ผู้เข้าร่วมอบรมกับวิทยากรในการจัดอบรม ‘นักสื่อสารชุมชน’วันแรกที่ห้องประชุม พอช.
พอช. / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ‘พอช.’ จัดอบรม ‘สร้างนักสื่อสารชุมชนปี 2566’ ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค.นี้ เชิญวิทยากรมืออาชีพร่วมให้ความรู้ ประเดิมเวทีวันแรก โดย ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ ผู้กำกับหนังไทยชื่อดังจากเรื่ององค์บากและต้มยำกุ้ง มาร่วมจุดไฟสร้าง ‘นักเล่าเรื่องจากชุมชน’ นอกจากนี้ยังมีคนดังในโลกโซเชียลอีกมากมาย เช่น ‘บังฮาซัน’ นักขายออนไลน์ผู้โด่งดังจากการไลฟ์ขายอาหารทะเลสร้างยอดขายหลายร้อยล้านบาทจะมาแนะวิธีการขายสินค้าชุมชน “ขายยังไงให้ปัง”
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ นอกจากจะมีภารกิจเสริมสร้างชุมชนและองค์กรชุมชนให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว พอช.ยังมีภารกิจในการส่งเสริมให้ชุมชนทั่วประเทศนำเรื่องราวดีๆ ของชุมชนออกมาเผยแพร่ เพื่อเป็นต้นแบบ หรือนำรูปธรรมการพัฒนาชุมชนที่โดดเด่นออกมาสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ รวมทั้งใช้เป็นช่องทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน และการจำหน่ายสินค้าจากชุมชนได้ด้วย
โดยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมนี้ พอช.จะจัดอบรม ‘นักสื่อสารชุมชน ประจำปี 2566’ เพื่อสร้างนักสื่อสารชุมชนจากชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งผู้ที่สนใจทั่วไป และเจ้าหน้าที่ พอช. มีเป้าหมายผู้เข้าอบรมประมาณ 500 คน โดยจะจัดอบรมทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ มีวิทยากรที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสื่อต่างๆ มาให้ความรู้
ดร.กอบศักดิ์... “พลังการสื่อสาร พลังสร้างการเปลี่ยนแปลง
โดยในวันนี้ (17 พฤษภาคม) ระหว่างเวลา 9.00-12.30 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ มีการจัดอบรมวันแรก มีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และนายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยร่วมเป็นวิทยากร โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทางระบบออนไลน์ Zoom ประมาณ 130 คน และในห้องประชุมสถาบันฯ ประมาณ 80 คน
นายกฤษดา ผอ.พอช.
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวเปิดการอบรมว่า การทำงานของ พอช.มีหลายมิติ ครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น การส่งเสริมสภาองค์กรชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพ เรื่องที่ดินทำกิน ฯลฯ โดยพอช. ส่งเสริมให้ชุมชนเป็นรากฐานในการพัฒนา และส่งเสริมให้ชุมชนสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ของชุมชนออกมา โดยใช้การสื่อสารเป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ การสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการสร้างความรับรู้ สร้างความเข้าใจ และแพร่กระจายข่าวสารข้อมูลได้รวดเร็วมาก
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ บรรยายหัวข้อ ‘พลังการสื่อสาร พลังสร้างการเปลี่ยนแปลง’ มีใจความว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว บนแผงหนังสือจะมีนิตยสารต่างๆ วางอยู่มากมาย ตอนเช้าจะต้องหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน แต่ปัจจุบันโลกและการสื่อสารเปลี่ยนแปลงไป นิตยสารต่างๆ หายไป โทรศัพท์มือถือเข้ามาแทนที่หนังสือและโทรทัศน์ และทุกคนสามารถเป็นนักสื่อสารได้ โดยเฉพาะพี่น้องชาวชุมชน สามารถใช้เทคโนโลยีการสื่อสาร ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางนำสินค้าจากชุมชนมาขาย
ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างว่า ตนเองสร้างเพจขึ้นมา มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน โดยทำเองคนเดียว มีผู้เข้ามากดไลค์ 5-6 พันคน ไม่ต้องใช้เงิน สามารถสร้างคอนเทนต์หรือเนื้อหาได้เอง เพราะเรามีข้อมูลของเราเอง เช่น นำเสนอเรื่องการขึ้น-ลงของค่าเงินดอลล่าร์ เพียง 1 นาที ข้อมูลนี้ก็กระจายออกไปได้รวดเร็ว ไวกว่าสื่อหลายสำนัก
ดร.กอบศักดิ์ ประธานกรรมการสถาบันฯ
นอกจากนี้ ดร.กอบศักดิ์ยกตัวอย่างคลิป Tik Tok ที่กลายเป็นไวรัล เป็นคลิปนักท่องเที่ยวล่องห่วงยางในแม่น้ำที่ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน มีคนดูจากทั่วโลกกว่า 1 ล้านคน ถือว่าประสบความสำเร็จ คนที่ดูแล้วก็อยากจะมาเที่ยวที่ปาย มาล่องห่วงยาง
“มีเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เราสามารถทำได้ โดยเฉพาะเรื่องของชุมชน เรื่องแหล่งท่องเที่ยว เรื่องอาหาร ปราชญ์ชาวบ้าน สามารถเอามานำเสนอได้ และคอนเทนต์ดีๆ ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เพราะทุกอย่างสามารถทำได้ด้วยมือเรา แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้น่าดู ให้น่าติดตาม ต้องทำสิ่งที่คนอยากจะดู ไม่ใช่ทำในสิ่งที่เราอยากทำ”
ดร.กอบศักดิ์ให้แง่คิด และยกตัวอย่าง ‘บังฮาซัน’ จากภาคใต้ ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือไลฟ์สด ขายปลากุเลา ปลาเค็ม ขายอาหารทะเลจากชาวบ้าน สร้างรายได้หลายแสนบาท สิ่งสำคัญคือ คือ “เราต้องหาตัวตนของเราให้เจอ” เรียนรู้จากคลิป จากผู้รู้ แม้ในช่วงแรกๆ อาจจะมีคนดูไม่เยอะ มีคนกดไลค์ไม่มาก แต่อย่าท้อถอย ต้องพัฒนาตัวเอง นำเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจจากชุมชนออกมาสื่อสารให้ประสบความสำเร็จ
ปรัชญา ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง
‘ปรัชาญา’ ผู้กำกับดังปลุกพลัง ‘สร้างนักเล่าเรื่องชุมชน’
นายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนต์ไทยชื่อดังจากเรื่ององค์บากและต้มยำกุ้งที่ออกฉายทั่วโลก ทำรายได้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายร้อยล้านบาท บรรยายเรื่อง ‘เรื่องเล่าจากชุมชน’ โดยถ่ายทอดมุมมอง ประสบการณ์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักสื่อสารชุมชน คิดค้น มองหาเรื่องราวดีๆ จากชุมชนท้องถิ่นของตนเองออกมาเผยแพร่ มีใจความสำคัญว่า
ปัจจุบันโลกของการสื่อสารเปลี่ยนไป เป็นโลกของโซเชียลมีเดีย และสื่อต่างๆ แพ้โทรศัพท์มือถือ เพราะเดิมมีจอหนัง จอโทรทัศน์ แต่เมื่อมีโทรศัพท์มือถือเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย สามารถดูผ่านหน้าจอได้ตลอดเวลา ซึ่งเราสามารถเล่าเรื่องต่างๆ ผ่านคลิปได้ แต่ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนมาดูจอของเรา มาดูคลิปและกดไลค์
“คลิปก็คือการเล่าเรื่อง คลิปคืออาวุธ คืออำนาจ คลิปคือความจริง...ยุคนี้เราต้องทำตัวเหมือนองคุลีมาน แต่ไม่ได้ล่านิ้ว เราต้องล่าไลค์ และเราต้องปรับตัวให้เป็นนักเล่าเรื่อง” ผู้กำกับชื่อดังกล่าว
เขาบอกว่า นักเล่าเรื่องก็เหมือนกับผู้กำกับ และนักเล่าเรื่องที่ดีไม่จำเป็นต้องมีไอคิวสูง แต่ต้องมีจินตนาการ ต้องเล่าเรื่องอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งคนที่ไม่ได้เรียนด้านภาพยนตร์ก็สามารถทำคลิปได้ โดยเรียนรู้เทคนิคและทักษะที่ดีเพื่อเอาไปเล่าเรื่อง
นำเทคนิคผู้กำกับหนังสร้างนักเล่าเรื่อง
ผู้กำกับชื่อดังแนะนำเทคนิคการสร้างและกำกับภาพยนตร์นำมาปรับใช้กับนักเล่าเรื่องชุมชนว่า ภาพยนตร์ที่ดีจะต้องดูแล้วสนุก ได้สาระ หรือหากเป็นสารคดีก็จะต้องมีสาระ มีความรู้ ดูสนุก ได้ความรู้ที่แปลกใหม่ มีความน่าสนใจ ดูแล้วได้ประสบการณ์ใหม่ๆ หรืออาจนำไอเดียที่เคยมีคนนำเสนอแล้วมาพัฒนาปรับปรุงสร้างเป็นเรื่องราวใหม่ๆ ขึ้นมา
นอกจากนี้นักเล่าเรื่องที่ดีจะต้องเก็บเอาความคิดดีๆ เรื่องราวดีๆ ประเด็นดีๆ พล็อตเรื่องดีๆ หรือคนที่มีคาแรคเตอร์ บุคลิกแปลกๆ การกระทำแปลก ๆ มาบันทึกเก็บเอาไว้ เพื่อนำมาใช้ในการเล่าเรื่อง หรือนำมาเป็นลูกเล่น (กิมมิค) ในการนำเสนอ เพื่อให้งานมีความน่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ
“สมองของมนุษย์ถ้าอยู่กับข้อมูลที่น่าเบื่อ ภายใน 15 นาที สมองจะไม่อยากรับรู้แล้ว ซึ่งปัจจุบันอาจจะไม่ถึง 15 นาทีก็ได้ เช่น การทำ Tik Tok จะต้องดึงดูดคนดูตั้งแต่วินาทีแรก”
ผู้กำกับชื่อดังบอกและว่า อารมณ์ขันจะทำให้สมองตื่นตัว ดังนั้นนักผลิตคอนเทนต์จึงมักนำเสนอเรื่องราวให้ดูแล้วมีอารมณ์ขัน และนำอาวุธที่สำคัญมาใช้ คือ อารมณ์ขัน ความดราม่าหรืออารมณ์ความรู้สึก ความโรแมนติค รวมทั้งเพลงและเสียงดนตรีถือเป็นอาวุธชั้นดีเพราะสมองจะรับได้ง่าย ได้ความรู้สึก
ตอนท้ายนายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับดังย้ำว่า การทำหนังหรือคลิปที่ดีจะต้องนำอาวุธที่มีออกมาใช้ นำไปสู่จุดหมายปลายทาง คือ “ดูแล้วสนุก” โดยหมั่นศึกษา เรียนรู้ สังเกต เพื่อนำมาสู่การสร้างมูลค่า
“ถ้าเล่าเรื่องของชุมชนก็จะต้องสนุกและมีคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่น่าสนใจมานำเสนอ” เขาย้ำ
‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ กับผู้บริหาร พอช.
‘บังฮาซัน’ มาด้วย แนะเทคนิค ‘ขายสินค้าชุมชนยังไงให้ปัง’
นอกจากการอบรมนักสื่อสารชุมชนในวันนี้แล้ว ยังมีหลักสูตรต่างๆ เช่น 1.หลักสูตรการเล่าให้เป็นเรื่อง (การเล่าเรื่องผ่านคลิป VDO. โดยใช้โทรศัพท์มือถือ) 2.หลักสูตรเรื่องเล่าจากชุมชน เขียนให้เป็น และถ่ายภาพให้น่าสนใจ 3. หลักสูตรนักการตลาดชุมชน “ขายยังไงให้สุดปัง!” และ 4. หลักสูตรสื่อสารงานชุมชน “จากรากหญ้าสู่อินฟลูเอนเซอร์” ในโลก Social
โดยมีนักผลิตสื่อและวิทยากรมืออาชีพ เช่น ‘นายโกวิทย์ โพธิสาร’ อดีตผู้อยู่เบื้องหลังหลายรายการดังในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ปัจจุบันเป็นนักเล่าเรื่องและผู้ผลิตรายการอิสระ จะมาแนะนำการทำคลิป VDO. ด้วยสมาร์ทโฟน และโปรแกรมตัดต่อ
นายศิลา พีรวัฑฒึก หรือ ‘พ่อมดติ๊กต๊อก’ จะมาแนะนำเทคนิคการถ่ายภาพนิ่งและทำคลิป VDO ให้ปังและโดนใจผู้ชม โดยเฉพาะผู้ที่อยากจะมีผลงานบน Tiktok ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมี ‘บังฮาซัน’ นักขายออนไลน์ ผู้ไลฟ์สดขายอาหารทะเลสร้างยอดขายระดับหลายร้อยล้านบาท จะมาเป็นวิทยากรอบรมให้ความรู้แก่นักสื่อสารชุมชนและผู้ที่สนใจผ่านระบบซูมในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ เพื่อแนะวิธีการ “ขายยังไงให้สุดปัง” เพื่อให้สินค้าจากชุมชนเป็นที่รู้จัก สร้างรายได้ให้ชุมชน
ทั้งนี้เนื้อหาจากการฝึกอบรมในหัวข้อต่างๆ เหล่านี้ พอช.จะนำจัดทำเป็นคลิป VDO. หรือสรุปเป็นชุดความรู้เพื่อให้นักสื่อสารชุมชนและผู้ที่สนใจได้ศึกษาทบทวน และนำไปปฏิบัติจริง เพื่อสื่อสารเรื่องราวดีๆ ของชุมชนท้องถิ่นให้ปรากฏในโลกออนไลน์ต่อไป
**********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต