"สังคมที่ไม่มีอนาคต คือสังคมที่ทอดทิ้งเด็ก" เราต้องร่วมมือกันสร้างอนาคตให้เด็ก เพราะการที่เด็กถูกหลงลืม เด็กต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย เพราะพ่อแม่ฝากไว้ด้วยภาระของการทำมาหากิน ย่อมสุ่มเสี่ยงให้เกิดปัญหาต่อสุขภาวะ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตมากกว่าครอบครัวที่มีความพร้อม มีโอกาสที่จะเกิดการล่วงละเมิดทางเพศ เผชิญปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว ตลอดจนการละเมิดสิทธิเด็ก
ข้อมูลจาก ระบบท้องถิ่นดิจิทัล (Digital Government Platform) เครื่องมือส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ระบุว่า จากสถิติเด็กและเยาวชนในสังคมไทยจำนวน 13.7 ล้านคนนั้น มีเด็ก 1 ใน 5 ที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ เด็กเกิดใหม่ใน กทม. 7 หมื่นคน เป็นเด็กขัดสนอยู่ในครอบครัวเปราะบางจำนวน 1.4 หมื่นคน จึงเป็นวาระจำเป็นของสังคมไทยที่ต้องช่วยกันเพื่อลดทอนความเปราะบาง และแก้ไขปัญหาอย่างถูกทิศทางและทันท่วงที เพื่อให้เด็กกลุ่มนี้มีความทัดเทียมกับเด็กในนานาประเทศ ทั้งเรื่องการศึกษา สวัสดิภาพเด็ก มาตรฐานความเป็นอยู่ และสุขภาพ
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “การจัดการร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ” มีผู้ร่วมงานจากส่วนราชการต่างๆ 450 คน พร้อมเปิดตัว “ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)” ต้นแบบแพลตฟอร์มเติมเต็ม ที่สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ในการคุ้มครองป้องกันเด็กตั้งแต่ระยะต้นน้ำ ตอบสนองต่อนโยบายขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำทีมคณะผู้บริหารชมนิทรรศการเล่าเรื่องจากภาพ นำเสนอผ่านสถานีจำลองสถานการณ์แก้ไขปัญหาบนมือถือผู้ว่าราชการ กทม.และคณะ จากกลุ่มข้อมูลทดสอบจำนวน 4สถานี พร้อมกล่าวเปิดงานแพลตฟอร์มเติมเต็ม เป็นกลไกการจัดการความรู้ที่เป็นต้นแบบของระบบข่ายงานให้บริการทางสังคมร่วมกับชุมชน โดยทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลและทำให้เกิด “ระบบและระเบียบวิธีการทำงาน” ในศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมฯ ที่ทดลองและทดสอบในพื้นที่ชุมชนฟื้นนครร่มเกล้า ระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบัง
“เด็กมีความสำคัญที่สุดในอนาคตของเมือง มีเด็กอยู่ในครอบครัวเปราะบางที่ยากลำบาก 1.4 หมื่นคน หรือ 20% ต้องทำให้เด็กกลุ่มเปราะบางเข้าถึงระบบความช่วยเหลือ เด็กได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่ต้องมีเส้นสาย กทม.ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องสร้างหลายเครือข่ายช่วยกันทำงาน จึงใช้เทคโนโลยีบริการให้รวดเร็ว เด็กบางคนเล็ดลอดถูกลืม หารายชื่อตามสิทธิได้ไม่ครบถ้วน จำเป็นต้องมี platform บันทึกไว้ตลอดชีวิตด้วย ก้าวแรกกับระยะทางอันยาวไกลหลายหมื่นก้าวสร้างโอกาสให้เด็กกลุ่มเปราะบางขยายไปทั่ว กทม. เราจะไม่ปล่อยให้เด็กถูกทอดทิ้ง แต่จะทำให้ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐแบบไร้รอยต่อ ทุกวันนี้ผู้ว่าฯ กทม.ได้รับเรื่องร้องเรียน 3 แสนกว่าเรื่อง ปัญหาเยาวชน คนพิการ คนไร้บ้าน คนไทยย้ายเข้าย้ายออกอยู่ตลอดเวลา การทำงานต้องไร้รอยต่อ ทุกปัญหามีการระดมหน่วยงานแก้ไขแล้ว 2 แสนเรื่อง” ผู้ว่าฯ กทม.เน้นย้ำ
ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ตนเองมีประสบการณ์เป็นนักวิจัยเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ จึงเร่งสร้าง Platform การบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ สสส.ใช้ยุทธศาสตร์ไตรพลังขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว ได้แก่ พลังความรู้ พลังสังคม และพลังนโยบาย ซึ่งการพัฒนานวัตกรรม “ระบบเติมเต็ม” ช่วยพลิกโฉมบริการเพื่อคุณภาพชีวิตเด็กเปราะบาง เป็นงานสำคัญที่ สสส.สานพลัง กทม., สพร., สวน., กระทรวง พม. เพื่อรับมือกับสังคมที่ผันผวนอย่างรุนแรง (VUCA) เนื่องจากงานวิจัยและการลงพื้นที่พบว่า ภาวะเปราะบางของครอบครัวเพิ่มมากขึ้นในขณะที่ยังขาดมาตรการ วิธีการ เครื่องมือในการจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพไร้รอยต่อ โดยเฉพาะการขาดมาตรการเชิงรุกที่จะป้องกันและคุ้มครองเด็ก และครอบครัวที่เปราะบางก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ
"ถ้าเรามีสุขภาพไม่ดี ก็ต้องสังเกตพฤติกรรมวิถีชีวิตใกล้ตัว เด็กมีความสำคัญที่สุด ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี สร้างสิ่งแวดล้อม สสส. ร่วมกับภาคีทำ platform เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เราทำงานกับคนที่อยู่รอบตัวเด็กเพื่อรับฟังปัญหาของเด็ก ทำอย่างไรจะพัฒนาศักยภาพของเด็กให้เรียนรู้ได้อย่างสมวัย สร้างมิติ 360 องศา พบปัญหาต้นน้ำ-ปลายทาง บุคลากรผู้เกี่ยวข้องร่วมกันสร้างความรับผิดชอบ เป็นก้าวแรกของโชว์ Journey เปิดโอกาสร่วมสนับสนุนอย่างรับผิดชอบ เปิดให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนมีส่วนร่วมสนับสนุนเพื่อการเดินทางสู่เป้าหมาย" ดร.ประกาศิต กล่าวและเปิดเผยข้อมูลด้วยว่า
เมื่อเจาะลงไปถึงเด็ก 40 คน พบปัญหาใหญ่ 17 ราย เพื่อให้รอดพ้นวิกฤติมีการติดตามผลอย่างเป็นระบบทุก 6 เดือน - 3 ปี เพื่อตรวจเช็กว่าโอกาสที่เด็กต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงซ้ำๆ อีกหรือไม่ สสส.พร้อมให้การสนับสนุนจนขยายผลให้เป็นจริงได้ การทดสอบระบบเติมเต็มในพื้นที่ทดลองหรือ Innovation Sandbox เป็นการเชื่อมโยงผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการ สังคม เข้ามาจัดให้เกิดบริการร่วม (Shared Service) นำร่องใน กทม.เมืองหลวงที่ขึ้นชื่อเรื่องการกระจุกตัวของทั้งโอกาสและปัญหา ก่อนที่จะถอดบทเรียนขยายผลสู่พื้นที่อื่น นับเป็นก้าวสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทางของการพัฒนาสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Health) ตามพันธกิจของ สสส.
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ สพร.ให้ข้อมูลว่า ภารกิจการขับเคลื่อนให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล คือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ ให้สามารถเข้าถึงได้และไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การมีประเทศที่ดี หมายความว่าประชาชนทุกคนมีสมาร์ทไลฟ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมีความทันสมัย หรือสมาร์ทเนชั่น แนวคิดของการออกแบบแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม” คือการแบ่งปันข้อมูลให้เกิดการเชื่อมต่อบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้จัดบริการทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข่าวสารกับผู้รับบริการ เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในทุกมิติร่วมกัน ซึ่ง สพร.พร้อมสนับสนุนวิทยาการดิจิทัล ยกระดับแพลตฟอร์มเติมเต็มให้สมบูรณ์แบบต่อไป
งานวิจัยครอบครัวเปราะบางครบ 4 มิติ Design Thinking ด้วยการแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานตอบโจทย์ในการดูแลครบทุกมิติ นำมาปฏิบัติได้จริง การเชื่อมโยงข้อมูลการวิเคราะห์จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลผ่านระบบ digital ขณะเดียวกันต้องพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าเรียนหลักสูตรทางออนไลน์ ทั้งยังมีอาสาสมัคร digital ทั่วประเทศพร้อมให้ความรู้ประชาชนในการใช้ digital app รับฟังความคิดเห็นสื่อสารผ่านหน่วยงาน nectec
นพ.วิพุธ พูลเจริญ ผู้อำนวยการมูลนิธิ สวน. ให้ข้อคิดว่า สมัยก่อนนั้นการเรียนแพทย์ไม่ยุ่งยาก ปัจจุบันเด็กมีปัญหาทางจิตเวชอยู่ในครอบครัวที่ซับซ้อนได้รับความกดดันสูง การจัดการปัญหาเด็กทางสังคม การแก้ไขปัญหาตั้งแต่เด็กที่มียีนส์บกพร่อง ต้องใช้ระบบธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการ มีทางเลือกเพื่อทดสอบความฉลาดในการตัดสินใจแก้ไขปัญหา “ภาษิตจีนพันลี้หมื่นลี้ไม่สำคัญ สำคัญที่ก้าวแรก แม้ว่าเส้นทางนี้จะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกอย่างต้องผ่านการเรียนรู้”
ความมุ่งหมายของแพลตฟอร์มเติมเต็ม ที่มีเครื่องมือดอกไม้ 4 มิติสำหรับสื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง กับศูนย์บริการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครูศูนย์เด็กเล็ก ครูโรงเรียน ฝ่ายพัฒนาสังคมและสวัสดิการของเขต ให้ค้นพบและตระหนักในสถานการณ์ภัยคุกคามก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก และสามารถร่วมวางเป้าหมายและกำหนดแผนขั้นตอนเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้พัฒนาไปได้เต็มตามศักยภาพ พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ข่ายงานทางสังคมระดับชุมชน และสื่อข่าวสารในรูปข่าวกรอง (Intelligence) ให้กับการจัดข่ายบริการในระดับเขต ให้มีการปรับปรุงคุณภาพเท่าทันภาวะคุกคามที่เปลี่ยนไปในอนาคต ตลอดจนสื่อสารข้อจำกัดเชิงระบบขึ้นไปสู่คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กทม. ให้สามารถปรับใช้ข่าวสาร ความรู้และภูมิปัญญาจากประสบการณ์ในชุมชน เพื่อปรับนโยบายคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น