ร้านค้าชุมชนตำบลท่าเสา จ.กาญจนบุรี เป็นต้นแบบในการนำสินค้าจากชุมชนมาจำหน่าย ผลกำไรแบ่งปันสมาชิก มีโครงการจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าชุมชน สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดย พอช.สนับสนุน
พอช. - ‘ดร.กอบศักดิ์’ ประธานบอร์ด พอช. ย้ำเป้าหมาย พอช.สร้างชุมชนเข้มแข็ง โดยจะใช้งานวิจัยมาสนับสนุนการพัฒนาชุมชนสนับสนุน สร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สสว. สกสว. และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมสินค้าชุมชน ร้านค้าชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
เมื่อวันที่ 21 เมษายน มีการประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ประจำเดือนเมษายน ที่สถาบันฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย คณะกรรมการสถาบันฯ ผู้บริหาร นำโดย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันฯ และเจ้าหน้าที่ รวมประมาณ 40 คน
ร่วมมือภาคีเครือข่ายใช้งานวิจัยหนุนงานพัฒนา
ดร.กอบศักดิ์ ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า พอช.มีเป้าหมายเสริมสร้างชุมชนเข้มแข็งทั่วประเทศไทย การสร้างผู้นำยุคใหม่ มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีองค์กรชุมชนที่สร้างระบบและประสานงานภายใน มีโครงการเพื่อไปสนับสนุนชุมชนเข้มแข็ง เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน ร้านค้าชุมชน บางชุมชนจะเน้นเรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัย ทำเรื่องบ้าน บางชุมชนจะเน้นเฉพาะเรื่องป่าชุมชน และในอนาคตจะมีชุมชนที่ทำทุกๆ เรื่อง และจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน อินเทอร์เน็ต ฯลฯ โดยมีตัวชี้วัดที่สามารถบอกได้ถึงความเข้มแข็ง เช่น ฐานะทางการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนและเหมาะสม
ดร.กอบศักดิ์ ประธานกรรมการสถาบันฯ
“ในอีก 3 ปีข้างหน้า นอกจากการมีต้นแบบชุมชนเข้มแข็งแล้ว ในอนาคต พอช. จะมีการสร้างโครงข่ายและศึกษาวิจัยในเรื่องชุมชนเข้มแข็ง รวมถึงการหาภาคีทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล เพื่อสร้างองค์ความรู้ สร้างผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการพัฒนาคนรุ่นใหม่มาหนุนเสริมชุมชนเข้มแข็ง และ พอช. จะสามารถยกระดับการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเห็นผล” ดร.กอบศักดิ์กล่าวถึงเป้าหมายภายใน 3 ปีข้างหน้า
ดร.กอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตนได้หารือกับหลายหน่วยงาน เช่น คุณอรรชกา สีบุญเรืองประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) รวมถึงเชิญสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน โดยจะตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก เพราะชาวบ้านมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ทำให้เป็นหนี้นอกระบบ ทำให้เกิดความอ่อนแอเชิงโครงสร้าง ต้องเข้ามาทำงานในเมือง มีการบุกรุกป่า ฯลฯ หากดำเนินการได้เหมือนตำบลท่าเสา (อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี) ที่ดำเนินการด้านร้านค้าชุมชน รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่มีการจัดการสินค้า และจัดการระบบการตลาด ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจชุมชน
“นอกจากนี้ยังได้หารือกับรองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในการสนับสนุนงบประมาณในการทำ ‘วิจัยชุมชนอย่างแท้จริง’ หากเราไม่เปลี่ยน 20 ปีให้หลังและ 20 ปีข้างหน้า คนรวยก็จะกระจุก หากเรานำงบประมาณมาทำงานวิจัยก็จะเป็นแนวทางในการคลี่คลายปัญหานี้ได้” ประธานบอร์ด พอช. กล่าว และย้ำว่า พอช.ต้องเป็นองค์กรที่สามารถยกน้ำหนักให้ขบวนองค์กรชุมชนเข้มแข็ง เป็นองค์กรที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง
บ้านมั่นคงอนุมัติ 6 โครงการงบ 54 ล้านบาท
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เห็นชอบแผนงานและงบประมาณโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามที่คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและที่ดินมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา จำนวน 6 โครงการ ผู้รับประโยชน์ 733 ครัวเรือน งบประมาณรวม 54,708,588 บาท เช่น โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองและชนบท
ประกอบด้วย 1. สหกรณ์เคหสถานบางนาเมืองใหม่ จำกัด กรุงเทพฯ จำนวน 180 ครัวเรือน งบประมาณ 15,750,000 บาท 2. โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน จำนวน 242 ครัวเรือน งบประมาณ 12,638,108 บาท 3. โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 311 ครัวเรือน งบประมาณ 12,900,000 บาท ฯลฯ
ทั้งนี้โครงการที่มีความโดดเด่น เช่น โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง หรือ ‘น้ำพางโมเดล’ อ.แม่จริม จ.น่าน อยู่ห่างจากตัวเมืองน่านประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าสงวนฯ เช่น อุทยานแห่งชาติดอยภูคา รวมทั้งหมดประมาณ 270,000 ไร่ มีประชากร 10 หมู่บ้าน ประมาณ 1,100 หลังคาเรือน รวม 5,300 คน มีทั้งชาวม้ง ถิ่น ล้านนา ฯลฯ ประชาชนมีความเสี่ยงในการถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ป่าต้นน้ำ จึงได้ร่วมกันดูแล จัดการทรัพยากรป่าไม้ตั้งแต่ปี 2558 และพัฒนามาเป็น ‘น้ำพางโมเดล’ ในปัจจุบัน
เช่น การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกต้นไม้ ลดการปลูกข้าวโพดซึ่งมีปัญหาในการทำลายหน้าดิน การเผาซากพืชไร่ การใช้สารเคมีไหลลงสู่แหล่งน้ำ โดยเปลี่ยนมาทำเกษตรเชิงนิเวศน์ ปลูกไผ่เพื่อรักษาหน้าดิน ปลูกไม้ยืนต้นชนิดอื่น เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ ยางนา ฯลฯ นำผลผลิตมาแปรรูป ทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่า การสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า กักเก็บน้ำในฤดูแล้ง ขุดบ่อน้ำใช้ ฯลฯ
ทั้งนี้ ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง’ ชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาและเสนอโครงการมายัง พอช.ตั้งแต่ปี 2565 และได้รับอนุมัติโครงการและงบประมาณจาก พอช.เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา รวมงบประมาณทั้งหมด 12.6 ล้านบาท มีแผนงานสำคัญ เช่น ซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้ที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม รวม 242 ครอบครัว
นอกจากนี้จะมีการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ส่งเสริมเกษตรเชิงนิเวศน์ เศรษฐกิจชุมชน แปรรูปผลผลิต เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ นำทุนธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรมมาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น การล่องแพ ล่องเรือในลำน้ำว้า การเดินป่า สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าม้ง ถิ่น ล้านนา ทำที่พักโฮมสเตย์ ฯลฯ
ลำน้ำว้า มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชมธรรมชาติและวิถีวัฒนธรรม
ด้าน นายปวรวิช คำหอม ผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงตำบลน้ำพาง บอกว่า หัวใจหลักของโครงการน้ำพางโมเดล มี 4 ด้าน คือ 1.มีกิน เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ปลูกพืชที่กินได้และจำหน่าย 2.มีใช้ เพิ่มรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงในระยะยาว 3.มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างระบบนิเวศที่สอดคล้องกับชุมชน และ 4. มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ภูมินิเวศ และรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน
ส่วนแผนงานการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงฯ ปวรวิชบอกว่า คาดว่าจะเริ่มโครงการต่างๆ ได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ (หลังได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.) โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการโครงการเพื่อกำหนดแผนงานและเริ่มซ่อมสร้างบ้านเรือนชาวบ้านกลุ่มที่มีความเดือดร้อน ครอบครัวเปราะบางก่อน หลังจากนั้นจะทยอยดำเนินโครงการต่างๆ ต่อไป
ส่วนหนึ่งของคณะกรรมการบ้านมั่นคงน้ำพางโมเดล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
ชาวริมรางรถไฟตรังเฮ ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดินการรถไฟ 4 โครงการ 166 ครัวเรือน
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ
บ้านมั่นคงคนสุพรรณบุรี บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน พัฒนาเมืองน่าอยู่ชุมชนเข้มแข็ง
สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ถ้ามาแล้วไม่ควรพลาด!!! นั่นก็คือ "ตลาดสามชุก" นับว่าเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีของกินอร่อย
พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ
'ศรีสุวรรณ' บุกร้อง พม. รื้อถนนตัดต้นไม้ใหญ่สร้างบ้านมั่นคง ผิดกฎหมายหรือไม่
นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน พร้อมกับชาวซอยงามวงศ์วาน 59 เขตจตุจักร จำนวนมาก ได้เดินทางมายืนถือป้ายประท้วงและคัดค้านแผนการสร้างบ้านมั่นคง เพื่อรองรับชุมชนบุกรุกคลองเปรมประชากรข้างวัดเทวสุนทร ด้วยการให้เขตจคุจักร ตัดต้นไม้ใหญ่รื้อทุบทำ
‘7 ปีที่รอคอย’ ของคนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ โครงการ 3 รวม 182 ครอบครัว
จ.สุราษฎร์ธานี / ‘7 ปีที่รอคอย’...คนเวียงสระ 182 ครอบครัว เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ เป็นบ้านแฝดชั้นเดียวและบ้านแถว 2 ชั้น หลังจากเริ่มรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย-ชาวบ้านที่โดนไล่ที่ตั้งแต่ปี 2560