6 คำถาม 6 เทคโนโลยีหนุนเศรษกิจฐานราก กับกองทุนหมู่บ้านฯ

ท่ามกลางความเป็นไปในศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาคู่ขนานไปกับการใช้ชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะในชุมชนเมือง เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตที่สะดวกสบาย และความเท่าเทียมกันทั้งองคาพยพทางสังคม กลไกนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐพยายามหนุนเสริมให้ประชาชนได้เข้าถึงผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

แต่คำถามก็คือ ด้วยบริบทชุมชนที่มีความแตกต่างกัน จะทำอย่างไรให้เทคโนโลยีที่รัฐสนับสนุนไม่เป็นเพียงการส่งต่อขยะไซเบอร์ แต่กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเข้าไปอุดช่องโหว่ปัญหาที่เกิดขึ้น และเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ไทยโพสต์มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ คุณวิชิต เครือสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ องค์กรที่อยู่เบื้องหลังการผลักดัน “โครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่” ซึ่งกำลังสร้างแรงกระเพื่อมเชิงบวก ผ่านการสนับสนุน 6 กลุ่มเทคโนโลยีที่น่าสนใจ 

เล่าถึงที่มาของโครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่เดิมทีโครงการพัฒนาเมืองมีมาตั้งแต่ปี 2556 และเว้นช่วงมานานเกือบ 10 ปี เมื่อถึงช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีแนวคิดที่จะสานต่องานที่คงค้าง จึงเป็นที่มาของชื่อ “โครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่” โดยท่านนายกฯ ได้มอบหมายให้นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลโครงการฯนี้ ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้เศรษฐกิจฐานราก มุ่งเน้นผลักดันการพัฒนาชีวิต เศรษฐกิจ สังคม เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาสและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม และสร้างความ มั่นคง ปลอดภัย และสะดวกสบายให้แก่สมาชิกในพื้นที่ชุมชน

ภารกิจของกองทุนหมู่บ้านฯ เชื่อมโยงกับโครงการฯ นี้อย่างไร 

เดิมทีงบประมาณนี้เป็นของสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กองทุนหมู่บ้านฯ รับบทบาทเป็นเสมือนฝ่ายเลขาฯ เพราะเห็นว่าลักษณะการสนับสนุนงบประมาณไปยังชุมชน สอดรับกับภารกิจกองทุนหมู่บ้าน ที่ดูแลกองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 8 หมื่นกองทุน ในจำนวนนี้มีลักษณะเป็นชุมชนเมืองเกือบ 4 พันกองทุน ขณะที่รูปแบบโครงการฯ ที่ชุมชนภายใต้การสนับสนุนของกองทุนมักจะประสานขอ ก็มักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ถนน แสงสว่าง ระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งหัวใจสำคัญคือการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก

แนวคิดการสร้างความยั่งยืนของโครงการฯ คืออะไร

สิ่งที่เคยเกิดขึ้นคือแม้จะมีงบประมาณแต่เมื่อมีการขอเข้ามาแล้ว การดำเนินโครงการฯ ที่ผ่านมานั้น ใช้ระยะเวลาพอสมควร และยังสามารถนำไปใช้ได้ยังไม่ถึงร้อยละ 5 ของงบประมาณที่มีทั้งหมด แต่ปัจจุบันรูปแบบโครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่จะเปลี่ยนไปด้วยการให้การสนับสนุนผ่านหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานไม่หวังผลกำไร เพื่อช่วยเหลือชุมชนหรือพื้นที่สาธารณะได้มากที่สุด ต่อยอดสู่การบำรุงรักษาระบบ นำไปสู่ความยั่งยืนของการดำเนินโครงการฯ โดยกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นคือ การสนับสนุนครั้งนี้จะไม่ใช้ตัวเงิน แต่เป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีแทน

มีวิธีการอย่างไรที่จะคัดสรรเทคโนโลยีให้สอดรับกับบริบทพื้นที่ ในเบื้องต้นกองทุนหมู่บ้านและชุมชุนเมืองแห่งชาติ เปิดกว้างในรูปแบบโครงการฯที่เสนอขอ เพราะถือว่าเป็นความต้องการตามบริบทพื้นที่นั้นๆ แต่เมื่อเสนอเข้ามาแล้ว ก็จะมีคณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาจัดสรรกลุ่มของเทคโนโลยี ซึ่งมีอยู่ 6 กลุ่มหลัก คือ 1) เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (Hybrid System) เป็นรูปแบบการผลิตไฟฟ้าที่ช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งสอดรับกับการเกิดขึ้นของนวัตกรรมสมัยใหม่อย่างการนำแบตเตอร์รี่ลิเทียม ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แบบเดียวกับที่นิยมใช้ในรถยนตร์ไฟฟ้ามาใช้

2) เทคโนโลยีเครื่องกำจัดเศษอาหาร  เพื่อเป็นสารช่วยการเจริญเติบโตของพืชหรือผลผลิตทางการเกษตร แล้วนำมา

แปรรูปของเสีย หรือเศษอาหารให้เป็นสารบำรุงดินเพื่อต่อยอดในพื้นที่เกษตรหรือชุมชนเมือง 3) ระบบทำน้ำดื่ม-น้ำแข็ง ตอบโจทย์การบริโภคน้ำที่สะอาด มีคุณภาพห่างไกลโรค ซึ่งในเทคโนโลยีนี้ ชุมชนสามารถให้ความเป็นสิทธิ (Member) รวมถึงการร่วมดูแลบำรุงรักษาและต่อยอดสู่การสร้างรายได้ในอนาคต 4) เตาเผาศพไร้มลพิษประสิทธิภาพสูง ลดมลภาวะที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ สอดคล้องกับแผนงานการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ ลดปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเขม่าควันและกลิ่น และควบคุมกระบวนการเผาศพอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้ม

5) รถฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ป่วยอัจฉริยะ ที่มีระบบช่วยเหลือเบื้องต้น สามารถประเมินความเสี่ยง และรายงานไปยังสถานพยาบาลล่วงหน้า เพื่อให้เกิดการรับช่วงต่ออย่างทันท่วงที ลดอัตราความเสี่ยงพิการ-เสียชีวิต

6) Smart Classroom สนับสนุนเทคโนโลยีที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่นักเรียนที่อยู่ในหลักสูตร แต่จะเอื้อให้กลุ่ม โรงเรียน มหาวิทยาลัย และกลุ่มชุมชนที่ใช้ในการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ ด้วยระบบ Smart Learning Management System ที่ช่วยในการสนับสนุนการเรียนผ่านช่องทางออนไลน์และการเรียนรู้แบบไร้ขอบเขต

จะเห็นว่า ทั้ง 6 กลุ่มเทคโนโลยี ตอบวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ทั้งการอนุมัติสิ่งแวดล้อม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงเป็นเรื่องของการสร้างงานสร้างอาชีพ  ซึ่งในการคัดเลือกจะมีคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่ ตลอดจนคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง และคณะทำงานศึกษาแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่ ให้การสนับสนุนและประสานการดำเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์

ในฐานะผู้ให้การสนับสนุน คาดหวังอย่างไรต่อโครงการฯ ในภาพรวมคาดหวังว่าโครงการฯนี้ จะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ คือสร้างโอกาสพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค ตลอดจนการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายโอกาสในการ

ประกอบอาชีพของสมาชิกชุมชนเมืองให้เข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ตอบสนอง BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ใน 3 มิติไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้าง เชื่อมโยงกับ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และอยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตอบสนอง 4 ด้าน คืออาหาร การแพทย์ การรักษาโรค และการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสอดรัฐกับนโยบายของรัฐบาล

แนวทางต่อยอดขยายผลโครงการฯ ในอนาคต เทคโนโลยีให้ไปแล้วไม่เพียงใช้ในหน่วยงานหรือองค์กรเท่านั้น แต่ต้องผลส่งให้ผู้ได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยี ได้รับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น กรณีเครื่องกำจัดเศษอาหาร เมื่อแปรรูปแล้ว เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะส่งต่อเป็นธุรกิจได้ หรือระบบโซล่าเซลล์ที่นอกจากลดรายจ่ายค่าพลังงานให้แก่พื้นที่เป้าหมายแล้ว หน่วยงานยังสามารถนำงบที่เหลือนั้น ไปต่อยอดหรือสนับสนุนค่าใช้จ่ายของหน่วยงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย

จากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้ คงตอบคำถามผู้อ่านได้ว่า การให้ความสำคัญกับการหนุนเสริมเทคโนโลยีที่สอดรับกับบริบทพื้นที่สำคัญอย่างไร เพราะหากติดกระดุมถูกเม็ดแต่แรก แน่นอนว่า โอกาสที่จะเดินหน้าไปอย่างยั่งยืนมีเกินร้อย เชื่อเหลือเกินว่า ภารกิจของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ภายใต้โครงพัฒนาเมืองที่ค้างอยู่ จะผลิดอกออกผลสร้างประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไปในอนาคต และเป็นต้นแบบในการบูรณาการแผนงานร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ชื่นชม 'กิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน'

โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ ชื่นชม 'กิจกรรมส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน' ตามแนวทางประชารัฐของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เชื่อมั่นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสและรายได้ให้ชุมชน