มูลนิธิแพทย์ชนบท-บอร์ด พอช.หารือแนวทางส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิ เสนอพื้นที่ต้นแบบเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชน-รพ.-ท้องถิ่น สร้างตำบลสุขภาวะ

การประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’ วันนี้ (21 กรกฎาคม)

พอช. / ‘นพ.ชูชัย’ มูลนิธิแพทย์ชนบท  ร่วมประชุมกับบอร์ด พอช.  หารือแนวทางการส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิประชาชน  เสนอทำโมเดลพื้นที่ต้นแบบนำร่อง  ด้านบอร์ด พอช.ขานรับ เพราะหากสุขภาพชุมชนไม่เข้มแข็งก็จะไม่สามารถทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้   พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  กองทุนสวัสดิการ  ที่อยู่อาศัย  ฯลฯ ร่วมกับ รพ.และท้องถิ่นสร้างตำบลสุขภาวะที่ดี

วันนี้ (21 กรกฎาคม) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ประจำเดือนกรกฎาคม โดยมี ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันฯ  เป็นประธานในที่ประชุม  มีคณะกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ผู้แทนชุมชน  และผู้บริหารพอช. เข้าร่วมประชุมในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์กว่า 40 คน

มูลนิธิแพทย์ชนบทเสนอโมเดลตำบลสุขภาพปฐมภูมิ

การประชุมในวันนี้  มี นพ.ชูชัย  ศุภวงศ์  จากมูลนิธิแพทย์ชนบท  เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์  เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมสุขภาพปฐมภูมิให้แก่ประชาชน  เนื่องจาก พอช.ทำงานกับชุมชนทั่วประเทศ  โดยจะจัดทำพื้นที่ต้นแบบ เพื่อเป็นแม่แบบในเรื่องการส่งเสริมให้เกิดตำบลสุขภาพปฐมภูมิ  โดยความร่วมมือของโรงพยาบาลชุมชน  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่  ทั้งการป้องกันโรค   การให้ความรู้  และการรักษา  เป็นเครือข่ายสุขภาพ  ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง

นพ.ชูชัย  มูลนิธิแพทย์ชนบท  ประชุมผ่านระบบซูม

นพ.ชูชัย  ศุภวงศ์  มูลนิธิแพทย์ชนบท กล่าวมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า  เรื่องผู้สูงอายุติดเตียงกว่า 2.3 ล้านคนในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ในสมัยที่ ดร.กอบศักดิ์  เป็นคณะกรรมในชุดปฏิรูปประเทศได้ให้ความสำคัญ จึงได้ชวนหมอสันติ  ใช้เวลา 6 เดือนแก้ระเบียบ  ทำให้ท้องถิ่นสามารถจ่ายเงินให้นักบริบาลท้องถิ่น  สามารถดูแลผู้สูงอายุติดเตียงได้ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญ  

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ สปสช. จ่ายงบประมาณลงไปที่ครัวเรือน  ชุมชน  เมื่อมี พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิแล้วกระทรวงสาธารณสุขได้ทำงานร่วมกับ สปสช. ซึ่งมองว่าตอนโควิดระบาดสามารถจัดสรรงบประมาณไปที่ครัวเรือนและชุมชน  เป็นการปรับโครงสร้างงบประมาณจากฐานโรงพยาบาลไปสู่ครัวเรือนและชุมชน   โดยตอนนี้มีการทดลองใน 6 โรค ใน สปสช. เช่น  ผ่าตัดไส้ติ่ง สามารถผ่าตัดแล้วไม่มีปัญหา  ก็ให้กลับไปดูแลที่บ้าน ถึงเวลาก็มาตัดไหม เป็นต้น

ส่วนการทำระบบสุขภาพปฐมภูมิ  มีท้องถิ่น  อบจ.พะเยาประสานงาน  อยากเห็นพะเยาทำเรื่องปฏิรูปสุขภาพปฐมภูมิทั้งจังหวัด  แต่ยังมีปัญหาเรื่องการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยังท้องถิ่น  มีความไม่สะดวกติดขัด จึงมองถึงการปฏิรูปทั้งจังหวัด  ชวนกันไปทำเวทีที่พื้นที่โดยผู้ที่เกี่ยวข้อง     

“สิ่งที่จะทำนั้นเป็นการปฏิรูปประเทศไทย  ปัจจุบันโรงพยาบาลที่มีทั่วประเทศ จำนวน 799 แห่ง มีอยู่ในทุกอำเภอ และมีทรัพยากรมากพอที่จะมาใช้เชื่อมกับชุมชนทั้งระดับหมู่บ้าน  อำเภอ  ตำบล  หากมีการ Mapping พื้นที่ดีดี และหารือร่วมกับ ผอ.รพ. ในพื้นที่  ท้องที่ ท้องถิ่น ในการส่งเสริมให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งในพื้นที่มีเครือข่ายอยู่แล้ว เราทำงานร่วมกันจะเป็นการส่งเสริมความเข้มแข็งฐานรากอย่างแท้จริง  โดย พอช. เป็นผู้มีประสบการณ์ความรู้ที่จะทำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด”  นพ.ชูชัยกล่าว

พอช.ขานรับ “สุขภาพเข้มแข็ง ชุมชนเข้มแข็ง”

ดร.กอบศักดิ์   ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า  เราจะทำเรื่องชุมชนเข้มแข็งทั่วไทย  แต่หากสุขภาพชุมชนไม่เข้มแข็งก็จะไม่สามารถทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งได้  หากชุมชนใดมีสุขภาวะหรือสุขภาพที่ดีจะเป็นเครื่องมือในการทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้ดียิ่งขึ้น  เป็นการ “สร้างสุขภาพเข้มแข็ง ให้ชุมชนเข้มแข็ง” โดย พอช.มีบทบาทในการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง  จึงควรจะมีพื้นที่นำร่อง และเชื่อมโยงกับมูลนิธิแพทย์ชนบทต่อไป

นพ.ชูชัยกล่าวด้วยว่า  ในอนาคตจะทำให้เห็นอะไรดีๆ ได้เยอะขึ้น  หากมองด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น  ผู้ป่วยอัมพาต  ต้องเปลี่ยนสายยางสวนปัสสาวะทุก 2 สัปดาห์เพื่อลดการติดเชื้อ  ทำให้ครัวเรือนนั้นต้องหยุดงานทั้งบ้าน เสียทั้งรายได้และเวลาที่จะต้องมาที่ รพ.  ตอนนี้มีพยาบาล หรือนักบริบาลท้องถิ่นดูแลให้  สามารถประหยัดงบประมาณได้มาก  รวมถึงการส่งเสริมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ   โดย  สสส. ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรวมตัวกันทำงาน สร้างงานในชนบทและออกกำลังกายไปด้วย

ดร.กอบศักดิ์   ภูตระกูล 

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันฯ  กล่าวว่า  เรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง  ข้อมูลการทำงานที่ผ่านมา  ครอบครัวที่ยากจนที่สุดหรือมีหนี้สิน พบว่า คนในครอบครัวเจ็บป่วย อาจจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ลูก ฯลฯ จะมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นด้านสุขภาพสูง ทำให้รายได้ไม่พอ เกิดหนี้สิน เกิดความยากจน เพราะลำบากกว่าคนอื่น  เพราะเรื่องสุขภาพคือตัวชี้ขาดของปัญหาหนี้สินและความยากจนที่เกิดขึ้น จากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า  คนยากจนจะมี 1 หรือ 2 คนที่มีความเจ็บป่วยในครอบครัว

“โจทย์สำคัญคือทำอย่างไร? ที่จะแก้ไขที่ต้นเหตุดังกล่าว ควรมีการมองถึงระบบที่จะทำให้  ‘คนไทยสุขภาพดี ทั้งกายภาพและจิตใจ’  เพราะสุขภาพดีเป็นตัวเริ่มต้นให้คนไทยได้มีการกินดี  อยู่ดี  การรักษาความเจ็บป่วยนั้นลดน้อยลง  เราต้องนำสุขภาพดีนั้นกลับคืนมา กระบวนการที่จะทำให้เกิดสุขภาพดีนั้น  หากจะทำต้องทำ ‘ตำบลสุขภาวะดี’ เราต้องปัองกันก่อนที่จะเกิดโรค“   นางสาวสมสุขกล่าว

นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา

เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนสร้าง “ตำบลสุขภาวะที่ดี”

นางสาวสมสุขกล่าวต่อไปว่า  ในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นมีเครือข่ายอยู่เป็นจำนวนมาก และมี อสม. ที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว อาจจะมีการเชื่อมโยงกับเครือข่ายชุมชน ให้ความรู้และส่งเสริมให้คนมีสุขภาวะดี  ลดการรักษา สามารถช่วยสนับสนุนการดูแลเรื่องการรักษาเบื้องต้นได้  หากเราทำให้ระบบเหล่านี้เกิดขึ้น  เชื่อมโยงกับสภาองค์กรชุมชน สวัสดิการชุมชน รวมถึงเครือข่ายที่อยู่อาศัยในพื้นที่ตำบลมาร่วม จะทำให้เกิดเครือข่ายที่สร้างสุขภาวะที่ดี  เพื่อป้องกัน รักษา เชื่อมโยงกับระบบของโรงพยาบาล ซึ่ง รพ.จะสามารถบริหารคนในพื้นที่ตำบล  มีข้อมูลการรักษาได้  จะเป็นระบบดูแลสุขภาพเต็มทั้งพื้นที่ที่ให้โรงพยาบาลเป็นเซ็นเตอร์ร่วมดูแลร่วมกับชุมชน เหมือนกับตอนที่ พอช. ทำเรื่องศูนย์เด็กนั้น สามารถทำรูปธรรมและขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ

“การทำเรื่องตำบลสุขภาวะดี   มีทั้งเรื่องของคน เรื่องของเครือข่าย  หมอพื้นบ้าน   สมุนไพรที่มีอยู่ เป็นเหมือนการพัฒนาตำบลจัดการสุขภาพตนเองได้ในทุกด้าน ทำให้เป็นระบบ  ทำสักจำนวนหนึ่งแล้วขยายผลต่อไปได้  พอช. อาจจะทำความร่วมมือกับมูลนิธิแพทย์ชนบท และกำหนดพื้นที่/ตำบล ที่มีความพร้อมที่จะเริ่มต้น เดินไปด้วยกัน เพื่อเป็นการทำระบบเหล่านี้ด้วยกัน  ทั้งพื้นที่  ภาคีเครือข่าย ทำให้ชุมชนมีส่วนร่วมสำคัญในการดูแลสุขภาพ”  นางสาวสมสุขกล่าว

ทั้งนี้หลังจากการประชุมร่วมกันในวันนี้แล้ว  มูลนิธิแพทย์ชนบทกับ พอช. จะมีการหารือเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกันต่อไป  โดยเฉพาะการคัดเลือกพื้นที่ตำบลต้นแบบ  เพื่อเป็นพื้นที่นำร่องในการส่งเสริมระบบสุขภาพปฐมภูมิหรือ ‘ตำบลสุขภาวะดี’ ให้แก่ประชาชน

****************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา