(1) คนปัตตานีใช้ทุนธรรมชาติ-วัฒนธรรมปลุกเศรษฐกิจชุมชน “ฟังเสียงธรรมชาติกระซิบ”...ที่บูนาดารา “ชมหัวเมืองเก่าเขย่าเศรษฐกิจ”....ที่สายบุรี

นักท่องเที่ยวล่องเรือชมป่าโกงกางที่บูนาดารา  อ.ยะหริ่ง  จ.ปัตตานี (ภาพจาก facebook บูนาดารา)

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ระอุต่อเนื่องมานานเกือบ 20 ปี  นับแต่เหตุร้ายในปี 2547 ทำให้พื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้ดูซบเซา  ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่น

กระนั้นก็ตาม   ความรุนแรง  ความขัดแย้ง  ไม่สามารถหยุดยั้งความหวัง  ความใฝ่ฝันถึงสันติสุขและชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้...ดังเช่น  ผู้คนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งจากอำเภอยะหริ่ง  และอำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  พวกเขาได้ใช้ทุนทางธรรมชาติ  รากเหง้าประวัติศาสตร์  ทุนทางศิลปะและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่น...เดินหน้าพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชนให้กลับมาคึกคักและมีความหวังอีกครั้งหนึ่ง !!

ปัตตานีเมืองหลากวัฒนธรรม

จังหวัดปัตตานีเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาแต่โบราณ  มีพ่อค้าจากอินเดีย  ชวา  จีน  อาหรับ โปรตุเกส   ฯลฯ เข้ามาค้าขาย  มีหลักฐานที่สืบค้นกลับไปได้ยาวนานกว่า 1,000 ปี  นักประวัติศาสตร์เรียกดินแดนแห่งนี้ว่า ‘ลังกาสุกะ’ เป็นอาณาจักรมลายูโบราณ   มีการขุดพบซากเมืองเก่าที่อำเภอยะรัง  ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 15 กิโลเมตร

หากย่นระยะเวลาทางประวัติศาสตร์ให้สั้นกว่านั้น  ราว 300-400 ปีที่ผ่านมา  ปัตตานีก็มีเรื่องเล่าขานอื่นๆ อีกมากมาย  เช่น  ตำนาน ‘หลวงปู่ทวดวัดช้างให้’  อำเภอโคกโพธิ์  ที่วันนี้ยังมีผู้คนหลั่งไหลไปกราบสักการะรูปเหมือนหลวงปู่เและจุดประทัดแก้บนเสียงดังสนั่นหวั่นไหว  

รวมทั้ง ‘สุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว’ และ ‘มัสยิดกรือเซะ’ ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน  ริมทางหลวงหมายเลข 42 ห่างจากตัวเมืองปัตตานีประมาณ 7 กิโลเมตร  แต่วันนี้ร่องรอยประวัติศาสตร์ทั้ง 2 แห่งดูเงียบเหงา ร้างราผู้มาเยือน (ดูข้อมูลประวัติสถานที่ต่างๆ เพิ่มเติมที่ http://www.pattani.go.th/)

อย่างไรก็ดี  ประวัติศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้  สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของเมืองปัตตานีที่เคยมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ  ศาสนา  ความเชื่อ  วัฒนธรรม  ประเพณี  อาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนาน

(ภาพจาก www.panteethai.com)

“ตะโละกาโปร์...เรามีทุนธรรมชาติอยู่แล้ว”

เลยจากมัสยิดกรือเซะไปยัง ตำบลตะโละกาโปร์  อำเภอยะริ่ง  ประมาณ 10 กิโลเมตร  ที่นั่นมีชุมชนชาวประมงพื้นบ้านตั้งอยู่  ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม  หาอยู่หากินในอ่าวปัตตานีมาเนิ่นนาน  ทำประมงพื้นบ้าน  จับปลา  ปู  กุ้ง  หอย  ผลผลิตที่เหลือนำมาทำปลาแห้ง  ปลาเค็ม  กะปิ  บูดู  ฯลฯ

ส่วนชื่อของตำบลตะโละกาโปร์   มีที่มาจาก  ‘ตะโละ’  แปลว่า  อ่าว‘กาโปร์’  แปลว่า ปูน  มีความหมายว่า  ‘อ่าวปูน’ เพราะริมอ่าวแห่งนี้มีซากเปลือกหอยขาวหรือหอยแครงที่ถูกคลื่นซัดมากองทับถมกัน  ชาวบ้านจะเอาเปลือกหอยมาเผาแล้วตำให้ละเอียด  จะได้ ‘ปูนขาว’  เอาไว้กินกับหมาก  เมื่อตั้งเป็นตำบลจึงเรียกว่า “ตะโละกาโปร์” 

ตะโละกาโปร์มีผืนป่าโกงกางขนาดใหญ่  (อยู่ในพื้นที่ ต.บางปู  และ ต.ตะโละกาโปร์  อ.ยะริ่ง) เนื้อที่ประมาณ 6,200 ไร่  เป็นเสมือนบ้านของสัตว์น้ำ  สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ  แมลง  และนกนานาชนิดได้อยู่อาศัย  แพร่พันธุ์  เติบโต  เป็นวงจรหล่อเลี้ยงผู้คนและสรรพชีวิตที่ไม่มีวันสิ้นสุด...

มาเยะ แดเมาะ  หรือ ‘บังเยะ’  อายุ  46 ปี  ประธานชุมชนท่องเที่ยวล่องเรือบูนาดารา บอกว่า  ตำบลตะโละกาโปร์  มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 8,600 คน   ส่วนใหญ่มีมีอาชีพทำเกษตร  ปลูกผัก  ทำนา  ประมงพื้นบ้านเลี้ยงแพะ  แกะ  วัว  ไก่  ฯลฯ

โดยเฉพาะหมู่ที่ 1 บ้านปาตา  อยู่ติดทะเลอ่าวปัตตานี  มีอาชีพประมงพื้นบ้าน   หากเป็นเรือเล็กจะออกหากินแค่ในอ่าวปัตตานี   ถ้าเป็นเรือใหญ่จะออกหากินทะเลนอกหรืออ่าวไทย  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรือเล็ก  แบบเรือ ‘กอและ’  มีเรือที่หากินในอ่าวปัตตานีประมาณ 100 ลำ  ส่วนใหญ่จับปูม้า   กุ้งแชบ๊วย  กุลาดำ  กั้ง  และปลาต่างๆ

“หลายปีที่ผ่านมา  เศรษฐกิจ  3 จังหวัดชายแดนไม่ดี  ชาวบ้านไม่มีรายได้  โดยเฉพาะชาวประมงที่ออกเรือหาปลาไม่ได้ทั้งปี  เพราะต้องหยุดในช่วงฤดูมรสุม  และในช่วงห้ามจับปลาในฤดูวางไข่  รวมแล้วประมาณปีละ 6 เดือนที่ชาวประมงจะไม่มีรายได้  ต้องเอาเงินเก่ามากิน   ผมจึงคิดเรื่องท่องเที่ยวชุมชนขึ้นมา  เพราะเคยไปดูงานท่องเที่ยวชุมชนที่จังหวัดอื่นมาก่อน”  บังเยะเกริ่นนำ

บังเยะย้อนภูมิหลังตัวเองให้ฟังว่า  ในสมัยเป็นวัยรุ่น  ราวอายุ 17-18 ปี  เขามีความสนใจเรื่องกิจกรรมเยาวชน  จนได้เป็นตัวแทนของ ‘สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี’  เข้าร่วมกิจกรรมกับเยาวชน 14 จังหวัดภาคใต้  จึงทำให้มีเพื่อนฝูงมากมาย  เป็นเครือข่ายเยาวชน  รวมทั้งยังได้เข้าร่วมโครงการเยาวชนแลกเปลี่ยนกับเยาวชนจากจังหวัดต่างๆ  มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมและศึกษาดูงานการพัฒนาชุมชน  การท่องเที่ยวชุมชน  ในพื้นที่ต่างๆ  หลายแห่งทั่วประเทศไทย   ทำให้ได้รับประสบการณ์ดีๆ  มากมาย

เขาบอกว่า  ในตำบลตะโละกาโปร์มีป่าโกงกางผืนใหญ่  เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ  เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อนต่างๆ  สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ (อยู่ในเขตป่าสงวน)  บางจุดมีลักษณะเป็นอุโมงค์ป่าโกงกางที่มีความยาวหลายร้อยเมตร  มีความสวยงาม  บางจุดเหมาะที่จะชมพระอาทิตย์ตกดิน  หรือดูนกนานาชนิด  เป็นทุนทางธรรมชาติที่ตำบลมีอยู่แล้ว  จึงคิดเรื่องการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนขึ้นมา

“ผมเริ่มชวนพี่น้องที่ทำประมงมาทำเรื่องท่องเที่ยวครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปี 2558  ตอนแรกก็ไม่มีใครอยากมาทำหรอก  เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่ป่าโกงกาง  แถมยังมีสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัด  เพื่อนบอก...ใครเขาจะมาเที่ยว ?  แต่เอาเข้าจริงก็มีคนมาร่วมประมาณ 12 คน  มีเรือ 6-7 ลำ  มีนักศึกษาที่จบนิเทศจาก  มอ.ปัตตานีมาช่วยทำเฟซบุกส์เป็นสื่อ  ใช้ชื่อว่า ‘ชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา’  เดือนแรกปรากฏว่าไม่มีใครมาเที่ยวเลย  ใจชักเหี่ยว....รู้สึกมืดมน  พอเดือนที่ 2  มีคนมาเที่ยวชุดแรก  เป็นเพื่อนกัน...เป็นครู  ได้เงินค่าเรือ 500 บาท  ดีใจมาก...เหมือนเห็นแสงสว่าง”  บังเยะบอกความรู้สึกตอนนั้น

เจ๊ะอีซอ  วัย 55 ปี   ชาวประมงที่ร่วมบุกเบิกท่องเที่ยวชุมชนรุ่นแรก  บอกว่า  ตอนบังเยะมาชวนทำท่องเที่ยวนั้น  เขาไม่ได้ดูแคลนความคิดนี้  เพราะเห็นว่าบังเยะเป็นคนมีประสบการณ์  ได้เดินทางไปโน่นมานี่   ทำให้มีเพื่อนเยอะ  จึงคิดว่าน่าจะทำเรื่องท่องเที่ยวได้

“ผมว่าเรื่องเพื่อนก็สำคัญ  เพราะถ้าเรามีเพื่อน  เพื่อนที่ดีก็จะช่วยเราได้  และที่สำคัญก็คือ  เรือเรามีอยู่แล้ว  ไม่ได้ลงทุนอะไรมาก  อีกอย่างอาชีพประมงก็ต้องหยุดในช่วงมรสุมและช่วงปลาวางไข่อยู่แล้ว  เรามีเวลาว่างก็มาทำท่องเที่ยวได้”  เจ๊ะอีซอบอก

ส่วนชื่อของ ‘ชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา’ (BUNA  DARA )  บังเยะอธิบายว่า  ‘บูนา’ เป็นชื่อหมู่บ้านชาวประมงในอดีต  และบริเวณท่าเรือมีต้นพุทราขึ้นอยู่  ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “ดารอ” จึงนำชื่อทั้งสองมารวมกัน  และตั้งชื่อให้มีเอกลักษณ์  จดจำได้ง่ายว่า “บูนาดารา”

‘บังเยะ’  หัวแรงสำคัญของชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา (ยืนที่ 3 จากซ้าย) และสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยว

จาก 500 บาท...สู่เงินล้าน !!  

บังเยะบอกต่อไปว่า   หลังจากที่มีนักท่องเที่ยวชุดแรกมาเยือนบูนาดารา  ซึ่งก็คือเพื่อนครูของเขา  ทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวครั้งแรก 500 บาท...แม้จะไม่มากมาย   แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงาม    เพราะเพื่อนครูคนนั้นได้นำความประทับใจที่มีต่อการชมธรรมชาติ  ชมป่าโกงกางที่บูนาดาราไปบอกต่อเพื่อนฝูง  เอารูปไปโพสต์ในเฟซ   ในไลน์กลุ่ม  ทำให้มีคนรู้จักบูนาดารามากขึ้น 

รวมทั้งเฟซของบูนาดาราเองก็ขยันลงรูปที่สวยงามของอุโมงค์ป่าโกงกาง   รูปบรรยากาศช่วงตะวันกำลังจะลาลับขอบฟ้า  ทำให้มีคนสนใจ  เดินทางมาท่องเที่ยว  โดยเฉพาะผู้คนในจังหวัดปัตตานี  เพราะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองปัตตานี  ระยะทางเพียง 15  กิโลเมตร   เมื่อมีนักท่องเที่ยวกลุ่มไหนมาเที่ยว   เฟซบุกส์ของบูนาดาราก็จะลงรูป  ลงคลิป  ลงเรื่องราวเผยแพร่ออกไป...

ยิ่งมีสื่อต่างๆ ในท้องถิ่น  เช่น  สถานีโทรทัศน์ NBT  และเว็บไซต์ต่างๆ  เช่น sanook  นำคลิป  นำเรื่องราวของชุมชนท่องเที่ยวบูนาดาราไปเผยแพร่  จนกลายเป็นไวรัล  ทำให้มีคนมาท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ  จาก 1-2 เดือนแรกที่มีนักท่องเที่ยวไม่กี่คนก็เริ่มขยับเป็นหลักร้อย..และหลักพันคนต่อเดือนในเวลาต่อมา

รวมทั้งนักท่องเที่ยวเพื่อนบ้านจากมาเลเซียที่นิยมมาเที่ยวที่หาดใหญ่  จ.สงขลา  (คนมาเลย์ชอบมากินอาหารไทย  อาหารทะเล  เพราะราคาถูกและรสชาติเข้มข้นอร่อยถูกปาก) แล้วมาเที่ยวที่ปัตตานีและบูนาดาราเพราะอยู่ห่างกันไม่มาก

“ผมเคยอบรมเป็นไกด์  มีเพื่อนเป็นไกด์นำเที่ยว  เขาก็ชวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียมา  มาล่องเรือชมป่าโกงกาง  มากินอาหารทะเลสดๆ กินปูม้า  เรามี ‘กือโป๊ะ’  ข้าวเกรียบปลา  นักท่องเที่ยวมาเลย์ชอบมาก  เหมาซื้อวันนึงเป็นหมื่นบาท..เอากลับไปบ้าน  ก่อนช่วงโควิดจะมาปี 2563   ชุมชนเรามีรายได้จากการท่องเที่ยวปีนึงเกิน 1 ล้านบาท”  บังเยะบอกผลดีของการมีเพื่อนหรือ Connection  ช่วยเสริมธุรกิจ   และขยายความว่า  ก่อนช่วงโควิดมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่บูนาดาราประมาณเดือนละ 2,000 คน

ความสำเร็จของบูนาดาราใช่แต่จะมาจากทุนธรรมชาติเพียงอย่างเดียว   แต่ยังมาจาก ‘การจัดการการท่องเที่ยว’ ด้วย   โดยมีแกนนำในกลุ่มเรือท่องเที่ยวประมาณ  10 คนที่ร่วมกันบุกเบิกตั้งแต่แรก  เช่น  สำรวจเส้นทางการล่องเรือ   และจุดต่างๆ เพื่อต่อยอดกิจกรรม  ไม่ใช่จะล่องเรือเพียงอย่างเดียว   แล้วนำมานั่งพูดคุยปรึกษากัน  ว่าจุดไหนเหมาะจะทำอะไร  

เช่น   จุดที่มีหอยกัน  หรือหอยพู่กันที่ฝังตัวอยู่ในดินเลน  ให้นักท่องเที่ยวที่อยากจะเก็บหอยไปทำอาหาร   จุดที่เป็นป่าชายเลนเหมาะที่จะปลูกต้นโกงกาง  เพื่อให้หน่วยงาน  บริษัท  หรือเยาวชน  เด็กนักเรียนมาปลูกป่า   จุดที่เหมาะจะลงเล่นน้ำ   จุดพักชมพระอาทิตย์ตกดิน  หรือนั่งกินอาหาร  จุดเช็คอิน  ให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป  ฯลฯ

จุดเช็คอิน

ใช้หลักการวางแผนธุรกิจ  CBMC  กระจายรายได้สู่ชุมชน-ช่วยคนเดือดร้อน

นอกจากนี้ในปี 2562  บังเยะเคยเข้าอบรม ‘การวางแผนธุรกิจเพื่อชุมชน’  หรือ  Community Business Model Canvas’  หรือ CBMC  ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  หรือ ‘พอช.’ จัดอบรมให้แก่ผู้นำธุรกิจชุมชนทั่วประเทศ หลังจากนั้นบังเยะจึงนำความรู้นี้มาขยายผล  ใช้ประโยชน์   นำมาเสริมความรู้ให้แก่กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มท่องเที่ยว  โดยเน้นการใช้ทุนธรรมชาติ  ทุนภายในที่ชุมชนมีอยู่   ไม่ต้องซื้อหาหรือลงทุนเพิ่ม  ฯลฯ 

CBMC  มีกระบวนการ 9 ขั้นตอนที่สำคัญ  เช่น  1.การค้นหาจุดขายเพื่อสร้างแบรนด์  2.ค้นหาลูกค้าที่ชัดเจนและลูกค้าในอนาคต  3.การสื่อสารการตลาด  4.ปิดการขายและบริการหลังการขายเพื่อจูงใจให้ซื้อซ้ำ  5.ช่องทางเพิ่มรายได้  เพิ่มผลิตภัณฑ์  เพิ่มลูกค้า  ลดค่าใช้จ่ายการผลิต  ปรับปรุงการผลิต  การบริการ  ฯลฯ  ทำให้การจัดการท่องเที่ยวชุมชนบูนาดาราเป็นระบบมากขึ้น  ไม่สะเปะสะปะ  เป็นมวยวัดเหมือนตอนเริ่มต้น 

นอกจากนี้ประเด็นที่สำคัญก็คือ  การทำความเข้าใจกับชุมชนว่าจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้าง ?  และกระจายผลตอบแทนนั้นกลับคืนสู่ชุมชนให้ทั่วถึง  โดยกลุ่มท่องเที่ยวมีข้อตกลงว่า  รายได้จากค่าบริการล่องเรือลำละ  700 บาท  (ใช้เวลาล่องเรือประมาณ 2 ชั่วโมง)  คนขับเรือจะได้ 400 บาท  ไกด์หรือคนเล่าเรื่องได้ 100 บาท  

ส่วนที่เหลือ 200 บาท  นำมาจัดสรรเป็น 3 ส่วน  คือ  50 %  เป็นค่าบริหารจัดการ  (ศึกษาดูงาน   อบรม)  30 % ปันผลให้สมาชิกกลุ่ม (ปีละ 2 ครั้ง)  และ 20 %  นำมาช่วยสาธารณประโยชน์   สนับสนุนมัสยิด  คนด้อยโอกาส  เด็กกำพร้า  ช่วยภัยพิบัติ  ซื้อข้าวสาร  อาหารแห้ง น้ำดื่ม  แจกชาวบ้านตอนน้ำท่วม   ฯลฯ 

“เราหัก 20  เปอร์เซ็นต์ของรายได้คืนให้กับชุมชน ให้เด็กกำพร้า  ให้มัสยิด  ช่วยคนที่เดือดร้อน   สิ่งเหล่านี้สามารถเป็นเกราะคุ้มกัน   ทำให้ชาวบ้านและชุมชนให้ความร่วมมือ  ถ้าชุมชนไม่เล่นด้วย  ไม่ทำด้วย  หรือไม่มีเกราะคุ้มกัน  เรื่องท่องเที่ยวบูนาดารามันก็จะไม่เกิด”  บังเยะบอกถึงเรื่องสำคัญที่มิอาจมองข้าม

เจ๊ะอีซอ  คนขับเรือ   เสริมว่า  ตอนนี้บูนาดารามีเสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวประมาณ 100 คน   มีทั้งกลุ่มคนขับเรือ  คนขับรถโชเล่ย์ (สามล้อพ่วง)  กลุ่มแม่บ้านที่ทำอาหารขาย  กลุ่มแปรรูปอาหารทะเล   ขายอาหารทะเลสด  ทำให้คนทุกกลุ่มในชุมชนมีรายได้ 

“เมื่อก่อนผมทำประมงเป็นอาชีพหลัก  ขับเรือท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม  แต่พอมีนักท่องเที่ยวเข้ามา  กลายเป็นว่าเรื่องท่องเที่ยวกับประมงมีรายได้พอๆ กัน  ตอนนี้เดือนหนึ่งๆ  จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวประมาณลำละ 5,000 บาท   ก็พออยู่ได้  ไม่เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อน”   เจ๊ะอีซอบอก

ขณะที่บังเยะบอกถึงแผนงานการท่องเที่ยวที่จะทำต่อไปว่า  จะพัฒนาบริเวณท่าเรือบูนาดาราให้เป็นตลาดน้ำ   มีเรือขายอาหารต่างๆ ทั้งอาหารทะเลสด  ปิ้ง  ย่าง  ต้ม  ยำ  ฯลฯ  เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มานั่งพักผ่อน  กินอาหาร  รวมทั้งมีแผนจะทำ ‘แลนด์มาร์ค’ ให้เป็นสัญลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นของบูนาดารา  เพื่อปรับปรุงพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่ให้ย่ำอยู่กับที่  คนที่เคยมาแล้วจะได้กลับมาอีก  หรือ “กลับมาซื้อซ้ำ”  ตามหลักการวางแผนธุรกิจ CBMC  นั่นเอง !!

บริเวณท่าเรือบูนาดาราที่จะพัฒนาให้เป็นตลาดน้ำ

ฟังเสียงนกกระซิบ-ป่าบรรเลง

ชุมชนท่องเที่ยวบูนาดารา  มีแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ ‘ชม  แชะ  ชิม ช้อป’   เช่น  มีฐานการเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ   จากท่าเรือบูนาดาราลัดเลาะไปชมป่าโกงกาง  มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ประมาณ 20 ชนิด เช่น  ฝาดดอกขาว   ตาตุ่มทะเล   แสมขาว  ลำพู  น้อยหน่าทะเล เตยปาหนัน เหงือกปลาหมอ  โกงกางใบใหญ่  โกงกางใบเล็ก  ฯลฯ  ชมอุโมงค์ป่าโกงกาง  ชมพระอาทิตย์ตกดิน   ถ่ายรูปตรงจุดเช็คอิน ‘กอดป่าให้หายเหนื่อย’   เป็นแลนด์มาร์กของบูนาดารา

ใช้เวลาล่องเรือ (ชาวบ้านเรียก “เรือหัวตัด”) ประมาณ 2  ชั่วโมง  ราคาค่าบริการลำละ 700 บาท  นั่งได้ 6 คน   พร้อมไกด์หรือคนเล่าเรื่อง     ที่จะชี้ชวนบอกเล่าสรรพคุณของพันธุ์ไม้น้อยใหญ่  เช่น  เหงือกปลาหมอ  มีสรรพคุณครอบจักรวาล  ใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากถึงใบ  รักษาโรคผิวหนัง  กลากเกลื้อน  แก้ไข้  แก้ไอ  ปอดอักเสบ  ยับยั้งมะเร็ง   ฯลฯ  หากโชคดีก็จะได้เห็น ‘นาก’ ดำผุดว่ายจับปลา

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ  เช่น  ร่วมกันปลูกต้นโกงกาง   เล่นน้ำ  ชมนกต่างๆ   เช่น  นกกระยางหลายสายพันธุ์ นกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ  ฯลฯ   หาหอยพู่กันที่อาศัยอยู่ในดินเลนป่าชายเลนเพื่อนำมาทำอาหาร  เช่น  อบ  ย่าง  ผัดฉ่า  ต้มยำ

ชิมอาหารทะเลสดๆ  หรืออาหารพื้นบ้านตามฤดูกาล  เช่น  กุ้งแชบ๊วย  กั้งกระดาน  ปูม้า  ราคาไม่แพง  เช่น กั้ง  ราคาตามขนาดตั้งแต่ 180-350 บาท/กิโลกรัม  ปูม้าตัวใหญ่ไซต์จัมโบ้กิโลฯ ละ 400-500  บาท  หากเป็นอาหารชุด  ราคาคนละ 150 บาท  อาหารกล่องๆ ละ 50 บาท  สามารถสั่งไปนั่งกินบนลานไม้ไผ่  ชมวิวรอดูพระอาทิตย์ตกที่ขอบฟ้า   

ของฝากจากบูนาดารา  ร่มเพ้นท์ลายบาติก  สีสันสดใส  ลวดลายอ่อนช้อย  พลิ้วไหวดังเกลียวคลื่น

อิ่มหนำสำราญแล้ว  ก็ถึงเวลาช้อปปิ้ง  ที่บูนาดารามีอาหารทะเลทั้งสดและแห้งจากกลุ่มแม่บ้าน  มีข้าวเกรียบปลา  หรือ ‘กือโป๊ะ’  กรอบอร่อย  มีร่มเพ้นท์ลายบาติก  เสื้อยืด   รวมทั้งเรือกอและจำลองกลับไปเป็นของฝาก   ทำให้คนในชุมชนมีรายได้กันทั่วหน้า  ตั้งแต่คนขับเรือ  ไกด์ประจำเรือ   ชาวประมง  กลุ่มแม่บ้านทำอาหาร  กลุ่มแปรูปอาหารทะเล  คนปลูกผัก  คนเพ้นท์ร่ม  คนขี่รถสามล้อ (รถโชเล่ย์) ฯลฯ

หรือหากอยากสัมผัสกับธรรมชาติให้นานๆ  โดยเฉพาะในช่วงพลบค่ำ   หลังจากนกนานาชนิดบินกลับจากหากิน   ฝูงนกนับพันนับหมื่นจะกลับมาเกาะยอดไม้ในป่าโกงกางซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยและทำรัง  บ้างไซ้ขนทำความสะอาดตัว  บ้างส่งเสียงจิ๊บๆ จั๊บๆ  เหมือนกระซิบกระซาบกัน...ลมเย็นเอื่อยๆ ตอนหัวค่ำ  ทำให้ป่าโกงกางพลิ้วไหว  เหมือนดนตรีธรรมชาติบรรเลง...

(อ่านตอนต่อไป (2) “ชมหัวเมืองเก่าเขย่าเศรษฐกิจ”....ที่สายบุรี )

***********

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

     

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนร้ายชักปืน จี้พนง.ร้านสะดวกซื้อ ชิงเงินสด 1.2 ล้าน หนีลอยนวล

ร.ต.อ.มณฑล บัวพัว รอง สว.(สอบสวน) สภ.มายอ จ.ปัตตานี ได้รับแจ้งจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปฏิบัติการณ์ลางา ว่า เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนชิงทรัพย์พนักงานร้านสะดวกซื้อ ได้เงินไปกว่า 1 ล้านบาทหลบหนีไป เหตุเกิดหน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาปาลัส ต.ลางา อ.มายอ

เปิดภาพนาทีโจรใต้ขว้างไปป์บอมบ์ ชาวบ้านรอดหวุดหวิด

พ.ต.อ.อลัมต์ เมฆารัฐ ผกก. สภ.ทุ่งยางแดง ได้รับแจ้งเกิดเหตุคนร้ายขว้างระเบิดแสวงเครื่องแบบขว้างใส่จุดตรวจยุทธศาสตร์น้ำดำ ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

'ผบ.ฉก.ทพ.43' นำกำลังปิดล้อมตรวจค้น จับมือบึ้มกลางเมืองปัตตานี

พันเอกปรเมธ ศานุพงศ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ได้นำเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการร่วม จำนวน 30 นาย บังคับใช้กฎหมาย เข้าปิดล้อมตรวจค้น