ประกาศผลแล้ว! กับการเฟ้นหาคลื่นลูกใหม่ที่จะก้าวสู่การเป็นศิลปินพื้นบ้านมืออาชีพกับเวทีการประกวดดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พุทธศักราช 2566 “ รวมศิลป์ แผ่นดินสยาม” สุดยิ่งใหญ่แห่งปี ที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม จัดขึ้น เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะที่ทรงเป็นวิศิษฏศิลปิน และเพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแพร่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และเกิดกระแสอนุรักษ์สืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนได้แสดงความสามารถ รวมถึงยกระดับขีดความสามารถของดนตรี พัฒนาเทคนิคทางการแสดง ตลอดจนสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับศิลปวัฒนธรรมไทย โดยจัดประกวดใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศไทย
ในปีนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ละภาคมีคณะดนตรีและนักแสดงรุ่นใหม่ที่มีความสามารถด้านการแสดงพื้นบ้านเข้ามาแข่งขันอย่างดุเดือด แต่ละคณะพกพาความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถทางดนตรีและศิลปวัฒนธรรมมาแสดงฝีมืออย่างเต็มที่ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เรียกได้ว่า โครงการนี้เปรียบเสมือนประตูที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ไฟแรงได้ก้าวไปสู่ความสำเร็จทางดนตรีและศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างแท้จริง
สำหรับผลการตัดสินประกาศออกมาเรียบร้อยแล้ว ขอแสดงความยินดีกับทีมที่คว้าแชมป์!!! ภาคกลาง จัดประกวดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ คณะศิลป์ชาตรี จ.จันทบุรี หนุ่มสาวรุ่นใหม่นำอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมภาคตะวันออก พร้อมกับผสานทำนองเพลงเท่งตุ๊ก เกิดการศิลปะการแสดงที่สนุกสนานน่าชม ถ้วยพระราชทานฯและเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร,คณะสืบสานศิลป์ จังหวัดนครปฐม คว้ารองชนะเลิศ อันดับ 1 ถ้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศ อันดับ 2 คณะวิษณุปาณัม จังหวัดนครปฐม ถ้วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วนชมเชย 2 รางวัล ได้แก่ คณะรวมศิลป์ ระบิลเรือง จังหวัดอ่างทอง คณะช่อพิกุล จังหวัดสุพรรณบุรี เงินรางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประกวดเข้มข้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด แต่ละชุดการแสดงเต็มไปด้วยคุณภาพ ซึ่งคณะขัตติยาสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด คว้ารางวัลชนะเลิศ โดดเด่นด้วยดนตรีและศิลปวัฒนธรรมแดนอีสานที่ดึงดุดทุกสายตาตลอดการโชว์ รับถ้วยพระราชทานฯ และเงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร, รองชนะเลิศ อันดับ 1 คณะนาคะบรรเลง จังหวัดขอนแก่น รวมศาสตร์และศิลป์ที่ไม่หลงลืมวัฒนธรรมอีสานมานำเสนออย่างน่าประทับใจ รับถ้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศ อันดับ 2 คณะสินรินทร์รวมใจ จังหวัดสุรินทร์ ส่วนชมเชย 2 รางวัล คณะต้นน้ำ จังหวัดชัยภูมิ คณะชมรมดนตรีไทย จังหวัดสุรินทร์ เงินรางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ส่วนภาคใต้ เปิดเวทีประกวดคึกคักที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา ผู้เข้าประกวดฝึกฝนมาอย่างดีเยี่ยมหยิบวัฒนธรรมแดนใต้มานำเสนออย่างสร้างสรรค์ ผสมผสานเครื่องดนตรีพื้นบ้านได้อย่างลงตัว โดยคณะมรดกศิลป์ถิ่นนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช ครองตำแหน่งชนะเลิศ รับถ้วยพระราชทานฯ และ เงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศ อันดับ 1 คณะเสน่ห์ศิลป์ทักษิณา จังหวัดพัทลุง ถ้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศ อันดับ 2 คณะคณนาฏสงขลา จังหวัดสงขลา ถ้วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วน 2 รางวัลชมเชย คณะเพชรทักษิณ จังหวัดสงขลา คณะช่อจำปี จังหวัดสงขลา เงินรางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ปิดท้ายที่ ภาคเหนือ ประชันกันที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ คณะเอื้องคำหลวง จังหวัดเชียงใหม่ คว้าแชมป์ จากการต่อยอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาประกอบดนตรีพื้นบ้านล้านนาซึ่งมีเอกลักษณ์ สะกดทุกสายตาผู้ชม และชนะใจกรรมการ รับถ้วยพระราชทานฯและ เงินรางวัล 100,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร , คณะช้างเผือกสามัคคี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ นักแสดงรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักวัฒนธรรมล้านนาเพิ่มสีสันให้การแสดงศิลปะพื้นบ้าน จนได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ถ้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 80,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร รองชนะเลิศ อันดับ 2 คณะร่มบัวสวรรค์ จังหวัดปทุมธานี ถ้วยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และเงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ส่วนชมเชย อีก 2 รางวัล ได้แก่ คณะคุ้มขันโตก จังหวัดเชียงใหม่ คณะกาสะลองเงิน จังหวัดเชียงราย เงินรางวัลละ 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
ทุกเวทีใน 4 ภาค มีประชาชนและนิสิตนักศึกษามาร่วมลุ้นร่วมเชียร์ทีมที่เข้าประกวดเวทีระดับประเทศครั้งนี้ ต้องแสดงความยินดีกับเหล่าเลือดใหม่ที่คว้ารางวัลแห่งความภาคภูมิใจ เป็นกิจกรรมที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ มีพลังในการสืบสานมรดกวัฒนธรรม รวมไปถึงกองเชียร์ในแต่ละภาคได้ซึมซับกับดนตรีและศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่หลากหลายแบบจัดเต็ม
ผู้สนใจเรื่องราวการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารกิจกรรมทางวัฒนธรรม ได้ทาง www.culture.go.th หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม และ line@วัฒนธรรม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สวธ. จัดวันเด็กปี 68 ชวนเรียนรู้งานศิลป์ พบมาสคอต 'น้องหมูเด้ง Thai Cuteness ตัวตึง ถึงไทย'
วันเด็กแห่งชาติ ปี 2568 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จัดกิจกรรมวันเด็กแบบจัดเต็มเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่เด็กและเยาวชนไทย เพื่ออนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และมุ่งปลูกฝังให้เติบโตเป็นคนดี มีคุณธรรม รักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของชาติไว้
สวธ.ชวนประกวดเยาวชนต้นแบบมารยาทไทย ชิงรางวัลถ้วยพระราชทานกรมสมเด็จพระเทพฯ
กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ กองทุน ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศจัดการประกวด "เยาวชนต้นแบบด้านมารยาทไทยและมารยาทในสังคม ปี 2568"
วธ. แถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ปีงบประมาณ 2568 จำนวน 113 โครงการ รวมกว่า 44 ล้านบาท
นายประสพ เรียงเงิน ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย นางเกษร กำเหนิดเพ็ชร
สุดม่วน! วธ.จัด ‘หมอลำเฟสติวัลร้อยแก่นสารสินธุ์’ หนุนยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภาคเอกชนระดับประเทศ อาทิ หอการค้าไทยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด Sustainable Brands (SB) Thailand และ บริษัท