กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ตามที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 และได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องออกกฎหมายเพื่ออนุวัติการอนุสัญญาดังกล่าว ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 ได้บัญญัติให้บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้  นอกจากนี้ ในมาตรา 28 ยังได้บัญญัติรองรับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้  ด้วยเหตุนี้ ในการตราพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จึงได้กำหนดให้การกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐใน 3 ลักษณะ ดังต่อไปนี้ เป็นความผิด โดยไม่คำนึงว่าการกระทำความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นในหรือนอกราชอาณาจักร

ในกรณีที่การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย หรือกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึงตนเองมิได้เพราะอายุหรือความเจ็บปวด หรือเป็นผู้สนับสนุนให้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นจะได้รับโทษหนักขึ้น อย่างไรก็ดี ในกรณีของบุคคลที่สูญหาย แต่มีการช่วยให้มีการพบตัวผู้นั้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดก็ได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้สูญหายให้รอดชีวิต สำหรับการเป็นผู้เสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ รวมถึงสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำความผิดโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย

ในกรณีที่บุคคลใดถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐจับและควบคุมตัว พระราชบัญญัตินี้ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลนั้นไป ซึ่งเป็นหลักการที่เพิ่มขึ้นใหม่แตกต่างจากที่กำหนดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บัญญัติรองรับสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลไว้แล้ว และต้องมีการบันทึกข้อมูลอัตลักษณ์ เช่น ชื่อ นามสกุล หรือตำหนิรูปพรรณของผู้ถูกควบคุมตัว ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพร่างกายและจิตใจก่อนควบคุมและก่อนปล่อยตัว วัน เวลา และสถานที่ควบคุมและปล่อยตัว คำสั่ง เหตุ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่สั่งให้ควบคุมตัว

ในกรณีที่มีการอ้างว่าบุคคลใดถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือบุคคลอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ จะยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลยุติการกระทำดังกล่าว หรือให้เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว หรือให้ผู้ถูกควบคุมตัวพบญาติหรือทนายความ รวมถึงรักษาพยาบาล หรือเปิดเผยข้อมูล ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะควบคุมตัวผู้นั้นต่อไป ให้ศาลสั่งปล่อยตัวทันที

กระบวนการดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะป้องกันการกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย เพื่อมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นพฤติการณ์พิเศษในภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่งคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่อาจนำมาอ้างว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ต้องรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้ได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”

การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ