พอช. /สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ‘พอช.’ จัดอบรมนักสื่อสารชุมชนครั้งที่ 4 โดยมี ‘บังฮาซัน’ นักขายออนไลน์ร้อยล้าน เป็นวิทยากร แนะวิธีขายสินค้าชุมชน “ขายยังไงให้ปัง” แนะเคล็ดลับวิธีการ “ขายแบบไม่ขาย” ใช้กฎพลังแห่งการดึงดูดสร้างรายได้ สร้างพลังดีๆ เข้าสู่ตัวเอง และต้องสร้างความเชื่อมั่น สร้าง Mindset ว่า “เราต้องทำได้ ต้องขายได้”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ นอกจากจะมีภารกิจเสริมสร้างชุมชนและองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว พอช.ยังมีภารกิจในการส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศนำเรื่องราวดีๆ ของชุมชนออกมาเผยแพร่ เพื่อเป็นต้นแบบ หรือนำรูปธรรมการพัฒนาชุมชนที่โดดเด่นออกมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และการจำหน่ายสินค้าจากชุมชนได้ด้วย
โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมนี้ พอช.ได้จัดอบรม ‘นักสื่อสารชุมชน ประจำปี 2566’ เพื่อสร้างนักสื่อสารชุมชนจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป และเจ้าหน้าที่ พอช. มีเป้าหมายผู้เข้าอบรมประมาณ 500 คน โดยจะจัดอบรมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสื่อต่างๆ มาให้ความรู้ โดยที่ผ่านมาจัดอบรมไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม มี ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดังเป็นวิทยากรสร้างแรงกระตุ้น ‘นักเล่าเรื่องจากชุมชน’ เพื่อแนะนำการค้นหาประเด็น เฟ้นหาเรื่องราวดีๆ จากชุมชนมาเผยแพร่
ผู้เข้าร่วมอบรมนักสื่อสารชุมชนผ่านระบบซูมและเฟซบุ๊กครั้งที่ 4 วันนี้ ( 6 กรกฎาคมคม) กว่า 100 คน
อบรมครั้งที่ 4 ‘บังฮาซัน’ นักขาย “แบบไม่ขาย”
โดยในวันนี้ (6 กรกฎาคม) ระหว่างเวลา 9.00-12.00 น. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดอบรมนักสื่อสารชุมชนครั้งที่ 4 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมี นายอนุรักษ์ สรรฤทัย หรือ ‘บังฮาซัน’ ยอดนักขายอาหารทะเลออนไลน์ ผู้สร้างยอดขายรวมระดับหลายร้อยล้านบาทเป็นวิทยากร โดยไลฟ์สดจากจังหวัดสตูลผ่านเฟซบุ๊ก มีผู้เข้าร่วมอบรมทางระบบZoom และเฟซบุ๊กกว่า 100 คน
นายอนุรักษ์ สรรฤทัย หรือ ‘บังฮาซัน’ ปัจจุบันอายุ 33 ปี เกิดในครอบครัวชาวประมงที่จังหวัดสตูล เรียนจบชั้นมัธยม เมื่อราวสิบปีก่อนเขาเข้ามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่าในกรุงเทพฯ ผ่านงานหลายอย่าง เช่น เซลล์ขายสินค้า ไลฟ์ขายสินค้า งานบริษัท มีรายได้เดือนละหมื่นกว่าบาท แทบไม่พอใช้จ่ายในครอบครัว
บังฮาซันไลฟ์สดจากจังหวัดสตูล
จนมาถึงจุดพลิกผัน เมื่อสิ้นปีเขาได้โบนัสจากการทำงานประมาณ 30,000 บาท จึงอยากให้รางวัลกับตัวเอง จากเดิมเมื่อกลับบ้านที่จังหวัดสตูลเขาจะนั่งรถทัวร์ แต่คราวนี้เขาจะนั่งเครื่องบิน กินอาหารแพงๆ ที่สนามบิน และนำเงินโบนัสมาแจกจ่ายญาติพี่น้องชาวประมงที่ออกทะเลไม่ได้ จนเหลือเงินติดกระเป๋าเพียง 700 บาท แทบไม่พอค่ารถทัวร์กลับกรุงเทพฯ
“พอดีมีเพื่อนที่ทำงานฝากให้ผมซื้อปลาแห้งตัวเล็กกลับไปฝาก แต่ปลาไม่มีผมจึงเอาเงิน 700 บาทไปซื้อปลาหมึกแห้ง แต่โทรถามเพื่อน..เพื่อนบอกไม่เอา ผมจึงต้องเอาหมึกแห้งนั้นมาโพสต์ขาย เพราะเงิน 700 บาทหมดแล้วและอีกอย่างผมเคยขายของออนไลน์ ปรากฎว่ามีคนสนใจ แต่ไม่มีใครซื้อ ขายไม่ได้ จึงมานั่งคิดว่าทำไมจึงขายไม่ได้ จึงรู้ว่าเพราะเรายังไม่มีโครรู้จัก จะส่งของจริงหรือเปล่า ? ไม่น่าเชื่อถือ ไม่รู้จะโอนเงินอย่างไร ? จึงคิดว่าต้องเอาตัวเรามาไลฟ์สดให้คนเห็น ลองผิดลองถูกหลายอย่าง เพื่อทำให้คนรับรู้ เช่น ใช้ไมค์เพื่อให้เสียงออกมาชัดแจ๋ว น่าฟัง” บังฮาซันเหล่าถึงการไลฟ์ขายอาหารทะเลครั้งแรกๆ ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า
บังฮาซันจึงมานั่งทบทวนอีกครั้งว่า การไลฟ์สดแบบตะโกนขายของเหมือนแม่ค้าในตลาดนั้น คนฟังจะไม่ชอบการถูกยัดเยียดขาย จึงเปลี่ยนวิธีมาใช้การเล่าเรื่อง เช่น เชพที่ดังๆ จะเก่งในการเล่าเรื่อง เขาจึงใช้ “วิธีการขายแบบไม่ขาย” นั่นคือเล่าเรื่องสินค้าว่าหมึกนี้เป็นหมึกอะไร มาจากไหน ? จับอย่างไร ? เอาหมึกแห้งมากองบนโต๊ะ เพื่อให้คนเห็นและตั้งคำถามเพราะความอยากรู้ จึงมีคนโพสต์ถามว่าขายราคาเท่าไหร่ ? ค่าส่งเท่าไหร่ ? แต่เขายังอุบไว้ไม่ยอมตอบ
บังฮาซันมาคิดว่า ถ้าหมึกแห้งราคากิโลกรัมละ 300 บาท บวกค่าส่งอีก 50 บาท รวมเป็นเงิน 350 บาท คนซื้อจะมีความรู้สึกว่า “เสียเงินซื้อของแล้วยังต้องเสียเงินจ่ายค่าส่งอีก ทำให้มีภาระเยอะ” ทำให้ขายยาก
เขาจึงบอกว่า “หมึกราคากิโลกรัมละ 350 บาท ค่าส่งฟรี !!” คราวนี้หมึกทั้งหมดที่เขาซื้อมาขายได้ทั้งหมด 21 กล่อง...!!
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของบังฮาซันเมื่อหลายปีก่อน...จากเดิมที่มีคนติดตามการไลฟ์สดไม่ถึง 10 คน และต้องไลฟ์สดคนเดียว ทั้งยังต้องแพ็กของและส่งของเอง ปัจจุบันเขามียอดผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กประมาณ 2.1 ล้านคน มีทีมงานไลฟ์สดและแพ็กของ-ส่งของหลายสิบคน ทำยอดขายวันหนึ่งได้มากกว่า 2 ล้านบาท
บังฮาซันในแรกๆ ที่ไลฟ์สดเมื่อหลายปีก่อน ต้องนั่งลุ้นว่าจะมีใครสั่งซื้อหรือเปล่า ? แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ เขาจึงมีวันนี้
หลักคิดและกฎแห่งการดึงดูดช่วยให้ประสบความสำเร็จ
บังฮาซันบอกว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่เขาศึกษา เช่น ‘ตัน โออิชิ’ เจ้าพ่อเครื่องดื่มประเภทชา จะมีปัจจัยมาจากกระบวนการทางความคิด ซึ่งเขาแยกเป็น 3 ลักษณะ 1.มีลักษณะนิสัยที่ดี เป็นคนดี จิตใจดี ชอบช่วยเหลือ และให้โอกาสคนอื่น
2.มีทักษะที่ดี เช่น การพูดให้คนอื่นเข้าใจ รู้เรื่อง หรือการพูดอย่างไรให้คนหยุดฟังเรา “ไม่มีอาชีพไหนที่ร่ำรวย เร็วที่สุด เท่ากับการพูดให้คนเข้าใจแล้วซื้อสินค้าจากเรา” เขาบอก
3.มีความเชื่อ ความคิด หรือ Mindset ซึ่งเป็นพลังงานที่มองไม่เห็น แต่มีอยู่จริง เป็นความคิด ความเชื่อ เราต้องเชื่อว่าเรามีโอกาส เราต้องมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ และทำให้สำเร็จ เช่น ตนเองเคยไม่มีเงินแม้จะซื้อไอติมให้ลูก แต่ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะเป็นแบบนี้ตลอดไป และคิดว่าจะต้องมีเงินมากกว่านี้ จะซื้อไอติมให้ลูกเท่าไหร่ก็ได้
“เราต้องเชื่อว่าเรามีโอกาสที่จะทำอะไรให้ยิ่งใหญ่ได้ด้วยตัวเอง สามารถขายของได้ สามารถนำสินค้าจากชุมชนมาให้คนรู้จักได้ นี่เป็น Mindset เป็นพลังแห่งการดูดเงิน” บังฮาซันย้ำ
เขายกตัวอย่างว่า มนุษย์มีส่วนผสมของน้ำ 70% การส่งพลังของมนุษย์จะมีเรื่องน้ำมาเกี่ยวข้อง เช่น พระสวดมนต์เพื่อทำน้ำมนต์ มุสลิมก็มีความเชื่อเรื่องน้ำในการสวดดุอาห์ขอพร เพราะเป็นน้ำที่ดี
“มีงานวิจัยชุดหนึ่งที่ได้ทำการทดลอง มีแก้ว 2 ใบ ใส่ข้าวสารลงไป แก้วใบที่ 1 ด่าทุกวัน แก้วอีกใบ บอกรักทุกวัน ผ่านไปสักระยะ แก้วที่ด่าทุกวันข้าวเน่า อีกใบที่บอกรักข้าวไม่เน่า เมื่อเรารู้เรื่องนี้แล้ว เราได้เรียนรู้เรื่องคำพูดที่ดี ทำให้คนอื่นฟังเราได้ง่ายขึ้น เข้าใจเรามากขึ้น เป็นความคิดที่ดีที่เราส่งให้คนอื่น และเราสามารถควบคุมคนอื่นได้ จะขายหรือแนะนำอะไรก็ง่ายขึ้นกว่าเดิม” บังฮาซันยกตัวอย่างกฎแห่งการดึงดูด
หลักการขาย-การตลาดที่ดี
นอกจากนี้บังฮาซันยังแนะนำเทคนิคการขายและการตลาดที่ดี สรุปได้ดังนี้ 1.สร้างภาพจำที่ดี : ตอนขายอาหารทะเลใหม่ๆ เขาใช้โลโก้ที่มีรูปปลา มีตัวหนังสือ ดูอะไรก็ไม่ออก ไม่มีใครดูเลย เมื่อทำไปเรื่อยๆ จึงพบความลับ
“ใบหน้าของคน...มนุษย์จะจำได้เร็วที่สุดภายในไม่กี่วินาที ตอนแรกผมใช้รูปผมและเมียเป็นโลโก้ ใช้ 2 ใบหน้าเลย แต่เมื่อรู้ความลับผมจึงใช้ใบหน้าผมคนเดียว ดังนั้นโลโก้ที่ดีที่สุดคือใบหน้าของเจ้าของธุรกิจ เพื่อให้คนอื่นจำเราได้ ว่า ฮาซันขายอาหารทะเลตากแห้ง”
2.อุปกรณ์ใช้ในการไลฟ์สดมีความสำคัญ : คือ ทำอย่างไรเพื่อให้คนรับรู้เรา และอยู่กับเราได้มากที่สุด เช่น ใช้ “ขาตั้งกล้อง” และ “ไมค์” เพื่อให้คนฟังได้ยินเสียงของเราที่ชัดเจน
3.การขายแบบไม่ขาย : “มนุษย์ไม่ชอบการถูกยัดเยียดขาย หรือบังคับขาย” จึงต้องทำแบบ “การขายที่ไม่ขาย” โดยใช้การเล่าเรื่องราวของสินค้า เช่น ปลานี้เป็นปลาอะไร จับมาจากไหน ทำให้คนสนใจเข้ามาตั้งคำถาม จนนำไปสู่การขาย
4.การตั้งราคาขาย : คนที่สนใจจะถามเรื่องราคาและค่าขนส่ง จึงมาปรับและเปลี่ยนจากเดิมที่เคยคิดค่าส่งต่างหาก มาเป็นราคารวม เช่น แทนที่จะบอกว่าราคาปลาหมึก 300 บาท ค่าส่ง 50 บาท ให้บอกว่า ราคา 350 บาท รวมส่ง หรือค่าส่งฟรี และโชว์สินค้าให้ลูกค้าเห็น
5.สร้างความน่าเชื่อถือ : โดยใช้ภาพตนเองกับภรรยา และใส่เลขที่บัญชี เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ 6.ทำอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้เทคนิคใหม่ๆ เสมอ 7.พร้อมเก็บเกี่ยว รู้จุดแข็งจุดอ่อนของเราให้ดี 8.มีการตั้งเป้าหมาย และชื่นชมตัวเอง เพื่อสร้างพลังที่ดีเข้าสู่ตัวเอง และ 9.ขายเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่เน้นขายมาก แต่ขายแล้วให้ติดตลาด สินค้ามีคุณภาพ
“เราต้องตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องขายให้ได้ จะขายได้กี่บาทไม่รู้ แต่ฉันจะขายให้ได้ มันอยู่ที่ความคิดของเราที่ตั้งเอาไว้ แล้วต้องทำไปเรื่อยๆ ศึกษาจุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง..ตอนกลางคืนก็มานั่งทบทวน แล้วชมตัวเอง สร้างความภูมิใจในตัวเอง เพื่อสร้างพลังดีๆ ให้สะท้อนกลับมาสู่ตัวเอง” บังฮาซันแนะทิ้งท้าย
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจชมคลิปการอบรมครั้งนี้ สามารถเข้าไปดูได้ที่ facebook สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ส่วนการจัดอบรมนักสื่อสารชุมชนครั้งต่อไป (ครั้งสุดท้าย) จะจัดขึ้นในวันที่ 22 กรกฎาคมนี้ โดย ‘ดร.ตู่ นายภาสุ คนเพียร’ influencer ชื่อดัง มีผู้ติดตามกว่า 13 ล้านคน จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “จากรากหญ้าสู่ influencer” ผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรมติดตามรายละเอียดได้ทาง facebook สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ