สภาพบ้านพักชั่วคราวรองรับผู้เดือดร้อนก่อนสร้างบ้านจริง (ภาพจากข่าว 33 HD)
‘พอช.’ ชี้แจงข่าว กรณีสมาชิกสหกรณ์สหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงย่านบางบัวทอง จ.นนทบุรี ตั้งแต่ปี 2563 แต่ได้อยู่บ้านสังกะสีเหมือนแค้มป์คนงาน โดยยืนยันว่าเป็นบ้านพักชั่วคราวสำหรับผู้เดือดร้อน หากสร้างบ้านเสร็จก็จะได้อยู่บ้านจริง แต่สหกรณ์มีปัญหาปิดงบบัญชีไม่ลงตั้งแต่ปลายปี 2563 เงินสดขาดบัญชี เมื่อสมาชิกลาออกจึงไม่ได้เงินคืน โดย พอช.จะตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้เดือดร้อน และฟื้นฟูแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านเพื่อเดินหน้าสร้างบ้านให้มั่นคงต่อไป
ตามที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ชาวบ้านจำนวน 35 รายที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับสหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด โครงการตั้งอยู่ที่ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี ได้นำหลักฐานเข้าขอความช่วยเหลือกับนายเกียรติคุณ ต้นยาง ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล เขต 7 จังหวัดนนทบุรี ประธานชมรมทนายความจิตอาสา
โดยชาวบ้านร้องเรียนว่า หลังซื้อบ้านโครงการมั่นคง ส่งเงินไปแล้วหลักแสน กลับได้บ้านสังกะสี ยิ่งกว่าแคมป์คนงาน ผนังมีรู ผุพัง ช่วงหน้าฝนสังกะสีปลิวหลุดเสียหาย ฝนตกต้องคอยรองน้ำ ต้องเปลี่ยนปลั๊กไฟหลายจุดเพราะไม่ได้มาตรฐาน เคยมีชาวบ้านถูกไฟดูด ต้องอยู่ท่ามกลางสัตว์มีพิษ ทั้งงูเห่า และตะขาบ ชาวบ้านหลายคนทนไม่ไหวต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่บางครอบครัวกลับต้องทนอยู่เพราะไม่มีเงินไปซื้อบ้านนั้น
สภาพภายในบ้านพักชั่วคราว
พอช.ชี้แจงข่าวชาวบ้านร้องเรียน
วันนี้ (13 มิถุนายน) นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และโฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ชี้แจงกรณีข่าวที่เกิดขึ้นว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการ โดย ‘สหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด’ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของผู้ถูกไฟไหม้ไล่รื้อจากที่ดินเอกชน และผู้เดือดร้อนในเรื่องที่อยู่อาศัยในบริเวณตลาดบางบัวทอง จัดตั้งเป็นสหกรณ์เพื่อพัฒนาโครงการบ้านมั่นคง ซึ่ง พอช.สนับสนุนการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยของชุมชนที่มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ
กรณีสหกรณ์บริการเคหสถานชุมชนร่วมใจพัฒนาตลาดเก่า จำกัด นั้น สหกรณ์ได้รับอนุมัติสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินจาก พอช. จำนวน 13,097,000 บาท และต่อมาได้รับอนุมัติงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค จำนวน 4,590,000 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 3,060,000 บาท งบบริหารจัดการปรับปรุงชุมชน จำนวน 114,750 บาท รวมทั้งหมด 20,861750 บาท โดยสหกรณ์ฯ ได้ซื้อที่ดินจากเอกชน เลขที่ 59263 เนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 71 ตารางวา ที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เพื่อเตรียมก่อสร้างบ้านแฝด ขนาด 4x7 ตารางเมตร (14 ตารางวา) ราคาหลังละ 390,000 บาท
“เนื่องจากสมาชิกในโครงการถูกไล่รื้อออกจากที่ดินเดิม และได้รับความเดือนร้อน เพื่อเป็นการลดภาระความเดือดร้อนของสมาชิก สหกรณ์ฯ จึงได้มีการเสนอของบประมาณโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณีไฟไหม้ไล่รื้อ จาก พอช. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 จำนวน 35 หลัง วงเงิน 630,000 บาท (หลังละ 18,000 บาท) และบ้านพักที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนว่า ชาวบ้านซื้อบ้านมั่นคง ส่งเงินไปแล้วหลักแสนบาท แต่กลับได้บ้านสังกะสี ยิ่งกว่าแคมป์คนงานนั้น ทาง พอช.ขอชี้แจงว่า เป็นเพียงบ้านพักชั่วคราว เพื่อให้สมาชิกบ้านมั่นคงที่มีความเดือดร้อนได้อยู่อาศัยก่อน ไม่ต้องเสียค่าเช่า เมื่อก่อสร้างบ้านมั่นคงเสร็จแล้ว ชาวบ้านจึงจะย้ายเข้าอยู่บ้านจริง ไม่ใช่บ้านสังกะสีตามที่ปรากฏเป็นข่าว” นายสยาม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ชี้แจงข้อเท็จจริง
นายสยาม นนท์คำจันท์ ผช.ผอ.พอช.
เผยสหกรณ์ฯ เจอปัญหาปิดบัญชีไม่ได้
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. ชี้แจงต่อไปว่า หลังจากสหกรณ์จัดซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านพักชั่วคราว จำนวน 35 หลังแล้ว ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 สหกรณ์ฯ ประสบปัญหาจากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การรวบรวมกลุ่มสมาชิกในการประชุมปรึกษาหารือการดำเนินโครงการไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้สมาชิกขาดการติดต่อกับสหกรณ์ฯ ประกอบกับสหกรณ์ฯ ประสบปัญหาด้านการจัดการภายใน ไม่สามารถปิดปีบัญชีได้ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย พอช. ได้ลงพื้นที่ติดตามคลี่คลายปัญหาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์นนทบุรี และสมาชิกผู้เดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง และพบว่า สหกรณ์มีเงินสดขาดบัญชี มีสมาชิกลาออกแต่ไม่ได้รับเงินคืน
“อย่างไรก็ตาม พอช. ร่วมกับเครือข่ายที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี จัดประชุมสมาชิกผู้เดือดร้อน เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหา โดยได้ติดตามข้อเท็จจริงกับประธานกรรมการสหกรณ์ฯ ชุดเดิม และสมาชิก ทั้งนี้ในการประชุมสมาชิกสหกรณ์ ฯ ได้มีข้อสรุปในการดำเนินการทางกฎหมายกับประธานกรรมการชุดเดิม โดยสมาชิกได้มีการติดตามขอเอกสารต่าง ๆ จากประธานกรรมการชุดเดิมเพื่อนำไปจัดทำข้อมูลในการดำเนินโครงการต่อไป” ผช.ผอ.พอช.ชี้แจงการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา
ชาวบ้านที่เดือดร้อนประชุมหาทางออก
พอช.ตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาช่วยผู้เดือดร้อน
ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าวต่อไปว่า จากประเด็นข่าวความเดือดร้อนดังกล่าวของชาวบ้าน พอช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด โดยมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือ 1.ดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานติดตามแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ประกอบด้วย ผู้แทน พอช. เครือข่ายที่อยู่อาศัยจังหวัดนนทบุรี ผู้แทนสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์จังหวัดนนทบุรี และผู้แทนสำนักงานตรวจบัญชีจังหวัดนนทบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาแนวทางในการดำเนินโครงการบ้านมั่นคง 2.ฟื้นฟูและหาแนวทางในการดำเนินการให้สมาชิกผู้เดือดร้อนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และ 3.ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านพักชั่วคราวให้มีสภาพที่เหมาะสมกับอยู่อาศัย
“ขอเรียนว่า บ้านสังกะสีเป็นบ้านพักชั่วคราว ไม่ใช่บ้านจริง ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายนนี้ พอช.จะเดินทางไปพื้นที่เพื่อคลี่คลายปัญหา ส่วนเรื่องคดีความต้องปล่อยไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดย พอช.จะไปฟื้นฟูกลุ่มออมทรัพย์เป็นหลัก เพื่อให้พี่น้องที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยสามารถเดินหน้าบ้านมั่นคงต่อไปได้ แม้ว่าสหกรณ์จะถูกยุบไปแล้วก็ตาม” ผช.ผอ.พอช. กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา
แบบบ้านที่ พอช.และชาวบ้านจะดำเนินโครงการต่อไป เป็นบ้านแฝด ขนาด 4x7 ตารางเมตร ราคาหลังละ 390,000 บาท
เส้นทางสู่บ้านมั่นคง
โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ สนับสนุนให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อย มีความเดือดร้อนหรือไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย อยู่ในที่ดินบุกรุก ที่ดินเช่า ฯลฯ รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 โดย พอช.สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มสร้างบ้าน สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว ดอกเบี้ยต่ำ และอุดหนุนงบสาธารณูปโภค งบก่อสร้างบ้านบางส่วน
โครงการบ้านมั่นคงมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายตามสภาพปัญหาและบริบทของชุมชนแต่ละแห่ง เช่น ปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม จัดหาที่ดินใหม่เพื่อก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ โดยชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา เช่น จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารโครงการ ผ่อนชำระสินเชื่อกับ พอช.
โครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร กรุงเทพฯ
มีหลักการที่สำคัญ คือ “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานสนับสนุน” โดยมีกระบวนการดำเนินการที่สำคัญ คือ
- การชี้แจงสร้างความเข้าใจในหลักการพัฒนาที่อยู่อาศัย ภายใต้ “โครงการบ้านมั่นคง” ที่ชุมชนเป็นเจ้าของโครงการ ตัดสินใจเลือกรูปแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยของตนเอง ผสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กับชาวชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน 2. จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นการรวมคน รวมทุน สร้างฐานการเงินของชุมชน เรียนรู้ระบบการจัดการการเงินร่วมกัน (หลังจากนั้นจึงจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล เพื่อทำนิติกรรม บริหารโครงการ)
- การจัดตั้งคณะกรรมการสหกรณ์ฯ ขึ้นมาดำเนินงาน โดยแบ่งหน้าที่ ความรับผิดชอบ 4. สำรวจข้อมูลชุมชน ความเดือดร้อน ความต้องการ เพื่อนำข้อมูลมาวางแผนงาน 5. การจัดระบบสิทธิในที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นข้อตกลงของชุมชนและสร้างความเป็นธรรม
- ร่วมกันออกแบบ ทำผังชุมชน แบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ส่วนกลาง ออกแบบบ้านตามความต้องการ โดยมีสถาปนิกชุมชนจาก พอช. เป็นพี่เลี้ยง 7. เสนอแผนงานโครงการ งบประมาณ และสินเชื่อที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินการกับ พอช.
- ดำเนินการก่อสร้างบ้าน และสาธารณูปโภคตามแผนงาน โดยการบริหารงานของชุมชนหรือสหกรณ์เคหสถานที่จัดตั้งขึ้น เช่น การจ้างบริษัทรับเหมาก่อสร้าง หรือก่อสร้างเองบางส่วน
- พัฒนาคุณภาพชีวิต เมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว จะมีแผนพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ สร้างแหล่งอาหารในชุมชน การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม สันทนาการ กิจกรรมเด็กและเยาวชน จัดสวัสดิการให้สมาชิก ผู้สูงอายุ ฯลฯ
ปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 โครงการ รวมกว่า 200,000 ครอบครัว โดยมีเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงจำนวน 1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ
โครงการบ้านมั่นคงในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต