันอนุรักษ์ดิน  น้ำ  ป่า 

ที่สำคัญก็คือ ...ทำให้คนปลูกมีรายได้  มีอาหารกินตลอดปี  และลดอันตรายจากใช้สารเคมีในการปลูกขณะเดียวกันก็ช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำพุง  ทำให้ป่าต้นน้ำมีความชุ่มชื้น   ลดการสูญเสียหน้าดิน  เพราะรากไผ่และบีกั้งมีรากลึกช่วยยึดหน้าดิน  เป็นการป้องกันหรือลดความรุนแรงหากเกิดภัยพิบัติจากน้ำป่า..!!

จีระศักดิ์  บอกด้วยว่า  นับแต่สมาคมฯ ส่งเสริมให้ชาวบ้านในตำบลโป่ง  อ.ด่านซ้าย  จ.เลย  และพื้นที่ใกล้เคียงที่อยู่ในลุ่มน้ำพุง  ช่วยกันปลูกไผ่  บีกั้ง  และลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวตั้งแต่เมื่อราว 10 ปีก่อน  จนถึงปัจจุบัน  พบว่า  การพังทลายหรือการสูญเสียหน้าดินในลุ่มน้ำพุงลดลงอย่างเห็นได้ชัด...!!

เขาบอกว่าในปี  2556 ก่อนที่สมาคมฯ และชาวบ้านจะร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรดินน้ำป่าในพื้นที่ลุ่มน้ำพุง  ข้อมูลของสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดเพชรบูรณ์  ระบุว่า  ลุ่มน้ำพุงมีพื้นที่การชะล้างพังทลายที่มีอัตราการสูญเสียหน้าดินอย่างรุนแรง  โดยใช้เกณฑ์การสูญเสียหน้าดินมากกว่า 20 ตัน/ไร่/ปี   มีพื้นที่สูญเสียหน้าดินมากถึง 120,014 ไร่  คิดเป็น ร้อยละ 27.94 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ

แต่เมื่อได้ร่วมกันริเริ่มโครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำพุง โดยการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน  กลับพบข้อมูลที่น่าสนใจที่สะท้อนถึงความสำเร็จของการทำงานอนุรักษ์ในลุ่มน้ำพุง คือ  ระดับการสูญเสียหน้าดินในระดับรุนแรงลดลง  เหลือเพียง 58,640 ไร่  คิดเป็นร้อยละ 13.65 ของพื้นที่ลุ่มน้ำ   

เมื่อคำนวณอัตราการลดลงของพื้นที่การสูญเสียหน้าดินในอัตราที่รุนแรง 20 ตัน/ไร่/ปี  โดยเปรียบเทียบจากปี 2556 กับปี  2563  ห่างกัน 7 ปี  พบว่าการสูญเสียหน้าดินลงลดถึง 104.66  %

“เราคงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า  เป็นเพราะการดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ของสมาคมฯ เพียงอย่างเดียว  แต่ควรยกความดีให้กับทุกภาคส่วน  โดยเฉพาะชาวบ้านที่ร่วมกันอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและป่าชุมชน  รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีการทำเกษตรเชิงอนุรักษ์เพิ่มขึ้น   และเราจะเอาโครงการนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป”  จีระศักดิ์  นายกสมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์บอกด้วยความภาคภูมิใจ

พ่อฉลาดชี้ให้ดูป่าไผ่และการปลูกพืชผสมผสานช่วยรักษาหน้าดินไม่ให้พังทลาย

ป่าชุมชนต้นแบบนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไผ่และพืชต่างๆ ในพื้นที่ป่าต้นน้ำและปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นผสมผสานแล้ว  สมาคมฯ ยังส่งเสริมให้หมู่บ้านต่างๆ ในตำบลโป่ง  จัดตั้งป่าชุมชนขึ้นมาเพื่ออนุรักษ์  ดูแล  และใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนอย่างยั่งยืน  โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำพุง และสภาองค์กรชุมชนตำบลโป่งตั้งแต่ปี 2559   ปัจจุบันมีป่าชุมชนในตำบลโป่ง  รวม 7 ป่า  ใน 6 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวมกันประมาณ 1,600 ไร่ 

ฉลาด  ศรีคำภา  ประธานเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นน้ำพุง  บอกว่า  ที่หมู่ 3 บ้านน้ำพุง  มีป่าชุมชน 2 ป่า  คือ  ป่าชุมชนซำเตยและป่าชุมชนสะนาแป  เนื้อที่ประมาณป่าละ 300 ไร่  รวม 600 ไร่  โดยแต่ละหมู่บ้านจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมา  แล้วกำหนดกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่าร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลโป่งและเครือข่ายอนุรักษ์ฯ  เพื่อเป็นกฎกติกาใช้ร่วมกันทั้งตำบล

เช่น  1.ห้ามแผ้ว  ถาง  ขุด  ฟัน  กาน  ต้นไม้  หรือเปลี่ยนแปลงสภาพป่าชุมชน  2.ห้ามแปรรูปไม้  เผาถ่าน     เก็บหาของป่าแบบทำลายล้าง  3.ห้ามฉีดสารเคมี  สร้างสิ่งปลูกสร้างในป่าชุมชน  4.ห้ามนำ หิน  ดิน ทราย   ทรัพยากร ธรรมชาติเฉพาะถิ่นออกไปจากป่าชุมชน   5.อนุญาตให้เก็บหาของป่า  เก็บไม้ฟืน  โดยไม่ทำลายล้าง 6.อนุญาตให้ใช้ไม้เฉพาะการสร้างที่อยู่อาศัยหรือสิ่งก่อสร้างสาธารณะเท่าที่จำเป็น  โดยการอนุญาตของคณะกรรมการป่าชุมชน  ฯลฯ

จีระศักดิ์  เสริมว่า  แต่เดิมสภาพป่าต้นน้ำและป่าชุมชนอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม  ขาดการดูแล  แต่ได้เริ่มฟื้นฟูตั้งแต่ปี 2556-2557 เป็นต้นมา   และเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนขึ้นมาช่วยกันดูแลอย่างจริงตั้งแต่ปี 2559     โดยการปลูกไผ่และบีกั้งกว่า 5,000 ต้น  รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้น  เช่น  ยางนา  ก่อ  ฯลฯ   ในเปีต่อๆ มาไม้เหล่านี้ได้เติบโต  แตกหน่อ  แตกกอ  ขยายเต็มพื้นที่ป่านับหมื่นนับแสนต้น  

นายทวี  เสริมภักดีกุล   (เสื้อฟ้ายืนกลาง) ขณะเป็นนายอำเภอด่านซ้ายในปี 2557 ได้ร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ป่าต้นน้ำตำบลโป่ง  ปัจจุบันนายทวีมีตำแหน่งเป็น ผวจ.เลย

“ตอนนี้ป่าต้นน้ำและป่าชุมชนที่ชาวบ้านช่วยกันดูแลมีความอุดมสมบูรณ์  ใบไม้  ใบไผ่ที่ร่วงลงมาจะกลายเป็นปุ๋ย  เกิดเห็ดต่างๆ ให้ชาวบ้านเก็บกินและขาย  เช่น  เห็ดระโงก  เห็ดเผาะ  เห็ดปลวก  มีสัตว์ป่า  เช่น  ไก่ป่า  หมูป่า  เข้ามาหากิน   มีเต่าปูลูที่หายากที่ชาวบ้านช่วยกันดูแล  ในน้ำก็มีปลา  มีปู   ต้นไผ่ที่ปลูกริมฝั่งน้ำพุงก็ช่วยยึดตลิ่งไม่ให้พังทลาย  เพราะไผ่มีรากลึกถึง 2 เมตร  และรากยังช่วยกรองตะกอนดิน  ทำให้น้ำไม่ขุ่น”  จีระศักดิ์บอกถึงผลที่เกิดขึ้น

ด้วยเหตุนี้เอง  ‘คณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต’  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จึงคัดเลือกให้ป่าชุมชนตำบลโป่ง  อ.ด่านซ้าย  จ.เลย  เป็น 1 ใน 15 ป่าชุมชนทั่วประเทศที่หน่วยงานภาคีจะร่วมกันส่งเสริม  พัฒนา  สร้างต้นแบบการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  และนำไปขยายผลเป็นตัวอย่างแก่ป่าชุมชนทั่วประเทศต่อไป...

เป้าหมายสุดท้ายก็คือ “การร่วมกันอนุรักษ์  ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ‘ดิน  น้ำ  ป่า’ ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์  รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)  และเป็น ‘ดิน  น้ำ  ป่าที่กินได้’  ยังประโยชน์แก่ทุกสรรพสิ่ง...เป็นป่าที่ ‘ขจัดความยากจน’  และสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง....ยั่งยืนตลอดไป !!”

สภาพป่าต้นน้ำที่ตำบลโป่งปัจจุบันมีต้นไผ่และไม้ต่างๆ ขึ้นหนาแน่น  มีแหล่งน้ำใช้ในฤดูแล้ง  รองรับน้ำในฤดูฝน

****************

เรื่อง :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

ภาพ  :  สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กษัตริย์สเปนประสงค์เสด็จเยือนพื้นที่น้ำท่วมอีกครั้ง คราวนี้โดยปราศจากพระราชินี

ภัยพิบัติจากพายุในสเปนซึ่งมีผู้เสียชีวิตกว่า 200 ราย สร้างความไม่พอใจให้พลเมืองทั้งประเทศ สมเด็จพระราชาธิบดีเ

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

กรมอุตุฯ เตือนฉบับที่ 2 อากาศแปรปรวน 19-21 ต.ค. เปิดพื้นที่ฝนตกหนัก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทย ฉบับที่ 2 (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 19 - 21 ตุลาคม 2567)

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด