ผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรนักสื่อสารชุมชนหลักสูตรสุดท้ายปี 2566
พอช. / โครงการฝึกอบรมนักสื่อสารชุมชน ประจำปี 2566 ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ‘พอช.’ 5 หลักสูตรเดินทางมาถึงหลักสูตรสุดท้าย ‘จากรากหญ้าสู่ Influencer’ โดยนายภาสุ คนเพียร หรือ ‘ดร.ตู่’ TikTok Influencer ผู้โด่งดังในโลกออนไลน์ เป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมี ‘ดร.กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. เป็นผู้ปิดอบรม และประกาศ 3 รางวัลแก่ผู้เข้าอบรมที่ส่งผลงานเข้าประกวด ขณะที่ยอดผู้เข้าอบรม 5 หลักสูตรมีทั้งหมดประมาณ 780 คน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ นอกจากจะมีภารกิจเสริมสร้างชุมชนและองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว พอช.ยังมีภารกิจในการส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศนำเรื่องราวดีดีของชุมชนออกมาเผยแพร่ เพื่อเป็นต้นแบบ หรือนำรูปธรรมการพัฒนาชุมชนที่โดดเด่นออกมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชนได้ด้วย
ปี 2566 จัดอบรม ‘นักสื่อสารชุมชน’ 5 หลักสูตร
โดยในปีนี้ พอช.ได้จัดอบรม ‘นักสื่อสารชุมชน ประจำปี 2566’ เพื่อสร้างนักสื่อสารชุมชนจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป และเจ้าหน้าที่ พอช. มีเป้าหมายผู้เข้าอบรมประมาณ 500 คน โดยจัดอบรมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสื่อต่างๆ มาให้ความรู้
ที่ผ่านมาได้จัดอบรมไปแล้ว 4 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม มี ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดังเป็นวิทยากรสร้างแรงกระตุ้น ‘นักเล่าเรื่องจากชุมชน’ แนะนำการค้นหาประเด็น เฟ้นหาเรื่องราวดีๆ จากชุมชนออกมาเผยแพร่
ครั้งที่ 2 หลักสูตรการเล่าให้เป็นเรื่อง (เล่าเรื่องผ่านคลิป) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน โดยโกวิท โพธิสาร
ครั้งที่ 3 เรื่องเล่าจากชุมชน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน โดยสุวัฒน์ คงแป้น และการถ่ายภาพและวิดีโอให้สวยด้วยมือถือ โดยศิลา พีรวัฑฒึก
ครั้งที่ 4 เรื่อง ‘ขายยังไงให้ปัง’ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม โดยอนุรักษ์ สรรฤทัย หรือ ‘บังฮาซัน’
ล่าสุดวันนี้ (22 กรกฎาคม) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพ ฯ มีการจัดอบรมนักสื่อสารชุมชน ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นหลักสูตรสุดท้าย หัวข้อ ‘จากรากหญ้าสู่ Influencer’ โดยนายภาสุ คนเพียร หรือ ‘ดร.ตู่’ TikTok Influencer เป็นวิทยากร มีผู้เข้าร่วมอบรมในห้องประชุมและผ่านระบบซูมประมาณ 110 คน
ทิศทางการส่งเสริม ‘นักสื่อสารชุมชน เพื่อชุมชน’
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวถึงทิศทางการส่งเสริม ‘นักสื่อสารชุมชน เพื่อชุมชน’ มีใจความว่า พอช.ทำงานกับคนรากหญ้า คนชายขอบ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด มีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องมีความเข้มแข็ง โดยรวมกลุ่มกันและลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาของตนเองได้ เช่น ชุมชนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ชุมชนริมคลองเปรมประชากร ซึ่งมีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย และพี่น้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหา เช่น ชุมชนริมคลองเปรมประชากร เมื่อก่อนปลูกบ้านรุกล้ำลำคลอง สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม แต่ตอนนี้ได้ย้ายขึ้นมาอยู่บนฝั่ง และสร้างบ้านใหม่ที่สวยงาม
“เรื่องราวดีดีแบบนี้ควรจะสื่อสารออกไปให้สังคมได้รับรู้ พอช.จึงมีโครงการพัฒนานักสื่อสารชุมชนขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนได้สื่อสารเรื่องราวต่างๆ ออกมา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและทำให้สังคมดีขึ้น โดยในปีนี้มีการอบรมหลักสูตรต่างๆ รวม 5 หลักสูตร และ พอช.จะสนับสนุนโครงการพัฒนานักสื่อสารชุมชนต่อไป” ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว
นายสยาม ผู้ช่วย ผอ.พอช.
ดร.ตู่ แนะเทคนิค “ต้องทำให้สุดโต่ง แหวกแนว สร้างสรรค์”
ภาสุ คนเพียร หรือ ‘ดร.ตู่’ TikTok Influencer ที่มียอดผู้กดไลค์กว่า 15 ล้านคน มียอดผู้ติดตามประมาณ 4 แสนคน ปัจจุบันอายุ 39 ปี เป็นชาวจังหวัดมุกดาหาร เคยทำงานหลายแห่ง ครั้งสุดท้ายทำงานในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง แต่ลาออกเพื่อทำ Content นำเสนอคลิปต่างๆใน Tik Tok อย่างเต็มตัวเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยการรีวิวสินค้าต่างๆ เป็นอาชีพเลี้ยงตัว
ดร.ตู่ บรรยายหัวข้อ ‘จากรากหญ้าสู่ Influencer’ มีเนื้อหาสำคัญว่า การทำ Tik Tok เพื่อรีวิวสินค้า สามารถทำเป็นอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัว แต่เราต้องสร้างตัวตนให้เจ้าของสินค้าเห็นก่อน นอกจากนี้ Tik Tok ยังเป็นพื้นที่แสดงออก ระบายอารมณ์ สร้างรายได้ ใครๆ ก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่จำกัดเพศ วัย
ดร.ตู่ ‘TikTok Influencer’
“ชุมชนก็สามารถนำเสนอสินค้า วิถีชีวิตชุมชน ออกสู่โลกภายนอกได้ เช่น แนะนำแหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญในชุมชน วัดวาอาราม เมื่อมีนักท่องเที่ยวชุมชนก็จะมีรายได้ เป็นการสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน” ดร.ตู่แนะช่องทาง
นอกจากนี้เขาบอกว่า Tik Tok ยังสามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เขาเคยทำคลิปนำเสนอภาพถนนภายในตำบลที่ชำรุด ผิวถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ เมื่อเผยแพร่ออกไปเพียง 5 วัน ปรากฏว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบมาซ่อมแซมถนนให้ทันที
ส่วนหลักการสำคัญในการทำ Tik Tok ให้น่าสนใจ ต้อง “ทำให้สุดโต่ง” เช่น เสื้อผ้า หน้า ผม ต้องจัดเต็ม แต่งให้เต็มที่ สถานที่ต้องสุดโต่ง คนไม่เคยเห็น ไม่เคยไป เช่น รีวิวสินค้าในป่าช้า “แหวกแนว” นำเสนอเรื่องราวให้แปลก แหวกแนว ไม่ซ้ำใคร แตกต่างจากคนอื่น “จินตนาการ” เรื่องราว ตัวละคร สถานที่ ต้องใช้จินตนาการ ทำเรื่องราวและนำเสนอให้น่าสนใจ
“สร้างสรรค์” ต้องคิดนอกกรอบ เนื้อหา เรื่องราว มีความสดใหม่ นำความรู้ เนื้อหามาดัดแปลง พลิกแพลง ขัดแย้งกับความเป็นจริง ฯลฯ
ปัจจุบัน ดร.ตู่ นำเสนอเนื้อหาต่างๆ ใน Tik Tok เน้นความสนุกสนาน มีสาระ และรีวิวสินค้าเป็นหลัก ที่ผ่านมารีวิวสินค้าต่างๆ ไปแล้วประมาณ 80 ชิ้น เช่น ร้านอาหาร เครื่องสำอาง อุปกรณ์รถยนต์ น้ำพริก อาหารเสริม กาแฟ ฯลฯ มีรายได้ระดับหลายพันจนถึงระดับหมื่นบาทต่อการรีวิวสินค้า 1 ครั้ง สามารถทำ Tik Tok เป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้
“อยากให้ผู้เข้าอบรมได้แรงบันดาลใจ นำแนวคิดไปใช้ ไม่จำเป็นต้องทำให้เหมือน ชุมชนก็สามารถนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ได้ ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว การแนะนำสถานที่สำคัญ เพื่อให้คนทั่วไปได้รู้จัก และมาเที่ยว ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน” ดร.ตู่ย้ำในตอนท้าย
ดร.กอบศักดิ์ย้ำนักสื่อสารชุมชน “อย่าท้อถอย ต่อไปอาจมีคนกดไลค์เป็นหมื่น”
หลังการฝึกอบรมหลักสูตรที่ 5 ‘จากรากหญ้าสู่ Influencer’ ถือเป็นการเสร็จสิ้นการฝึกอบรม ‘หลักสูตรนักสื่อสารชุมชนประจำปี 2566’ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธานในพิธีปิดอบรม
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวให้กำลังใจผู้เข้ารับการอบรมว่า การจัดอบรมนักสื่อสารชุมชนของ พอช. เมื่อจบหลักสูตรในปีนี้แล้วก็จะจัดครั้งต่อไปอีก โดยจะเชิญคนที่มีความสามารถมาเป็นวิทยากร ส่วนการจัดอบรมในครั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าอบรมนำความรู้ไปใช้ โดยเฉพาะการทำคลิป แม้ว่าตอนแรกๆ อาจจะมีคนกดไลค์ไม่มากนัก แต่ขออย่าท้อถอย หมั่นทำไปเรื่อยๆ พยายามคิด Content ให้น่าสนใจ ต่อไปอาจจะมีคนมากดไลค์เป็นหมื่น
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ทั้งนี้การจัดอบรมนักสื่อสารชุมชนประจำปี 2566 พอช.ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรมส่งผลงานเข้าประกวด โดยในวันนี้มีการประกาศรางวัล ‘นักสื่อสารชุมชนสุดว๊าว’ สำหรับผู้เข้ารับการอบรมที่ส่งผลงานเข้าประกวด รวม 3 รางวัล คือ
หลักสูตรที่่ 1 สร้างแรงบันดาลใจ “เรื่องเล่าจากชุมชน” สร้าง Contents ให้โดน ให้สร้างสรรค์ ผู้ได้รับรางวัล คือ สุนันท์ชยาภา โชติลักษณ์สุข จากอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
หลักสูตรที่ 2 "เล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอ ผู้ได้รับรางวัล สนอง แท่นสูงเนิน จากจังหวัดลพบุรี
หลักสูตรที่ 3 "เขียนให้เป็นเรื่อง" และ "ถ่ายภาพบ้านๆ ให้น่าสนใจ" ผู้ได้รับรางวัล นางสาวนิดา อิ่มลิ้มทาน จากจังหวัดแพร่
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ชำแหละทุกแง่มุม ผลกระทบคดีตากใบขาดอายุความ
ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงคดีตากใบที่ไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ ภายในอายุความ 20 ปี ทำ
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด