นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนป้องกันและบรรเทาสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง รวมทั้งลดความเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า อาจเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงระหว่างเดือนพ.ค.- ก.ค. 66 รวมถึงผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ส่งผลให้มีฝนน้อยกว่าค่าปกติ จึงได้กำชับให้ใช้โครงข่ายน้ำในภาคตะวันออกให้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้น โดยไม่ให้กระทบต่อน้ำอุปโภค บริโภคและเศรษฐกิจ ทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) พร้อมสำรองเครื่องสูบน้ำ และรถบรรทุกน้ำ ที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที และให้ตรวจสอบการทำงานของอาคารชลประทาน เครื่องมือ และเครื่องจักรต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพตลอดเวลา
“ได้เน้นย้ำในเรื่องการผันน้ำว่า จะต้องเป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เมื่อระดับน้ำสามารถสูบได้ตามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำต้นทางให้ผันน้ำทันที เพื่อสำรองน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด โดยล่าสุดสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้เริ่มสูบน้ำจากคลองสะพานไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ ศักยภาพสูงสุดได้มากถึง 470,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวัน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำประแสร์ ที่ปัจจุบันมีน้ำอยู่ 196 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 67 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น จนสามารถเป็นศูนย์กลางในการกระจายน้ำไปช่วยในการผลิตน้ำประปา และอุตสาหกรรม ในพื้นที่ EEC ได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ จะได้สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต ไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อรักษาระดับน้ำและคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับปริมาณน้ำต้นทุนที่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาของจังหวัดชลบุรีต่อไป”อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ด้านนายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผยว่า อธิบดีกรมชลประทานได้กำชับให้บริหารจัดการน้ำและบริหารการสูบผันน้ำตามแผนอย่างเคร่งครัด ซึ่งทางสำนักงานชลประทานที่ 9 ได้วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมระบบสูบกลับน้ำทั้งโครงข่าย อาทิ การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ไปลงอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ ก่อนจะผันต่อไปยังอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ตามที่ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงาน Keyman Water Warroom ภาคตะวันออก โดยเริ่มสูบน้ำแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 66 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 66 ได้วันละประมาณ 250,000 ลบ.ม. หรือเดือนละ 7.50 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อสิ้นฤดูฝนวันที่ 31 ต.ค. 66 จะหารือกับส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับสถานการณ์
รวมทั้งเตรียมความพร้อมสูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต มาลงอ่างเก็บน้ำบางพระ ซึ่งในปีนี้วางแผนสูบผันน้ำตั้งแต่เดือน ส.ค.ถึงเดือน พ.ย. 66 แต่หากคุณภาพน้ำค่าความเค็มเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดก่อนแผนที่วางไว้ จะสูบผันน้ำในทันที เป็นการปรับแผนการผันน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการใช้น้ำของพื้นที่ EEC จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะชิงเทรา ภายใต้ข้อตกลงของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ รวมไปถึงการเฝ้าระวังค่าความเค็มด้วย โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำของพื้นที่ EEC จากโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก จะอยู่ที่ประมาณ 1.20 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เดินตามแนวพระราชดำริ...ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมชุมพร
ในช่วงวันที่ 13-15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมามรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงได้พัดปก คลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณภาคใต้ตอนล่างเคลื่อนลงสู่ทะเลอัน
จับตาการพัฒนาลุ่มน้ำสงคราม “อู่ข้าวอู่น้ำ” ของภาคอีสานตอนบน
ลุ่มน้ำสงคราม สาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือที่มีขนาดใหญ่รองลงมาจากลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ประมาณ 12,700 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 7.94 ล้านไร่
ประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ความยั่งยืนของการพัฒนาลุ่มน้ำเลย
ลุ่มน้ำเลย เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ มีแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายหลัก ที่มีต้นน้ำอมาจากอำเภอภูหลวง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงลาดชัน
เอาแล้ว! เขื่อนเจ้าพระยากลับมาเพิ่มการระบายน้ำอีกระลอก
เขื่อนเจ้าพระยากลับมาเพิ่มระบายน้ำขึ้นอีกรอบ หลังฝนตกทำให้แม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำสะแกกรัง เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ตอนบนของประเทศ ฝนลดลง ชป.เดินหน้าเก็บกักน้ำปลายฤดูฝน สำรองไว้ใช้แล้งหน้าให้มากที่สุด
เมื่อวันนี้ 15 ต.ค. 67 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำกู กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผศ.ดร.สิตางศ์ พิสัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา
น้ำทะเลหนุน! กรมชลฯ เฝ้าระวังระดับน้ำ 7 พื้นที่เสี่ยงลุ่มเจ้าพระยา
กรมชลประทาน คาดการณ์ระดับน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง 3 วันล่วงหน้า (13-15 ต.ค. 67)