พอช.จับมือ อปท.เดินหน้าแก้ปัญหาชุมชนริมราง รฟท.ทั่วประเทศ

พอช. / สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม ‘มติ ครม.14 มีนาคม 2566’  ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน  จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ  โดยจะจัดสัมมนาใหญ่ในเดือนมิถุนายนนี้  เพื่อสร้างความเข้าใจและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น  เช่น อปท. เป็นเจ้าภาพร่วมแก้ปัญหา

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม  2566  เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน  จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ   โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’  ดำเนินการในปี 2566-2570  นั้น

พอช.เดินสายสร้างความเข้าใจชาวชุมชนริมรางทั่วประเทศ

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  พอช. ในฐานะประธาน ‘คณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  (พทร.)’ กล่าวว่า  ขณะนี้ พอช.อยู่ในระหว่างการจัดเวทีสร้างความเข้าใจกับผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ   โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ได้จัดสัมมนา ‘เครือข่ายสันรางรถไฟภาคใต้’ ที่จังหวัดสงขลา     มีผู้แทนชุมชนริมราง (สันราง) รถไฟใน 9 จังหวัด  เช่น  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครราชศรีธรรมราช  ตรัง  พัทลุง  สงขลา  ฯลฯ  เข้าร่วมประมาณ  100 คน 

สัมมนาเครือข่ายสันรางรถไฟภาคใต้ที่ จ.สงขลาเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9-10  พฤษภาคม  จัดเวทีสัมมนาที่จังหวัดขอนแก่น  มีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และชาวชุมชนเข้าร่วมประมาณ 120 คน  ส่วนภูมิภาคอื่นที่มีจำนวนชุมชนที่ได้รับผลกระทบไม่มาก  เช่น  ภาคเหนือ  ภาคกลางและตะวันตก  พอช.และคณะทำงานแก้ไขปัญหา ฯ  จะส่งเจ้าหน้าที่ลงไปชี้แจงสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนต่อไป

“นอกจากนี้ภายในเดือนมิถุนายนนี้   พอช.จะจัดเวทีสัมมนาที่กรุงเทพฯ  โดยจะเชิญผู้แทนหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  อบต.  เทศบาล  ที่มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางประมาณ 135  แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  การรถไฟแห่งประเทศไทย  เข้าร่วมสัมมนา  เพื่อสร้างความเข้าใจต่อโครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  และเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องชาวชุมชนตามมติคณะรัฐมนตรีร่วมกับ พอช.และภาคีเครือข่าย”  ผู้ช่วย ผอ.พอช. กล่าว

ส่วนรูปแบบในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น  ผู้ช่วย ผอ.พอช. บอกว่า  จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้)  หากอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่ได้  จะต้องขอเช่าที่ดินใหม่จาก รฟท.  เพื่อก่อสร้างบ้าน  หรือจัดหาที่ดินรัฐ  เอกชน  หรือจัดซื้อ-เช่าโครงการที่มีอยู่แล้ว  เช่น  โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ 

ขณะที่ชาวชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น   จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงาน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.  จัดทำสัญญาซื้อหรือเช่าที่ดิน  ออกแบบวางผังบ้าน-ผังชุมชน  และบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย

ส่วน พอช. จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม.  โดยจะอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  ช่วยเหลือการก่อสร้างที่อยู่อาศัย   สาธารณูปโภคส่วนกลาง  ไม่เกินครัวเรือนละ 160,000 บาท  และสินเชื่อเพื่อก่อสร้างบ้านหรือซื้อที่ดิน  ไม่เกินครัวเรือนละ 250,000  บาท

ทั้งนี้มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  เช่น   รถไฟรางคู่เส้นทางภาคใต้   รถไฟความเร็วสูงภาคอีสาน-เหนือ   ภาคกลางและตะวันตก   รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา   รวมทั้งหมด   300 ชุมชน  ในพื้นที่  35 จังหวัด   รวม  27,084  ครัวเรือน  ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี  ตั้งแต่ปี 2566-2570 ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ 

โดยในปี 2566   พอช. มี  6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ  รวม 939 ครอบครัว เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน   ประมาณ 400  ครอบครัว  (ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมบริเวณริมบึงมักกะสัน)  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  166  ครอบครัว  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น 169 ครอบครัว  ชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225 ครอบครัว  ฯลฯ

ชุมชนริมรางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  จะย้ายไปอยู่ริมบึงมักกะสัน

กรณีเร่งด่วน ‘วัดใหม่ยายมอญ’ ถูกฟ้องขับไล่

การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560  เป็นต้นมา  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่สายใต้  เริ่มจากสถานีใน  จ.นครปฐม-หาดใหญ่  จ.สงขลา   รถไฟความเร็วสูง  กรุงเทพฯ-หนองคาย  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง (กรุงเทพฯ) -สุวรรณภูมิ (สมุทรปราการ) -อู่ตะเภา  (จ.ชลบุรี)   ฯลฯ  รวมทั้งการนำที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ 

ขณะเดียวกัน  มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยอาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  (ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินจาก รฟท.อย่างถูกต้อง)  ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางดังกล่าว   อย่างไรก็ตาม  ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านได้รวมตัวกันแก้ไขปัญหาไปแล้วก่อนจะมีมติ ครม. 14 มีนาคม 2566 ออกมา

เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์  19 ชุมชน  โดนรื้อย้ายตั้งแต่ปี 2561   แต่ชาวชุมชนส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคง ‘หินเหล็กไฟ’   โดยการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ระดมทุนซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านใหม่ในตำบลหินเหล็กไฟ   อ.หัวหิน   ได้รับการสนับสนุนจาก พอช.  สร้างบ้านใหม่จำนวน 70 ครัวเรือนในที่ดิน 5 ไร่เศษ  สร้างบ้านเสร็จในปี 2565  ปัจจุบันชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว  ถือเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.

บ้านใหม่ของชาวชุมชนหินเหล็กไฟจากชุมชนบุกรุกที่ดิน รฟท.  เป็นบ้านใหม่ที่มั่นคงสวยงาม

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง  กล่าวว่า  ล่าสุดมีกรณีชุมชน ‘วัดใหม่ยายมอญ’ หรือวัดอมรทายิการาม  เขตบางกอกน้อย  จำนวน 21 ครอบครัว  (เดิมมีประมาณ 40 ครอบครัว)  ซึ่งปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดิน รฟท. มานานหลายสิบปี  ถูกกรมบังคับคดีมีคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง  บ้านเรือนออกจากที่ดิน รฟท. ภายในวันที่  14 พฤษภาคมนี้   และที่ผ่านมา  ชาวบ้านมีความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามแนวทางบ้านมั่นคงของ พอช.  โดยการหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ   มีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ พอช.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565

“แต่เนื่องจากโครงการบ้านมั่นคงจะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ  เช่น  การรวมตัวจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานของชาวบ้าน   การจัดหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ  ดังนั้นเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา  ชาวบ้านจึงได้ทำหนังสือถึงศาลแพ่งตลิ่งชันเพื่อขอทุเลาการบังคับคดีออกไปก่อน    เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างออกไปภายในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้”  ผช.ผอ.พอช. กล่าว  

ทั้งนี้ชาวชุมชนวัดใหม่ยายมอญรวม  26 คน  ถูกผู้เช่าที่ดิน รฟท. และ รฟท. เป็นโจทย์ร่วม  ฟ้องต่อศาลแพ่งตลิ่งชันในปี 2561 และ 2562  เพื่อนำที่ดินมาพัฒนาเป็นตลาด  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2565  ศาลแพ่งมีคำสั่งถึงที่สุดให้ชาวบ้านรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป  ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนยอมรื้อย้าย  จนเหลืออีก 17 ราย   ชาวบ้านจึงได้ร้องต่อศาลแพ่งตลิ่งชันและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา  เพื่อขอทุเลาการบังคับคดี  และเตรียมแก้ไขปัญหาตามแนวทางบ้านมั่นคงต่อไป

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  (นั่งกลาง)  ร่วมประชุมกับชาววัดใหม่ยายมอญ

เส้นทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.

ในปี 2541  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนโยบายจะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ  ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค  เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท.  เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน  เพราะชุมชนส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้เช่าที่ดิน รฟท.

การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่องนับจากปี 2541  จนถึงเดือนกันยายน 2543   มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม  มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 2,000 คน  ใช้เวลา 3 วัน   ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543  เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คือ

1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี  

2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร 

3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว  ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม  ฯลฯ

หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล  ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  เช่น  กรุงเทพฯ  เชียงใหม่   ตรัง  สงขลา  ฯลฯ  รวม 61 ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ  และพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547  (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี)  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและงบประมาณบางส่วนตามโครงการบ้านมั่นคง

จนเมื่อ รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2560   ทำให้มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น   ผลการสำรวจข้อมูลพบว่า  มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน   โดยที่ผ่านมามีหลายชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว

นับแต่นั้น  เครือข่ายริมรางรถไฟและสลัม 4 ภาคจึงเคลื่อนไหวร่วมกับ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ P-M0ve ผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ   โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางดังกล่าว  ขณะที่เครือข่ายริมรางรถไฟฯ ยืนยันให้ รฟท. นำมติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543  มาใช้ในการจัดหาที่ดินรองรับชาวชุมชน

การชุมนุมเรียกร้องของเครือข่ายชุมชนริมรางรถไฟที่หน้ากระทรวงคมนาคม  เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

*************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา