กนอ.มีแผนรับมือกับปัญหาภัยแล้งพื้นที่นิคมฯเรียบร้อยแล้ว เผยมีการศึกษาตั้งโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคต

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยมีแผนรับมือกับปัญหาภัยแล้งเรียบร้อยแล้ว ทั้งการจัดหาแหล่งน้ำดิบ การจัดสรรอ่างเก็บน้ำให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงแผนการจัดตั้งโรงกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้ในอนาคต

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนปรากฏการณ์เอลนิโญจะเข้าสู่อาเซียนในช่วงครึ่งปีหลังนี้ และทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลว่าจะกระทบกับภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคเศรษฐกิจของไทยไม่แพ้ปัจจัยอื่นๆ ว่า ในส่วนของ กนอ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลการประกอบกิจการโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ได้มีการเตรียมมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และแผนรับมือกับวิกฤติภัยแล้งอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นหลักประกันให้นักลงทุนมั่นใจ และเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีจะไม่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการประกอบกิจการอย่างแน่นอน โดยที่ผ่านมา กนอ.ได้หารือกับทุกภาคส่วนวางแผนบริหารจัดการน้ำในทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยในระยะยาวที่ภาครัฐมีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่อีอีซีปี 2563-2580 จะประกอบด้วย 38 โครงการ ซึ่งเพียงพอต่อการขยายตัวต่อภาคเกษตรกรรม ชุมชน และอุตสาหกรรม ในพื้นที่อีอีซี ซึ่งนั่นคือแผนการรองรับขั้นแรก

กนอ.มีการจัดหาแหล่งน้ำสำรองเพื่อมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมให้เพียงพอ โดยได้หารือร่วมกับภาคเอกชนในการวางแผนรับมือภัยแล้งพื้นที่อีอีซีในอีก 20 ปีข้างหน้า และการลงทุนวางท่อส่งน้ำสายหลัก เพื่อสร้างเครือข่ายท่อส่งน้ำให้มากกว่าเดิม มีความยาวท่อส่งน้ำสายหลัก 526 กิโลเมตร พร้อมด้วยแหล่งน้ำหลักที่ได้รับการจัดสรรจากกรมชลประทาน ได้แก่ อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำดอกกลาย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำบางพระ รวมถึงแหล่งน้ำที่สูบใช้ได้ในแต่ละปี โดยมีปริมาณน้ำต้นทุนเป็นปริมาณน้ำท่าตามฤดูกาล ได้แก่ แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง คลองทับมา และแหล่งน้ำเอกชน รวมทั้งยังมีแหล่งน้ำสำรอง เพื่อใช้ในกรณีน้ำในแหล่งน้ำมีน้อยและเกิดการขาดแคลนน้ำ ได้แก่ สระสำรองน้ำดิบสำนักบก สระสำรองน้ำดิบฉะเชิงเทรา และสระสำรองน้ำดิบทับมาเข้ามาเสริมในช่วงขาดแคลน

ขณะเดียวกัน กนอ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายน้ำดิบระหว่าง กนอ.และบริษัท วาย. เอส. เอส.พี.แอกกริเกต จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการน้ำในภาคอุตสาหกรรม โดยบริษัทฯ ดำเนินการจัดหา และจ่ายน้ำดิบให้กับ กนอ.เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังในปริมาณไม่น้อยกว่า 15,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในปริมาณไม่น้อยกว่า 200,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันในราคาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งก็มีแหล่งน้ำสำรองเป็นของตนเอง สามารถจ่ายน้ำให้กับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมได้ตั้งแต่ 2-15 เดือน

กนอ.ได้ศึกษาเรื่องของการตั้งโรงงานกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามต้องการ ซึ่งน้ำกลั่นจากน้ำทะเลนี้จะถือเป็นตัวเลือกสุดท้าย เพื่อป้องกันการขาดแคลนน้ำในอนาคต

เพิ่มเพื่อน