สินค้าชุมชนที่แปรรูปจากมะพร้าว รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของชาวหินเทิน ต.แสงอรุณ อ.ทับสะแก
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือว่าเป็นเมืองหลวงของมะพร้าว เพราะทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว (มะพร้าวแกงหรือมะพร้าวอุตสาหกรรม) ทั้งหมดจำนวน 859,439 ไร่ ในจำนวนนี้ 353,974 ไร่ หรือกว่า 40 % มีพื้นที่ปลูกอยู่ที่ประจวบคีรีขันธ์
โดยเฉพาะที่อำเภอทับสะแก มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด คือ 135,723 ไร่ ในปี 2563 ให้ผลผลิตทั้งหมดกว่า 111 ล้านลูก (ผลผลิตต่อไร่ จำนวน 875 ลูก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร)
มะพร้าวที่ปลูกส่วนใหญ่ส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตเป็นน้ำกะทิสำเร็จรูป จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ผู้บริโภคในต่างประเทศส่วนใหญ่คือคนเอเชียในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรป โดยนำไปปรุงอาหาร ผสมเครื่องดื่ม รวมทั้งใช้แทนนมสดเพื่อทำขนมต่างๆ
ในปี 2562 ประเทศไทยส่งกะทิสำเร็จรูปไปตลาดต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 12,766 ล้านบาท สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องถ้วนหน้า ตั้งแต่คนปลูก คนสอยมะพร้าว คนปอก คนรับซื้อ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ
ขณะเดียวกันวิถีชีวิตของชาวสวนมะพร้าวก็มิได้สูงเด่นดังยอดมะพร้าว เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวสวนต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ เช่น แมลงศัตรูมะพร้าวที่ทำลายสวนจนแทบย่อยยับ ราคาที่ขึ้น-ลงไม่คงที่ ฯลฯ ทำให้ชาวสวนมะพร้าวต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ดังเช่นชาวสวนที่ตำบลแสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์
มะพร้าวจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุประมาณ 7 ปี หากบำรุงรักษาดี มะพร้าวจะให้ผลผลิตจนถึงอายุ 60 -70 ปี เนื้อไม้มะพร้าวที่แก่ยังนำมาใช้ก่อสร้างหรือทำเฟอร์นิเจอร์ภายในได้
คนแสงอรุณใช้ข้อมูลวางแผนพัฒนาตำบล
ตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 32 กิโลเมตร ด้านตะวันตกจรดเทือกเขาตะนาวศรี ด้านตะวันออกจรดอ่าวไทย มีเนื้อที่ประมาณ 30,800 ไร่ เป็นสวนมะพร้าวประมาณ 80 % มี 6 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำสวนมะพร้าว ไร่สับปะรด เลี้ยงวัว หมู และทำประมงชายฝั่ง
ภัทรดนัย สมศรี หรือ “กำนันเอก” วัย 49 ปี กำนันตำบลแสงอรุณ เป็นผู้นำนักพัฒนารุ่นใหม่ บอกว่า ตนเรียนจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี และปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ เริ่มเป็นกำนันเมื่อปี 2556 (ตอนอายุ 39 ปี) ได้นำความรู้ที่เรียนมาใช้ในการพัฒนาชุมชน
เช่น ใช้โปรแกรม CIA (Community Information Radar Analysis) นำมาจัดทำระบบสารสนเทศชุมชน โดยการสำรวจข้อมูลตำบลด้านต่างๆ ร่วมกับผู้นำชุมชน หมู่บ้าน เช่น ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) ในครัวเรือน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ นำมาวางแผนแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกับ อบต.แสงอรุณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น
“กำนันเอก”
ทั้งนี้โปรแกรม CIA จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและปัญหาของชุมชน และนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 5 ด้าน คือ 1.สารสนเทศเพื่อการพัฒนาด้านอาชีพ 2.เพื่อการจัดการทุนของชุมชน 3.เพื่อจัดการความเสี่ยงของชุมชน 4.เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และ 5.เพื่อการบริหารจัดการชุมชน
“ผมใช้ระบบสารสนเทศชุมชนในปี 2559 และนำข้อมูลมาใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในตำบล เช่น หมู่ 2 มีปัญหาขาดแคลนน้ำใช้ในการเกษตร จึงทำเรื่องขุดสระน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำใช้ หมู่ 4 ทำถนนเพื่อใช้ขนสินค้าเกษตรออกมาขาย และทำเรื่องท่องเที่ยวชุมชนในหมู่ที่ 4 เพราะอยู่ติดชายทะเล และหมู่ 5 มีอาชีพที่เกี่ยวกับมะพร้าวจึงส่งเสริมเรื่องอาชีพ การแปรรูปมะพร้าว เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยววิถีชุมชน” กำนันนักพัฒนารุ่นใหม่บอก
วิถีคนและมะพร้าว
ตำบลแสงอรุณมีทั้งทะเลและภูเขา บริเวณหมู่ที่ 4 อยู่ติดกับถนนเพชรเกษม ด้านบนจากถนนเพชรเกษมลงมาถึงชายฝั่งเป็นสวนมะพร้าว ทอดยาวลงสู่ชายทะเลเป็นหมู่บ้านชาวประมงขนาดย่อม มีเรือหาปลาลำเล็กๆ จอดอยู่ 4-5 ลำ
ที่นี่คือ...ชายหาดแสงอรุณ...แม้เม็ดทรายจะไม่ขาวละเอียดเนียนเท้า แต่บรรยากาศก็เงียบสงบ ไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การพักผ่อนยิ่งนัก
ริมชายหาดมีร้านกาแฟและเครื่องดื่มซ่อนตัวอยู่ใต้ทิวสน มีรีสอร์ทเล็กๆ ไม่กี่แห่งตั้งอยู่ใต้ร่มมะพร้าว ชายหาดด้านที่อยู่ติดกับหมู่บ้านชาวประมงมีร้านขายก๊วยจั๊บ กล้วยปิ้ง น้ำอัดลม และขนมจุกจิก เป็นร้านที่มีคนในหมู่บ้านแวะเวียนมากินและนั่งเล่น เสมือนเป็นสโมสรของชาวประมงเอาไว้พบปะกัน นานๆ ทีจึงจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน
แต่สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความสงบเงียบและวิถีชีวิตชาวประมงแบบบ้านๆ ...ชายหาดแสงอรุณ..ยินดีต้อนรับ !!
ชายหาดในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว
เลยจากหาดแสงอรุณขึ้นไปจรดเทือกเขาตะนาวศรี ที่นี่เป็นสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 20,000 ไร่ มีเรื่องเล่าขานบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของตำบลว่า...
ในราวปี 2501 พื้นที่แถบนี้ยังเป็นป่ารก ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้ายและไข้ป่า มีนายทุนจากกรุงเทพฯ พร้อมแรงงานเข้ามาบุกเบิกทำไร่อ้อยเนื้อที่หลายร้อยไร่ แต่ทำได้เพียง 2 ปีไม่ประสบความสำเร็จ นายทุนรายนี้จึงถอยทัพกลับเมืองกรุง ทิ้งลูกน้องให้ทำไร่อ้อยประทังชีวิต
ในปี 2503 มีผู้คนจากที่ต่างๆ อพยพเข้ามาอยู่ แต่เปลี่ยนมาทำสวนมะพร้าว หลายปีต่อมา เมื่อได้ผลผลิตดี จึงมีผู้คนเข้ามาอยู่กันมากขึ้น จนขยายกลายเป็นหมู่บ้าน ตอนแรกชาวบ้านเรียกชื่อตามคลองที่ใช้แบ่งเขตว่า “หมู่บ้านคลองไข่เน่า” ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อใหม่ตามลักษณะของก้อนหินขนาดใหญ่ที่ตั้งเทินอยู่เหนือเทือกเขาตะนาวศรีว่า “หมู่บ้านหินเทิน” ปัจจุบันคือหมู่ที่ 5 และถือเป็นศูนย์กลางของตำบลเพราะมีสถานที่ราชการตั้งอยู่หลายแห่ง เช่น รพ.สต.หินเทิน
กำนันเอก ในฐานะคนหินเทิน บอกว่า ชาวบ้านในตำบลแสงอรุณส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนมะพร้าว เป็นอาชีพที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ สามารถเลี้ยงครอบครัวได้สุขสบาย เฉพาะคนที่มีอาชีพสอยมะพร้าววันหนึ่งๆ จะมีรายได้หลายร้อยบาท แต่ไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ง่ายๆ เพราะต้องอาศัยความชำนาญ ร่างกายที่แข็งแรง ใช้ไม้ไผ่ต่อกันยาว กว่าสิบเมตร ติดตะขอคมกริบตรงปลายเอาไว้เพื่อสอยลูกมะพร้าวลงมา
ผลมะพร้าวแก่ที่รอคนสอยลงมา
“คนสอยมะพร้าวจะต้องดูว่า มะพร้าวทะลายไหนแก่ได้ที่ จึงจะสอยลงมาได้ หากสอยมะพร้าวที่ยังไม่แก่ลงมา จะทำให้ขายไม่ได้ราคา ตอนนี้คนที่สอยเก่งๆ จะมีรายได้วันละประมาณ 1 พันบาท ค่าสอยตกลูกละ 1 บาท ที่ทับสะแกจะใช้คนสอย ไม่ได้ใช้ลิง เพราะคนสอยเร็วกว่าลิงปีน แต่ข่าวที่ออกมาว่าประเทศไทยใช้ลิงปีนเก็บมะพร้าวเป็นการทารุณสัตว์ ทำให้ชาวสวนได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะตลาดทางยุโรปและอเมริกาจะห้ามขายกะทิสำเร็จรูปที่มาจากเมืองไทย” กำนันเอกบอก
ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2555-2556 ชาวสวนมะพร้าวในอำเภอทับสะแกและพื้นที่ใกล้เคียงต่างประสบกับปัญหาแมลงศัตรูมะพร้าว คือ “หนอนหัวดำ” จะกัดกินใบมะพร้าวเป็นอาหาร หากเป็นมะพร้าวต้นเล็ก ถ้าหนอนหัวดำระบาดรุนแรงจะกัดกินต้นมะพร้าวจนตายได้ หากเป็นมะพร้าวที่โตแล้ว ผลผลิตจะลดลง สร้างความเสียหายแก่ชาวสวนมะพร้าวอย่างทั่วหน้า
“ตอนนั้นหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยก็มาช่วยชาวสวนหาวิธีกำจัดหนอนหัวดำ เช่น กรมวิชาการเกษตร และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ ก็ให้งบประมาณมาสนับสนุน ใช้หลายวิธีผสมกัน เช่น เลี้ยงแตนเบียนเพื่อมาทำลายวงจรชีวิตของหนอนหัวดำ รวมทั้งใช้สารเคมีฉีดพ่น ใช้เวลา 2-3 ปี จึงแก้ปัญหาได้” กำนันเอกบอกช่วงที่เผชิญกับวิกฤต
แปรวิกฤตเป็นโอกาสเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยว
นอกจากปัญหาแมลงศัตรูพืชแล้ว ราคามะพร้าวก็ยังขึ้น-ลงไม่คงที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นประเทศที่ปลูกมะพร้าวมากที่สุดในโลก (ประมาณ 25 ล้านไร่ ไทยเกือบ 1 ล้านไร่) ทำให้ชาวสวนมะพร้าวไทยได้รับผลกระทบ เพราะมะพร้าวนำเข้าจะมีราคาต่ำกว่า
ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยต่อลูก ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฉีดพ่นศัตรูมะพร้าว ค่าบำรุงดูแล ค่าจ้างคนสอยมะพร้าว คนปอกเปลือก ฯลฯ จะตกประมาณลูกละ 6-7 บาท ถ้าปีไหนราคารับซื้อต่ำกว่านี้ ชาวสวนก็จะขาดทุน แต่ถ้าราคาไม่ต่ำกว่าลูกละ 10 บาท ชาวสวนก็พอจะยิ้มได้ หรือถ้าพุ่งสูงขึ้นไปอีก ชาวสวนก็จะหน้าบานยิ้มได้ทั้งวัน (หากเป็นมะพร้าวปอกเปลือกตัดเป็นชิ้นพร้อมส่งเข้าโรงงานผลิตกะทิ เรียก “มะพร้าวขาว” ราคาประมาณ ก.ก.ละ 23-25 บาท)
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ทำให้กำนันเอกมองหาช่องทางในการส่งเสริมเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว โดยนำผลผลิตมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า นำคนที่มีความรู้ด้านการแปรรูปมะพร้าวมาสอนและส่งเสริมชาวสวนตั้งแต่ปี 2559
เช่น นำมะพร้าวมาทำน้ำมันมะพร้าวแบบสกัดร้อนและสกัดเย็น นำน้ำมันที่สกัดมาทำสบู่ ยาหม่อง เครื่องสำอาง ใช้กรรมวิธีง่ายๆ ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง นำเนื้อมะพร้าวมาทำมะพร้าวแก้วอบมะลิ เป็นขนมหรืออาหารว่างเคี้ยวเพลิน
นำกะลามะพร้าวมากลึง ขัด ตกแต่งเป็นสายสร้อย เครื่องประดับ ของตกแต่งบ้าน นำทางมะพร้าวมาทำไม้กวาด ส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในสวนมะพร้าว ฯลฯ เป็นสินค้าโอทอป จำหน่ายทางออนไลน์ ขายในชุมชน และออกบูธ ตามงานต่างๆ ปัจจุบันมีชาวบ้านทำอาชีพต่างๆ เหล่านี้ประมาณ 20 ราย
น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นขนาด 500 ซีซี ราคาขวดละ 400 บาท
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงเรื่องวิถีชีวิตและอาชีพของชาวบ้านในตำบลนำไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน เริ่มในปี 2559 พร้อมกับการส่งเสริมการแปรรูปมะพร้าว และเริ่มเป็นจริงจังในราวปี 2562 เมื่อกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาด ไทยเข้ามาส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ‘นวัตวิถี’
โดยมีโปรแกรมการท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ในตำบล เช่น ชมสวนมะพร้าว ดูวิธีการเก็บ ปอกมะพร้าว ชิมมะพร้าวกะทิ การทำน้ำตาลมะพร้าว เรียนรู้การสกัดน้ำมันมะพร้าวเพื่อใช้ในครัวเรือน ทำเครื่องประดับจากกะลามะพร้าว ดูการเลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงหมูหลุม ฯลฯ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์และกินอาหารในท้องถิ่น มีเมนูเด็ดที่หากินยาก เช่น ผัดกากมะพร้าวใส่กุ้ง แกงส้มกุ้งใส่ยอดมะพร้าว
ผู้มาศึกษาดูงานและท่องเที่ยวชุมชนอิ่มอร่อยกับอาหารพื้นบ้านหัวละ 200 บาท มี 5 เมนู เช่น ผัดกากมะพร้าวใส่กุ้ง แกงส้มกุ้งใส่ยอดมะพร้าว ปลาทะเลราดพริก ทอดมันปลา ฯลฯ
กลุ่มทำ ‘มะพร้าวขาว’ ช่วยผู้ด้อยโอกาส
อย่างไรก็ตาม นอกจากการส่งเสริมอาชีพและการท่องเที่ยวชุมชนแล้ว ชาวชุมชนตำบลแสงอรุณยังมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแสงอรุณ ก่อตั้งเมื่อปี 2551 โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช’ ให้การสนับสนุน สมาชิกจะสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือนๆ ละ 30 บาทหรือปีละ 365 บาท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,700 คน เงินกองทุนประมาณ 4 ล้านบาทเศษ
ช่วยเหลือสมาชิก เช่น เกิด ช่วย 500 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลปีหนึ่งไม่เกิน 15 คืน ช่วยคืนละ 200 บาท เสียชีวิต เป็นสมาชิก 8 ปีขึ้นไปช่วยเหลือ 30,000 บาท ฯลฯ นอกจากนี้ในช่วงโควิด-19 ช่วยเหลือสมาชิกที่ติดเชื้อรายละ 500 บาท รวมทั้งทำครัวกลาง แจกอาหารผู้ได้รับผลกระทบ
ในปี 2565 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 80,000 บาท เพื่อให้ชุมชนจัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย โดยชุมชนนำเงินมาจัดสรรให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุทั้ง 6 หมู่บ้าน ให้รวมกลุ่มกันรับซื้อมะพร้าวที่ตกเกรด ขนาดไม่ได้มาตรฐาน นำมาทำ “มะพร้าวขาว”
โดยนำมะพร้าวมาปอกเปลือก ขูดผิวเนื้อมะพร้าวด้านนอกออกจนเห็นเนื้อขาว (เมื่อนำไปผลิตน้ำกะทิจะไม่มีสีดำหรือน้ำตาลของผิวนอกเจือปน) แล้วนำมาหั่นเป็นชิ้น ส่งขายให้แก่พ่อค้า ราคากิโลกรัมละ 23-25 บาท (ราคาเท่ากับมะพร้าวเกรดปกติ) ดีกว่าขายมะพร้าวตกเกรดเป็นลูก เพราะจะโดนพ่อค้ากดราคา ทำให้ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุมีอาชีพ มีรายได้ตอบแทนวันละ 200-300 บาท
กำนันเอก บอกในตอนท้ายว่า เขาเชื่อว่ามะพร้าวยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญและยังมีอนาคตของชาวสวนมะพร้าวต่อไป แต่ก็กังวลเรื่องการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่งนำน้ำกะทิสำเร็จรูปราคาถูกจากประเทศเวียดนามเข้ามาผสมกับน้ำกะทิที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อลดต้นทุน ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลกระทบต่อชาวสวนมะพร้าวไทยได้
“ดังนั้นชาวสวนมะพร้าวจะต้องรักษาคุณภาพการผลิต ดูแลการปลูกให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ หากปลูกแบบอินทรีย์ก็ยิ่งดี จะสามารถนำผลผลิตมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก เช่น ทำน้ำมันสกัดเย็น และนำไปแปรรูปเป็นเครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งตอนนี้ชาวสวนมะพร้าวในตำบลแสงอรุณได้เริ่มทำแล้ว และจะพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป” กำนันนักพัฒนาบอกทิ้งท้าย
****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา