ชาวบ้านในตำบลบางขุนไทรทั้งชาย-หญิง มีรายได้จากการรับจ้างทำนาเกลือประมาณวันละ 600-700 บาท
‘เกลือ’ มีความสำคัญกับมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ บางยุคสมัยมีค่ามากกว่าทองคำ เพราะร่างกายมนุษย์ (และสัตว์) จะขาดเกลือไม่ได้ เกลือใช้ปรุงรสชาติและถนอมอาหาร ใช้รักษาบาดแผล ผสมตัวยา ฯลฯ ในสมัยอาณาจักรโรมัน ราว 2-3 พันปีก่อน นักรบโรมันจะได้ค่าตอบแทนเป็นเกลือ ภาษาละตินเรียกค่าตอบแทนนี้ว่า “salarium” อันเป็นที่มาของคำว่า “salary” หรือ “เงินเดือน” ในปัจจุบัน
ย้อนกลับมาที่ดินแดนสุวรรณภูมิ ในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล จะมีการทำเกลือจากน้ำเกลือใต้ดิน หรือ “เกลือสินเธาว์” มาตั้งแต่โบราณ โดยมีชุมชนหรือเมืองต่างๆ ตั้งอยู่ใกล้บ่อเกลือ เพื่อผลิตเกลือ ส่งเป็นสินค้าหรือเป็นส่วยให้แก่เมืองหลวง
ปัจจุบันยังมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลงเหลืออยู่ เช่น ‘บ่อเกลือ’ ที่จังหวัดน่าน, ‘บ่อเตน’ แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว, ‘บ่อหาน’ (ตรงข้ามบ่อเตน) ในจีน, แหล่งเกลือที่ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ ในอีสานใต้ ฯลฯ
นอกจากนี้ในสังคมไทย ยังมีสุภาษิตและสำนวนที่เกี่ยวข้องกับเกลืออยู่มากมาย เช่น “อย่าเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ”, “ใกล้เกลือกินด่าง”, “เกลือเป็นหนอน”, “ข้าวเหลือเกลืออิ่ม” , “ฆ่าควายเสียดายเกลือ” , “เค็มเหมือนเกลือ”, “ช้าเป็นเรือเกลือ” ฯลฯ
เกลือที่ผลิตได้จากนาเกลือบางขุนไทร นาเกลือที่ไม่ได้ใช้ผ้าใบปูพื้นนาจะมีเศษดินเศษหินปน จะขายให้เรือประมงเอาไว้ดองปลา
วิถีคนบ้านแหลม จ.เพชรบุรี ยุค “เรือเกลือ” หมดไป
“ช้าเป็นเรือเกลือ” เป็นสำนวนเปรียบเทียบแกมประชด บอกถึงคนที่ทำงานทำการอะไรก็ชักช้าอืดอาด เพราะสมัยที่ถนนหนทางและรถยนต์ยังไม่มี แม่น้ำลำคลองจึงเป็นเส้นทางสัญจรหลัก การขนส่งเกลือจากแหล่งผลิตหรือนาเกลือไปขายจะใช้เรือลำใหญ่บรรทุกเกลือจนเต็มลำ ทำให้มีน้ำหนักมาก เรือบรรทุกเกลือจึงแล่นไปได้ช้า จนกลายเป็นสำนวนว่า “ช้าหรืออืดเป็นเรือเกลือ”
อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ถือเป็นแหล่งผลิตเกลือทะเลที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ข้อมูลจากฐานข้อมูลความรู้ทางทะเล (www.mkh.in/th) ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมด 81,458 ไร่ จังหวัดเพชรบุรีมีพื้นที่มากที่สุด ประมาณร้อยละ 47 รองลงมาคือ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม
‘ศรีเพชร สุ่มอ่ำ’ วัย 54 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ในฐานะชาวนาเกลือ บอกว่า เดี๋ยวนี้เรือขนเกลือไม่มีแล้ว เพราะมีถนนตัดเข้าไปถึงนาเกลือ ทำให้เรือเกลือหมดไป เพราะใช้รถยนต์สะดวกกว่า แต่ถ้าใครยังทำอะไรชักช้าก็จะถูกต่อว่า “ช้าเหมือนเรือเกลือ”
ผู้ใหญ่ศรีเพชรบอกว่า ตำบลบางขุนไทรมีพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่ ด้านตะวันออกติดป่าชายเลนและอ่าวไทย เป็นต้นทุนและทรัพยากรที่สำคัญ ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงมีอาชีพเกี่ยวข้องกับท้องทะเล คือ ประมงพื้นบ้าน จับปลา หาหอยแครง และทำนาเกลือ
ผู้ใหญ่ศรีเพชรทำนาเกลือและเลี้ยงหอยแครง มีบทบาทเป็นประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางขุนไทร
ครอบครัวของผู้ใหญ่มีพื้นที่ทำนาเกลือ 33 ไร่ ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ไม่ต่ำกว่า 50-60 ปี ส่วนชาวบ้านที่ทำนาเกลือในอำเภอบ้านแหลมมีประมาณ 300 ราย ขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมาณ 100 ราย บ้านแหลมจึงเป็นแหล่งผลิตเกลือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
“ตั้งแต่เด็กจำความได้ ตอนนั้นเกลือราคาเกวียนละร้อยกว่าบาท สมัยนั้นยังไม่มีถนน เวลาทำเกลือเสร็จ ชาวบ้านจะขนเกลือใส่กระบุงลงเรือแล่นไปตามคลองไปขึ้นที่วัดบางขุนไทร เอาไปขายให้พ่อค้า ตอนนี้มีถนนตัดผ่านนาเกลือหมดแล้ว ไม่ต้องขนเกลือทางเรือ ตอนนี้ราคาเกลือขยับขึ้นมาประมาณเกวียนละสองพันบาท...ก็ถือว่าพออยู่ได้” ผู้ใหญ่ศรีเพชรบอก
ผู้ใหญ่ขยายความว่า เกลือ 1 เกวียนมีน้ำหนัก 1,600 กิโลกรัม หรือตกราคากิโลฯ ละ 1 บาทกว่า (ปัจจุบันเกลือมีราคารับซื้อประมาณ 1,800-2,000 บาท) ในช่วง 1 ปีจะทำเกลือได้ประมาณ 7 เดือน คือเริ่มตั้งแต่ปลายฤดูฝน ประมาณปลายเดือนตุลาคม- พฤษภาคม พอเข้าฤดูฝนจะหยุดเพราะน้ำทะเลจะท่วมนาเกลือ แต่ช่วงฝนชาวนาเกลือบางรายจะใช้พื้นที่เลี้ยงปลาน้ำกร่อย เลี้ยงปู หรือหอยแครง สลับกับทำนาเกลือทำให้มีอาชีพ มีรายได้ตลอดทั้งปี
หนุ่มนาเกลือ-เลี้ยงหอยแครงเป็นรายได้เสริม
แต่ใช่ว่าใครที่อยู่ริมทะเลแล้วจะทำนาเกลือได้ เพราะพื้นที่ทำนาเกลือจะต้องเป็นพื้นที่ราบ พื้นเป็นดินเหนียว สามารถอุ้มน้ำได้ดี ช่วยกันไม่ให้น้ำเค็มซึมลงใต้ดิน และกันไม่ให้น้ำจืดขึ้นมา ลมและแดดจะต้องดี เพื่อช่วยให้เกลือตกผลึกและแห้งเร็ว
ส่วนวิธีทำนาเกลือนั้น ผู้ใหญ่ศรีเพชรบอกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า คนทำนาเกลือจะแบ่งพื้นที่กักเก็บน้ำเค็มตามระดับผืนดิน โดยชั้นแรกพื้นที่ที่ติดทะเลหรือมีคลองส่งน้ำเค็มเข้ามาจะเรียกว่า ‘นาวัง’ พื้นที่นี้จะใช้ขังน้ำ โดยขุดเป็นบ่อ มีคันดินกั้นโดยรอบ ระดับความลึกของน้ำประมาณ 1 เมตร ถัดมาระดับน้ำจะลดลงเรื่อยๆ เป็น ‘นาแพ’ , ‘นาตาก’, ‘นาดอก’ และสุดท้ายคือ ‘นาวาง’ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับ ‘ขึ้นเกลือ’
ขั้นตอนการทำนาเกลือจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คือจากช่วงปลายเดือนตุลาคมหรือต้นเดือนพฤศจิกายน น้ำเค็มจะถูกขังในนาต่างๆ ตามลำดับ จากนาวังมาถึงนาวางราวเดือนมกราคม เพื่อให้เศษดินเศษตะกอนที่อยู่ในน้ำเค็มนอนก้นตกสู่พื้นดิน ซึ่งใน ‘นาวาง’ ที่จะใช้เป็นพื้นที่ขึ้นเกลือนี้ จะต้องใช้รถบดพื้นดินในนาวางให้เรียบแน่น เพื่อเตรียมพื้นที่รองรับน้ำเค็มที่ตกตะกอนดีแล้ว
จากนั้นจะปล่อยน้ำเค็มจาก ‘นาดอก’ เข้าสู่ ‘นาวาง’ ใช้เวลาประมาณ 5 วัน น้ำเค็มจะตกผลึกเป็นเม็ดเกลือ ก็สามารถ “ขึ้นเกลือ” ได้ โดยใช้แรงงานคนช่วยกันใช้คราดดันและตักเม็ดเกลือขึ้นมากองเป็นแนวยาว เรียกกองเกลือนี้ว่า “กระทง” หากแดดดี ลมดี จะทำให้น้ำระเหยออกจากเม็ดเกลือได้เร็ว ใช้เวลาประมาณ 1 วันก็จะหาบเกลือนำไปเก็บในโรงเกลือหรือยุ้งเกลือเพื่อเตรียมส่งขายพ่อค้าได้
ขึ้นตอน ‘การขึ้นเกลือ’ ในนาวาง ต้องใช้แรงกาย แรงงานทั้งชายหญิง ท่ามกลางแดดแผดจ้า
“การทำนาเกลือ ต้นทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ค่าแรงจ้างคนขึ้นเกลือและหาบเกลือ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนในหมู่บ้าน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20-30 คน เฉพาะค่าจ้างคนหาบเกลือ ราคาเกวียนละ 350 บาท หาบจากกระทงเกลือไปยุ้งไม่ไกล ประมาณ 50 เมตร ถ้าไกลกว่านั้นจะคิดค่าหาบเกวียนละ 400 บาท คนขึ้นเกลือ-หาบเกลือจะมีรายได้วันละประมาณ 600-700 บาท การทำนาเกลือต้องใช้แรงงานและจ้างแรงงานมาก เพราะจะทำเฉพาะคนในครอบครัวไม่ไหว” ผู้ใหญ่ศรีเพชรบอกถึงอาชีพที่ต้องใช้แรงงานในชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในตำบลหมุนเวียน
ส่วนเกลือที่ได้ หากเจ้าของนาเกลือใช้ผ้าใบปูพื้นในนาวาง (แต่จะต้องลงทุนซื้อผ้าใบมาปู) เพื่อไม่ให้เศษดินและหินจากนาเกลือปนเปื้อน จะได้ ‘เกลือขาว’ ซึ่งจะขายได้ราคาดี ส่งเข้าโรงงานนำไปผลิตเป็นเกลือป่น เกลือผสมไอโอดีน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง แต่หากไม่ได้ใช้ผ้าใบปูพื้น จะทำให้มีเศษดินหินปนเปื้อน เกลือที่ได้จะเรียกว่า ‘เกลือกลาง’ หรือเกลือดำ ราคาจะต่ำกว่า เอาไปใช้ในเรือประมงเพื่อดองปลากับน้ำแข็ง หรือใช้ใส่บ่อกุ้ง ใส่สวนมะพร้าว
นอกจากอาชีพทำนาเกลือแล้ว คนบางขุนไทรและตำบลต่างๆ ในบ้านแหลมยังมีอาชีพหา ‘หอยแครง’ ในดินเลน โดยชาวบ้านจะหาหอยในช่วงน้ำลด ใช้ ‘เรืออีป๊าบ’ (เรือพื้นบ้านชนิดหนึ่งติดเครื่องยนต์) และกระดานถีบงมหาหอยแครงในดินเลน ราคารับซื้อขนาด 60 ตัว/ กิโลฯ ประมาณ 100 บาท หากเป็นลูกหอยขนาดเท่าเมล็ดถั่วดำ ประมาณ 300 ตัว/กิโลฯ ราคา 40 บาท จะขายให้ชาวประมงเอาไปเลี้ยงต่อ
“คนหาหอยแครงจะมีรายได้ประมาณวันละ 300-400 บาท เด็กๆ ช่วงวันหยุดหรือปิดเทอมก็จะมาหาหอยกับพ่อแม่ได้ คนทำนาเกลือบางราย อย่างผม จะซื้อลูกหอยแครงมาเลี้ยงในนาเกลือช่วงฤดูฝนที่ไม่ได้ทำเกลือ ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปี ไม่ต้องให้อาหาร หอยที่ได้จะมีขนาด 60 ตัวต่อ 1 กิโลฯ ราคาขายพ่อค้ากิโลฯ ละ 150 บาท ปีนึงผมจะเลี้ยงหอยได้ประมาณ 400-500 กิโลฯ ถือเป็นอาชีพรอง” ผู้ใหญ่ศรีเพชรบอก
ผู้ใหญ่บอกด้วยว่า ทุกวันนี้หอยแครงที่จับได้ในพื้นที่ชายเลนมีน้อยลง อาจเป็นเพราะความสมบูรณ์ตามธรรมชาติลดลง และบางพื้นที่มีการทำประมงผิดกฎหมาย เช่น ใช้เรือคราดหอยแครงเพื่อจับหอยให้ได้มากๆ ไม่ได้จับด้วยมือ ทำให้หอยในธรรมชาติลดน้อยลง นอกจากนี้ปัญหาการปล่อยน้ำเน่าเสียลงสู่ทะเลทำให้เกิดผลกระทบต่อหอยแครงและสัตว์น้ำต่างๆ
การใช้กระดานถีบหาหอยแครง (ภาพจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
สวัสดิการจากท้องทะเลสู่สวัสดิการชุมชน
ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลในอ่าวบ้านแหลมในปัจจุบัน แม้จะลดน้อยลงบ้าง แต่ก็ยังทำให้ผู้คนมีอาชีพ มีรายได้จากนาเกลือและการหาหอยแครง เช่น คนขึ้นเกลือ-หาบเกลือจะมีรายได้วันละ 600-700 บาท คนทำนาเกลือจะได้ผลผลิตประมาณไร่ละ 6-7 เกวียน ราคาเกวียนละ 2,000 บาท หากทำ 10 ไร่จะมีรายได้ประมาณ 120,000-140,000 บาท เมื่อหมดฤดูทำเกลือก็หาหอยแครงได้วันละ 300-400 บาท ฯลฯ ถือเป็นสวัสดิการที่ธรรมชาติหรือท้องทะเลมอบให้
ขณะเดียวกันชาวบางขุนไทรก็ได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือดูแลกัน ผู้ใหญ่ศรีเพชร ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางขุนไทร บอกว่า กองทุนสวัสดิการฯ ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2551 ช่วงแรกมีสมาชิกประมาณ 100 คน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนทำนาเกลือ หาหอยแครง ทำประมงพื้นบ้าน โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาท หรือสมทบเป็นรายปีๆ 360 บาท
กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ และเจ้าหน้าที่จากจังหวัดเพชรบุรีร่วมสำรวจข้อมูลผู้ยากลำบาก
ช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตร ช่วยเหลือ 500 บาท แม่นอนโรงพยาบาลไม่เกิน 10 คืน ช่วยคืนละ 100 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาลช่วยเหลือเท่ากัน เสียชีวิตช่วยตามอายุการเป็นสมาชิก ตั้งแต่ 2,500-15,000 บาท
เด็กเป็นสมาชิกครบ 8 ปี ช่วยทุนการศึกษาคนละ 300 บาท เป็นสมาชิกครบ 13 ปีช่วยคนละ 500 บาท ผู้สูงอายุเป็นสมาชิกครบ 11 ปี อายุครบ 60 ปี ช่วยคนละ 1,000 บาท เมื่ออายุครบ 70-80-90 ปีก็จะช่วยอีกครั้งละ 1,000 บาท
จากสวัสดิการที่ช่วยเหลือสมาชิกทุกช่วงวัยจึงทำให้มีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียน เพราะเมื่อเป็นสมาชิกครบ 8 ปีและ13 ปีก็จะได้รับสวัสดิการครั้งละ 300-500 บาท แม้จะไม่มากมาย แต่ก็เป็นแรงจูงใจให้พ่อแม่ที่มีลูกหลานหลายคนสมัครเข้าเป็นสมาชิก เจ็บป่วยก็ยังมีค่ารถ ค่าดูแลกันอีก เด็กๆ หลายคนก็ใช้เงินที่ได้จากการหาหอยแครงมาจ่ายเงินสมทบกองทุนสวัสดิการเอง เป็นการสอนให้เด็กรู้จักอดออม ใช้เงินให้เกิดประโยชน์
ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 3,000 คนเศษ (ประชากรทั้งตำบลประมาณ 7,000 คนเศษ) มีเงินกองทุนประมาณ 7.7 ล้านบาท ปี 2565 ที่ผ่านมา ช่วยเหลือสวัสดิการสมาชิกทั้งหมดประมาณ 1 ล้านบาทเศษ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางขุนไทรได้จัดประชุมใหญ่สมาชิกสามัญประจำปี ในปีนี้มีเด็กนักเรียนได้รับสวัสดิการจำนวน 288 คน ผู้สูงวัยได้รับสวัสดิการ 78 คน รวมเป็นเงินที่กองทุนจ่ายสวัสดิการทั้งหมด 171,200 บาท
ผู้สูงอายุและเด็กนักเรียนรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสวัสดิการฯ เมื่อ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
“การประชุมใหญ่ปีนี้ เราได้หารือกันว่า นอกจากสวัสดิการที่ช่วยเหลือสมาชิกตอนเสียชีวิตแล้ว เราควรจะช่วยตอนสมาชิกยังมีชีวิตอยู่ด้วย เพราะถ้าสมาชิกตายไปแล้วก็คงจะไม่ได้ใช้เงิน เราจึงเสนอแนวคิดว่า ควรจะช่วยสมาชิกตอนที่มีชีวิตด้วย เช่น ถ้าเป็นสมาชิกครบ 10 ปีขึ้นไป เสียชีวิตจะช่วย 15,000 บาท เมื่อยังมีชีวิตอยู่เราก็อาจจะช่วยสัก 20 % ของวงเงิน 15,000 บาท” ประธานกองทุนสวัสดิการฯ บอกถึงแนวทางที่จะนำมาใช้ในปีนี้
นอกจากนี้กองทุนฯ ก็จะช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาส คนพิการ เด็กที่ยากไร้ในตำบล โดยจะให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้สมัครเป็นสมาชิกโดยไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุน แต่จะได้รับสวัสดิการเหมือนสมาชิกทั่วไป เพื่อลดภาระในการสมทบเงินออม เพราะกลุ่มเปราะบางเหล่านี้จะไม่มีรายได้ ทำให้คนในตำบลได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า !!
ช่วยซ่อมสร้างบ้านผู้ด้อยโอกาส-ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดิน
ในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กองทุนสวัสดิการฯ ได้ใช้งบประมาณกองทุนกว่า 1 แสนบาท ซ่อมสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม จำนวน 5 หลัง เช่น ซ่อมบ้านนายเยิ้ม กลับชาติ ผู้สูงวัย อายุ 91 ปี ซ่อมฝาบ้าน พื้นบ้านที่ผุพัง , บ้านนายสังวาลย์ จันทร์เจริญ พื้นบ้านผุพังเพราะอยู่ติดป่าชายเลน น้ำท่วมถึง โดย พมจ.เพชรบุรีร่วมสมทบเงินซ่อมจำนวน 39,000 บาท
สภาพบ้านเรือนในพื้นที่ป่าชายเลน และได้รับการซ่อมสร้างจากกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ
ขณะเดียวกันในปีนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านทรุดโทรม ตามโครงการ ‘บ้านพอเพียงชนบท’ ในตำบลบางขุนไทร จำนวน 8 ครอบครัว โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณไม่เกินหลังละ 20,000 บาท
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2559 กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น อบต.บางขุนไทร สำนักงานป่าชายเลน กรมป่าไม้ สำนักงานเจ้าท่า ฯลฯ แก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในตำบลบางขุนไทรที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่ป่าชายเลน โดยทางจังหวัดเพชรบุรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดิน (คทช.จังหวัดเพชรบุรี) เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชนผู้ยากไร้ ตามนโยบายคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.ชาติ/ มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน)
ต่อมา คทช.จังหวัดเพชรบุรี ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูล พบว่า ชาววบ้านได้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าชายเลนมาเป็นเวลานาน และมีฐานะยากจนจริง จึงได้อนุญาตให้ชาวบ้านในตำบลบางขุนไทรที่ปลูกสร้างบ้านเรือนในป่าชายเลนได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามนโยบาย คทช.ชาติตั้งแต่ปี 2563 ทำให้พวกเขามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกรื้อย้ายไล่ออกจากพื้นที่...
ทั้งหมดนี้คือวิถีของคนบางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ถึงแม้เนื้อตัวของพวกเขาจะมีคราบไคลและกลิ่นอายเกลือจากท้องทะเล แต่จิตใจของพวกเขาไม่ได้เค็มเหมือนเกลือ เพราะได้ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากไร้...สร้างสวัสดิการจากท้องทะเลสู่สวัสดิการชุมชนถึงทุกคนถ้วนทั่วกัน...!!
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางขุนไทรร่วมกันสร้างสวัสดิการถ้วนหน้า ผู้ใหญ่ศรีเพชร (ยืนที่ 6 จากซ้ายไปขวา)
*******
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
สมัครชิง นายกอบจ.เพชรบุรี คึกคัก ‘อดีตนายกอบจ.’ ชน ‘อดีตสส.เพชรบุรี’
วันแรกในการเปิดรับสมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 14-18 ตุลาคม 2567
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
แปลงใหญ่กล้วยน้ำว้า เพชรบุรี วางแผนกู้วิกฤต
นายวีรศักดิ์ บุญเชิญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่นเดียวกับเกษตรกรแปลงใหญ่กล้วย หมู่ 2,3,6