คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ภายใต้การบริหารงานของเลขาธิการคนใหม่อย่าง นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ พร้อมนำเศรษฐกิจไทยสู่ New Economy ด้วย “7 หมุดหมาย” - “9 มาตรการ” โดยหนึ่งในมาตรการสำคัญที่บีโอไอได้ทำร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA คือ มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย สำหรับกิจการด้านไบโอเทคหรือด้านการแพทย์หากตั้งอยู่ในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีจะได้รับมาตรการพิเศษเพิ่มจากบีโอไอ นอกจากนี้ บีโอไอยังให้การส่งเสริม Startup ผ่าน Startup Grant โดยเน้นกลุ่ม Deep Tech Startup หรือ Growth-Stage Startup ด้วยการสนับสนุนเงินค่าจ้างบุคลากรไม่เกิน 5 ล้านบาท
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจใหม่” ในงานสตาร์ทอัพและอินโนเวชั่น ไทยแลนด์ เอ็กซ์โป 2023 (STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2023) หรือ SITE 2023 จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ว่า โลกต้องเจอความท้าทายที่หลากหลาย ซึ่งหลายปัจจัยมีผลต่อการลงทุนในอีก 4 - 5 ปีข้างหน้า โดยเทรนด์ของโลกประกอบด้วย 1. Geopolitical Tensiona ความขัดแย้งในมุมต่างๆ ของโลก ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมองหาที่ลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ยืดหยุ่นสูง นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่สามารถรองรับตรงนี้ได้ 2. Decarbonization /ESG เป็นอีกเทรนด์ที่บริษัทชั้นนำต่างให้ความสำคัญ ทำให้การนักลงทุนเริ่มมองหาแหล่งที่มีการลงทุนในเรื่องของกรีน เรื่องของพลังงานสะอาดที่จะมาป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ 3. Digital Transformation เป็นสิ่งที่นิยมหลังเกิดโควิด หลายบริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนผ่าน 4. Global Minimum Tax นับเป็นกติกาใหม่ของโลกที่มาจาก OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ซึ่งมีผลต่อการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ และ 5. Aging Society หลายประเทศผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้นำไปสู่เทรนด์การนำหุ่นยนต์หรือเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีจุดแข็งที่รองรับเทรนด์เหล่านี้ได้ นั่นคือ ภูมิประเทศของไทยสามารถเชื่อมโยงได้หลายประเทศและอยู่ใกล้กับตลาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย ไทยยังมีความพร้อมด้านพื้นฐานโครงสร้างที่ดีที่สุดในภูมิภาค มี supply chain ที่ครบวงจรโดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์หรืออิเลคทรอนิกส์ นอกจากนี้ มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ ที่สำคัญคือ Green Investment ไทยมีโครงสร้างพลังงานที่เพียงพอและมีการใช้พลังงานหมุนเวียนที่สูงกว่าประเทศอื่น ตัวภาคเอกชนก็เห็นความสำคัญใน BCG
“ตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพลังงาน กำลังดีไซน์การจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ไทยยังมี Resiliency + Neutrality คือ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหลายประเทศ ถ้ามาลงทุนในไทยสามารถทำมาค้าขายได้กับทุกประเทศทั่วโลกได้”
นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า จากเทรนด์ของโลกและจุดแข็งที่ประเทศไทยมี วันนี้ไทยพร้อมแล้วสำหรับการเป็นฮับใน 5 ด้าน คือ 1. Tech Hub โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักอย่าง ดิจิทัล อิเลคทรอนิกส์ EV ฯลฯ 2. BCG Hub ไทยมีความสามารถเป็น BCG Hub ได้ เพราะมีความหลากหลายทางด้านชีวภาพ มีวัตถุดิบ ทำให้สามารถต่อยอดทางด้านอาหารได้ 3. Talent Hub ไทยมีการออกมาตรการที่หลากหลายเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้มาทำงานที่ไทย 4. Logistics & Business Hub ไทยมีความพร้อมสำหรับการเป็น Headquarters ซึ่งบีโอไอให้การส่งเสริมไปแล้ว 400 โครงการ โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทญี่ปุ่นเพราะมีฐานการผลิตในไทยที่ยาวนาน และ 5. Creative Hub โดยอาศัย soft power และ Design
ด้วยปัจจัยทั้งหมด บีโอไอ ได้นำมากำหนดเป็นยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อนำพาเศรษฐกิจไทยไปสู่ New Economy ที่ประกอบด้วย Innovative – Competitive – Inclusive โดยมี 7 หมุดหมายสำคัญ คือ 1. ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและสร้างความเข้มแข็ง Supply Chain 2. เร่งเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไปสู่ Smart & Sustainable Industry 3. ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนของภูมิภาค 4. ส่งเสริม SMEs & Startup ให้เข้มแข็งและเชื่อมต่อกับโลก 5. ส่งเสริมการลงทุนตามศักยภาพพื้นที่เพื่อสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง 6. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชน & สังคม และ 7. ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจ
โดยภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ บีโอไอ มี 9 มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลักดันยุทธศาสตร์ใหม่ให้ได้ผล คือ 1. มาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ 2. มาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมโดยรวม การวิจัยและพัฒนา การเทรนนิ่ง 3. มาตรการรักษาและขยายฐานการผลิตเดิม 4. มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร 5. มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 6. มาตรการยกระดับอุตสาหกรรม การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เครื่องจักรประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียนในกิจการ 7. มาตรการส่งเสริมการลงทุน SMEs 8. มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งบีโอไอมีการทำงานร่วมกับ NIA อาทิ กิจการด้านไบโอเทค หรือด้านการแพทย์หากตั้งอยู่ในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีจะได้รับมาตรการพิเศษเพิ่มจากบีโอไอ และ 9. มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม
นอกจากนี้ บีโอไอ มีการส่งเสริม Startup Grant โดยเน้นกลุ่ม Deep Tech Startup หรือ Growth-Stage Startup ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการระดมทุนจาก VC/CVC ไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท โดยบีโอไอจะให้เงินสนับสนุนจ้างบุคลากรไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2565 ถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 30 ราย
การเติบโตของ Startup ไทยต้องมาจากทุกหน่วยงานร่วมกันผลักดัน “บีโอไอ” เป็นหนึ่งในองค์กรสำคัญที่ช่วยผลักดัน Startup ไทย ภายใต้ พรบ. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยพร้อมเปิดพื้นที่สร้าง Startup ไทยให้เติบโต.