คนเชียงรายรวมพลังซ่อม ‘บ้านพอเพียง’ 50 ตำบล 413 หลัง พร้อมยกระดับเศรษฐกิจชุมชน-สร้างรายได้นำร่อง 7 พื้นที่

การซ่อมบ้านพอเพียง จ.เชียงราย  วันนี้ (9 เมษายน) พร้อมกัน 50 ตำบล  รวมกว่า 50 หลัง 

เชียงราย/ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายร่วมกับ พอช.-พมจ. พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน-ชุมชนที่มีรายได้น้อยครบวงจร  ดีเดย์รวมพลังซ่อมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรมตามโครงการ ‘บ้านพอเพียง’ ปี 2566  ในพื้นที่ 50 ตำบล 18 อำเภอ รวม 413 หลัง  ใช้งบกว่า 8 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังเดินหน้าโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต  พัฒนาเกษตรกรรมวิถีใหม่  ยกระดับสินค้าชุมชนสู่การสร้างรายได้  เช่น  เสื่อกก  ข้าวปลอดภัย  น้ำผึ้งป่า  น้ำผึ้งโพรง  ฟาร์มเห็ด  นำร่อง  7 พื้นที่ในปีนี้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีภารกิจในการส่งเสริมชุมชนทั่วประเทศให้มีความเข้มแข็ง  สามารถพัฒนาและพึ่งพาตนเอง  โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา  มีโครงการที่สำคัญ  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมเศรษฐกิจและทุนชุมชน  การพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานราก หรือสภาองค์กรชุมชน  การส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชน  ฯลฯ

ปี 2566 สนับสนุนชุมชนทั่วประเทศ 5 โครงการหลักใช้งบ 1,272 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2566  พอช.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อดำเนินโครงการต่างๆ ในชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  จำนวน 5 โครงการ  วงเงิน 1,272  ล้านบาทเศษ   คือ 1.โครงการผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทให้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  งบประมาณรวม  959  ล้านบาทเศษ   เป้าหมาย  29,850 ครัวเรือน  2.โครงการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน  งบประมาณ  233 ล้านบาทเศษ  เป้าหมาย 780 กองทุน  3.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  งบประมาณiรวม  32  ล้านบาทเศษ  เป้าหมาย 500 ตำบล/เมือง 

4.ผลผลิตชุมชนท้องถิ่นได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาเพื่อการพึ่งพาตนเอง  งบประมาณ 32 ล้านบาทเศษ  เป้าหมายจำนวน 1,050 ตำบล   และ 5.สนับสนุนการพัฒนาสภาองค์กรชุมชน  โครงการป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน  งบประมาณ 14  ล้านบาทเศษ  เป้าหมาย  210 ตำบล/เมือง 35 เครือข่าย 7 จังหวัด

โครงการต่างๆ ดังกล่าวนี้   ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ  ทั่วประเทศ  ล่าสุดวันนี้ (9 เมษายน) ที่จังหวัดเชียงราย  มีการ Kick off  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในชนบท  ตามโครงการ ‘บ้านพอเพียง’  โดยจะมีการซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  รวมทั้งจะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชนด้วย

นายจันทร์  เพชรสุภา  ผู้สูงอายุบ้านเวียงหวาย  อ.เมือง  จ.เชียงราย  ได้รับการซ่อมสร้างบ้านวันนี้ (9 เมษายน)

เชียงราย Kick off  บ้านพอเพียงชนบท  413 หลัง

การจัดงาน Kick off  ซ่อมสร้าง ‘บ้านพอเพียง’  วันนี้  จัดขึ้นที่บ้านเวียงหวาย  ต.แม่กรณ์  อ.เมือง  จ.เชียงราย  เพื่อซ่อมแซมบ้านให้แก่ นายจันทร์  เพชรสุภา  อาบุ  68 ปี  ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว  โดยจะซ่อมห้องครัวและห้องน้ำที่สภาพหลังคาและข้างฝาผุพัง  โดยมีผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย (พมจ.เชียงราย)  ผู้แทนชุมชน  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  สภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงราย  เข้าร่วมงานประมาณ 40 คน  โดยมีช่างชุมชนและช่างจิตอาสาช่วยกันซ่อมแซมบ้าน

นอกจากการซ่อมบ้านหลังดังกล่าวแล้ว  ในวันนี้ยังมีการจัดกิจกรรมซ่อมบ้านเรือนผู้ที่มีฐานะยากจนในตำบลต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายอีก 49  ตำบล  ในพื้นที่ 18 อำเภอ  รวมซ่อมสร้างบ้านเรือนทั้งหมด 50  ตำบล  จำนวนกว่า  50  ครอบครัว/หลัง  โดยหลังจากวันนี้แล้วจะมีการทยอยซ่อมบ้านในตำบลต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้  รวมทั้งหมด 413 ครอบครัว/หลัง  ใช้งบประมาณไม่เกินหลังละ  20,900 บาท  รวมงบประมาณทั้งหมด  8,548,100 บาท

นายประนอม  เชิมชัยภูมิ  ประธานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงราย  กล่าวว่า  วันนี้ (9 เมษายน)  ถือเป็นวันดี  ฤกษ์ดี  ที่เครือข่ายองค์กรชุมชนจะร่วมกับชุมชน  และหน่วยงานต่างๆ  ช่วยกันซ่อมบ้านเรือนให้แก่ประชาชนกลุ่มเปราะบาง  ครอบครัวผู้ที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  สภาพบ้านเรือนผุพัง  ทรุดโทรม  ให้มีสภาพดีขึ้น  เหมาะสมแก่การอยู่อาศัย  โดยสภาองค์กรชุมชนในแต่ละตำบลจะร่วมกับกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่  สำรวจครอบครัวที่เดือดร้อนด้านที่อยู่  อาศัย  และคัดเลือกครอบครัวที่มีความจำเป็นเร่งด่วนให้ได้ซ่อมแซมบ้านเรือนก่อน

“เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายเห็นว่า  โครงการบ้านพอเพียง  ซ่อมบ้านเรือนผู้ที่เดือดร้อน  มีฐานะยากจน  เป็นการรวมพลังพี่น้องเครือข่ายมาช่วยกัน  เพื่อให้ผู้ที่เดือดร้อนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ซึ่งการซ่อมบ้านนี้จะไม่มีการจ้างช่างมาซ่อม  แต่จะใช้แรงงานจิตอาสา  และช่างชุมชนมาช่วยกัน  ซึ่งนอกจากการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแล้ว  เราจะทำเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้ให้พี่น้องต่อไปด้วย”  นายประนอมกล่าว 

การซ่อมบ้านในพื้นที่ต่างๆ ในเชียงรายวันนี้   รวม 50 ตำบล  มีการถ่ายทอดกิจกรรมผ่านระบบซูม

นางสาวภาณี  จันทร์ตัน  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย (พมจ.เชียงราย)  กล่าวว่า  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ (การเคหะแห่งชาติรับผิดชอบประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  / พอช. 1 ล้านครัวเรือน) ซึ่งในส่วนของ พมจ.จะมีการสำรวจปัญหาที่อยู่อาศัยกลุ่มเปราะบาง  ครอบครัวที่เดือดร้อนในแต่ละจังหวัด  เพื่อให้ความช่วยเหลือ  โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ผู้ป่วย  ซึ่งในจังหวัดเชียงรายในปี 2566 นี้   มีเป้าหมายสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุจำนวน 72 หลัง  และผู้พิการจำนวน 100 หลัง  งบประมาณไม่เกินหลังละ 40,000 บาท  รวมงบทั้งหมดประมาณ 7 ล้านบาท

“เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ  รัฐบาลจึงพยายามให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  โดย พมจ.จะร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบล  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  กลุ่มเปราะบาง  เพื่อจะได้จัดสรร  และระดมงบประมาณจากภาคส่วนต่างๆ  มาสนับสนุน  เพื่อให้พี่น้องที่เดือดร้อนได้มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและมีความปลอดภัยในการอยู่อาศัยต่อไป” พมจ.เชียงรายกล่าว

การซ่อมบ้านพอเพียงที่ตำบลต้า  อ.ขุนตาล  จ.เชียงราย  นายอำเภอขุนตาลได้มอบโทรทัศน์ที่ชาวบ้านร่วมกันสมทบเงินซื้อให้แก่ครอบครัวที่มีฐานะยากจนเพื่อดูข่าวสารความบันเทิง

ยกระดับสินค้าชุมชนสร้างรายได้นำร่อง 7 พื้นที่

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตามโครงการบ้านพอเพียงชนบทเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี  (2566-2570) ของเครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  นอกจากนี้ยังมีการยกร่างแผนการพัฒนาและแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับสถานการณ์ปัญหาที่อาจจะเกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการรถไฟสายเด่นชัย จ.แพร่ - อำเภอเชียงของ  จ.เชียงราย  (ขณะนี้อยู่ในระหว่างการขุดเจาะอุโมงค์ที่ จ.แพร่)  

รวมทั้งการรองรับสถานการณ์สังคมสูงวัยที่อาจจะมีผู้สูงวัยที่ยากไร้  ขาดแคลนที่อยู่อาศัย จึงมีการคิดค้นการพัฒนาแผนงานด้านการสร้างบ้านกลางชุมชนเพื่อรองรับผู้ยากไร้ในชุมชนด้วย

การขุดเจาะอุโมงค์เพื่อสร้างทางรถไฟจาก อ.เด่นชัย  จ.แพร่ ไปยัง อ.เชียงของ  จ.เชียงราย (ภาพจากการรถไฟแห่งประเทศไทย)

นอกจากนี้ยังมีแผนงานการพัฒนาเกษตรกรรมวิถีใหม่ สู่เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นสร้างสรรค์ “ยกระดับตำบลเศรษฐกิจและทุนชุมชน สู่การสร้างรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”  และมีประเด็นร่วม  “คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วยระบบดิจิทัล” (วิถีใหม่)   โดยบูรณาการความร่วมมือในระดับตำบล  อำเภอ  และจังหวัด

โดยจะมีโครงการนำร่องในปี 2566 มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 4 อำเภอ 7 ตำบลเข้มข้น  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  เชื่อมโยงฐานเศรษฐกิจและทุนชุมชน  คือ 1.ตำบลแม่ไร่   อ.แม่จัน  :  พัฒนาเสื่อกกไตหย่า (ต้นกก) 2. ตำบลจันจว้าใต้ อ.แม่จัน : ผลิตข้าวปลอดภัย  3.ตำบลแม่ยาว  อ.เมือง :  น้ำผึ้งป่าห้วยขม  

4.ตำบลแม่ข้าวต้ม  อ.เมือง :  ไม้กวาดอ่อน   5. ตำบลทานตะวัน   อ.พาน : ผลิตข้าวแต๋น  6. ตำบลศรีถ้อย     อ.แม่สรวย :  ฟาร์มเห็ด (เพาะเห็ดจากซังข้าวโพด)   และ  7.ตำบลแม่พริก   อ.แม่สรวย : น้ำผึ้งโพรง (ป่าชุมชน)  โดยจะมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์  บรรจุภัณฑ์  ให้มีความสวยงาม  น่าซื้อ  รวมทั้งส่งเสริมการขายทางสื่อออนไลน์  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณเบื้องต้นตำบลละ 46,000 บาท 

ทั้งนี้ในปี 2566  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการต่างๆ รวมทั้งหมดจำนวน  15 ล้านบาทเศษ

เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงรายและผู้แทนหน่วยงานที่สนับสนุนการพัฒนา

พอช.หนุนพัฒนาภาคเหนือ 17 จังหวัดใช้งบ 161 ล้านบาท

นางนภาพร  สุวรรณศักดิ์   ผู้แทนสำนักงานภาคเหนือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  กล่าวว่า   ในปี 2566  นี้  พอช. ได้สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาชุมชนตามที่ขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด  เสนอโครงการมา  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  การจัดสวัสดิการชุมชน  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  ฯลฯ  รวมงบประมาณทั้งหมดจำนวน 161 ล้านบาทเศษ 

มีโครงการที่สำคัญ  เช่น  การพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  โครงการบ้านพอเพียง  งบประมาณรวม 102 ล้านบาทเศษ  มีเป้าหมาย 4,896 ครัวเรือน  ในพื้นที่  551 ตำบล  17 จังหวัด  มีโครงการที่กำลังดำเนินการในขณะนี้  เช่น  การซ่อมบ้านพอเพียงที่ จ.เชียงราย  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนคลองแม่ข่า  อ.เมือง  จ.เชียงใหม่  โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนา  พอช.  ภาคีเครือข่าย  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสนับสนุน 

“พอช.มีเป้าหมายสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาตนเอง  ภายใต้ศักยภาพของชุมชน  เพื่อตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นสำคัญ เน้นให้ชุมชนสามารถจัดทำแผนการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ  เป็นเจ้าของในการพัฒนา  โดยประสานความร่วมมือกับท้องถิ่น  ท้องที่ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนในทุกมิติ  ไม่ใช่เฉพาะเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว”  ผู้แทน พอช. สำนักงานภาคเหนือกล่าว    

ตัวอย่างการซ่อมบ้านพอเพียงที่ จ.เชียงราย  โดยชุมชนเป็นแกนหลัก พอช.และหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน

******

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สิงห์ปาร์ค'ร่วมฉลองครบ10ปี 'เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024' กระตุ้นเศรษฐกิจ-สู่เมืองกีฬา

บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด ร่วมกับ สิงห์ปาร์ค เชียงราย, จังหวัดเชียงราย, สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายชมรมจักรยาน จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมปั่นจักรยาน “เชียงราย โร้ด คลาสสิค 2024” ปีที่ 10 ที่ สิงห์ปาร์ค เชียงราย

“พิพัฒน์” จ้างงานเร่งด่วน ระดมช่างไฟฟ้าซ่อมในอาคารกว่า 100 หลัง สร้างเชียงรายโมเดล ช่วยฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลดให้ประกอบอาชีพได้

วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน KICK OFF กิจกรรมการให้บริการซ่อมแซมระบบไฟฟ้าภายในอาคารบ้านเรือนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย

TSB ลุยช่วยสังคมต่อเนื่อง จับมือนักธุรกิจเอกชน ฟื้นฟูน้ำท่วมเชียงราย

ไทย สมายล์ บัส และบริษัทในเครือ ร่วมกับ มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ และนักธุรกิจภาคเอกชน เดินหน้าสานต่อโครงการ “สังคมร่วมใจ คืนความสดใสให้วัดและโรงเรียน จ.เชียงราย” เร่งฟื้นฟูวัดและโรงเรียนน้ำท่วม

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

โฆษกศปช. เผยเคลียร์พื้นที่น้ำท่วมเชียงรายเสร็จเกือบ 100% แล้ว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เสียงจากใจไทยคู่ฟ้า” ตอนหนึ่งว่า สรุปศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.ส่วนหน้า) โดย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม

เคลียร์ชัด! 'กรมป่าไม้' ตรวจสอบแล้ว 'ไร่เชิญตะวัน' พระ ว.วชิรเมธี ไม่บุกรุกป่า

นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากกรณีที่สาธารณชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจและติดตามข่าวการอนุญาตใช้ประโยชน์และอยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย