สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จังหวัดกระบี่ หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม จำนวน 48 หน่วยงาน ลงนามและประกาศ “ปฏิญญาอ่าวลันตา” มุ่งสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ อ.เกาะลันตา
รศ.ดร.สมิทธิ์ บุญชุติมา คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. เปิดเผยว่า ไทยเป็นประเทศที่มีขยะรั่วไหลลงทะเลติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ขยะที่ลงทะเลร้อยละ 80 เป็นขยะที่เกิดขึ้นบนบก ร้อยละ 20 เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมในทะเล โดยพบโฟมและขยะพลาสติกบนฝั่งที่กำจัดไม่ถูกต้องจำนวนมาก เมื่อโฟมและพลาสติกลงสู่ทะเลจะแตกตัวเป็นชิ้นเล็กๆ เรียกว่าไมโครพลาสติก ซึ่งจะปนเปื้อนเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารผ่านการบริโภคอาหารทะเล
มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมายระบุตรงกันว่า ไมโครพลาสติกหรือเศษพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ระบบห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ระบบนิเวศทางทะเลโดยตรง และปนเปื้อนในระดับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาจก่อให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหาร รวมถึงสารประกอบของพลาสติกบางตัวยังส่งผลถึงระบบสืบพันธุ์ในสิ่งมีชีวิตได้อีกด้วย การที่ สสส.จะสร้างเสริมสุขภาพประชาชน จึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
"ปฏิญญาอ่าวลันตา จะผลักดัน 9 เจตจำนงและหมุดหมายสำคัญ 1.การประมงยั่งยืน 2.อนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 3.พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล 4.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 5.เชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น 6.ลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล 7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและใช้พลังงานสะอาด 8.พัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต 9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อคุ้มครองรักษา อ.เกาะลันตา ควบคู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม" รศ.ดร.สมิทธิ์ กล่าว
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ประกาศพร้อมให้ความร่วมมือกับ สสส. มูลนิธิอันดามัน ส่วนราชการ ภาคเอกชน ทำ MOUปฏิญญา 19 ข้อ เป็นมิติความร่วมมือสร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่มีมิติทางข้อ กม.บังคับใช้ เป็นการสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวประมง หากมีการฝ่าฝืนก็ต้องให้เจ้าของเรื่องเป็นผู้ประเมินผล
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า โฟมและพลาสติกที่รั่วไหลหรือถูกทิ้งอย่างจงใจลงสู่ทะเล เป็นภัยด้านสิ่งแวดล้อมและอันตรายสะสมต่อสุขภาพของคน ซึ่งอาจไปไกลถึงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ก่อผลกระทบในขอบเขตทั่วโลกจากการเชื่อมถึงกันของมหาสมุทร ดังนั้นปัญหาขยะจึงเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องร่วมกันดำเนินการแก้ไขในระดับแนวคิด นโยบาย การนำมาตรการทางภาษีและเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการแก้ไขปัญหา การกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติของหน่วยงานรัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และครัวเรือน
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ให้ข้อคิดว่าการท่องเที่ยวจะยั่งยืนได้นั้นต้องมีการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ขยะ ด้วยความร่วมมือปฏิญญาตามคำแนะนำของนักวิชาการ เราต้องช่วยกันสร้าง ECO Design Eco Life ด้วยการลดจำนวนขยะ การรีไซเคิลให้มากที่สุด รัฐบาลกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565-2570) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการขยะที่ต้นทางตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเกิดขยะตั้งแต่การออกแบบ การผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-design) ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยเลือกใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถใช้ซ้ำและเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลได้ การคัดแยกขยะมูลฝอย ณ ต้นทาง ให้สอดคล้องกับรูปแบบการกำจัดขยะมูลฝอยปลายทาง เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุด ทั้งในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material recovery) และพลังงาน (Energy recovery) ให้เหลือขยะที่ต้องกำจัดให้น้อยที่สุด เป็นการลดขยะทะเลลงอีกทางหนึ่งด้วย
ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันขยะทะเลที่ตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสำคัญเป็นอย่างมาก รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564-2568 หรือ ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021-2025 ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ดำเนินการบริหารจัดการขยะทะเลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 เพื่อช่วยลดปริมาณขยะในทะเลและชายฝั่ง รวมถึงป้องกันการเกิดขึ้นใหม่ของขยะทะเล ในปี 2564 ที่ผ่านมา ทช.ได้จัดเก็บขยะทะเลที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลจำนวน 3,950,904 ชิ้น รวมน้ำหนักกว่า 443,987 กิโลกรัม
“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดูแลอนุรักษ์เพื่อให้ช่วยกันดูแลรักษาใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะขับเคลื่อนสำคัญก็ต้องมีพื้นฐานเศรษฐกิจบนเกาะลันตา ที่มีป่าชายเลน ปะการัง สัตว์ทะเลหายาก ปลาพะยูน ปลาโลมากลับคืนสู่ธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกครั้งหนึ่ง” ดร.พรศรีกล่าวอย่างภาคภูมิใจ.
ปฏิญญาอ่าวลันตา Blue&Green Island
1.การประมงยั่งยืน ไม่ทำการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน ห้ามทำประมงด้วยอวนทับตลิ่งหรืออวนปิดอ่าว อวนลาก อวนรุน เครื่องมือคราดหอยประกอบเรือยนต์ รวมทั้งการประมงผิด กม.และเป็นอันตรายต่อพะยูน โลมา เต่าทะเล ร่วมกันเพาะพันธุ์สัตว์น้ำคืนสู่ทะเล ธนาคารปูม้า
2.การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การอนุรักษ์พะยูนโดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย จ.ตรัง กำหนดเส้นทางเดินเรือและความเร็วเรือในแหล่งอาศัยของพะยูน จัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างยั่งยืน แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน ปะการัง พื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวทางทะเล การทำเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ สร้างบ้านปลา การทำข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือขนส่งสินค้าทางทะเลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทะเล
3.พัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจเกื้อกูล ส่งเสริมชุมชนทำเกษตรอินทรีย์ ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร รณรงค์ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ผลิตอาหารปลอดภัย ส่งเสริมการเกษตรวิถีชุมชน การทำนา ปลูกผักสวนครัว อนุรักษ์พันธุ์พืชท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าและคุณค่าด้านการเกษตรของชุมชน
4.การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ส่งเสริมการฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์วัฒนธรรม สะพานศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน การทำประมงด้วยลาดหิน การท่องเที่ยวปลอดโฟมและพลาสติก
5.การเชื่อมโยงการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับชุมชนท้องถิ่น ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการท่องเที่ยวกับชุมชนในการพัฒนาอาหารทะเลคุณภาพ การท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่คำนึงถึงระบบนิเวศและข้อกำหนดของชุมชน
6.การลดภัยคุกคามจากไมโครพลาสติกและขยะพลาสติกในทะเล เลิกใช้โฟมบรรจุอาหารที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ลดการใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง จัดระบบแยกขยะ เพื่อกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำเข้าสู่ระบบรีไซเคิลในสำนักงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ส่งเสริมให้ชาวประมงพื้นบ้านเก็บคืนเครื่องมือประมงที่ทำจากพลาสติกเพื่อนำมาใช้ซ้ำหรือผลิตเป็นสินค้าใหม่หรือรีไซเคิล เปลี่ยนการใช้โฟมเครื่องมือประมงเป็นวัสดุที่มีความคงทน เปลี่ยนวัสดุทำทุ่นจากโฟมเป็นวัสดุทดแทนที่มีความคงทนกว่า
7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการเปลี่ยนผ่านจากพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในเวลากลางวันในสำนักงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
8.การพัฒนาทางสังคมและคุณภาพชีวิต การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล พัฒนาความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยเป็นแกนกลางและพัฒนาระบบสวัสดิการครบวงจรเพื่อชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
9.ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพื่อให้ทุกภาคส่วนตระหนักในคุณค่าความสำคัญของประวัติศาสตร์ วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรฯ สร้างการเรียนรู้เพื่อตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบในทุกมิติตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น