หลายสิบปีก่อน หนึ่งในความฝันแรงบันดาลใจของนักเรียนจำนวนมากเมื่อจบ ม.6 คือการได้เรียนต่อแพทย์ชนบท คุรุทายาท และโรงเรียนป่าไม้แพร่ แต่เมื่อปี 2536 โรงเรียนป่าไม้แพร่ได้ปิดตัวลง เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี “โรงเรียนป่าไม้แพร่” กำลังจะกลับมาอีกครั้ง ในชื่อ “สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่” ด้วยแนวทางใหม่ที่สอดคล้องยุคสมัย ตอบโจทย์ต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ จังหวัดแพร่ ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” ระหว่าง กรมป่าไม้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ วิทยาลัยชุมชนแพร่ และเทศบาลเมืองแพร่ เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาโดยมีคณะกรรมาธิการ วุฒสภา ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หอประชุมตรีเทพ โรงเรียนป่าไม้แพร่ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ สมาชิกวุฒิสภาและหนึ่งในกรรมาธิการการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของวุฒิสภา เปิดเผยผ่านผ่านรายการ "สภาความคิด" เอฟเอ็ม 105 smilethailand ดำเนินรายการ โดย “เอกรัตน์ จิตรมั่นเพียร” ในประเด็น “สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่ – โรงเรียนป่าไม้แพร่กลับมาแล้ว” ว่า ขณะนี้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสำคัญ และเทรนด์ของโลกมุ่งไปที่เรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ขณะที่ใกล้ตัวเราประเทศไทยก็กำลังเผชิญกับผลกระทบเรื่องเอลนีโญ ลานีญา ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับป่าทั้งสิ้น
หากย้อนไปในอดีตสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง ของประเทศไทยก็คือไม้สัก รองลงมาคือข้าวและดีบุก โดยโรงเรียนป่าไม้ก่อตั้งเป็นโรงเรียนสอนข้าราชการ เปิดทำการ 36 ปี มีนักเรียนทั้งหมด 36 รุ่น และปิดตัวลงในปี 2536 การกลับมาของโรงเรียนป่าไม้แพร่ในชื่อ “สถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้จังหวัดแพร่” เกิดจากประเด็นสำคัญคือการตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอีกประเด็นคือการสร้างความต่อเนื่องของโรงเรียนป่าไม้และส่งต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับศักยภาพของพื้นที่ โดยการมีป่าไม้สมบูรณ์มีประโยชน์มากมายในด้านสิ่งแวดล้อมทั้งดินน้ำป่าอากาศ แต่ในอีกมิติหนึ่งเมื่อพื้นที่ป่าสมบูรณ์ป่ามีมาก ชาวบ้านยากจน ผกผันกันมีพื้นที่ป่ามากๆ สำหรับชุมชนสำหรับสังคมเป็นเรื่องดี แต่ชาวบ้านในพื้นที่ลำบากไม่สามารถไปต่อยอดเรื่องของวิถีชีวิตให้ดำรงอยู่คู่กันได้ ตัวอย่างที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่จนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ แต่แม่ฮ่องสอนมีพื้นที่ป่า 85% จัดว่ามากที่สุด มีพื้นที่ราบอยู่ 15% ดังนั้นจึงไม่มีที่ทำกินทางการเกษตร ที่แพร่ก็เช่นเดียวกัน ป่าสมบูรณ์ประมาณ70% พื้นที่ที่ราบมีน้อย จังหวัดแพร่จึงจนเป็นอันดับสองของภาคเหนือ เป็นปัญหาที่มองไม่ค่อยเห็น เพราะยุคสมัยเปลี่ยนไป การมีพื้นที่ป่ามากขึ้นด้วยแนวคิดว่าต้องไม่ให้บุกรุกป่า ไม่ให้ไปอยู่ในป่า ทั้งที่จริงแล้วมีวิถีทางในการใช้ชีวิตร่วมกับป่าชุมชนได้ ซึ่งประเด็นนี้จะต้องคลี่คลายต่อยอดกันต่อไป
การจัดตั้งสถาบันนวัตกรรมด้านป่าไม้ เป็นการแก้ปัญหาด้วยแนวคิด “เศรษฐกิจภายใต้ผืนป่า Economy Under the Forest” ซึ่งมีกฎหมายให้ทำได้ จากพ.ร.บ. ป่าชุมชน เมื่อปี 2562 ที่ยอมให้คนอยู่กับป่า ได้ประโยชน์จากป่าได้ อาหารการกินเอามาจากป่าได้ การกลับมาของโรงเรียนป่าไม้ จึงไม่ได้เป็นการกลับมาแล้วสอนข้าราชการ แต่เป็นการแสวงหานวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากินของพี่น้องประชาชน รวมถึงการดูแลป่าให้สมบูรณ์ไปด้วย โดยจะทำ 3 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกคือการสร้างเครือข่าย โดยการเซ็น MOU ที่ผ่านมานี้ ก็คือการสร้างเครือข่าย อันนี้เครือข่ายภาครัฐเริ่มก่อน และจะมีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเอกชนเข้ามาสมทบ ต่อมาคือการทำงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ โดยขณะนี้เริ่มที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ และจะขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ด้วย
ส่วนเรื่องสุดท้ายคือถ่ายทอดเทคโนโลยีวิชาการในพื้นที่ เราต้องการหลักสูตรในพื้นที่เพื่อสร้างคน สร้างประชาชนที่อยู่กับป่า สมมติว่ามีป่าชุมชนขณะนี้ทั้งประเทศ 12,000 ป่าตามกฎหมาย ที่แพร่มี 300 กว่าป่า ในป่าชุมชนจะมีชาวบ้าน แกนนำชาวบ้านเป็นคณะกรรมการบริหารป่าชุมชน แห่งหนึ่งก็จะมีสัก 10-12 คน แต่นับตั้งแต่ปี 2562 มาเราไม่มีงานวิจัยด้านป่าชุมชนเลย ขณะนี้กำลังเริ่มทำ ถ้าทำสำเร็จเฉพาะที่แพร่ 300 ป่า ก็มี 3,000 คน และ 3,000 คนนี้จะไปเติมองค์ความรู้ได้จากโรงเรียนป่าไม้ที่สร้างขึ้นมา คนเหล่านี้ซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปจะได้รับความรู้ผ่านการอบรมเรื่องอยู่กับป่าทำอย่างไร การบริหารจัดการป่าชุมชน อาหารจากป่า การท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีงานวิชาการมารองรับ
แนวทางดำเนินการที่เริ่มทำไปแล้วตั้งแต่เริ่มเป็น ส.ว. ใหม่ๆ คือเริ่มจากที่โรงเรียนป่าไม้มีคูเมืองเก่าแต่น้ำเน่าเสีย นายก อบจ. ได้นำน้ำจากแม่น้ำยมให้ไหลเข้ามาแม่น้ำสาขา ล้อมรอบประตูเมือง และโรงเรียนป่าไม้อยู่ในส่วนหนึ่งของประตูเมือง ดังนั้นตอนนี้จึงกลายเป็นลำน้ำสวยงาม ต่อมาคือการปลูกป่าในเมือง ทยอยปลูกแล้ว โดยเฉพาะในโรงเรียนป่าไม้ และจะทำโรงเรียนป่าไม้ซึ่งมีพื้นที่ 40 กว่าไร่ในใจกลางเมืองให้เป็นปอดของเมือง และเป็นสถานที่สันทนาการ และสุดท้ายคือการปรับปรุงทำพิพิธภัณฑ์เรื่องป่าและการป่าไม้ โดยใช้อาคารโบราณอายุร้อยกว่าปีที่เอเชียทีคยกให้ ซี่งอยู่ระหว่างปรับปรุงโดยใช้งบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
อีกด้านหนึ่งคือการทำวิจัยที่ป่าชุมชนที่บ้านบุญแจ่ม อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ เป็นหลักสูตรป่าชุมชนเพื่อจะมาบรรจุไว้ในการเรียนการสอน ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดสอนภายในสิ้นปีนี้ เป็นหลักสูตรระยะสั้น เรียน 7 วัน โดย 5 วันเรียนทฤษฎีที่โรงเรียนป่าไม้แพร่ และอีก 2 วันไปดูป่าชุมชนที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย ก็คือป่าที่บ้านบุญแจ่ม ส่วนที่กำลังทำต่อคือการปรับแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดให้มาเน้นเรื่องป่าชุมชน เรื่องทรัพยากรเกี่ยวกับป่า ทบทวนการวางยุทธศาสตร์ของจังหวัด ซึ่งท่านผู้ว่าฯแพร่ ท่านรับไป ส่วนทางกรมป่าไม้ก็กำลังทำข้อเสนอของบประมาณในปี 2567 เพื่อปรับปรุงโรงเรียนในส่วนจำเป็นบางเรื่อง เช่น ห้องแลป หรือศูนย์เพาะเนื้อเยื่อ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นการเรียนการสอน โดยการที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เซ็น MOU ด้วยนั้น เพราะอยู่ในกระบวนการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจะเป็นการศึกษาหลักสูตรอุดมศึกษา จบแล้วรับปริญญาของราชภัฏอุตรดิตถ์ ภายในหนึ่งปีนี้เราจะเห็นการเคลื่อนไปข้างหน้าอีกไม่น้อย ซึ่งมาจากความร่วมมือและเป็นความต้องการของคนแพร่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่สามารถต่อยอดด้วยการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นของพื้นที่ตนเองขยับขยายและต่อยอดไปได้อีกมากมาย โดยแต่ละจังหวัดสามารถทำได้