แม่น้ำปิงไหลผ่านที่ราบลุ่มดอยเต่า ผืนดินที่กว้างใหญ่แต่เต็มไปด้วยปัญหาที่ทับถมกันมานาน
จากยุคก่อสร้างเขื่อนภูมิพลกั้นลำน้ำปิงที่จังหวัดตากทำให้น้ำเอ่อท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทำกินของชาวดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2507 ชาวบ้านหลายพันครอบครัวต้องอพยพย้ายบ้านเรือนและที่ทำกินเพื่อหนีน้ำในสภาพ ‘บ้านแตกสาแหรกขาด’ และต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เพราะผืนดินถิ่นใหม่ทุรกันดารไม่อุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกิดความยากจนติดตามมา...
บัดนี้เวลาผ่านไปเกือบ 60 ปีเต็ม ปัญหาต่างๆ คลี่คลายลงไปมาก ไม่มีสภาพเหมือนกับเนื้อเพลงหนุ่มดอยเต่าท่อนหนึ่งที่ร้องว่า...
“แต่ก่อนบ้านเฮา ดอยเต่าเมินมา ลำบากหนักหนา น้ำตาเฮาไหล พอถึงหน้าฝน เหมือนคนมีกรรม ไฮ่นาที่ทำน้ำท่วมทั่วไป...พอถึงหน้าหนาว ก็หนาวก็เหน็ด เดือนหกเดือนเจ็ด ก็ฮ้อนเหลือใจ๋ หน้าแล้งแห้งน้ำ จะทำจะใด จะไปตี้ไหน น้ำกินบ่มี...”
ย่างก้าวสู่การฟื้นฟูดอยเต่าทั้งเมือง
แม้ว่าปัจจุบันสภาพปัญหาต่างๆ ในอำเภอดอยเต่าจะลดน้อยลง ผืนดินในอดีตที่เคยแห้งแล้ง ปลูกพืชไม่ค่อยเห็นผล เดี๋ยวนี้เขียวชอุ่มไปด้วยต้นลำไย ลูกดก เนื้อแน่นหวานกรอบ มะม่วง มะนาวลูกโตน้ำเยอะ อาหารการกินไม่ขาดแคลน ดังคำขวัญของอำเภอดอยเต่าว่า “มะนาวลูกใหญ่ ลำไยเนื้อหนา ดอยเกิ้งสูงสง่า ชิมรสปลาดอยเต่า”
กระนั้นก็ตาม แม้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของคนดอยเต่าจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ปัญหาพื้นฐานที่สำคัญของคนดอยเต่ายังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นคือ ‘ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย’ เนื่องจากคนดอยเต่าส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตัวเอง ต้องอยู่อาศัยในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด ป่าสงวนฯ แม่ตูบ อุทยานแห่งชาติแม่ปิง ที่ดินกรมธนารักษ์ ที่ดินการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ดิน ส.ป.ก. และที่ดินนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล (นค.) นับหมื่นไร่ที่จัดสรรให้ชาวบ้านอยู่อาศัยก็มีปัญหาทับซ้อนกับป่าสงวนฯ ปัญหาต่างๆ จึงเชื่อมโยงเกี่ยวพันกันอุตลุด
สีหน้าและแววตาของชาวดอยเต่าผู้ทุกข์ยากต้องจ่อมจมกับปัญหามานานหลายสิบปี
นอกจากนี้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังขาดแคลนที่ดินทำกิน บางตำบล บางหมู่บ้าน มีที่ดินเพียงครอบครัวละ 1 งานหรือ 100 ตารางวา แค่พอได้ปลูกบ้านอยู่อาศัย และปลูกลำไยได้ไม่กี่ต้น ไม่พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จึงต้องดิ้นรนไปขายแรงงานต่างถิ่น เช่น บ้านโป่งแพ่ง ต.มืดกา มีทั้งหมด 45 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 130 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง มีฐานะยากจน
ชาวบ้านโป่งแพ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนฯ แต่เดิมอยู่อาศัยบนดอยหลวง-ดอยแก้ว ไม่มีเส้นทางคมนาคม ในช่วงฤดูฝนการเดินทางลำบาก โดยเฉพาะในยามเจ็บไข้ได้ป่วย ชาวบ้านจึงพากันอพยพครอบครัวลงมาอาศัยอยู่ที่บ้านโป่งแพ่งเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว มาอยู่ในที่ดินของนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล แต่ที่ดินมีเนื้อที่ไม่มากเพราะอยู่ติดกับเขตป่าสงวนฯ นิคมฯ ให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินครอบครัวละ 1 งาน หรือ 100 ตารางวา แต่ไม่พอที่จะปลูกพืชผลเพื่อทำมาหากิน ปลูกลำไยได้เพียงครอบครัวละ 2-3 ต้น ไม่พอจะเก็บไปขาย ต้องออกไปรับจ้างนอกหมู่บ้าน รับจ้างทำไร่ ทำสวน หากินเป็นรายวัน ได้เงินมาก็ซื้อข้าวกินไปวันๆ เพราะไม่มีพื้นที่ทำนา บางคนไปจับปลาในทะเลสาบดอยเต่าฯ แต่ก็ไม่ได้จับปลาตลอดทั้งปี เพราะมีการห้ามจับในช่วงฤดูปลาวางไข่
ในปี 2561 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับแกนนำการพัฒนาในอำเภอดอยเต่า เช่น สภาองค์กรชุมชนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สำรวจข้อมูลปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนดอยเต่าเพื่อจะนำมาแก้ไขปัญหา พบว่า อำเภอดอยเต่าทั้งหมด 6 ตำบล รวม 43 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมดกว่า 8,000 ครัวเรือน แต่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยจำนวน 4,460 ครัวเรือน หรือเกินกว่าครึ่งหนึ่งของครัวเรือนทั้งอำเภอ
“เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ในอำเภอดอยเต่าเป็นเทือกเขา และเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนภูมิพลตั้งแต่ปี 2507 บางส่วนได้รับการจัดสรรที่ดินจากนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล ครอบครัวละ 5 ไร่ (จำนวน 1,711 ครอบครัว)
แต่ส่วนมากถอยร่นขึ้นมาจากพื้นที่ที่น้ำในอ่างท่วมถึงและไม่มีที่ดินทำกิน จึงต้องอยู่รวมกับชุมชนอื่นๆ ทำให้มีปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้พื้นที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และยังทับซ้อนกับที่ดินของนิคมฯ ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนมากกว่าพื้นที่อื่นๆ” เอกสารข้อมูลจากการสำรวจในปี 2561 ระบุ
ข้อมูลจากการสำรวจดังกล่าว นำมาสู่การวางแผนพัฒนา ‘นครดอยเต่าโมเดล’ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับชาวดอยเต่า มีแผนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาครบทุกมิติทั้งอำเภอ นับตั้งแต่เรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาสาธารณูปโภค แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ส่งเสริมอาชีพ เศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิต รวม 6 ตำบล 43 หมู่บ้าน กลุ่มเป้าหมายรวม 4,460 ครัวเรือน ตามแผนงานจะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท !!
แต่จากสภาพปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งกรมป่าไม้ กรมธนารักษ์ การไฟฟ้า ฯลฯ และขนาดของโครงการที่ค่อนข้างใหญ่โต ครอบคลุมทั้งอำเภอ อีกทั้งยังไม่เคยมีหน่วยงานใดแตะต้องปัญหาเหล่านี้มาก่อน จึงเกิดคำถามในหมู่ชาวบ้านและแกนนำการพัฒนาในตำบลต่างๆ ว่า “โครงการนี้จะเป็นไปได้จริงหรือ ?”
การจัดประชุมสร้างความเข้าใจโครงการ ‘นครดอยเต่าโมเดล’ ในปี 2561
ปรับแผนสู่ ‘บ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’
อนุรักษ์ ก๋องโน นายก อบต.ดอยเต่า บอกว่า การขับเคลื่อนโครงการ ‘นครดอยเต่าโมเดล’ ในปี 2561 นั้น ตนก็มีส่วนร่วมในโครงการนั้นด้วย แต่โครงการไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เนื่องจากปัญหาหลายประการข้างต้น โครงการนี้จึงหยุดชะงักชั่วคราว แต่ก็มีความพยายามที่จะผลักดันต่อไป เพราะเป็นโครงการที่ดี แก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้ครบวงจร ทุกมิติ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โครการนี้จึงหยุดเอาไว้ จนสถานการณ์โควิดคลี่คลายในปี 2565 -2566 จึงนำโครงการกลับมาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่
“คราวนี้เราปรับขนาดโครงการให้เล็กลง จากเดิมที่จะทำทั้งอำเภอดอยเต่า 6 ตำบล กว่า 4 พันครอบครัว จึงปรับมาทำตำบลเดียว คือที่ตำบลดอยเต่าก่อน ทำเป็นตำบลนำร่อง หรือเป็นตำบลแม่ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เรื่องที่ดิน-ที่อยู่อาศัย เรื่องสาธารณูปโภค แหล่งน้ำ เรื่องเศรษฐกิจ อาชีพ สังคม สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน เมื่อสำเร็จเห็นผลแล้วจะขยายไปยังตำบลอื่นๆ ต่อไป” นายก อบต.ดอยเต่าบอก
แผนงานพัฒนาตำบลดอยเต่า ใช้ชื่อว่า ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’ โดยมีการสำรวจข้อมูลปัญหาต่างๆ และต้นทุนที่ตำบลมีอยู่ นำมาสู่การวิเคราะห์ และจัดทำแผนงานโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งตำบล ทุกมิติ เสนอโครงการต่อ พอช. เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2565 โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลดอยเต่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ ประกอบด้วยผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้แทนชาวบ้าน ฯลฯ รวม 42 คน โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการบริหารโครงการ มีอนุรักษ์ ก็องโน นายก อบต.ดอยเต่าเป็นที่ปรึกษาโครงการ
อนุรักษ์ ก็องโน นายก อบต.ดอยเต่า
‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’ ได้รับการอนุมัติโครงการจาก พอช.ในเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณรวม 12,900,000 บาท และจะเริ่มเดินหน้าโครงการในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้
โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า มีแผนงานหลัก คือ 1.การสร้างความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยในที่ดินทุกประเภท เช่น การขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินจาก คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ/ระดับจังหวัดมี ผวจ.เป็นประธาน) รวม 48 แปลง
ขอเช่าที่ดินระยะยาวกับกรมธนารักษ์ในที่ดินซ้อนทับของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กับกรมธนารักษ์ เนื้อที่ 788 ไร่ รองรับชาวบ้าน 85 ครัวเรือน ขอใช้ประโยชน์ที่ดินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยกให้เป็นที่สาธารณะของตำบลเพื่อทำเกษตรแปลงรวมบริเวณหมู่ 1 เนื้อที่ 30 ไร่ ฯลฯ การซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน จำนวน 311 ครอบครัว งบประมาณ รวม 8 ล้านบาท
2.การพัฒนาสาธารณูปโภค แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ เช่น สร้างถังเก็บน้ำ วางท่อส่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ทำฝายชะลอน้ำ ปรับปรุงตลาดนัดชุมชนเพื่อเป็นแหล่งรวมสินค้า จำหน่ายสินค้าชุมชน ฯลฯ งบประมาณ 2,400,000 บาท
3.การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงวัวสายพันธุ์วากิว เลี้ยงหมูดำ หมูขุน แปรรูปลำไย ส่งเสริมการปลูกสมุนไพร เกษตรอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต การทอผ้าพื้นเมือง ฯลฯ งบประมาณรวม 1 ล้านบาท
4.การพัฒนาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว การจัดการขยะ ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน ประเพณี วัฒนธรรม ส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้พิการกลุ่มเปราะบาง ฯลฯ งบประมาณรวม 1 ล้านบาท
5.การพัฒนากระบวนการ เช่น จัดประชุมคณะกรรมการเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา การพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการ คณะทำงาน กลุ่มต่างๆ ในตำบลเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง การผลักดันการแก้ไขปัญหาที่ดินร่วมกับภาคีทุกภาคส่วน เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกับตำบลอื่นๆ ทั้งอำเภอ งบประมาณรวม 500,000 บาท (รวมงบทั้งหมด 12,900,000 บาท)
เพิ่มศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอดอยเต่า เยี่ยมคุณปู่จา สอนนะ อยู่หมู่ที่ 3 ตำบลดอยเต่า ปัจจุบันอายุ 99 ปี
บ้านมั่นคงและกองทุนของคนดอยเต่า
ตำบลดอยเต่า มี 10 หมู่บ้าน จำนวน 2,432 ครัวเรือน ประชากรรวม 6,468 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนลำไย พื้นที่ปลูกลำไยประมาณ 12,000 ไร่ (ประมาณ 86 % ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด) หากปีใดเกิดความแห้งแล้งสวนลำไยก็จะได้รับความเสียหาย บางปีลำไยยืนต้นตาย ทำให้เกิดผลกระทบกับชาวสวนลำไย
ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้อง ความยากจน ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวดอยเต่าที่ปลูกสร้างมานานหลายสิบปี มีสภาพชำรุดทรุดโทรม แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ซ่อมแซมเพราะชาวบ้านมีรายได้น้อย ต้องนำเงินไปใช้จ่ายเรื่องปากท้องก่อน บางหลังเสาเรือนโย้เย้จวนหัก บันไดบ้านผุพัง จนอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ฯลฯ
อนุรักษ์ ก๋องโน นายก อบต.ดอยเต่า ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า จากสภาพบ้านเรือนของชาวดอยเต่าที่ชำรุดทรุดโทรม ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า’ จึงได้สำรวจและจัดทำข้อมูลเพื่อจะซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน มีสภาพทรุดโทรมก่อน เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยมีความปลอดภัย พบว่า ทั้งตำบล 10 หมู่บ้าน มีครอบครัวที่เดือดร้อนทั้งหมด 311 ครัวเรือน โดยจะเริ่มซ่อมแซมบ้านเรือนตั้งแต่ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป เฟสแรกประมาณ 170 หลัง
“เราได้รับงบประมาณซ่อมแซมบ้านจาก พอช. จำนวน 8 ล้านบาท เพื่อมาซ่อมบ้าน 311 หลัง โดยมีคณะกรรมการแต่ละหมู่บ้านออกไปสำรวจข้อมูลและถอดแบบก่อสร้างว่า บ้านไหนจะซ่อมตรงไหน ใฃ้วัสดุอะไร ราคาเท่าไหร่ เพื่อซ่อมแซมบ้านตามสภาพความเดือดร้อนจริง ส่วนคนที่ไม่เดือดร้อน จะต่อเติมบ้าน จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ แล้วสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างมาพร้อมกันเพื่อให้ได้ส่วนลด ไม่ได้ช่วยเป็นเงินสด” ที่ปรึกษาโครงการบอก
การซ่อมแซมบ้านจะมีช่างชุมชนที่ผ่านการอบรมจากโครงการประมาณ 30 คนมาช่วยกันซ่อม เป็นการ “ฮอมแฮง” หรือลงแรงร่วมกับจิตอาสาและเจ้าของบ้าน เพื่อช่วยให้ซ่อมได้เร็ว ประหยัดงบประมาณ ใครมีไม้เก่า วัสดุเก่าก็ เอามาใช้จะช่วยให้ประหยัดงบ เพราะ พอช.มีเกณฑ์สนับสนุนการซ่อมบ้านไม่เกินหลังละ 40,000 บาท หากเกินจากนั้นเจ้าของบ้านจะต้องออกเอง
“เพื่อให้คนดอยเต่ามีกองทุนสำหรับใช้พัฒนาที่อยู่อาศัย เราจึงมีแนวคิดให้ครอบครัวที่ได้รับการซ่อมบ้านออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 10 บาท และสมทบเงินเข้ากองทุน 10 เปอร์เซ็นต์ของวงเงินที่ได้รับการซ่อมบ้าน เช่น หากได้รับวัสดุอุปกรณ์ซ่อมบ้านในราคา 3 หมื่นบาท จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 3 พันบาท โดยสมทบเป็นรายเดือนๆ ละ 1 ร้อยหรือ 2 ร้อยบาทตามกำลัง เพื่อเอาเงินกองทุนนี้ไปช่วยคนที่เดือดร้อนรายอื่น หรือต่อไปใครจะซ่อมบ้าน สร้างบ้านใหม่ก็ยืมเงินจากกองทุนนี้ไปใช้ได้ ส่วนครอบครัวที่ไม่มีรายได้ ไม่ต้องสมทบ” ที่ปรึกษาโครงการบอกถึงแผนในการสร้างกองทุนเพื่อที่อยู่อาศัย
ลุงแก้ว มาคา กับภรรยา กำลังจะได้บ้านใหม่ เปลี่ยนจากสังกะสีเป็นอิฐบล็อก
ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินในตำบลดอยเต่า ที่ปรึกษาโครงการบอกว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าและคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหากับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น อบต. และจังหวัด
เช่น 1.ที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมานานก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่หาด (ประกาศปี 2509) โดยกรมป่าไม้ได้ประกาศเขตป่าทับซ้อนกับที่ดินนิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพลที่ชาวบ้านอยู่อาศัยประมาณ 10,000 ไร่นั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการของกรมป่าไม้เพื่อเพิกถอนเขตป่าทับซ้อนดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลทำให้ชาวบ้านได้รับการรับรองสิทธิ์ สามารถจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทร่วมกับ พอช.ได้ ทำให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและทำกิน
2.ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าฯ ชาวบ้านได้ทำเรื่องขอใช้ที่ดินตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.ชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน /คทช.จังหวัด มีผวจ.เป็นประธาน) ขณะนี้ คทช.จังหวัดได้อนุมัติการใช้ที่ดินให้ชาวบ้านแล้ว 435 ราย เนื้อที่ประมาณ 1,930 ไร่
3.ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ยกให้เป็นที่ดินสาธารณะของตำบลเพื่อทำเกษตรแปลงรวม บริเวณหมู่ 1 เนื้อที่ 30 ไร่ โดยจะให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินเข้าไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ฯลฯ
ลุงแดง ไหวยะ ปลูกลำไยอินทรีย์เนื้อที่ 14 ไร่
ยกระดับสินค้าชุมชน ‘ลำไย-ผ้าทอลายน้ำท่วม’
อำเภอดอยเต่า เป็นแหล่งเพาะปลูกลำไยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ เฉพาะในตำบลดอยเต่ามีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 11,771 ไร่ คิดเป็น 86% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในตำบล (รองลงมาคือข้าว มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 1,272 ไร่) แต่ปัญหาที่ผ่านมา คือต้นทุนในการผลิตสูง ราคารับซื้อไม่แน่นอน ฯลฯ โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่าจึงมีแผนงานการพัฒนาและแก้ปัญหาของชาวสวนลำไย
แดง ไหวยะ อยู่หมู่ 4 ตำบลดอยเต่า บอกว่า ปลูกลำไยมานานกว่า 20 ปี มีพื้นที่ปลูก 14 ไร่ เป็นอาชีพหลักของครอบครัว ลำไยที่ปลูกเป็นพันธุ์อีดอ มีผลขนาดปานกลาง รสชาติหวานกรอบ เมล็ดเล็ก แต่ปัญหาในการปลูกลำไยคือ ถ้าปีไหนอากาศแห้งแล้ง มีน้ำน้อย ลำไยจะให้ผลผลิตไม่สูง ลูกเล็ก ผลร่วง หรือไม่ค่อยออกลูก ราคารับซื้อตามเกรด ตั้งแต่กิโลกรัมละ 27 บาทขึ้นไป แต่ลำไยต้องบำรุงดูแลและฉีดยาป้องกันแมลง ต้นทุนจึงสูง ตนจึงหันมาปลูกแบบอินทรีย์เพื่อลดต้นทุน
ทั้งนี้จากการคำนวณของคณะกรรมการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า พบว่า การผลิตลำไยของชาวสวนลำไยตำบลดอยเต่าจะมีต้นทุนต่อไร่ประมาณ 32,200 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่ายาป้องกันแมลงศัตรู ยาบำรุง ค่าจ้างฉีดยา ค่าแรงงาน ประมาณไร่ละ 24,000 บาท พื้นที่ 1 ไร่ปลูกลำไยจำนวน 20 ต้น จะให้ผลผลิตประมาณไร่ละ 1,600 กิโลกรัม หากผลผลิตไม่มีคุณภาพ หรือขายได้ต่ำกว่ากิโลฯ ละ 20 บาทผู้ปลูกจะขาดทุน ปัจจุบันราคารับซื้อลำไยตามเกรดประมาณ กก.ละ 27-50 บาท
"โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่าจึงมีแผนงานในการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเกษตรกรชาวสวนลำไย เช่น ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและสารบำรุงพืชจากสารอินทรีย์ชีวภาพที่ผลิตเอง พัฒนาระบบน้ำ การปลูกแบบผสมผสาน ปลูกผักหวาน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงผึ้งโพรงในสวนลำไย ส่งเสริมการแปรูปลำไย พัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ และการตลาด เพื่อให้ชาวสวนลำไยมีรายได้เพิ่ม มีความมั่นคงในอาชีพ” อนุรักษ์ ที่ปรึกษาโครงการบ้านมั่นคงฯ บอกถึงแผนงานในการส่งเสริมด้านอาชีพ
นอกจากลำไยซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวดอยเต่าแล้ว การทอผ้าก็ถือเป็นอาชีพเสริม ในอดีตเมื่อว่างจากงานบ้านงานเรือนแล้ว แม่บ้านจะทอผ้าเอาไว้ใช้ ใครมีฝีมือก็จะทอขาย มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สะท้อนถึงภูมิปัญญา ประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อกันมานานหลายร้อยปี ปัจจุบันเรียกว่า ‘ผ้าซิ่นลายน้ำท่วม’
ฐาปนีกับผ้าทอลายน้ำท่วม
ฐาปนี ไหวยะ อายุ 46 ปี อยู่หมู่ 7 ตำบลดอยเต่า เจ้าของร้าน ‘เฮือนผ้าฐาปนี’ และประธานกลุ่มอาชีพ ‘ทอผ้าซิ่นตีนจกน้ำท่วมดอยเต่า’ บอกว่า เดิมชาวบ้านทอผ้าใช้กันเองอยู่แล้ว ประมาณปี 2549 เธอได้รวบรวมกลุ่มแม่บ้านในตำบลดอยเต่ามาจัดตั้งกลุ่มร่วมกัน มีสมาชิกประมาณ 40 คน ใครถนัดลายไหน ก็ทอลายนั้น
ส่วนใหญ่เป็นลายโบราณ เช่น ‘อีเนี่ยซอนทราย’ (แมลงปอในน้ำ) ‘กุดปลาตือ’ (ปลารวมกันเยอะๆ) ‘กุดสาวแอ้’ ฯลฯ กลุ่มจะขายทางเฟซบุ๊กให้แก่ผู้ที่ชอบสะสมผ้าทอลายโบราณ ราคาไม่ต่ำกว่าผืนละ 5,000 บาท เพราะเป็นงานประณีต ผืนหนึ่งใช้เวลาทอประมาณ 1 เดือน สมาชิกที่ขายผ้าได้ กลุ่มจะหักเป็นค่าซื้อฝ้าย วัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ สมาชิกจะได้ 60 %
“ในตำบลมีลายผ้าโบราณไม่ต่ำกว่า 100 ลาย เราได้เก็บรวบรวมเอาไว้ และมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่มาศึกษาวิจัยเรื่องผ้าทอที่ดอยเต่า แล้วตั้งชื่อผ้าลายโบราณทั้งหมดนี้ว่า ‘ผ้าซิ่นตีนจกลายน้ำท่วมดอยเต่า’ เรียกสั้นๆ ว่า ‘ผ้าลายน้ำท่วม’ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ เป็นประวัติศาสตร์ของคนดอยเต่า” ฐาปนีบอกที่มาของชื่อลายผ้า
อนุรักษ์ ก๋องโน นายก อบต.ดอยเต่า ที่ปรึกษาโครงการบ้านมั่นคงชนบทฯ เสริมว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตน และผู้นำชุมชน พร้อมทั้งนายอำเภอดอยเต่า ได้เข้าพบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงใหม่ เพื่อหารือเรื่องการผลักดันผ้าทอดอยเต่าให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งจะทำให้ผ้าทอลายน้ำท่วมดอยเต่าเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ได้รับการยอมรับว่าเป็นผ้าทอที่มีเอกลักษณ์ มีประวัติศาสตร์แตกต่างจากผ้าทอแหล่งอื่นๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ผ้าทอดอยเต่าเป็นที่ต้องการของนักสะสม มีมูลค่าสูงขึ้น จากเดิมผืนละ 5-6 พันบาท อาจเพิ่มเป็น 7-8 พันบาท
‘ดอยเต่าโมเดล’ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งอำเภอ
เพิ่มศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอดอยเต่า บอกว่า จากปัญหาทั้งหมดในอำเภอดอยเต่า โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินที่เป็นปัญหาหลักของชาวบ้าน ชาวบ้านจึงร่วมกับ อบต.ดอยเต่าจัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่าขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565-2566 โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก พอช. เพื่อเป็นโมเดลในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย การส่งเสริมอาชีพ รายได้ ฯลฯ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง และทางอำเภอดอยเต่าจะสนับสนุนและขยายผลไปสู่การพัฒนาตำบลต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้งอำเภอต่อไป
ทั้งหมดนี้คือย่างก้าวของ ‘ดอยเต่าโมเดล’ ที่มีตำบลดอยเต่าเป็นต้นแบบ โดยจะดำเนินการตามแผนงานทั้งหมดภายใน 1 ปี (กันยายน 2567) หลังจากนั้นจะขยายไปสู่ตำบลต่างๆ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชาวดอยเต่าทั้งอำเภอและครบทุกมิติ ซึ่งเมื่อถึงวันนั้น เสียงเพลง ‘หนุ่มดอยเต่า’ คงจะกลับมากระหึ่มก้องไปทั้งอำเภอ ดังเนื้อร้องท่อนสุดท้ายว่า...
“ดอยเต่าบ้านเฮาบ่าเดี่ยว หมู่เฮาเก็บเกี่ยว ข้าวปลาอาหาร อยู่ดีกินดี น้องปี้สำราญ ข้าวปลาอาหาร สมบูรณ์พูนผล
รัฐบาลช่วยเหลือทุกคน บ่อับบ่จน ทุกคนม่วนใจ๋ เปิ้นแบ่งที่ดิน ทำกินไฮ่นา เลี้ยงปู เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกไม้ พี่น้องหมู่เฮา จากดอยเต่าไป ขอฮื้อขะใจ๋ ปิ๊กบ้านเสียเด๊อ”
นายอำเภอดอยเต่าและแกนนำในตำบลจะร่วมกันสร้างต้นแบบการพัฒนา ‘ดอยเต่าโมเดล’ ก่อนขยายทั้งอำเภอ
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และการสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สิงห์อาสา ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 โดยได้ลงพื้นที่แรกที่อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย 7 คณะทางการแพทย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่
'บุญทรง' รายงานตัวที่เชียงใหม่ หลังได้พักโทษคดีทุจริตจีทูจีข้าว
นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางรายงานตัวที่สำนักงาน
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
'บุญทรง' พ้นคุก! ได้พักโทษกลับบ้านเชียงใหม่ คุมประพฤติ 3 ปี 5 เดือน
เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุมประพฤติ 7 กทม. เดินทางไปที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อติดกำไลอีเอ็ม ให้กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับการอภัยโทษ