ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย

พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ได้กำหนดให้เปลี่ยนโทษอาญาในความผิดที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง (เช่น การไม่แสดงใบขับขี่ การสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ การจอดรถขายผลไม้ริมถนนสาธารณะ) รวมถึงโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายบางฉบับ เป็นปรับทางพินัย ซึ่งผู้กระทำความผิดทางพินัยต้องชำระ “ค่าปรับเป็นพินัย” ให้แก่รัฐ แทนการรับโทษทางอาญา กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในแง่มุมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. ไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรม เนื่องจากความผิดทางพินัยมิใช่ความผิดอาญา การกระทำความผิดทางพินัยจึงไม่มีการบันทึกประวัติอาชญากรรมที่ทำให้ผู้กระทำความผิดต้องเสียประวัติและกระทบต่อหน้าที่การงานของผู้นั้น นอกจากนี้ ในกรณีที่ก่อนหน้านี้ได้มีการกระทำความผิดอาญาและมีการบันทึกประวัติอาชญากรรมไว้ เมื่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ มีผลใช้บังคับประวัติการเป็นอาชญากรจึงสิ้นผลไป และจะนำไปใช้ในทางที่เป็นโทษแก่บุคคลนั้นไม่ได้ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องลบประวัติอาชญากรรมดังกล่าวออก (มาตรา 47)

2. ไม่มีการกักขังแทนค่าปรับเป็นพินัย ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ความผิดทางพินัยมิใช่ความผิดอาญา ดังนั้น หากผู้กระทำความผิดไม่มีเงินชำระค่าปรับเป็นพินัย จะไม่มีการกักขังแทนค่าปรับเป็นพินัยในทุกกรณี แต่หากผู้กระทำความผิดทางพินัยยากจนจริง ๆ หรือมีความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต จะสามารถยื่นคำร้องเพื่อขอให้กำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับเป็นพินัยได้ (มาตรา 10) ส่วนผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำความผิดอาญาที่เปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยตามพระราชบัญญัตินี้และถูกกักขังแทนค่าปรับอยู่ กฎหมายกำหนดให้การกักขังนั้นสิ้นสุดลงและผู้กระทำความผิดไม่ต้องชำระค่าปรับที่ยังคงค้างชำระอยู่ (มาตรา 46)

3. การมีส่วนร่วมของผู้ถูกกล่าวหาในขั้นตอนการพิจารณาความผิดโดยเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจปรับเป็นพินัยต้องมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาและให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา (มาตรา 19) โดยผู้ถูกกล่าวหาสามารถส่งหนังสือชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา รวมถึงเอกสารต่าง ๆ ต่อหน่วยงานของรัฐโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (ข้อ 4 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2566) นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังมีสิทธิแต่งตั้งทนายความหรือบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะเป็นผู้ชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหาแทนหรือร่วมกับตนได้ (ข้อ 10 แห่งกฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. 2566)

4. ค่าปรับที่เหมาะสมและผ่อนชำระได้ พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ ได้กำหนดให้การพิจารณากำหนดค่าปรับเป็นพินัยต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิดและฐานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด โดยผู้กระทำความผิดอาจขอผ่อนชำระค่าปรับเป็นพินัยเป็นรายงวดก็ได้ (มาตรา 9) โดยในการกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาในการผ่อนชำระ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะพิจารณาจากจำนวนค่าปรับเป็นพินัย ประกอบกับฐานะการเงิน รายได้ รายจ่าย และภาระหนี้สิน เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้กระทำความผิดทางพินัยและครอบครัวได้ (ข้อ 7 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2566)

5. ความสะดวกในการชำระค่าปรับเป็นพินัย ในการชำระค่าปรับเป็นพินัยตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่หรือคำพิพากษาของศาล ผู้ถูกปรับไม่จำเป็นต้องเดินทางไปชำระค่าปรับ ณ หน่วยงานของรัฐ แต่สามารถชำระค่าปรับผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATM) โมไบล์แบงกิง (Mobile Banking) อินเทอร์เน็ตแบงกิง (Internet Banking) โดยเมื่อชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ความผิดทางพินัยเป็นอันยุติ (ข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566)

6. กระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลที่สะดวกยิ่งขึ้น ในกรณีที่ผู้ถูกปรับคัดค้านหรือไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ของรัฐจะส่งเรื่องและสำนวนให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป โดยกระบวนพิจารณาคดีพินัยในชั้นศาลสามารถดำเนินการผ่านทางระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) ได้ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำคู่ความและเอกสารทางคดี การติดตามผลคำสั่งศาล และการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีหนังสือแจ้งคำพิพากษาหรือคำสั่งแทนการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง รวมทั้งการนั่งพิจารณาคดีอาจใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ (ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัย พ.ศ. 2566 และประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินคดีความผิดทางพินัย)

ทั้งนี้ ความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 2 จำนวน 33 ฉบับ จะมีการเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยเมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัย (มาตรา 40) ส่วนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามกฎหมายในบัญชี 1 จำนวน 168 ฉบับ และบัญชี 3 จำนวน 3 ฉบับ จะมีการเปลี่ยนเป็นความผิดทางพินัยในวันที่ 25 ตุลาคม 2566 (มาตรา 39 และมาตรา 43) ซึ่งจะทำให้กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยมีผลใช้บังคับสมบูรณ์ โดยทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารและสาระความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยได้ที่เพจสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา https://www.facebook.com/OCS.Krisdika

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ