คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยคือใคร? มีหน้าที่และที่มาอย่างไร?

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ได้มีผลใช้บังคับแล้วพร้อมกับการออกอนุบัญญัติอีก 3 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวงการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการชี้แจงหรือแก้ข้อกล่าวหา พ.ศ. 2566 กฎกระทรวงการชำระค่าปรับเป็นพินัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยระเบียบปฏิบัติในการปรับเป็นพินัย พ.ศ.2566 เมื่อกฎหมายและอนุบัญญัติทั้งสามฉบับมีผลใช้บังคับอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เราต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย โดยที่ผ่านมา ทั้งการทำงานเพื่อให้เกิดผลใช้บังคับ การบริหารจัดการกฎหมาย และการดำเนินการตรวจพิจารณากฎหมายลูกบทต่าง ๆ ตลอดจนการให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ มีหน่วยงานหนึ่งซึ่งเป็นกำลังสำคัญในเรื่องนี้ นั่นคือ

“คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย”

มาตรา 38 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งเสนอแนะการออกกฎกระทรวง และระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการดังกล่าว ซึ่งในเวลาต่อมานายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 318/2565 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2565 กำหนดให้มี “คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย” ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 16 คน แบ่งเป็น

1.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 8 คน คือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมการ นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา นายณรงค์  ใจหาญ นายธานิศ  เกศวพิทักษ์ นายประพันธ์  นัยโกวิท นางปารีณา  ศรีวณิชย์ นางสุดา  วิศรุตพิชญ์ และนายสุรศักดิ์  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

2.กรรมการผู้แทนหน่วยงานของรัฐ จำนวน 8 คน คือ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

โดยคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยมีหน้าที่และอำนาจ (1) พัฒนาวิธีปฏิบัติงานในการปรับเป็นพินัยให้เป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ (2) เสนอแนะการออกกฎกระทรวงและระเบียบตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 (3) กำหนดแนวทางในการออกระเบียบหรือประกาศตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เพื่อให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายซึ่งบัญญัติความผิดทางพินัยนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกระเบียบหรือประกาศตามหน้าที่และอำนาจของตน (4) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 (5) ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยกำหนด (6) ขอให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ และ (7) ดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ประกอบด้วยเลขานุการหนึ่งคน และผู้ช่วยเลขานุการอย่างน้อยสองคน ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาแต่งตั้งจากข้าราชการของสำนักงานฯ และโดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ เป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองกฎหมายกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่กองกฎหมายกระบวนการยุติธรรมจึงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการปฏิบัติหน้าที่และเพื่อเป็นการสั่งสมองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยให้เป็นระบบ

เมื่อครบห้าปีหลังจากที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแล้วให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ประเมินความจำเป็นในการให้มีคณะกรรมการนี้ต่อไปโดยให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นและคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว ให้คณะกรรมการดังกล่าวสิ้นสุดลงนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติหรือวันที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

การดำเนินการในขณะนี้ จากการที่กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยเป็นระบบการปรับผู้กระทำความผิดรูปแบบใหม่และมีขั้นตอนการดำเนินการที่แตกต่างไปจากการดำเนินการปรับในทางอาญาหรือปรับทางปกครอง ในวาระเริ่มแรกคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยจึงมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งการเสนอแนะการวางระเบียบปฏิบัติและระยะเวลาในการปรับเป็นพินัย

โดยทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารและสาระความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 ได้ที่เพจสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

https://www.facebook.com/OCS.Krisdika

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

การมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'วิรุตม์' สอนมวยกฤษฎีกา ชี้ 'โจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ ตาม ม.131 ไม่เกี่ยว ม.120

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เปิดความเห็น 'กฤษฎีกา' กรณีสั่งให้ 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการไว้ก่อน

มีการเผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับให้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อน

'เศรษฐา' รอดยาก! จับตาเอกสารสลค.สำคัญที่สุดในการเข้าข่ายเลี่ยงกฎหมาย

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยังไม่สิ้นกระบวนความ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับฟ้อง พิชิต ชื่นบาน เพราะลาออกไปก่อน