ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.ให้สัมภาษณ์พิเศษ ‘วิทยุครอบครัวข่าว’ ย้ำเดินหน้า ‘ป่าชุมชน-ฝายมีชีวิต-สร้างเศรษฐกิจชุมชน’

วันนี้ (15 มิถุนายน)  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ให้สัมภาษณ์พิเศษ  รายการวิทยุครอบครัวข่าว คลื่น FM 106 Mhz. ช่วง ‘คุยกันเช้านี้’  ระหว่างเวลา 9.40-9.55 น. ประเด็น ‘ป่าชุมชน’ ขจัดความจน  ‘ฝาย’ สร้างชีวิต-เศรษฐกิจชุมชน  ดำเนินรายการโดยนิธินาฏ  ราชนิยม  นักจัดรายการวิทยุและผู้ประกาศข่าวช่อง 3 HD 

นิธินาฏ  ราชนิยม  ผู้ดำเนินรายการ  กล่าวนำว่า  ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วงปี 2561  ดร.กอบศักดิ์มีส่วนสำคัญในการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เป็นอุปสรรค  ทำให้ประชาชนในชนบทไม่สามารถใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นของตนเองได้  เช่น ไม่สามารถตัดไม้มีค่าที่ปลูกในที่ดินของตนเอง  โดย ดร.กอบศักดิ์ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ ทำให้ประชาชนนำไม้ที่มีค่ามาใช้ประโยชน์ นำมาเป็นทรัพย์สิน ใช้เป็นหลักทรัพย์ในการกู้ยืมเงินจากธนาคารได้

ปัจจุบัน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  มีบทบาทสำคัญในการร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ สนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้  ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชน จัดทำฝายมีชีวิต ขณะเดียวกันประชาชนก็จะได้ประโยชน์จากการอนุรักษ์นี้ด้วย

ดร.กอบศักดิ์ ประธานกรรมการสถาบันฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’

‘ป่าชุมชน’  ขจัดความจน

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  กล่าวถึงความเป็นมาในการส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนของ พอช.ว่า  ตนคิดว่าหัวใจสำคัญของพี่น้องประชาชนก็คือการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  แต่ก่อนเราตัดไม้ไม่ได้  ในช่วงที่ผมอยู่ในรัฐบาล   ขณะนั้นได้มีการขับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้  เพื่อให้พี่น้องสามารถตัดไม้ที่เขาปลูกเองได้

“ผมมีเพื่อน  เขาปลูกไม้พะยูงไว้ในบ้าน 4 ต้น  ตามสี่มุมบ้านตามเคล็ด  เขาบอกว่าไม้มันล้มใส่บ้านพี่ แต่พี่ตัดไม่ได้  ผมก็ถามว่าทำไมละครับ  ต้นไม้ของพี่มันล้มใส่บ้านพี่  เขาบอกว่าถ้าเกิดตัดก็ติดคุกแน่เลย เพราะกฎหมายมันห้าม ต้องไปขออนุญาตก่อนถึงจะมาตัดได้ถึงแม้มันจะทับบ้านอยู่ก็ตาม”  ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 

ป่าชุมชนที่ตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี

ดร.กอบศักดิ์บอกว่า  ถ้าหากเราสนับสนุนให้พี่น้องประชาชนปลูกไม้มีค่า เช่น ยางนา ไม้สัก ต้นพะยูง ต้นอื่นๆ อีกหลากหลาย  มันก็เหมือนมีเงินทองงอกเงยอยู่บ้าน   ปลูก 15 ปี  ได้เงิน 25,000 บาท  สมัยก่อนมีค่าเท่ากับทองบาทหนึ่ง สมัยนี้ครึ่งบาท  อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น   จึงคิดว่าต้องช่วยพี่น้องให้สามารถทำธนาคารต้นไม้ได้  เก็บออมเป็นต้นไม้  

แล้วอีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่ามีความสำคัญพอกันก็คือ  ในพื้นที่ของตัวเองปลูกธนาคารต้นไม้  แต่รอบๆ ข้างมีป่า ป่าในเมืองไทยก็จะมีปัญหาว่าป่าร่อยหรอ  มีคนบุกรุก  แต่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พบว่า ป่าไหนที่เรียกว่า “ป่าชุมชน”  เป็นป่าที่ชาวบ้านช่วยดูแล จะเขียวขจี  แต่ถ้าป่าที่กรมป่าไม้ดูแลหลายที่จะหัวโล้นลงเรื่อยๆ เพราะว่าเขาไม่มีเจ้าหน้าที่ไปดูแลทุกป่า  แต่ว่าถ้าเป็นของชุมชน  ชาวบ้านแถวๆ นั้นจะช่วยกันดูแล ในส่วนนี้จึงมี พ.ร.บ.อีกฉบับหนึ่งซึ่งออกมาในช่วง 4  ปีที่ผ่านมา ก็คือ ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562’ อนุญาตให้ชาวบ้านสามารถมีป่าชุมชนของตนเองได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“กระทรวง ทส. ตั้งใจจะทำประมาณ 20,000 ป่าชุมชนทั่วไทย  ป่าหนึ่งขนาดประมาณ 2,000 ไร่  ชาวบ้านเขาเรียกว่า ‘ซูเปอร์มาร์เก็ต’ ของเขา แต่ก่อนเคยได้ยินข่าวมีคุณตาคุณยายไปเก็บเห็ดแล้วติดคุก  ในกฎหมายฉบับนี้อนุญาตให้ชาวบ้านสามารถทำมาหากินจากป่าชุมชนได้  เก็บของในป่าชุมชนได้  แม้กระทั่งสามารถที่จะตัดไม้มาทำบ้านของตนเองได้ เขาจะมีการจัดสรรพื้นที่ว่าตรงนี้ต้นไม้ที่เราปลูกขึ้นมาในป่าชุมชน  ถ้าเกิดมีความจำเป็นต้องมาทำบ้าน ซ่อมบ้าน ก็สามารถตัดมาทำได้  สมัยก่อนถ้าเกิดตัด  ติดคุกแน่ๆ เลย  แต่กฎหมายฉบับนี้มีการอนุญาตเอาไว้  ทางเราก็เลยคิดว่าอยากจะทำงานร่วมกับกระทรวง ทส.  และภาคีเครือข่ายต่างๆ ในการที่จะชักชวนพี่น้องชุมชนมาทำป่าชุมชนทั่วไทย”  ดร.กอบศักดิ์บอกถึงแนวคิดที่ พอช.จะร่วมกับกระทรวง ทส. ส่งเสริมชุมชนเพื่อจัดตั้งป่าชุมชน

ต้นตะเคียนทองที่ อ.ลานสกา  จ.นครศรีธรรมราช  อายุประมาณ 30 ปี  ราคาไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท

ฝายมีชีวิต - เชื่อมโยงเครือข่ายทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงโครงการ ‘ฝายมีชีวิต’ ว่า ที่ต้องมีฝายเพราะป่าต้นไม้ต้องการน้ำ แต่ถ้าเราไม่จัดการชะลอน้ำในป่าเหล่านี้  น้ำก็จะไหลไปหมดเลย  ฝนตกมามันก็จะลงทะเล  ลงแม่น้ำไปเรียบร้อย  แล้วก็ท่วมด้วย  แทนที่จะลงไปเก็บกักในพื้นที่ดังกล่าวกลับผ่านไป  ตนเห็นตัวอย่างในหลายๆ พื้นที่ที่ชาวบ้านเขามาบอก  เช่น  ที่จังหวัดพังงา  ชาวบ้านบอกว่าถ้าเราทำฝายชะลอน้ำ  พื้นที่รอบๆ ต้นไม้จะมีน้ำตลอดเวลา  ปลูกมังคุดแต่ก่อนออกฤดูเดียว  ตอนนี้ออกทั้งปีเลย

“ผมไปดูมันจริง  พอเราทำฝายชะลอน้ำหรือฝายมีชีวิต  มันจะทำให้น้ำที่ไหลมาถูกขวางไว้  เป็นแอ่งอยู่ข้างหน้า น้ำก็จะไหลลงข้างล่าง  พอไหลลงข้างล่างก็จะซึมไปรอบๆ  ทำให้พื้นที่รอบๆ ชุ่มน้ำ  ทำให้ป่าที่เราปลูกแถวนั้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีก   ผมจึงคิดว่า  เมื่อทำโครงการป่าชุมชนแล้ว  เราก็อยากทำโครงการฝายชะลอน้ำ  ฝายมีชีวิตประกอบรวมกันไป  และในส่วนนี้กรมป่าไม้   กรมอุทยานฯ ก็อนุเคราะห์ว่าถ้าเกิดเราได้คุยจุดพิกัดได้ดีแล้วการทำฝายในพื้นที่ป่าก็จะถูกต้องเช่นเดียวกัน 

เพราะแต่ก่อนเราไปทำฝายในพื้นที่ป่าก็ติดคุกนะ  ทุกอย่างติดคุกหมดเลย  แต่ตอนนี้เนื่องจากเราได้คุยกับกระทรวง ทส. อย่างใกล้ชิด  เราก็เลยได้ปลดล็อกพวกนี้  ในปีนี้ความตั้งใจว่าจะทำกับพี่น้องเป็นต้นแบบ  เริ่มต้นก่อนประมาณ 12 ป่าชุมชน  กรมป่าไม้เขาทำเยอะแยะไปหมดเลยครับ แต่อันนี้เราจะทำประเภทครบวงจร เราจะพยายามเอาภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม และพี่น้องชุมชนมาทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้ก็ตั้งใจว่า เราอาจจะไม่ใช่ทำแค่ปลูกต้นไม้เล็กๆ น้อยๆ  แต่เราทำทั้งป่าเลย  แล้วก็จะระดมสรรพกำลังให้เกิดการสร้างป่าชุมชนที่เป็นต้นแบบอย่างแท้จริงในเมืองไทย”  ประธานบอร์ด พอช.บอกถึงแผนงานป่าชุมชนและฝายมีชีวิตที่ พอช.จะร่วมขับเคลื่อนกับภาคีเครือข่ายในปีนี้

ชาวบ้านที่ ต.สรอย  อ.วังชิ้น  จ.แพร่  ช่วยกันทำฝายมีชีวิต

จัดการขยะทางทะเลที่ต้นน้ำ  สร้างเศรษฐกิจชุมชน

นอกจากโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต แล้ว  ดร.กอบศักดิ์บอกว่า  พอช.ยังร่วมกับภาคเอกชนสนับสนุนการจัดการขยะทางทะเลด้วย  อีกโครงการหนึ่งที่ดึงพลังชุมชนเข้ามา   โดยทำร่วมกับกับกระทรวง ทส. เช่นเดียวกัน  เพราะขยะในเมืองไทยที่ลงไปสู่ทะเล 80% มาจากปากแม่น้ำ  แต่ว่าเราชอบเอาคนไปดำน้ำเก็บขยะจากป่าปะการัง แล้วไปเดินเก็บตามชายหาด  เก็บเท่าไรก็ไม่หมด  แล้วยังมีค่าใช้จ่ายสูงที่จะดำน้ำลงไปที่ปะการัง

“ผมได้คุยกับหลายส่วนงาน  เราคิดตรงกันว่า ถ้าเราสามารถสกัดขยะตั้งแต่ปากแม่น้ำ ขณะนี้มีแน่น้ำสำคัญที่อ่าวไทยอยู่ 5 แห่ง  ได้แก่  แม่น้ำบางปะกง   แม่กลอง ท่าจีน  เจ้าพระยา  บางตะบูน   5 แห่งนี้เป็นจุดที่นำมาซึ่งขยะในทะเลจำนวนมาก  ถ้าเราสามารถตั้งตะแกรงกรองที่ปากแม่น้ำได้อย่างเป็นระบบ  สุดท้ายขยะก็จะไหลลงทะเลลดลง  ถ้ากำจัดได้ 20-30 เปอร์เซ็นต์  สุดท้ายก็เป็น 70-80 เปอร์เซ็นต์  ที่เหลือที่ไหลลงไปทะเลก็กำจัดตัวเองได้  ช่วยกุ้ง หอย ปู  ปลา และปลาพะยูนด้วย”  ดร.กอบศักดิ์บอก

ดร.กอบศักดิ์ (กลาง) ร่วมงานวันทะเลโลกที่ จ.ระยอง  เมื่อ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา

และขยายความว่า  ทั้งหมดนี้เอกชนก็ทำงานใกล้ชิดกับกระทรวง ทส.  และเอกชนอยากจะทำเรื่องนี้มานานแล้วแต่ทำไม่ได้  เพราะว่าการเอาตัวทุ่น  ตะแกรงต่างๆ ไปติดตั้งในแม่น้ำก็จะมีความผิดทางกฎหมายเช่นเดียวกัน  เพราะเป็นการกีดขวางทางน้ำ  แต่โครงการของเราทำงานใกล้ชิดกับทางกระทรวง ทส.  เขาก็จะชี้จุดให้แล้วก็อนุเคราะห์ให้มีการติดตั้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นจุดๆ ไป  ทำให้เอกชนสามารถทำในโครงการนี้ได้  

ขณะเดียวกันเอกชนก็พร้อมจัดสรรงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท   ตอนนี้มี 6 - 7 บริษัทที่ร่วมลงขันกันทำงาน แล้วก็จะชักชวนมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  รัฐบาลไม่ต้องจ่ายแม้แต่บาทเดียว  เราก็ตั้งใจว่าเมื่อเก็บขยะขึ้นมาก็จะให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องจัดการแยกขยะแล้วก็นำไปขาย  ทำให้ครบวงจรตั้งแต่แรก

“เอกชนจ่ายค่าเครื่องมือ  ชุมชนดูแล  แล้วชุมชนก็ได้ประโยชน์จากขยะ  ทุกส่วนจะร่วมกัน  ระยะยาวเราตั้งใจทำทุกปากแม่น้ำ  ตามคลองต่างๆ ตามต้นน้ำในเมืองต่างๆ เช่นเดียวกัน”

ในช่วงท้ายรายการ  ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า  ในอนาคตเราอยากจะทำโครงการเศรษฐกิจฐานราก  ซึ่งจริงๆ เราต้องสร้างให้ชุมชนมีรายได้  ตนเคยไปเห็นโครงการของ ‘หลาดทุ่งสง’  อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช  ที่จัดตลาดทุกสัปดาห์  มีคนไปเยอะแยะไปหมด  ชาวบ้านจากที่เคยขายของได้นิดเดียวตอนนี้ก็ขายดีไปหมดเลย เศรษฐกิจก็คึกคัก

“ขณะเดียวกันก็มาทำให้เกิดรายได้ของชุมชนอีกระดับหนึ่ง เราก็อยากจะชวนเอกชนมาช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้วก็ช่วยชุมชนในการขายสินค้าออกสู่ตลาด  โดยไม่ผ่านคนกลาง  หรือผ่านคนกลางให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วก็เป็นคนกลางที่มีจิตสาธารณะ อันนี้น่าจะทำให้ชุมชนสามารถลืมตาอ้าปากได้”  ดร.กอบศักดิ์กล่าวในตอนท้าย

ดร.กอบศักดิ์กับการส่งเสริมสินค้าชุมชน

************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และการสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

ประชุม คนช. นัดแรก ไฟเขียวกฎหมายป่าชุมชน 2 ฉบับ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนาย

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ