ดร.กอบศักดิ์ ประธานบอร์ด พอช.เดินหน้า ใช้โซเชียลมีเดียหนุนการพัฒนาชุมชน-เศรษฐกิจฐานราก

ดร.กอบศักดิ์, ปรัชญา  ปิ่นแก้ว ผู้กำกับหนัง,  นายกฤษดา  ผอ.พอช. (ยืนแถวหลังคนที่ 7-9 จากซ้ายไปขวา) ร่วมงานอบรมนักสื่อสารชุมชนที่ พอช.เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา

พอช. /  ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช. เดินหน้าใช้โซเชียลมีเดียหนุนการพัฒนาชุมชน-สร้างเศรษฐกิจฐานราก  โดยการสร้างแนวร่วม  ดึงคนรุ่นใหม่เข้าร่วมสร้างพลังแห่งการสื่อสาร  นำเรื่องราวดีๆ จากชุมชนท้องถิ่นสู่โลกออนไลน์  โดยวันที่ 27 พ.ค.นี้ชวน ‘สุทธิชัย  หยุ่น’ สื่อมวลชนอาวุโสลงพื้นที่ ชุมชนต้นแบบ ‘ดงขี้เหล็ก’ จ.ปราจีนบุรี  บันทึกเทปออกรายการ ‘Suthichai Live’

วันนี้ (19 พฤษภาคม)  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ   มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘บอร์ด พอช.’  โดยมีดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล   ประธานบอร์ด พอช. เป็นประธานการประชุม   มีผู้บริหาร พอช. นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.  คณะกรรมการบอร์ดจากภาครัฐและภาคประชาชน  และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวประมาณ  40 คนเข้าร่วมประชุม

การประชุมบอร์ด พอช. 19  พฤษภาคม

ดึงแนวร่วมสร้างพลังการสื่อสารจากชุมชน

การประชุมวันนี้นอกจากจะมีวาระสำคัญเรื่องต่าง ๆ แล้ว  ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช. ยังให้ความสำคัญกับการนำสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วย  โดย พอช. ได้จัดอบรม ‘นักสื่อสารชุมชน’  ปี 2566  ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้ 

มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวชุมชน  ทั้งผู้นำ  คนรุ่นใหม่  ตลอดจนผู้ที่สนใจ  สามารถสื่อสารเรื่องราวของชุมชนออกสู่โลกภายนอก  โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร  เช่น  โทรศัพท์สมาร์ทโฟน  ประเดิมการจัดอบรมวันแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา   โดย ‘ปรัชญา  ปิ่นแก้ว’  ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดังจากเรื่อง ‘องค์บาก’  มาแนะนำเทคนิค ‘การเล่าเรื่องจากชุมชน’ ให้น่าสนใจ  โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งในระบบออนไซต์และออนไลน์กว่า 200 คน

ดร.กอบศักดิ์  ประธานบอร์ด พอช.

ดร.กอบศักดิ์  ประธานกรรมการ พอช. กล่าวว่า  การใช้ Social Media จะสำคัญในระยะต่อไป  สิ่งที่สำคัญคือสิ่งที่เรียกว่า  ยูสเซอร์ (ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์และซอฟแวร์ต่างๆ ) สร้างคอนเทนต์ (เนื้อหาสาระ)  โดยการสร้างแนวร่วม  การสร้างชุมชนและสังคมฐานรากให้เข้มแข็ง   

“เราต้องสร้างแนวร่วมให้ทุกคนร่วมกันดำเนินการ จะทำให้เกิดแนวร่วม  ร่วมกันเรื่อยๆ การจัดอบรมนักสื่อสารเมื่อ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เป็นการเริ่มต้นในการสร้างทักษะและคอนเทนต์ต่างๆ ให้พี่น้องชุมชน  โดยใช้โทรศัพท์มือถือ  เพื่อให้พี่น้องได้เล่าเรื่องชุมชน  วิถีชุมชน  และเรื่องราวต่างๆ  หากเราร่วมส่งเสริมได้ จะทำให้เกิดความคึกคักในการสื่อสารร่วมกัน โดยเฉพาะการให้คนรุ่นใหม่มาร่วมสื่อสารและสร้างพลังการสื่อสารชุมชน”   

ดร.กอบศักดิ์กล่าวและว่า  การสนับสนุนให้ชุมชนสื่อสารเรื่องราวต่างๆ นี้  พอช.จะทำต่อไปเรื่อยๆ และหลังจากที่ทำแล้ว   พอช.จะสร้างพื้นที่ร่วมเพื่อให้เขานำความดี  ความรู้มาทำร่วมกัน  จะทำให้ความรู้ของแต่ละพื้นที่และพลังความรู้นั้นออกมา  มีต้นแบบในการนำเสนอแล้วขยายออกไป  

เช่น  เรื่องเศรษฐกิจฐานราก  รวมถึงเทคนิคและวิธีการขับเคลื่อนให้พี่น้องชุมชน สามารถสื่อสารเรื่องเล่าของตนเองได้   จะทำให้เกิดพลังอย่างมาก  รวมถึงเทคโนโลยีชาวบ้าน  การปลูก  การขาย  จะทำให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้  เป็นการสร้างความรู้จากชาวบ้าน   โดย พอช.จะเป็นกลไกสนับสนุน

โปรแกรมการอบรมนักสื่อสารชุมชนของ พอช.ช่วง พ.ค.-ก.ค.นี้

‘สุทธิชัย หยุ่น’ ร่วมหนุนชุมชน

การใช้แนวร่วมมาสนับสนุนการสื่อสารของชุมชนตามที่ ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึง  มีรูปธรรมที่สำคัญ  เช่น  ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้  ดร.กอบศักดิ์ได้เชิญสื่อมวลชนอาวุโส ‘นายสิทธิชัย  หยุ่น’ ลงพื้นที่ชุมชนต้นแบบด้านสถาบันการเงินชุมชนที่ตำบลดงขี้เหล็ก  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรีด้วย

ปัจจุบันนายสุทธิชัย  หยุ่น  เป็นพิธีกรรับเชิญในรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  รายการวิทยุหลายรายการ  เป็นคอลัมน์นิสต์หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  รวมทั้งยังผลิตรายการสัมภาษณ์และนำเสนอข่าวสารบ้านเมือง   ทั้งในประเทศและต่างประเทศในรายการ ‘Suthichai  Live’ ผ่าน face book ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 2.8 แสนคน

โดย ดร.กอบศักดิ์และนายสุทธิชัย  หยุ่น  จะลงไปพูดคุยกับผู้นำชุมชนที่ตำบลดงขี้เหล็ก เพื่อสัมภาษณ์บันทึกเทป  และนำเรื่องราวความเข้มแข็งของชุมชนมาออกในรายการ ‘Suthichai  Live’  ในเร็วๆ นี้

ตัวอย่างรายการ ‘Suthichai  Live’  

ตำบลดงขี้เหล็ก เป็นแหล่งผลิตไม้ประดับแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย  ก่อนปี 2520  ชาวบ้านมีปัญหาความยากจน  มีหนี้สิน  ขาดแคลนน้ำในการเกษตร  ผู้นำชุมชนจึงได้ร่วมกับชาวบ้านจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตขึ้นมาในปี 2524  เพื่อเป็นแหล่งทุนของชาวบ้าน  ออมเงินกันเป็นรายเดือน  ใครมีมากออมมาก  เมื่อกลุ่มมีเงินทุนจึงให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืม  นำไปใช้จ่ายในครอบครัว  หรือประกอบอาชีพ  ช่วงเริ่มต้นจัดตั้งกลุ่มมีสมาชิกเพียง 48 ราย  มีเงินออมรวมกันประมาณ 1 พันบาทเศษ

ด้วยการบริหารงานของคณะกรรมการกลุ่มออมทรัพย์  ที่ยึดหลักความซื่อสัตย์  เสียสละ  บริหารงานด้วยความโปร่งใส  ให้สมาชิกมีส่วนร่วม  สามารถตรวจสอบได้  ทำให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือ  นำเงินมาฝากเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  เมื่อกลุ่มมีเงินมากขึ้นก็สามารถนำเงินมาช่วยเหลือสมาชิกได้มากขึ้น เช่น  ไถ่ถอนโฉนดที่ดิน    ให้กู้ยืมเงินไปประกอบอาชีพ  เป็นต้น

ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชน  มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 2,900 ราย  มีทรัพย์สินและทุนหมุนเวียนประมาณ 140 ล้านบาท  ช่วยปลดหนี้  ไถ่โฉนดที่ดินให้สมาชิกไปแล้วประมาณ 300 ราย  นอกจากนี้ยังนำไปสู่การแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำ  แก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  เป็น ‘กองทุนชีวิตของคนตำบลดงขี้เหล็ก’

ทั้งนี้ในปี 2561 ดร.กอบศักดิ์  ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสถาบันการเงินชุมชนที่ตำบลดงขี้เหล็ก  และเป็นประธานเปิด ‘บ้านมั่นคง’ ให้แก่ชาวชุมชนด้วย  โดย ดร.กอบศักดิ์แสดงความชื่นชมที่ชาวบ้านมีความเข้มแข็ง  อดออมเงินเพียงวันละเล็กละน้อย  จนมีเงินหลายล้านบาท  และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ  ทั้งตำบล  เป็นความเข้มแข็งที่มาจากชาวบ้านเอง

“การที่มีนโยบายมาให้ชาวบ้าน  จะไม่เกิดความเข้มแข็ง  ความเข้มแข็งจะเกิดขึ้นมาเอง จะลุกและเปล่งพลัง  ยืนขึ้นมาได้  สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนต่อไปได้”  ดร.กอบศักดิ์กล่าวในตอนท้าย  

ดร.กอบศักดิ์เยี่ยมสถาบันการเงินชุมชนที่ตำบลดงขี้เหล็กในปี 2561

**********

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา