พิธีลงนามความร่วมมือการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต
พอช./ 8 หน่วยงานภาคี พอช.-สสส.–กรมป่าไม้-กรมทรัพยากรทางทะเลฯ- RECOFTC Thailand-มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน-มูลนิธิชุมชนไท-มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือจัดการป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต ระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้-ลดโลกร้อน นำร่องขับเคลื่อนป่าชุมชนทั่วประเทศปีแรก 15 แห่ง ขณะที่คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการฯ คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทางสังคมจำนวน 21 ล้านบาทเศษ
วันนี้ 7 กรกฎาคม 2566 ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีพิธีบันทึกความร่วมมือการสนับสนุนและขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่าง กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า - ประเทศไทย (RECOFTC - Thailand)
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
โดยมีผู้แทน 8 หน่วยงานดังกล่าวร่วมลงนาม มี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เป็นประธานสักขีพยานการลงนาม โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ และผู้แทนชุมชนที่จะขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศร่วมในพิธี รวม 80 คน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช.
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวมีใจความสำคัญว่า การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้นั้น คนในชุมชนจะต้องมีกระบวนการรวมกลุ่มการทำงานร่วมกัน คนในชุมชนจะต้องมีอาชีพมีรายได้ที่ดี เพราะฉะนั้นมิตินี้ ป่าชุมชนและฝายมีชีวิตก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่คุณภาพชีวิต อาชีพ และรายได้ของพี่น้องประชาชน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมลงนามในวันนี้ร่วมสนับสนุน และขับเคลื่อนไปด้วยกัน
“ไปคนเดียวอาจจะเดินไปได้ แต่ว่าไปได้ไม่ไกล ถ้าเราจะไปได้ไกล เราต้องเดินหลายคน ช่วยกันประคับ ประคอง ช่วยกันเป็นลมใต้ปีก เติมเต็มข้อจำกัดต่างๆ ด้วยกัน เพราะฉะนั้นวันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการที่เราจะมาร่วมมือกันระหว่าง 8 หน่วยงาน ในการขยับขับเคลื่อนการทำพื้นที่ป่าชุมชนและฝายมีชีวิต”
ผอ.พอช.กล่าวและว่า ในปีนี้จะมีพื้นที่นำร่อง 15 จังหวัด 15 พื้นที่ หากพื้นที่ดังกล่าวเดินไปได้แล้วสำเร็จ ก็จะเป็นพื้นที่ที่เป็นองค์ความรู้ ในการขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ จังหวัดอื่นๆ ต่อไป
นายเดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงาน ฯ
นายเดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้มีแผนงานหลักที่จะดำเนินการ 3-4 เรื่อง เช่น 1.การสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของกฎหมาย หรือ ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562’ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลที่ พอช.สนับสนุนการจัดตั้งทั่วประเทศเป็นพื้นที่ดำเนินการ โดยเราจะสร้าง ‘ครู ก’ ขึ้นมาจากสภาองค์กรชุมชนฯ
2.สร้างพื้นที่ต้นแบบขึ้นมา 15 พื้นที่ เพื่อเป็นบทเรียนในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างการขยายผลในประเด็นต่างๆ ในบริบททั้งจังหวัด 3.เครือข่ายป่าชุมชนในแต่ละจังหวัดซึ่งจัดตั้งไปแล้ว 68 จังหวัดก็ยังไม่มีงบประมาณจัดสรรที่ชัดเจนมาสนับสนุน เราจึงประสานความร่วมมือไปยัง สสส. และ สสส.ได้สนับสนุนงบประมาณมาดำเนินการ
“วันนี้เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันเริ่มต้นของการสานพลัง เพราะกฎหมายป่าชุมชนเจตนารมณ์เป็นกฎหมายของสังคม สังคมจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ จะต้องมาร่วมเกื้อกูล สนับสนุนขีดความสามารถของชุมชน องค์กรประชาสังคมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้จะต้องมาเป็นแกนหลัก ภาคีธุรกิจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม เอ็นจีโอต่างๆ เข้ามาร่วมผนึกกำลังสนับสนุนการจัดการป่าชุมชนให้ยั่งยืน” นายเดโชกล่าว
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานบอร์ด พอช.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวมีใจความสรุปว่า เมื่อก่อน
ชาวบ้านเข้าไปในป่าเก็บของแล้วจะติดคุก ไม่ต้องตัดต้นไม้ แค่เก็บมาก็ติดคุก แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 ตอนนี้สามารถตัดต้นไม้ได้ ใช้ได้ในชุมชน ขณะที่กรมป่าไม้ก็ตั้งใจให้เกิดโครงการนี้เพื่อให้เกิดป่าชุมชนทั่วประเทศ 20,000 แห่ง พื้นที่ 10 ล้านไร่ เป็นเรื่องที่น่าดีใจ เพราะป่าชุมชนบางแห่งมีเนื้อที่นับร้อยไร่ บางแห่งนับพันไร่ ถ้าประชาชนร่วมกันดูแลก็จะช่วยกันฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นซุปเปอร์มาเก็ต สามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้ ถ้าหากทำอย่างนี้ได้ทั่วประเทศพี่น้องประชาชนก็จะมีความสุข
นอกจากนี้ พอช. และภาคีเครือข่ายที่ร่วมลงนามในวันนี้จะทำเรื่องฝายมีชีวิต โดยใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น ไม้ไผ่ กระสอบทราย พอทำแล้วน้ำจะซึมลงใต้ดิน ทำให้ผืนดินมีความชุ่มชื้น ต้นไม้ ผลไม้ก็จะออกลูกตลอดทั้งปี รวมทั้งจะทำเรื่องป่าชุมชนในพื้นที่ป่าชายเลน เป็นป่าชายเลนชุมชน และมีโครงการต่อไป คือ ทำธนาคารปูม้า กุ้ง หอย ปู ปลา นำมาเพาะพันธุ์แล้วปล่อยลงไปในลำคลอง ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ทำให้พี่น้องมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดร.ชาติวุฒิ วังวล สสส.
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า World Economic Forum บอกว่า 1 ใน 3 ของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เรื่องสิ่งแวดล้อมหนักที่สุด ข้อมูลเมื่อปีที่ผ่านมา เราเจอปัญหามลพิษทางอากาศ เจอปัญหา PM 2.5 ปัญหาฝนน้อยและหนักมาก ปัญหาเรื่องสุขภาพ ปัญหาที่เกี่ยวกับมลพิษ เราจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้แล้ว เราต้องช่วยกัน
สสส. เข้าสู่ปีที่ 21 เราคลุกวงในมากขึ้นในการที่จะแก้ปัญหาต้นทาง ด้วยปรัชญา ‘สร้างนำซ่อม’ เพื่อที่จะทำให้เรามีภูมิต้านทานทางสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เรามองถึงการสร้างศักยภาพชุมชน การสร้างพื้นที่ป่าที่เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อจะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง โดยการประสานกับภาคนโยบาย ภาควิชาการ ภาคสื่อสาร และขับเคลื่อนงานไปพร้อม ๆ กัน เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวมีใจความสำคัญว่า กรมป่าไม้รู้สึกยินดีและภูมิใจที่พี่น้องประชาชน เครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรเอกชน ภาคสังคมต่างๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมช่วยกรมป่าไม้ในการดำเนินการดูแลรักษาป่า ที่ผ่านมามีกิจกรรมปลูกป่า ปลูกเสร็จแล้วกลับไปไม่มีใครดูแล ป่าไม่มีทางรอด ป่าจะรอดได้ต้องมีพี่น้องชุมชนในพื้นที่นั้นๆ เข้ามาดูแลรักษาป่า ขณะเดียวกันพี่น้องที่ดูแลป่าก็จะต้องได้รับประโยชน์จากการดูแลป่า เช่น เรื่องการท่องเที่ยว การนำผลิตผลจากป่าไปใช้อย่างถูกกฎหมาย และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
“ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชน 12,000 แปลงทั่วประเทศ มีหมู่บ้าน 13,000 หมู่บ้านที่เข้ามาร่วมกับป่าชุมชน ซึ่งกรมป่าไม้มีเป้าหมายจะเพิ่มพื้นที่ป่าชุมชนเป็น 15,000 แปลง เนื้อที่ 10 ล้านไร่ภายในปี 2570 สิ่งที่จะทำให้ไปสู่ความสำเร็จได้ต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าว
เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนมีอาชีพ-มีรายได้
การจัดทำบันทึกข้อตกลงนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือของทุกฝ่าย ชึ่งมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการสนับสนุนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตในพื้นที่ป่าชุมชน ตามกฏหมายว่าด้วยป่าชุมชน รวมถึงสร้างความตระหนักให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของกลไกภาคีที่เกี่ยวข้องในการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเสริมความเข้มแข็งชุมชนและเสริมรายได้ครัวเรือน ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนท้องถิ่น
ส่วนวัตถุประสงค์ของการบันทึกความร่วมมือ ครั้งนี้ คือ 1.เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจโดยการพัฒนาศักยภาพขององค์กรชุมชน รวมถึงหน่วยงาน ภาคีที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
2.เพื่อสนับสนุนกระบวนการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมให้กับเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด เครือข่ายฝายมีชีวิต เครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อเตรียมความพร้อมของชุมชนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตในพื้นที่นำร่องตามที่ทุกฝ่ายกำหนดร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่ป่า
และ 3.เพื่อประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผู้แทน 8 หน่วยงานร่วมลงนามความร่วมมือ
ผสาน 8 พลังภาคีหนุนป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต
ทั้งนี้ 8 หน่วยงานภาคีที่ร่วมลงนามจะมีบทบาทและหน้าที่ต่างๆ กังนี้ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1.ให้คำแนะนำแนวทางการดำเนินงาน และวิธีการติดตามประเมินผลโครงการที่สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและป่าอย่างยั่งยืน
2.สนับสนุนข้อมูล องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและประสานงานกับหน่วยงานและชุมชนในพื้นที่รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามความเหมาะสม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
พอช. สสส. RECOFTC – Thailand มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะร่วมกัน 1.เสริมความเข้มแข็งองค์กรชุมชน เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายฝายมีชีวิต ในการดำเนินการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิตให้เกิดขึ้นในพื้นที่เป้าหมาย
2.เสริมศักยภาพเครือข่ายป่าชุมชนระดับจังหวัด คณะกรรมการป่าชุมชนจังหวัดและกรรมการจัดการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต ให้สามารถจัดทำข้อมูล แผนที่ และแผนการบริหารจัดการป่าชุมชน ในพื้นที่อย่างยั่งยืน
3.ประสานแหล่งทุนภาคีหุ้นส่วนการพัฒนา จัดหางบประมาณสำหรับดำเนินงานและสนับสนุนชุมชน เครือข่าย ร่วมและเอื้ออำนวยในการบริหารจัดการงบประมาณ ตามแผนโครงการที่ภาคีหุ้นส่วนการพัฒนา คัดเลือกและดำเนินการตามความจำเป็น
ทั้งนี้ความร่วมมือตามบันทึกการลงนามในครั้งนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันลงนาม และมีพื้นที่นำร่องการขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตจำนวน 15 แห่งทั่วประเทศ เช่น ป่าชุมชนตำบลท่ากุ่ม จังหวัดตราด มีกิจกรรมฟื้นฟู อนุรักษ์ ปลูกป่า และทำฝายชะลอน้ำในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านเขาพลูร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดแหล่งอาหารจากป่าให้กับชุมชน เช่น เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน สมุนไพร ฯลฯ มีแหล่งต้นน้ำ ประปาภูเขา ลงไปยังเรือกสวนไร่นา และน้ำสำหรับสาธารณูปโภคของชุมชน
ป่าชุมชนบ้านถ้ำเสือ หมู่ 4 ต.แก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกไผ่หวานและผักหวานเพื่อกินเองและสร้างอาชีพในโครงการหมู่บ้านอนุรักษ์พิทักษ์ป่า และตั้งกลุ่มโฮมสเตย์บ้านถ้ำเสือเพื่อรองรับท่องเที่ยวแนว CSR outing ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวแบบทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยการปลูกป่า ทำฝาย ทำแนวกันไฟเพื่อฟื้นฟูป่า เป็นต้น
ต้นยางนาขนาดใหญ่ที่ชาวบ้าน ต.หนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ช่วยกันดูแล และกำลังทำเรื่องเพื่อเข้าร่วมโครงการ ‘คาร์บอนเครดิต’ ร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน
ป่าชุมชน สร้างผลตอบแทนทางสังคม 21 ล้านบาท
นายเดโช ไชยทัพ ประธานคณะทำงานสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชนและฝายมีชีวิต สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิตจะมีการดำเนินกิจกรรมหลัก 4 กิจกรรม คือ 1.การอนุรักษ์และการแบ่งประเภทการใช้ประโยชน์ของป่าชุมชนและฝายมีชีวิต 2.การบริหารจัดการน้ำของชุมชน
3.การพัฒนาศักยภาพองค์กรชุมชนและเครือข่าย และ 4.การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนและฝายมีชีวิตบนฐานการบริหารการจัดทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การเชื่อมโยงเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG ฯลฯ ซึ่งการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้จะใช้งบประมาณดำเนินการรวม 3,498,000 บาท
“หากมีการลงทุนในโครงการดังกล่าวจำนวน 3,498,000 บาท จะสามารถตีเป็นมูลค่าการตอบแทนทางสังคมได้จำนวน 21,361,079 บาทเศษ ในการขับเคลื่อนปีที่ 1 และต่อยอดการดำเนินการของชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออีกอย่างน้อย 5 ปี
นอกจากนี้จะสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการบริหารป่าชุมชน ด้วยการสร้างอาชีพ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้มีความอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาศักยภาพของชุมชน และเป็นส่วนหนุนเสริมให้เกิดประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมกลับคืนสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน” ประธานคณะทำงานฯ กล่าวถึงผลตอบแทนและผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น
ชาวบ้าน ต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี ร่วมกันอนุรักษ์ ‘ต้นยางเหียง’ ไม้หายาก และร่วมกับสถาบันการศึกษาวิจัยสรรพคุณของยางเหียงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์
เส้นทางสู่การขับเคลื่อน...‘ป่าชุมชน’ ขจัดความจน
‘ป่าชุมชนและฝายมีชีวิต’ เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ พอช.และหน่วยงานภาคีเครือข่ายกำลังร่วมกันขับเคลื่อน โดยมีการตั้งคณะทำงานป่าชุมชนและฝายมีชีวิตขึ้นมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานาน...นั่นคือ ‘ความยากจน’ ที่เกิดจากการที่ประชาชนในชนบทไม่มีสิทธิ์ในการดูแลและพึ่งพาอาศัยและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรป่า !!
ย้อนกลับไปในปี 2562 ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน’ ฉบับแรกประกาศใช้ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติฉบับนี้ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้วันที่ 24 พฤษภาคมของทุกปีเป็น ‘วันป่าชุมชนแห่งชาติ’
เหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ “โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้ชุมชน ได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
ป่าชุมชนตามความหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ “ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐ นอกเขตป่าอนุรักษ์ ที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้”
ผลจากการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เช่น สามารถเก็บหาของป่า ตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เพื่อประโยชน์สาธารณะ (ยกเว้นไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ปลูกต้นไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ สร้างฝายกักเก็บหรือชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น เป็นแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน ทำประปาภูเขา นำน้ำมาใช้ในการเกษตร จัดการท่องเที่ยว ฯลฯ
โดย 8 หน่วยงานที่ร่วมลงนามความร่วมมือในวันนี้ (7 กรกฎาคม) จะร่วมกันสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ที่ทำเรื่องป่าชุมชนอยู่แล้วหรือกำลังจะจัดตั้งป่าชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้เนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 และนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการป่าชุมชนเพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกันก็จะเป็นการฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งน้ำ ช่วยลดภาวะโลกร้อน คืนความสมดุลสู่ธรรมชาติต่อไป...!!
*****
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชาวเชียงใหม่อุ่นใจ สสส.-มช. เดินหน้าโครงการ "Chiang Mai Greentopia" ช่วยลดสารเคมีตกค้างในเลือดได้สูง ภายใน 2 ปี ลดเหลือ 66% จาก 90%
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 13 ม.ค. 2568 ที่สวนผักฮักร้องขุ้ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ตัวแทนเกษตรกร ภาคีเครือข่าย และสื่อมวลชน ติดตามการดำเนินงานโครงการ Chiang Mai Greentopia : ต้นแบบการสร้างความมั่นคงทางอาหาร
พลังแห่งการเล่น..พาเด็กก้าวข้ามวิกฤต ไทยเปิดตัว"สมาคมการเล่นนานาชาติ"
การเล่นเพื่อเปลี่ยนโลก!! เชื่อว่าผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ มีปุจฉา และต้องการวิสัชนาว่า ทำไม?!? เรื่องเล่นๆ ถึงจะมาเปลี่ยนโลกได้ และท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ
สสส. สานพลัง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)-Mappa-กสศ.-กทม. จัดเทศกาล 'Relearn Festival 2025' ชูแนวคิด 'Intergeneration ลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเข้าใจระหว่างกัน' วันที่ 11 ม.ค.-9 ก.พ.68 นี้
เปิดพื้นที่ชวนครอบครัวเปลี่ยนมุมมอง-สร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ ลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก-ผู้ใหญ่ หลังพบเด็ก 25.6% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น 2 เท่า ในรอบ 7 ปี
เด็กไทยป่วยซึมเศร้าทะลุ 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17.4% ซ้ำเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต
ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรม “ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568” ภายใต้โครงการโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กก่อนวัยรุ่น เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)