พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้ตราขึ้น โดยมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงานทางปกครองให้เป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรม มีประสิทธิภาพ และอำนวยความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน ทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ทั้งนี้ ตามหลักการเรื่องความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปฏิบัติราชการ สำหรับพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้ตราขึ้น เพื่อคุ้มครองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดทางละเมิดในการปฏิบัติงานในหน้าที่ ถ้าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการไปด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และกำหนดกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับ โดยให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของรัฐ
นับแต่พระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวใช้บังคับจนถึงปัจจุบัน ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบางส่วนยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายดังกล่าวเท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการเริ่มจัดทำโครงการนี้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ โดยเป็นการขยายผลการปฏิบัติตามกฎหมายในเชิงรุกให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและส่งผลต่อการใช้บังคับกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ และเพื่อรับทราบถึงปัญหาและอุปสรรคของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมกันหาแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเพื่อเป็นการส่งเสริมศักยภาพในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กองกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ดำเนินการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมท็อปแลนด์ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะช่วยให้ผู้บริหารท้องถิ่น ข้าราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นในจังหวัดพิษณุโลก ได้ศึกษาและนำแนวทางต่าง ๆ ที่ได้จากการสัมมนามาใช้ในการปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ภายในกรอบความรับผิดชอบ สามารถเป็นต้นแบบการบริหารราชการทางปกครองที่มีประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส อำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ และสามารถบริการประชาชนให้เป็นไปตามแนวทางของกฎหมายได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังได้มีการส่งเสริมกระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและประชาชนทั่วไป ผ่านทางเพจกองกฎหมายปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (https://www.facebook.com/AdministrativelawOCS) และวารสารกฎหมายปกครอง ฉบับออนไลน์ (https://www.krisdika.go.th/th/web/guest/draft-law) ซึ่งในส่วนของเพจและวารสารจะมีเนื้อหาประกอบไปด้วย บทความทางวิชาการที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับหลักกฎหมายปกครอง ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่น่าสนใจ และอินโฟกราฟิกความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปกครอง ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและสาระความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้จากช่องทางดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ของการปฏิบัติราชการอย่างถูกต้อง เกิดความรู้ความเข้าใจ และช่วยส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
บทบาทภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองกฎหมายต่างประเทศเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Better Regulation for Better Life
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม
นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ