‘พอช.’ ชี้แจง ชาวบ้าน 41 ราย โดนฉ้อโกง ‘อ้างบ้านมั่นคง’ ออกใบเสร็จปลอมเชิดเงิน 8 ล้าน เตรียมแจ้งความดำเนินคดี

โครงการบ้านมั่นคงของ พอช.ดำเนินการตั้งแต่ปี 2546 ทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง

พอช. / กรณีที่มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า  มีกลุ่มชาวบ้านย่านดอนเมือง-หลักสี่  กรุงเทพฯ  ประมาณ  41 ราย  โดนหลอกเข้าร่วมร่วมโครงบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  มูลค่ารวมความเสียหาย  8 ล้านบาทเศษ  โดยผู้เสียหายได้เดินทางไปแจ้งความที่ สน.ดอนเมือง  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดวันนี้ (2 มิถุนายน)  นางสาวสุมล  ยางสูง  ผู้อำนวยการ  สำนักงานภาคกรุงเทพฯ  ปริมณฑลและตะวันออก  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  ชี้แจงว่า  ในวันที่ 4 มิถุนายน 2566 นี้  พอช. จะนัดหมายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแอบอ้างโครงการบ้านมั่นคงเพื่อพูดคุยแนวทางการแก้ไขปัญหา   ขณะเดียวกัน พอช.ก็จะแจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวปนัดดา ฉายขุน  กรณีแอบอ้างโรงการบ้านมั่นคงทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนจำนวน 41 ราย

นางสาวสุมล  ยางสูง  ผอ.สำนักงานภาคกรุงเทพฯ พอช.

ย้อนโครงการบ้านมั่นคง

โครงการบ้านมั่นคง  สนับสนุนการดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เริ่มดำเนินการในปี 2546  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด  เพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยไม่มีมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  โดย พอช.สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มสร้างบ้าน  สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว  ดอกเบี้ยต่ำ  และอุดหนุนงบสาธารณูปโภค  งบก่อสร้างบ้านบางส่วน 

โครงการบ้านมั่นคงมีรูปแบบการดำเนินงานที่หลากหลายตามสภาพปัญหาและบริบทของชุมชนแต่ละแห่ง  เช่น  ปรับปรุงบ้านในที่ดินเดิม  จัดหาที่ดินใหม่เพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  โดยชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารโครงการ  ผ่อนชำระสินเชื่อ 

นอกจากนี้ยังร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมอาชีพ  กิจกรรมเด็กและเยาวชน ทำให้คุณภาพชีวิตสมาชิกดีขึ้น   ปัจจุบัน พอช.สนับสนุนการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศแล้วกว่า 1,000 โครงการ  รวมกว่า 200,000 ครอบครัว  โดยมีเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี  (พ.ศ.2560-2579)  จำนวน 1 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ  เป็นอีกรูปแบบหนึ่งทำให้ชาวชุมชนริมคลองมีบ้านใหม่ที่มั่นคง  สวยงาม

พอช.ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีชาวบ้านโดนฉ้อโกง

กรณีการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นโดยการแอบอ้างโครงการบ้านมั่นคงดังกล่าวนี้   เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562  โดยมีการแอบอ้างโครงการบ้านมั่นคง ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนา จำกัด’ ตั้งอยู่ที่เขตดอนเมือง มีสมาชิกทั้งหมด 37 ครัวเรือน  โดยสมาชิกสหกรณ์ฯ ได้รวมกลุ่มกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงจาก พอช.อย่างถูกต้อง  โดยสหกรณ์ฯ ได้มีการเสนอสินเชื่อซื้อที่ดินกับ พอช. เป็นจำนวนเงิน 7,600,000 บาท และสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้าน 7,639,540 บาท  มีการทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไปเมื่อวันที่ 22 เดือนมิถุนายน 2563 และได้มีการซื้อที่ดินเลขที่ 75259 เนื้อที่ 1 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลสีกัน อำเภอดอนเมือง (ตลาดขวัญ) จังหวัดกรุงเทพมหานคร  ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเบิกจ่ายสินเชื่อบ้านและก่อสร้างบ้านให้กับสมาชิก

ขณะเดียวกันในระหว่างปี 2562 เป็นต้นมา  นางสาวปนัดดา ฉายขุน  ชาวบ้านในพื้นที่ย่านหลักสี่-ดอนเมือง (ปัจจุบันหลบหนี) ได้แอบอ้างว่าจะจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  โดยได้มีการรวบรวมสมาชิกจำนวน 41  ราย  แต่ไม่ได้มีการจัดทำโครงการบ้านมั่นคงจริง  โดยแอบอ้างชื่อ ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนาจำกัด’ นำเอกสาร  และใบเสร็จรับเงินของสหกรณ์อันเป็นเท็จ  นำไปชักชวนชาวบ้านที่อยากจะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง  เพื่อให้ชำระเงินเป็นรายเดือน  เป็นเงินออม  เงินซื้อที่ดิน  รายละ 2,000 -3,000 บาทเศษต่อเดือน  รวมทั้งหมด 41 ราย  ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นมา  รวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมด  8,215,012 บาท เสียหายตั้งแต่รายละ 60,000-280,000 บาทเศษ

นายเอกชัย (สงวนนามสกุล)  ผู้เสียหายรายหนึ่ง  อาชีพรับราชการ  บอกว่า  ตนมีญาติที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์เคหสถานบ้านพร้อมใจพัฒนาจำกัด (อยู่ระหว่างดำเนินการ)  ชักชวนให้เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงกับนางสาวปนัดดา  ฉายขุน  ในช่วงปลายปี 2564  โดนต้องผ่อนชำระค่าหุ้น  ค่าซื้อที่ดิน  และเงินออมทรัพย์  ประมาณเดือนละ 3,300 บาท  ตนเห็นว่าเป็นภาระที่ไม่มาก  พอผ่อนไหว  จึงเข้าร่วมโครงการ 

ที่ผ่านมา  ไม่เคยรู้จักกับปนัดดา  แต่อาศัยความไว้ใจญาติ  จึงเข้าร่วมโครงการเพราะอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  ไม่เคยไปดูที่ดิน  ได้ยินแต่คำบอกว่าที่ดินอยู่แถวทุ่งสีกัน  พอถึงสิ้นเดือนก็จะโอนเงินผ่านให้ญาติ  แล้วทางสหกรณ์ก็จะออกใบเสร็จสหกรณ์เป็นสีชมพูให้  เก็บไว้ทุกเดือน  ตอนนี้ผมจ่ายเงินไปแล้วทั้งหมดประมาณ 280,000 บาท”  

เขาบอกด้วยว่า  ที่ผ่านมาไม่ได้สงสัยอะไร  จนเมื่อช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา  มีสมาชิกบางรายขอถอนตัวออกจากโครงการบ้านมั่นคง   แต่เมื่อขอถอนเงินกลับได้รับการบ่ายเบี่ยง

โครงการบ้านมั่นคงที่ อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ทำให้ชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟมีบ้านใหม่  ไม่ถูกขับไล่

วันที่ 30 เมษายน 2566 ผู้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน จำนวน 5 คน ประกอบด้วย เบญจวรรณ์ , ประไพรัตน์ , มานิตย์,  ศรีแพร  และบุญมา  ได้มาร้องเรียนขอรับเงินคืนจากการลาออกจากการเป็นสหกรณ์ ที่นางสาวปนัดดา ฉายขุน ได้นัดหมายให้มารับเงินค่าหุ้นเงินออมและเงินต่างๆ  รายละประมาณแสนกว่าบาท โดยนางสาวปนัดดา ฉายขุน ได้อยู่ในที่ประชุมเนื่องจากเป็นผู้รับมอบหมายจากสหกรณ์ให้เป็นผู้บันทึกรับใบเสร็จรับเงินตามที่ประธานรับเงินมาจากสมาชิก

อีกทั้งสหกรณ์ฯยังได้ฝากเอกสารไว้ที่บ้านพักของนางสาวปนัดดา ใบเสร็จรับเงินสหกรณ์ (สีชมพู) ทะเบียนหุ้น (การ์ดแข็ง) สมุดออมสมาชิก อีกทั้งผู้มีอำนาจซึ่งมีนางสาวนวรัตน์ เกิดดวง เป็นประธาน  และนางทิพย์รัตน์ กลมกล่อม นางทิวาพร ชื่นกลิ่นจันทร์ ซึ่งเป็นเหรัญญิก  ได้ลงนามไว้ในใบเสร็จรับเงินล่วงหน้า  โดยสหกรณ์อ้างว่าเพื่อความสะดวกเนื่องจากสหกรณ์ยังไม่มีที่ทำการ   ทำให้คณะกรรมการมารวมตัวลำบาก ผู้สอบบัญชีรวมถึงกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงได้แจ้งมายัง พอช.เพื่อให้รับทราบสถานการณ์ร่วมกัน  รวมถึง พอช.ได้รับการประสานผ่านโทรศัพท์จากผู้เดือดร้อนชื่อนายดวงเดือน พหลยุทธ  เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม

ต่อมาวันที่ 28 พฤษภาคม 2566  พอช. พร้อมทั้งสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 และสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กรุงเทพมหานคร ได้นัดหมายผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการที่นางสาวปนัดดา ฉายขุน ให้จ่ายเงินออมที่อยู่อาศัย ค่าหุ้น ค่าบริหารจัดการ  จำนวน 41 ราย ซึ่งนางสาวปนัดดา ฉายขุน ได้ใช้เอกสารแบบบ้าน ใบสำคัญจดทะเบียนสหกรณ์  โฉนดที่ดินที่สหกรณ์เคสถานพร้อมใจพัฒนาจำกัด  ได้จำนองไว้กับ พอช.  ข้อบังคับของสหกรณ์ รวมถึงรูปภาพ และแผนการทำงานของสหกรณ์  โดยได้แจ้งผู้เสียหายทั้ง 41 ราย ให้จ่ายค่าเงินออมรายละ 3,300 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม  2562 จนถึงปัจจุบัน   รวมมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นจำนวน 8,215,012 บาท 

ดังนั้น  คณะกรรมการสหกรณ์ ฯ จึงมีมติ 1.ให้แจ้งความ นางสาวปนัดดา ฉายขุน ในการนำเอกสารของสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนา จำกัด ไปหลอกลวงประชาชนจนเกิดความเสียหาย  2.มีหนังสือมายัง พอช.  เพื่อขอสำเนารายชื่อสมาชิกสหกรณ์ที่ได้เข้าร่วมโครงการ  รวมถึงรายชื่อผู้ทำสัญญาค้ำประกันกับ พอช  

3.ทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์กรุงเทพมหานคร เพื่อตรวจสอบการบันชีของสหกรณ์กรุงเทพมหานครเพื่อตรวจสอบจำนวน 41 ราย เป็นเงิน 8,215,012  บาทได้บันทึกไว้ในบัญชีสหกรณ์หรือไม่ 4.ทำหนังสือถึงสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 2 ขอคัดสำนเนาใบสำคัญรับจดทะเบียนสหกรณ์เพื่อประกอบการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่แอบอ้างนำเอกสารไปใช้ในการหลอกลวงประชาชนและแจ้งความ

ต่อมาในวันที่ 29 พฤษภาคม 2566  พอช.ได้ออกหนังสือส่งมอบสำเนาเอกสารหลักฐานประกอบการดำเนินคดีโดยได้แนบสำเนารายชื่อผู้รับผลประโยชน์โครงการ รวมถึงสำเนาสัญญาค้ำประกันเงินกู้เลขที่ คบ39/026/2563 และสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงพร้อมใจพัฒนาได้รายงานประจำวันกับ สน.ดอนเมือง กรณีนางสาวปนัดดา ฉายขุน ได้นำชื่อและเอกสารของสหกรณ์ไปแอบอ้างและหลอกเอาเงินจากผู้เสียหาย

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ผู้เสียหายทั้ง 41 รายได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดอนเมืองโดยใช้เอกสารหลักฐานที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกให้

ทั้งนี้วันที่ 4 มิถุนายน 2566   พอช.จะนัดหมายผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแอบอ้างโครงการบ้านมั่นคงเพื่อพูดคุยแนวทางการแก้ไขปัญหา   รวมทั้งจะแจ้งความดำเนินคดีกับนางสาวปนัดดา ฉายขุน  กรณีแอบอ้างโรงการบ้านมั่นคงทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนจำนวน 41 ราย

บ้านใหม่  อนาคตใหม่

****

เรื่องและภาพ  :  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต