เส้นทางรถไฟความเร็วสูงช่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กำลังก่อสร้าง
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา อนุมัติแผน 5 ปี (2566-2570) แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ รวม 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบ 7,718 ล้านบาท
โดยรัฐบาลมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือพอช. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดำเนินการ เริ่มต้นในปีนี้ 939 ครอบครัวใน 6 จังหวัด เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม
พอช.เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง
สยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ในฐานะโฆษก พอช. บอกว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 14 มีนาคม ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษนั้น ขณะนี้ พอช. พร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท.
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอยู่ในระหว่างดำเนินการ (ภาพจาก รฟท.)
โดยในปี 2566 มี 6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ คือ 1.ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้มีที่ดินรองรับย่านบึงมักกะสัน เขตราชเทวี จำนวน 306 ครอบครัว โดย พอช. อยู่ระหว่างการออกแบบที่อยู่อาศัย
2.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดฉะเชิงเทรา 43 ครอบครัว 3..ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดพิษณุโลก 30 ครอบครัว 4.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา 166 ครอบครัว 5.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น 169 ครอบครัว และชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225 ครอบครัว รวมทั้งหมด 939 ครอบครัวที่จะดำเนินการในปีนี้
“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น พอช.จะสนับสนุนตามกระบวนการบ้านมั่นคง คือ ชาวชุมชนที่เดือดร้อนต้องรวมกลุ่มกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน และจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการโครงการ เมื่อสามารถเช่าที่ดินจาก รฟท. หรือหาที่ดินแปลงใหม่ได้แล้ว พอช.ก็จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย การก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า ระบบบำบัดน้ำเสีย”
โฆษก พอช.ชี้แจงรายละเอียดว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยจะแบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 ส่วน คือ 1.งบอุดหนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างสาธารณูปโภค การพัฒนาที่อยู่อาศัย ไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท 2.งบอุดหนุนผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ค่าเช่าบ้านระหว่างก่อสร้างบ้าน รื้อถอน ขนย้าย ไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท และ 3.งบสินเชื่อเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือซื้อที่ดินใหม่ ไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท
ส่วนรูปแบบการดำเนินการนั้น จะมีทั้งการปรับปรุง ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้) การก่อสร้างบ้านในที่ดินใหม่ หรือจัดซื้อ-เช่าในโครงการที่มีอยู่แล้ว เช่น โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ ฯลฯ
“นอกจากนี้เมื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแล้ว พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นจะร่วมกันส่งเสริมอาชีพ พัฒนาสิ่งแวดล้อม กิจกรรมเด็กและเยาวชน การดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในชีวิตและที่อยู่อาศัย” โฆษก พอช.กล่าว
ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เตรียมสร้างบ้านใหม่บริเวณบึงมักกะสัน ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร
ย้อนรอยการแก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.
ในปี 2541 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีนโยบายจะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท. เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน
การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่องนับจากปี 2541 จนถึงกันยายน 2543 มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 2,000 คน ใช้เวลา 3 วัน ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 เห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค คือ
1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้ หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์ ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี
2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร
3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม ฯลฯ
หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สงขลา ฯลฯ รวม 61 ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ และพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547 (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี) โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและงบประมาณบางส่วน
จนเมื่อ รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศในปัจจุบัน ทำให้มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ผลการสำรวจข้อมูลพบว่า มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ขณะนี้หลายชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว
เครือข่ายริมรางรถไฟและสลัม 4 ภาคจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมาเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางดังกล่าว
ชาวชุมชนริมทางรถไฟ ‘บุญร่มไทร’ ย่านราชเทวี อยู่ในเส้นทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ร่วมกันทำความสะอาดก่อนโดนไล่รื้อ
แผน 5 ปี 35 จังหวัด 27,084 ครัวเรือน
ทั้งนี้ตามแผนงานโครงการ ในปี 2566 จะเริ่มดำเนินการใน 6 พื้นที่ รวม 939 ครอบครัว ใช้งบประมาณ 267 ล้านบาทเศษ และจะดำเนินการในปีต่อๆ ไป จนถึงปี 2570 รวมทั้งหมด 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,718 ล้านบาทเศษ
สยาม นนท์คำจันทร์ โฆษก พอช. กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาและแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางนี้ จะทำให้เกิดผลดีต่อชุมชนและสังคมหลายประการ เช่น 1.ชุมชนผู้มีรายได้น้อยจะมีความมั่นคงในชีวิตและที่อยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถแก้ปัญหาชุมชนแออัดและชุมชนบุกรุก และสร้างสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่ของเมืองและชุมชน
ชุมชนหินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับผลกระทบจากรถไฟรางคู่สายใต้ตั้งแต่ปี 2561 ร่วมกันจัดหาที่ดินแปลงใหม่เพื่อก่อสร้างบ้าน ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน จนก่อสร้างบ้านเสร็จ 70 หลังและเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2565 (ทำโครงการบ้านมั่นคงก่อนมีมติ ครม. 14 มีนาคม 2566 /ดูรายละเอียดเรื่อง ‘คนจนเมืองหัวหินรวมพลังสร้างบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ’ที่ google)
2.ลดผลกระทบความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมและบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงาน ต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มเปราะบางในชุมชน สร้างความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
3.ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานของรัฐ เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นผู้อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของรัฐได้ 4.ส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาด้านต่างๆในชุมชน 5.สร้างสินทรัพย์เป็นทุนของชุมชน และ 6.กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม…!!
บ้านใหม่ของชาวชุมชนหินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปลี่ยนจากเดิมที่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด ทรุดโทรม เป็นบ้านใหม่ที่สวยงาม มีสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยศึกษาการประเมินมูลค่าเพิ่มจากโครงการบ้านมั่นคงในปี 2557 ว่า โครงการบ้านมั่นคงทําให้ครัวเรือนมีรายจ่ายลดลง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า น้ำประปาที่ประหยัด เพราะไม่ต้องพ่วงจากภายนอกมาใช้ในราคาแพง และมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะครัวเรือนมีการผ่อนส่งบ้านให้แก่สหกรณ์จึงต้องขวนขวายหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายของครัวเรือน ฯลฯ
***********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต