คนจน ‘ริมทางรถไฟเมืองเพชรบุรี’ ร่วมสร้างบ้านมั่นคง ระดมทุนเติมฝันสร้างบ้าน-สร้างชีวิตใหม่ผู้ด้อยโอกาส

เส้นทางรถไฟรางคู่ช่วงผ่านเมืองเพชรบุรี

ชุมชนริมทางรถไฟเมืองเพชรบุรีที่ร่วมกันสร้างบ้านมั่นคง   

เสียงหวูดรถไฟแผดก้องมาแต่ไกล..เป็นสัญญาณเตือนให้ผู้คนที่กำลังสัญจรไปมาหยุดรอให้ขบวนรถไฟแล่นผ่านไปเสียก่อน...สำหรับคนที่อยู่ริมทางรถไฟมานานค่อนชีวิต  พวกเขาต่างคุ้นเคยกับเสียงหวูดและล้อเหล็กที่บดขยี้ไปบนราง  และรู้ว่าขบวนรถไฟจะแล่นผ่านหน้าบ้านเวลาใด  จะคลาดเคลื่อนไปบ้างก็นานๆ ครั้ง 

เช่นเดียวกับ “ป้าแอ๊น” และครอบครัว “ป้าแดง”  ที่ชาชินกับเสียงรถไฟ  เพราะแกมีบ้านหรือพูดให้ตรงตามสภาพก็คือ “เพิงพัก”  อยู่ริมทางรถไฟในเมืองเพชรบุรีมานานไม่ต่ำกว่า 30-40 ปี  

แต่วันนี้ดูเหมือนว่าเสียงหวูดและล้อเหล็กจะเปลี่ยนไป  ทั้งยังนำพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่ผู้คนริมทางรถไฟหลายร้อยครอบครัวอีกด้วย...!!

ชีวิตหลังทางรถไฟรางคู่ ‘นครปฐม-หัวหิน’

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีแผนพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  เช่น  รถไฟความเร็วสูง  รถไฟรางคู่  ฯลฯ  รวมทั้งการนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ 

เส้นทางรถไฟสายใต้  ตั้งแต่จังหวัดนครปฐมจนถึงสงขลา   รฟท.มีแผนพัฒนาเป็นรถไฟรางคู่  เพื่อให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว  ไม่ต้องรอสับหลีกขบวนรถไฟให้เสียเวลาเหมือนดังแต่ก่อน

เส้นทางรถไฟรางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร  ใช้งบประมาณ 15,718 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างในปี 2561  ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ 100 %  รวมทั้งเส้นทางจากหัวหินไปจังหวัดชุมพร  ขณะนี้การก่อสร้างเกือบสมบูรณ์ 100 %  โดย รฟท.มีแผนจะเปิดบริการรถไฟรางคู่ในช่วงปี 2567  ช่วยร่นระยะเวลาเดินทางจากเดิมได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง

ขณะเดียวกัน  การขยายเส้นทางรถไฟรางคู่  ช่วงเพชรบุรี-หัวหิน  ทำให้ชุมชนริมทางรถไฟหลายสิบชุมชนทั้งใน จ.เพชรบุรี  และ อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  ต้องถูกรื้อย้าย  เนื่องจากชุมชนริมทางรถไฟส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านเรือนโดยไม่ได้เช่าที่ดิน      รฟท.อย่างถูกต้อง  (บางชุมชนเช่าที่ดินแต่ถูกยกเลิกสัญญาเช่า)

เช่น  ชุมชนหินเหล็กไฟใน อ.หัวหิน  โดนฟ้องขับไล่ในช่วงปี 2561-2562 หลังจากนั้นชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย   (ดูรายละเอียดเรื่อง ‘คนจนเมืองหัวหินรวมพลังสร้างบ้านมั่นคงหินเหล็กไฟ’ ที่ https://www.thaipost. net/public-relations-news/181102/)

ชุมชนหินเหล็กไฟ  อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  70 ครอบครัว  สร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2565

ส่วนที่เพชรบุรี  มีชุมชนในที่ดิน รฟท.ที่ตั้งเรียงรายอยู่ในเขตอำเภอเมืองเกือบ  10  ชุมชน  เช่น  ชุมชนท่าหิน    วัดนาค   ไตรโลก  หน้าพระลาน  วัดปีบ ชุมชนรถไฟ-ไชยสุรินทร์   ฯลฯ  มีผู้อยู่อาศัยหลายร้อยครอบครัว

อรปรียา  แหวนวงษ์  แกนนำชาวชุมชนริมทางรถไฟเพชรบุรี  บอกว่า  ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท.ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ  เป็นลูกจ้างร้านอาหาร  สถานบริการ  บริษัทเอกชน  ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ  ฯลฯ  ส่วนใหญ่อาศัยอยู่มานานตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่  เพราะเห็นเป็นที่ดินริมทางรถไฟที่รกร้าง  ไม่ได้ทำประโยชน์  ชาวบ้านจึงเข้ามาบุกเบิกสร้างบ้านเรือนเรียงรายไปตามทางรถไฟ   ต่อมาจึงมีชาวบ้านจากที่ต่างๆ เข้ามาอยู่อาศัยมากขึ้น  จนกลายเป็นชุมชนแออัดหนาแน่น

“ประมาณปี 2557  เริ่มมีข่าวว่าการรถไฟฯ จะเอาที่ดินคืนเพื่อขยายเป็นทางรถไฟรางคู่  แต่ชาวบ้านก็ยังไม่มีการรวมตัวกันแก้ปัญหา  เพราะไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร  จนถึงปี 2561 การรถไฟฯ มาติดประกาศให้ชาวบ้านย้ายออกจากที่ดิน  ถ้าใครไม่ย้ายจะถูกฟ้องดำเนินคดี  ชาวบ้านกลัวมีความผิดจึงยอมรื้อย้ายออกจากที่ดินรถไฟฯ”  อรปรียาบอกความเป็นมา

พอช.หนุนแก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.

ขณะเดียวกัน  ในช่วงที่ รฟท. เริ่มติดประกาศแจ้งให้ชาวบ้านย้ายออกจากที่ดินรถไฟในปี 2561 นั้น   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำการรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  เช่น   ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน-ครอบครัวที่เดือดร้อน  เพื่อใช้ข้อมูลเป็นฐานในการแก้ปัญหา  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อบริหารโครงการและทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ  เช่น  เช่าหรือซื้อที่ดินรองรับ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  ‘เครือข่ายสลัม 4 ภาค’ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของชุมชนริมทางรถไฟทั่วประเทศเคยมีข้อตกลงร่วมกับ รฟท.ตั้งแต่ปี 2543 เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.  เช่น  อนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท.ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย 

ขณะที่ พอช.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ  สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีภารกิจในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ จะเป็นฝ่ายทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท. และนำที่ดิน รฟท.มาให้ชุมชนเช่าต่อ 

นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนสินเชื่อและงบประมาณ (บางส่วน) เพื่อให้ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ได้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่  (หรือซื้อที่ดินใหม่กรณีที่ รฟท.ไม่มีที่ดินให้เช่า) เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุก  ชุมชนแออัด  เป็นเช่าที่ดินอย่างถูกต้อง   มีสภาพบ้านเรือนและชีวิตดีกว่าแต่ก่อน  มีถนน  น้ำประปา  มีไฟฟ้าใช้  ไม่ต้องพ่วงจากข้างนอกมาใช้ในราคาแพง   โดยมี  61 ชุมชนทั่วประเทศที่ทำโครงการไปแล้ว  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟในกรุงเทพฯ  เชียงใหม่  สงขลา  ฯลฯ

อรปรียา  แกนนำชาวชุมชนริมทางรถไฟเพชรบุรี  บอกต่อไปว่า  หลังจากที่เจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำการรวมกลุ่มแก้ปัญหาแล้ว  ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันเป็นคณะทำงาน  (ประมาณ 8 คน) ร่วมกันสำรวจข้อมูลชุมชน  ครอบครัวที่เดือดร้อน  ไปศึกษาดูงานชุมชนที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงในเพชรบุรี  เช่น  บ้านมั่นคงเจริญทรัพย์   โดยชาวบ้านจะต้องรวมกลุ่มกันออมเงินเป็นรายเดือนเพื่อเป็นทุนซื้อที่ดิน (รฟท.ไม่มีที่ดินให้เช่า)  จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาบริหารโครงการ  ฯลฯ

“เราช่วยกันสำรวจข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟรางคู่ในเมืองเพชรบุรี  พบว่ามีจำนวน  6 ชุมชน  ประมาณ  300 ครอบครัว  แต่พอโดนปิดป้ายประกาศให้ออกจากที่ดินรถไฟ  ชาวบ้านก็กลัว  ยอมรื้อถอนบ้าน   ใครมีญาติพี่น้องอยู่ที่ไหนก็ไปอาศัยเขาอยู่  บางคนไปหาบ้านเช่า  หรือย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด   เหลือคนที่เดือดร้อน  ไม่มีที่จะไปประมาณ 100 ครอบครัว  จึงมารวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน”  อรปรียาบอก

เส้นทางรถไฟรางคู่ช่วงผ่านเมืองเพชรบุรี  ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว  สองข้างทางเคยมีบ้านเรือนตั้งอยู่ 

รวมพลังคนจนริมรางเมืองเพชรฯ สร้างบ้านมั่นคง

อรปรียาบอกว่า  กลุ่มออมทรัพย์เริ่มออมเงินกันในช่วงปลายปี 2561  แต่พอเอาเข้าจริงเหลือคนที่มีความตั้งใจอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  ไม่ต้องบุกรุกหรือเช่าบ้าน  จำนวน 44  ครอบครัว  ส่วนคนที่ไม่มั่นใจว่าคนจนด้วยกันจะรวมตัวกันแก้ปัญหาได้ก็ถอยออกไป  ไม่เข้าร่วม 

โดยชาวบ้านร่วมกันออมเงิน  ช่วงแรกครอบครัวละ 170 บาทต่อเดือน  แบ่งเป็น 100 บาทซื้อที่ดิน-สร้างบ้าน, 20 บาทเข้ากองทุนรักษาดินรักษาบ้าน (ช่วยเหลือกรณีเจ้าของบ้านเสียชีวิตแต่ยังผ่อนชำระสินเชื่อสร้างบ้านยังไม่หมด) 30 บาทเข้ากองทุนสวัสดิการชุมชนเอาไว้ช่วยเหลือกัน  และ 20 บาทเป็นค่าบริหารจัดการ 

จากนั้นจึงช่วยกันตระเวนดูที่ดินเอกชนที่ประกาศขายในเมืองเพชรบุรี  เพื่อความสะดวกในการทำมาหากิน  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  ค้าขายอยู่ในเมือง  เช่น  ขายกาแฟ  รถเร่ขายไอศครีม ฯลฯ  จนมาได้ที่ดินในช่วงปลายปี 2562   ที่ตำบลช่องสะแก  เขตอำเภอเมือง   ห่างจากศาลากลางจังหวัดราว 3 กิโลเมตร   เป็นที่นา  เนื้อที่ 4 ไร่เศษ  เจ้าของขายราคาไร่ละ 5 แสนบาท   รวมราคาที่ดิน 2 ล้านบาท  รองรับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 44  ครอบครัว  (เฉลี่ยแต่ละครอบครัวจะได้ที่ดินประมาณ 22-27 ตารางวา)

หลังจากนั้นชาวบ้านได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  มีคณะกรรมการ 8 คน  ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์บ้านมั่นคงพร้อมเพรียงทรัพย์  จำกัด”  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อซื้อที่ดิน  และจัดทำโครงการขอใช้สินเชื่อและงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  โดยใช้สินเชื่อซื้อที่ดินจำนวน  1.8 ล้านบาท  ส่วนที่เหลือจำนวน 2 แสนบาทใช้เงินออมสมทบรายเดือนของชาวบ้าน   จัดซื้อที่ดินในช่วงต้นปี  2563 

นาตยา  ทรงจันทร์  ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงพร้อมเพรียงทรัพย์  บอกว่า  หลังจากได้ที่ดินแล้ว  สถาปนิกจาก พอช. และช่างจาก อบต.ช่องสะแกได้เข้ามาช่วยชาวบ้านในการออกแบบบ้าน  จัดผังชุมชน  เพื่อเตรียมก่อสร้างบ้านเดี่ยวชั้นเดียว  ขนาด 6X8 ตารางเมตร  ราคาก่อสร้างประมาณหลังละ 370,000 บาท   โดยใช้วิธีจ้างผู้รับเหมา

ภาพกราฟฟิกชุมชนบ้านมั่นคงพร้อมเพรียงทรัพย์อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 3 กิโลเมตร

โดยสหกรณ์ขอใช้สินเชื่อก่อสร้างบ้านจาก พอช. รวมทั้งหมดประมาณ 11.5 ล้านบาท  เมื่อรวมสินเชื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้านแล้ว  ชาวบ้านจะต้องผ่อนชำระทั้งหมดประมาณเดือนละ 3,000 บาทเศษ  ระยะเวลา 15 ปี   อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี  

เริ่มก่อสร้างบ้านเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา  ขณะนี้ตอกเสาเข็ม  ก่อสร้างงานฐานราก  เสร็จไปแล้วประมาณ 20-30 %  ตามแผนงานการก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 22 หลังจะแล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคมนี้  ส่วนที่เหลืออีก 22  หลังจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2567

ส่วน พอช. นอกจากจะสนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านรวมทั้งหมดประมาณ 13 ล้านบาทเศษแล้ว  พอช.ยังสนับสนุนค่าเช่าบ้านในระหว่างที่ชาวบ้านยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จครอบครัวละ 18,000 บาท  งบสาธารณูปโภคส่วนกลาง  เช่น  ถนน  ประปา  ไฟฟ้า  ระบบบำบัดน้ำเสีย  ครอบครัวละ 45,000 บาท  และงบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 30,000 บาท  รวมงบสนับสนุนครอบครัวละ 93,000 บาท 

บ้านเฟสแรกจำนวน 22 หลัง  ก่อสร้างไปแล้วประมาณ 20-30 %

สานฝันสร้างบ้านให้ผู้ด้อยโอกาส

นอกจากบ้านที่กำลังก่อสร้างทั้งหมด 44 หลังแล้ว  ชาวชุมชนสหกรณ์บ้านมั่นคงพร้อมเพรียงทรัพย์ยังได้ช่วยเหลือให้ผู้สูงอายุที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนริมทางรถไฟในเมืองเพชรบุรี 2 ครอบครัวได้มีบ้านเป็นของตัวเองด้วย

อรปรียา  แหวนวงษ์  ผู้นำชุมชนริมทางรถไฟเพชรบุรี  บอกว่า  ช่วงที่คณะทำงานสำรวจข้อมูลชุมชนและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบ  ต้องรื้อย้ายออกจากที่ดินรถไฟนั้น  เธอและคณะทำงานได้พบกับครอบครัวผู้สูงอายุ 2 รายที่มีฐานะยากจน   มีรายได้ไม่เพียงพอที่จะเก็บออมเงินเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านใหม่เหมือนกับชาวชุมชนอีก 44 ครอบครัว

รายแรกคือ “ป้าแอ๊น” และอีกรายคือ “ป้าแดง” จึงมีความคิดที่จะให้ชาวชุมชนได้ช่วยเหลือกัน  โดยใช้ที่ดินที่จะทำโครงการบ้านมั่นคงนำมาแบ่งปัน  สร้างบ้านให้ผู้สูงอายุทั้ง 2 ครอบครัวได้อยู่อาศัย  ในลักษณะ ‘บ้านกลาง’ ซึ่ง พอช. ได้สนับสนุนให้ชุมชนที่มีความพร้อมจัดทำบ้านกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสได้อยู่อาศัยฟรี   เพราะไม่มีรายได้เพียงพอที่จะผ่อนชำระสินเชื่อ

“ป้าแอ๊น”  มาดูที่ดินที่ชาวบ้านมั่นคงพร้อมเพรียงทรัพย์แบ่งปันให้สร้างบ้านกลาง

“ป้าแอ๊น”  หรือ มาลัย  ชูทอง  อายุ 73 ปี  เล่าว่า  ป้าเป็นคนจังหวัดเชียงใหม่  พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่ป้ายังเป็นเด็ก  ต้องอาศัยอยู่กับญาติ  พอโตขึ้นมาจึงอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม  จึงชวนเพื่อนรุ่นเดียวกันเข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ   มาทำงานเป็นคนเลี้ยงเด็ก  ทำงานรับใช้ในบ้าน  และได้เรียนรู้งานตัดเย็บเสื้อผ้าจากนายจ้างด้วย

ต่อมาได้ตามนายจ้างมาอยู่ที่เพชรบุรี  ทำงานในบ้านนานหลายปี  อยากจะมีชีวิตอิสระ  จึงออกมาทำอาชีพรับจ้างเย็บ  ปะ  ชุน  เสื้อผ้า  เลี้ยงตัวเองเป็นอาชีพเรื่อยมา  แต่ไม่มีครอบครัว  เมื่อเห็นเพื่อนบ้านมาปลูกบ้านในที่ดินรถไฟแถวชุมชนท่าหิน   ป้าจึงหาเศษไม้  สังกะสี   จ้างวานคนมาช่วยสร้างบ้าน  เป็นเพิงเล็กๆ พออยู่อาศัย  ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน  แล้วเอาจักรเย็บผ้ามาตั้งอยู่หน้าบ้าน  เปิดรับปะเย็บเสื้อผ้าพอมีรายได้เลี้ยงตัว

“ป้าอยู่ริมทางรถไฟมานาน 30 กว่าปี  พอปี 2561 การรถไฟมาไล่  ป้าได้ค่ารื้อถอน 600 บาท  ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน  พอดีมีคนรู้จัก  เขาสงสารป้า   ให้ไปอยู่ด้วยที่อำเภอท่ายาง (ห่างจากเดิมประมาณ 20 กิโลเมตร) อาศัยหน้าบ้านเขาปะเย็บเสื้อผ้า  พอน้องอร (อรปรียา) บอกว่าจะทำบ้านให้  ป้าดีใจมาก...ในชีวิตยังไม่เคยมีบ้านของตัวเองเลย”  ป้าแอ๊นบอกความรู้สึก

ป้าแอ๊น  มีรายได้จากค่าจ้างเย็บผ้าชิ้นละ 20-30 บาท  วันหนึ่งมีรายได้ไม่เกิน 200 บาท  และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุอีกเดือนละ 700 บาท

“ป้าแดง”  หรือ  แดง  ม่วงมันดี  อายุ 65 ปี  อาศัยอยู่กับสามีวัย 68 ปี    โดนไล่ออกจากที่ดินรถไฟเหมือนกัน   ป้าบอกว่า  ตอนนี้อาศัยที่ดินร้างตรงข้ามวัดแห่งหนึ่งสร้างเป็นเพิงพักขึ้นมา   ถ้าโดนไล่ที่อีกก็ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน  จะเช่าบ้านอยู่ก็ไม่ไหว   ในเพชรบุรีอย่างต่ำเดือนละ  2-3 พันบาท

ป้ามีรายได้จากการเก็บผักที่ขึ้นอยู่ตามที่รกร้างเอามาขายตามตลาด  เช่น  ตำลึง  ผักบุ้งไทย  ผักโขม  ฯลฯ  กำละ 10-20 บาท  และรับจ้างทำความสะอาดบ้าน  ล้างถ้วยชาม  ส่วนสามี  ทำงานรับจ้างเป็นลูกมือรังวัดที่ดิน  มีงานทำไม่แน่นอน  เดือนหนึ่งประมาณ 10 วันๆ ละ 400 บาท   และมีรายได้จากเบี้ยยังชีพคนชรา  คนละ 600 บาท

“ถ้าได้บ้านเป็นของตัวเองก็ดี  จะได้มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง  ลูกเต้าก็ไม่มี  ไม่มีใครดูแล  สองคนตายายก็ช่วยกันหากินไปแบบนี้แหละ  แต่ป้าก็ออมเงินเป็นรายเดือนเข้าสหกรณ์บ้านมั่นคงด้วย  เดือนละ 170 บาท  หากเจ็บป่วยสหกรณ์ก็จะช่วยเหลือ”  ป้าแดงบอก

“ป้าแดง”  รอวันมีบ้านใหม่จะได้อยู่อาศัยแบบไม่ต้องหลบซ่อนหรือโดนไล่ที่อีก

อรปรียา เสริมว่า  บ้านกลางที่จะสร้างให้ป้าแอ๊นและป้าแดงนั้น  เป็นบ้านแฝดติดกัน  ชั้นเดียว  ขนาดห้องละ  4X6 ตารางเมตร  ค่าก่อสร้างประมาณห้องละ 200,000 บาท   โดยชาวบ้านช่วยกันสมทบเงินครอบครัวละ 1,000 บาท (44 ครอบครัว  รวมเป็นเงิน 44,000 บาท) และ พอช.สมทบงบก่อสร้างหลังละ  30,000 บาท  ยังขาดเงินอีกประมาณหลังละ 150,000 บาท   ซึ่งชุมชนจะต้องช่วยกันหามาเพิ่ม  และขอสมทบวัสดุก่อสร้างจากผู้รับเหมา  ใช้ช่างชุมชนจิตอาสามาช่วยกันสร้าง  เพื่อประหยัดเงิน

“ตามแผนงาน  หลังจากสร้างบ้านเฟสแรกเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้  เราจะสร้างบ้านกลางพร้อมกับสร้างบ้านเฟสสอง  ตอนนี้กำลังช่วยกันหางบประมาณมาเพิ่มเติม  ถ้าหาได้...ป้าแอ๊นกับป้าแดงจะได้มีบ้านใหม่เป็นของตัวเองในอีกไม่กี่เดือนนี้  พอมาอยู่ที่บ้านใหม่  มีที่ดินว่างจะให้ป้าแดงปลูกผักเอาไปขาย  และช่วยดูแลทำความสะอาดชุมชน  เราจะมีค่าตอบแทนให้  ส่วนป้าแอ๊นก็รับงานเย็บเสื้อผ้ามาทำที่บ้านได้...ไม่ต้องไปอาศัยคนอื่นอยู่”  อรปรียาบอกทิ้งท้าย

(หมายเหตุ : ผู้ที่มีความประสงค์จะร่วมสมทบสร้างบ้านกลางให้ป้าแอ๊นและป้าแดง  ติดต่อได้ที่...นาตยา  ทรงจันทร์  ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงพร้อมเพรียงทรัพย์   โทร 0617655451)

**************

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา