พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีคลี่คลายปัญหาสมาชิกบ้านมั่นคงวันนี้ (18 มิ.ย.) บริเวณบ้านพักชั่วคราว ต.บางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
บางบัวทอง / ‘พอช.’ เปิดเวทีชี้แจงสมาชิกสหกรณ์สหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี กรณีเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2560 แต่ได้อยู่บ้านชั่วคราวเป็นสังกะสีเหมือนแค้มป์คนงาน ฝนตก น้ำรั่ว โดย พอช. จะปรับปรุงบ้านชั่วคราวใหม่ให้มั่นคงแข็งแรง รวม 7 หลัง ใช้เวลา 15 วัน และฟื้นฟูกลุ่มออมทรัพย์ จัดตั้งสหกรณ์ ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อเดินหน้าบ้านมั่นคง 102 หลังต่อไป
กรณีสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ร้องเรียนต่อว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลและสื่อมวลชน เมื่อ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงที่สนับสนุนโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ โดยผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือนไปแล้วตั้งแต่ปี 2560 รวมเป็นเงินรายละนับแสนบาท แต่ได้บ้านสังกะสี ยิ่งกว่าแคมป์คนงาน ฝนตก น้ำรั่ว ฯลฯ
ขณะที่ผู้บริหาร พอช.ได้ชี้แจงว่า บ้านสังกะสีดังกล่าว เป็นบ้านพักชั่วคราว และพอช.ได้เตรียมการที่จะดำเนินการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อน โดยการปรับปรุงบ้านพักชั่วคราวให้มีสภาพดีขึ้น และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อคลี่คลายปัญหา รวมทั้งการฟื้นฟูสหกรณ์เพื่อเดินหน้าโครงการบ้านมั่นคงต่อไปนั้น
ล่าสุดวันนี้ (18 มิ.ย.) ผู้บริหาร พอช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้นัดหมายชาวบ้านที่เดือดร้อนเพื่อคลี่คลายปัญหาและชี้แจงสร้างความเข้าใจอีกครั้ง ที่บริเวณบ้านพักชั่วคราว โดยมีผู้แทนสหกรณ์จังหวัดนนทบุรีร่วมชี้แจง มีนายเกียรติคุณ ต้นยาง ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี เข้าร่วม โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังและซักถาม รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 100 คน
บรรยากาศการชี้แจงพูดคุย
พอช.แจงกระบวนการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน-เดินหน้าบ้านมั่นคง 102 หลัง
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า พอช.จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังนี้ ประการแรก ทำที่พักชั่วคราวให้พี่น้องใหม่และเหมาะสม เป็นอาคารโครงเหล็ก ราคาหลังละ 53,000 บาทเศษ จำนวน 7 หลัง ใช้เวลาประมาณ 15 วัน และจะประสานงานแก้ไขปัญหาสาธารณูปโภคที่มีปัญหา เช่น เรื่องไฟฟ้า
นายสยาม นนท์คำจันทร์
ประการที่สอง สร้างบ้านถาวรภายใต้โครงการบ้านมั่นคงต่อไป จำนวน 102 หลัง กรณีบ้านถาวร แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1.อำนวยสินเชื่อให้กับผู้ที่อยู่อาศัยที่บ้านพักชั่วคราว จำนวน 8-9 หลังก่อน ซึ่งรูปแบบบ้านจะมี 2 แบบ คือ บ้านแฝด 1 ชั้น ขนาด 4x7 เมตร/ห้อง ราคาประมาณ 317,050 บาท บ้านแฝด 2 ชั้น ขนาด 4x7 เมตร/ห้อง ราคาประมาณ 457,150 บาท มีผู้แสดงความต้องการ 2 ราย โดย พอช.จะอำนวยสินเชื่อเร่งด่วน เพื่อให้พี่น้องได้สร้างบ้านถาวรต่อไป 2.สมาชิกที่ได้รับผลกระทบและมาใหม่ในวันนี้ พอช. จะเริ่มสำรวจข้อมูล และฟื้นฟูระบบกลุ่ม รวมถึงระบบการสื่อสาร ติดตาม เพื่อวางแผนการดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคงต่อไป
ประการที่สาม การฟื้นฟูสหกรณ์ โดยจะต้องมีการชำระหนี้สินเก่า ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ รวมไปถึงจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เกิดการบริหารและดำเนินโครงการภายใต้ระบบสหกรณ์ต่อไป
แบบบ้านมั่นคงที่จะเดินหน้าต่อไป
ฟื้นฟูกลุ่มออมทรัพย์-จัดตั้งสหกรณ์ใหม่
นายรุ่งโรจน์ สรวุฒิพิบูลย์ สหกรณ์จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ในเรื่องของสหกรณ์ ตอนนี้สมาชิกลงมติยกเลิก สหรณ์ไปแล้ว สาระสำคัญของการชำระบัญชี คือ มีการชำระหนี้สิน และจัดการทรัพย์สิน เบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ และพอช. คือ การสอบทานหนี้ ตอนนี้ติดปัญหาเรื่องการชำระเงิน รวมไปถึงหลักฐานการชำระและรับชำระหนี้จากสมาชิกสหกรณ์
“การฟื้นฟูองค์กรจะทำอย่างไร ? กระบวนการแรก ตอนนี้เรามีที่ดินอยู่แล้ว เราจะขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น พอช.จะรับเรื่องการฟื้นฟูและจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ใหม่ มีกระบวนการออกหนังสือรับรองในการจัดตั้งสหกรณ์ ตามที่เราทราบกันคือ มีปัญหาเรื่องการตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ที่ไม่มีเอกสารหลักฐานในการชำระเงิน ซึ่ง พอช.จะทำร่วมกับสมาชิก ในส่วนของสหกรณ์จังหวัด และสำนักตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ จะมาร่วมช่วยวางระบบการเงิน บัญชีตั้งแต่ต้น ให้มีเอกสาร หลักฐาน ให้เป็นปัจจุบัน สมาชิกชำระเงินต้องมีใบเสร็จ” สหกรณ์จังหวัดนนทบุรีกล่าว
ส่วน กระบวนการที่สอง กระบวนการจัดตั้งสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัดดูเรื่องความพร้อม เอกสาร โดยระยะสั้นจะให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ให้ได้ก่อน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ และ กระบวนการที่สาม เรามีที่ดิน ซึ่งผู้ชำระบัญชีต้องมาจัดการที่ดินที่ติดภาระหนี้สินกับ พอช. และมีสมาชิกเดิมทั้งหมดที่ติดภาระหนี้ คือ กลุ่มสมาชิกเดิมที่ชำระไปเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีแนวทางในการเยียวยา ตามเงื่อนไขและระเบียบของ พอช. โดย พอช. จะต้องไปเสนอต่อบอร์ดหรือผู้บริหารต่อไป
“การถือเงินออมของสมาชิกแต่ละราย การจัดทำบัญชีครั้งแรกของสหกรณ์ จะมีการยกเงินออมทรัพย์มาทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีสหกรณ์ด้วยกัน ซึ่งกรณีที่นี่มีการปิดบัญชีสหกรณ์ไม่ได้ เพราะมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากตัวเลขมีความคลาดเคลื่อนจากตัวเลขของสมาชิกและหลักฐานที่มี ตรงจุดนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อนและเป็นบทเรียน ซึ่งการจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีใบเสร็จทุกครั้ง โดยสหกรณ์มีหน้าที่ออกใบเสร็จ และทำบัญชี” สหกรณ์จังหวัดนนทบุรีบอก
นายเกียรติคุณ ต้นยาง ว่าที่ สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เรื่องที่ผ่านมาแล้วให้มันผ่านไป ถือว่าเป็นฝันร้าย เป็นมรสุมชีวิต วันนี้เป็นฟ้าหลังฝน มีคนมาช่วยแก้ไข ประคับประคองช่วยกัน เดินหน้าร่วมกัน
“วันนี้เรามองข้างๆ มีเพื่อน และมองไปข้างหน้าเราจะมีที่อยู่อาศัยที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ มีอาชีพที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาเราไม่มีองค์ความรู้ เราเก็บไว้เป็นบทเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเรื่องแล้ว ทุกคนจะไม่ได้สู้โดยลำพัง” ว่าที่ ส.ส.พรคก้าวไกลให้กำลังใจชาวบ้าน
น.ส.เพ็ญจันทร์ ไทยเสรีกุล หัวหน้าสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นนทบุรี กล่าวว่า บทบาทที่พวกเราจะต้องทำด้วยกัน จะชำระบัญชีเสร็จสิ้นหรือไม่ ? ขึ้นอยู่กับพวกเราที่จะต้องมาช่วยกันสอบทานบัญชี และสมาชิก 7 ท่านที่อยู่ที่นี่ (บ้านพักชั่วคราว) ขอมาสอบทานที่แปลงนี้ และที่เหลือนัดกันสอบทานว่าจะสอบทานกันตรงไหน เช่น เทศบาลฯ เป็นต้น สุดท้ายเราจะมีเอกสารหลักฐานเพื่อนำมาเคลียร์กันอีกครั้ง
สภาพบ้านพักชั่วคราว
ย้อนรอยบ้านมั่นคงตลาดเก่า อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
สหกรณ์บริการเคหสถานร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด เป็นการรวมกลุ่มของผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย ถูกไล่รื้อจากที่ดินเอกชนบริเวณใกล้ตลาดบางบัวทอง จ.นนทบุรี ต่อมาชาวบ้านได้แตกกระจัดกระจาย บ้างเช่าที่พักอาศัย บางส่วนขออาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง
ในปี 2560 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านจึงได้ส่งเสริมกระบวนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามแนวทางโครงการบ้านมั่นคง ที่เน้นให้สมาชิกเจ้าของปัญหามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยมีการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและพิจารณาสิทธิ์ผู้เดือดร้อนร่วมกัน นำไปสู่การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อวางรากฐานด้านการบริหารจัดการระบบการเงินและบัญชีในโครงการ
ต่อมากลุ่มออมทรัพย์ได้ร่วมกันจัดหาที่ดินเพื่อจะซื้อทำโครงการบ้านมั่นคง ที่ดินตั้งอยู่ที่ตำบลบางบัวทอง อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ราคาขาย 14,968,000 บาท จัดสรรได้จำนวน 102 แปลง และเสนอของบประมาณสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินจาก พอช. ได้รับอนุมัติสินเชื่อเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2561 จำนวนเงิน 13,097,000 บาท สมาชิกเข้าร่วมโครงการ 102 ครอบครัว โดยสมาชิกมีส่วนร่วมในการออมเงินสมทบซื้อที่ดินจำนวน 1,871,000 บาท
ในเดือนสิงหาคม 2561 กลุ่มออมทรัพย์ได้จดแจ้งจัดตั้งเป็น ‘สหกรณ์บริการเคหสถานร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด’ มีสมาชิกแรกตั้ง 86 ราย อย่างไรก็ตาม ระหว่างดำเนินการ มีสมาชิกบางส่วนลาออก และมีชาวบ้านมาสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มเติม รวมทั้งหมดสหกรณ์มีสมาชิก 96 ราย ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2562 พอช. ได้เบิกจ่ายงบประมาณสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินให้กับสหกรณ์ฯ จำนวน 13,097,000 บาท
ส่วนรูปแบบบ้านที่เตรียมจะก่อสร้างนั้น สมาชิกได้ร่วมกันออกแบบบ้าน เป็นบ้านแฝดชั้นเดียว และ 2 ชั้น ขนาด 4X7 เมตร จำนวน 102 หลังคาเรือน มีการแบ่งสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดิน คือ ที่อยู่อาศัยร้อยละ 70 และพื้นที่ส่วนกลางร้อยละ 30
เดือนสิงหาคม 2563 สหกรณ์ฯ ได้เบิกจ่ายงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคจาก พอช. โดยมีแผนในการปรับพื้นที่ถมดิน จัดสร้างแนวกำแพงกันดิน และระบบไฟฟ้า ประปาชั่วคราว จำนวน 3,290,960 บาท
แปลงที่ดินบ้านมั่นคง 4 ไร่เศษ รองรับ 102 ครอบครัว และบ้านพักชั่วคราว
พอช.สร้างบ้านชั่วคราว 35 หลังให้สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ในขณะเดียวกัน ในปี 2563 เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 สมาชิกสหกรณ์ได้รับผลกระทบเรื่องอาชีพ รายได้ ทั้งยังต้องรับภาระค่าเช่าบ้าน มีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวน 35 ครอบครัว พอช.จึงให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สมาชิกปลูกสร้างบ้านพักอาศัยชั่วคราว 35 ครอบครัว (รายละ 18,000 บาท) รวมเป็นเงิน 630,000 บาท โดยสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการจัดจ้างผู้รับเหมาเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563
ต่อมาในปีเดียวกัน พอช.ได้จัดทำข้อมูลสมาชิกสหกรณ์ เพื่อเตรียมการเสนอของบประมาณสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้านมั่นคง รวมถึงติดตามการบริหารงานของสหกรณ์ โดยได้ประสานขอข้อมูลทางบัญชีของสหกรณ์และข้อมูลการออมเพื่อที่อยู่อาศัยของสมาชิกรายบุคคลในบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ จากประธานกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ ณ ขณะนั้น โดยพบว่า ข้อมูลการออมทรัพย์ของสมาชิกไม่ครบถ้วนและเอกสารประกอบการใช้จ่ายในสหกรณ์หรือเอกสารทางบัญชีไม่ถูกต้อง จึงไม่สามารถจัดทำข้อมูลสรุปงบประมาณเพื่อเสนอขอสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้านได้ ล่วงเลยมาถึงรอบปิดปีบัญชีของสหกรณ์ สิ้นสุดปีบัญชี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563
สภาพภายในบ้านพักชั่วคราว
พบสหกรณ์มีปัญหา เงินสดขาดบัญชี สมาชิกลาออกไม่ได้เงิน
ปี 2564 พอช.ได้ประสานกับสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสหกรณ์ไม่สามารถปิดบัญชีได้ โดยคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ได้นำเอกสารประกอบงบทางการเงินมาชี้แจง แต่ไม่ครบถ้วน จึงได้นัดหมายสมาชิกประชุมเพื่อรับทราบปัญหาข้อติดขัดของโครงการ แต่สมาชิกเข้าร่วมประชุมน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จึงไม่สามารถนำมติที่ประชุมดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
ประกอบกับในช่วงเวลานั้น สมาชิกสหกรณ์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จึงมีความประสงค์ลาออกจากโครงการบ้านมั่นคง และเดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก
เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย สหกรณ์ฯ ได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินงานชุดใหม่ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2565 เมื่อจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการชุดใหม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการปิดบัญชีสหกรณ์ และตรวจสอบบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ พบว่า เงินสดขาดบัญชีกลุ่มออมทรัพย์ เมื่อมีสมาชิกลาออก จึงไม่สามารถคืนเงินออมให้กับสมาชิกได้
จากเหตุการณ์เงินสดขาดบัญชี พอช. ร่วมกับเครือข่ายที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี ได้ลงพื้นที่คลี่คลายปัญหา โดยนัดหมายคณะกรรมการชุดเก่า เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียด และแสดงเอกสารประกอบทางบัญชี แต่คณะกรรมการชุดเก่าไม่มีข้อมูลและเอกสารใด ๆ มาแสดง
มติที่ประชุมสมาชิกยกเลิกสหกรณ์
ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 สมาชิกได้มีการประชุมหารือร่วมกัน และมีมติให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้มีอำนาจเบิกจ่ายบัญชีสหกรณ์ 3 คน โดยมีผู้แทนสมาชิกดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจภูธรบางบัวทอง
จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น พอช. สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี และเครือข่ายที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี ได้มีการประชุมผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 ณ แปลงที่ดินของสหกรณ์ มีวาระสำคัญ คือ พิจารณาเรื่องการฟื้นฟูกลุ่ม หรือการยกเลิกสหกรณ์ ซึ่งที่ประชุมมีมติยกเลิกสหกรณ์ เพื่อคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นการฟื้นฟูกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนที่มีความต้องการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในระยะต่อไป
จากมติที่ประชุม สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี จึงได้ประกาศยกเลิกสหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566
จนกระทั่งวันที่ 12 มิถุนายน 2566 สมาชิกสหกรณ์จำนวนหนึ่งจึงได้ไปร้องเรียนปัญหาความเดือดร้อนต่อนายเกียรติคุณ ต้นยาง ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดนนทบุรี และสื่อมวลชน จนเป็นข่าวโด่งดังว่า “ซื้อบ้านมั่นคง ส่งเงินไปแล้วหลักแสน แต่ได้บ้านไม่ตรงปก ได้บ้านสังกะสี ยิ่งกว่าแค้มป์คนงาน”
ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่ายและชาวบ้านที่พร้อมจะเดินหน้าบ้านมั่นคงต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ