เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสยบผู้ก่อเหตุร้ายที่ชุมชนเลียบคลองสอง เขตสายไหม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคมที่ผ่านมา (ภาพจากเพจสายไหมต้องรอด)
เหตุระทึกขวัญที่ชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง เขตสายไหม กรุงเทพฯ เพิ่งจบลงอย่างหมาดๆ ท่ามกลางความโล่งอกโล่งใจของชาวชุมชนและผู้คนในสังคมที่เฝ้ามองเหตุการณ์นี้ด้วยใจระทึก...โชคดีที่เหตุการณ์ครั้งนี้ยุติลงโดยไม่เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง
แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ใช้ความรุนแรงด้วยอาวุธในสังคมไทยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น เหตุร้ายที่ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 ที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อปี 2563 เหตุการณ์กราดยิงที่โรงพยาบาลสนามรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่จังหวัดปทุมธานีในปี 2564 ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จังหวัดหนองบัวลำภูเมื่อปี 2565 และล่าสุดที่ชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง เขตสายไหม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14-15 มีนาคมที่ผ่านมา
ขณะที่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะมีเหตุการณ์กราดยิงในสถานศึกษาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเด็กนักเรียน นักศึกษา และประชาชนเสียชีวิตครั้งหนึ่งมากมาย และเหตุการณ์ความรุนแรงแบบนี้ก็มักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ
นักอาชญาวิทยาเรียกเหตุการณ์แบบนี้ว่า “พฤติกรรมเลียนแบบ” (copycat) และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ซ้ำอีก...!!
WHO แนะ 7 เทคนิคเลี่ยงพฤติกรรมเลียนแบบ
ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.strong.co ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ระบุว่า พฤติกรรมเลียนแบบ (copycat) มักจะเกิดขึ้นกับบุคคลที่ชื่นชอบความรุนแรง และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Anti social) ซึ่งตามค่าสถิติจากงานวิจัยเชิงจิตวิทยา/อาชญาวิทยาของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2558 พบว่า
“การก่อเหตุรุนแรง เช่น การยิงคนจำนวนมากในที่สาธารณะ การสังหารหมู่หนึ่งครั้ง จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันจากคนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบภายในระยะเวลา 13 วัน”
การก่อเหตุรุนแรงในแต่ละครั้งได้ส่งผลเสียหายอย่างมากในทุก ๆ ด้าน เช่น ความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยของรัฐ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านจิตใจ ทั้งของบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ ผู้สูญเสีย และผู้รับรู้เหตุการณ์ผ่านสื่อ ทำให้เกิดความวิตกกังวล หวาดผวา รู้สึกไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ฯลฯ
ดังนั้นเพื่อลดอัตราการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบการใช้ความรุนแรง องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จึงได้แนะนำเทคนิคทางจิตวิทยาในการลดความเสี่ยงในการก่อเหตุซ้ำ 7 เทคนิค ดังนี้ คือ
1.ลดการใช้อารมณ์ในการโพสต์ถึงเหตุการณ์รุนแรง โดยนักจิตวิทยาให้ข้อแนะนำว่า การโพสต์ด้วยอารมณ์ที่รุนแรงนั้นให้ผล 2 อย่าง คือ สร้างอารมณ์ร่วมให้กับคนที่อ่าน เช่น ถ้าโพสต์ด้วยอารมณ์โกรธแค้นต่อผู้ก่อเหตุ คนที่เข้ามาอ่านโพสต์ก็จะรู้สึกทางลบต่อผู้ก่อเหตุ แต่ในทางกลับกัน บุคคลที่มีบุคลิกแบบต่อต้านสังคม (Anti Social) หรือคนที่นิยมความรุนแรง เมื่อได้อ่านโพสต์แล้ว อาจจะรู้สึกปราบปลื้มผู้ก่อเหตุที่สามารถสร้างอารมณ์โกรธแค้นให้กับคนอื่นได้ แล้วก็อาจจะสร้างพฤติกรรมเลียนแบบ โดยไปก่อเหตุในลักษณะคล้ายกันตามมาอีก
2.ลดการให้รายละเอียดของเหตุการณ์รุนแรง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เช่น เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้คนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบมีรายละเอียดของข้อมูล เช่น ชุดที่ผู้ก่อเหตุใส่ วิธีการก่อเหตุ อาวุธที่ใช้ และนำไปใช้ก่อเหตุซ้ำเพื่อให้ตัวเองเป็นข่าวในเวลาต่อมา
3.หยุดการเผยแพร่ หยุดการแชร์ต่อวีดีโอเหตุการณ์รุนแรง เพราะจะทำให้คนที่มีพฤติกรรมเลียนแบบได้เรียนรู้ และอาจจำไปใช้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเศร้า สะเทือนใจ ต่อผู้ที่สูญเสีย
4.ไม่เผยแพร่ชื่อของผู้ก่อเหตุ ‘Jacinda Ardern’ นายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ เคยกล่าวถึงผู้ก่อการร้ายในประเทศเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ว่า “เขามีความต้องการหลายสิ่งจากการก่อการร้าย และหนึ่งในนั้นคือ ‘ชื่อเสียง’ ในด้านลบ และนั่นเป็นเหตุผลว่า คุณจะไม่มีทางที่จะได้ยินดิฉันเอ่ยชื่อของพวกเขา”
สอดคล้องกับแนวทางของนักจิตวิทยาที่ว่า ถ้าเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม วิธีการลดพฤติกรรมนั้นก็คือ การไม่ให้แรงเสริม ไม่ให้รางวัลกับพฤติกรรมนั้น ๆ ซึ่งในกรณีนี้ รางวัลก็คือ การให้ชื่อเสียง การประโคมข่าว การพูดถึงผู้ก่อเหตุ
5.สร้างทัศนคติว่าพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ให้คุณค่ากับผู้ก่อเหตุ โดยอธิบายให้เด็กและเยาวชนเข้าใจ เพราะเด็กเล็กและวัยรุ่นที่กำลังค้นหาตัวตนของตัวเอง อาจไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เพราะหากมีคนพูดถึงผู้ก่อเหตุมาก หรือสำนักข่าวทุกสำนักแย่งกันประโคมข่าว อาจทำให้เด็กและวัยรุ่นที่ขาดผู้ใหญ่ให้คำแนะนำ อาจมองว่าผู้ก่อเหตุ คือ “Idol” และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ
6.แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการลงโทษซ้ำๆ หากการแชร์ข้อมูลของผู้ก่อเหตุเป็นการให้รางวัล นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่าต้องแชร์ข้อมูลตรงข้ามเพื่อเป็นการลงโทษผู้ก่อเหตุ และเป็นการป้องกันการเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ โดยการแชร์บทลงโทษที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับให้เห็นเป็นรูปธรรม
7.การไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุ การคาดเดาว่า ผู้ก่อเหตุมีแรงจูงใจต่างๆ เช่น “เคยได้ยินผู้ก่อเหตุบ่นเรื่องนี้บ่อย ๆ” เพราะบางเรื่องอาจจะไปโดนใจคนที่มีชะตากรรมเดียวกัน เช่น ถูกกดดันจากนายจ้าง เจ้านาย หรือหน่วยงาน หรือถูกโกงเหมือนกัน มีโรคทางจิตเวชเหมือนกัน ฯลฯ อาจนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบตามมาได้ (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ www. strong.co)
นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวง พม. เยี่ยมครอบครัวผู้สูญเสียที่ จ.หนองบัวลำภู
บทเรียนจากหนองบัวลำภู
เหตุการณ์ความรุนแรงที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ทำให้เกิดความสูญเสียมากมาย หลังเกิดเหตุการณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ
นอกจากนี้ยังมีการถอดบทเรียนเพื่อวางมาตรการป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นอีก โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 หลังเกิดเหตุการณ์ได้ 1 สัปดาห์ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมเตรียมการเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืนที่ทำเนียบรัฐบาล
มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน มีข้อสรุปว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืนอย่างเข้มงวดในการออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตและการพกพา โดยจะมีเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต การใช้ยาเสพติด และมีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม
ผู้ยื่นคำขออนุญาตมีและใช้อาวุธปืน ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้องตรงตามกฎหมาย มีการตรวจสอบและรับรองทางจิตว่า ไม่เป็นผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน
นอกจากนี้ในส่วนของความประพฤติหรือพฤติกรรมต้องได้รับการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ว่าไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อสังคม และมีมาตรการตรวจสอบทบทวนเพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกรอบระยะเวลาที่เหมาะสม
มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ทางการจะมีการค้นหาคัดกรองผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง เพื่อเข้ารับการฟื้นฟู จะเร่งรัดการจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครอบคลุมทุกตำบลและตั้งสถานบำบัดรักษาที่มีมาตรฐานสากล โดยจะมีการนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรืออีเอ็ม มาใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงด้วย
เนื่องจากผู้ก่อเหตุกราดยิงจำนวนมากมักจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิต ซึ่งหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยลดเหตุร้ายได้
มาตรการการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ด้วยการจัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง
รมว.พม.และคณะลงพื้นที่ จ.หนองบัวลำภูหลังเหตุสะเทือนขวัญ
ด้าน ผศ.ดร.พ.ต.อ.หญิง นิรมล ชื่นสงวน อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ กล่าวถึงการถอดบทเรียนความรุนแรงที่หนองบัวลำภู และมาตรการป้องกันเหตุ ในรายการ THE KEY จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 เผยแพร่ทาง KPI CHANEL มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า...
ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคม ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่สมดุลย์ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องให้ความรู้ การป้องกันอาชญากรรมและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น การหลบหนีออกจากที่เกิดเหตุ การหลบอยู่ในที่ปลอดภัย ให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวเอง
ในกรณีที่มีผู้ป่วยทางจิต ผู้ติดยาเสพติด จะต้องส่งผู้ป่วยไปบำบัดรักษา ส่วนชุมชนและครอบครัวจะต้องช่วยกันสังเกตคนในชุมชน สมาชิกในครอบครัว หากพบว่ามีการป่วยทางจิตหรือติดยาเสพติดจะได้นำตัวไปรักษา
“หลักในการป้องกันอาชญากรรมเป็นเรื่องของทุกคน โดยเฉพาะเรื่องประเด็นทางสังคม สถาบันครอบครัวและชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม ผู้นำชุมชนจะต้องสอดส่องดูแลลูกบ้านของตัวเอง เพราะเราไม่สามารถผลักเขาออกไปอยู่ข้างนอกได้ หากออกไปก็จะไปสร้างปัญหาที่อื่นอีก”
ผศ.ดร.พ.ต.อ.หญิง นิรมล กล่าวย้ำว่า “รัฐและประชาสังคมต้องทำงานร่วมกัน สถาบันชุมชน ครอบครัวต้องเข้มแข็ง การถอดบทเรียนกราดยิงจะต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจน”
สื่อมวลชนรอทำข่าวที่ชุมชนเลียบคลองสอง ขณะที่เจ้าหน้าที่ห้ามเผยแพร่หรือไลฟ์ข่าวสดเพราะอาจทำให้ผู้ก่อเหตุรู้ความเคลื่อนไหวของ จนท.
เปลี่ยน “เหตุร้าย” เป็นบทเรียน
เหตุร้ายและความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายครั้งในสังคมไทย ไม่มีใครรับประกันได้ว่ามันจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร มีมาตรการป้องกันและยับยั้งการก่ออาชญากรรมที่ทันสมัย แต่เหตุร้ายและ ‘พฤติกรรมเลียนแบบ’ ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
กรณีเหตุการณ์ที่บ้านมั่นคงชุมชนเลียบคลองฯ เขตสายไหม ระหว่างวันที่ 14-15 มีนาคมที่ผ่านมา นางทัศนีย์ พุฒแก้ว ประธานชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง บอกว่า ในช่วงที่ผู้ก่อเหตุยังไม่ยอมจำนน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานกับทางชุมชนเพื่อให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วย คนชรา และเด็กเล็ก ย้ายออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุนับร้อยเมตร
โดยทางชุมชนได้ใช้ที่ทำการสหกรณ์บ้านมั่นคงเป็นที่พักชั่วคราว มีครอบครัวที่มาพัก 2 ครอบครัว บางรายไปอยู่กับญาติในบ้านที่ห่างจากจุดเกิดเหตุ มี 2 ครอบครัวไปเช่าที่พัก (รีสอร์ท) ชั่วคราวที่ตั้งอยู่ด้านหน้าชุมชน เพราะควันและกลิ่นแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ใช้ระงับเหตุกระจายไปตามแรงลม ทำให้แสบตา
หลังจากนี้ คณะกรรมการชุมชนจะได้ประชุมหารือกันถึงแผนการในการป้องกันเหตุร้าย หรืออุบัติภัยอื่นๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ การแจ้งเหตุร้าย ประสานความช่วยเหลือ การกำหนดจุดพิงชั่วคราว การขนย้ายผู้ป่วยติดเตียง คนชรา เด็ก สัตว์เลี้ยง ฯลฯ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านในชุมชน
นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ หรือ พอช. (กลาง) เยี่ยมชาวชุมชนเลียบคลองสอง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม
อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีชุมชนหลายแห่งที่เคยเกิดภัยพิบัติ เช่น สึนามิ น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ฯลฯ ได้จัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติ เช่น เครือข่ายอันดามัน 6 จังหวัด เครือข่ายภัยพิบัติ จ.อุบลราชธานี จัดตั้งอาสา สมัครเตือนภัย เพื่อตรวจสอบ เฝ้าระวังระดับน้ำ สภาพอากาศ แจ้งข่าว จัดทำแผนที่ชุมชน แสดงจุดเสี่ยง ครอบครัวเปราะบาง ผู้ป่วยติดเตียง คนชรา หญิงตั้งครรภ์ เตรียมเรือ เสื้อชูชีพ ไฟฉาย ฯลฯ เพื่อเคลื่อนย้ายไปอยู่ในจุดปลอดภัย
นอจากนี้ได้กำหนดจุดพักพิงชั่วคราว เช่น โรงเรียน วัด หรือพื้นที่สูง สำรองอาหาร น้ำดื่ม หญ้าแห้งสำหรับวัว สัตว์เลี้ยง ซักซ้อมแผน เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงประชาชนจะได้ไม่ตื่นตระหนก สามารถอพยพไปอยู่ในจุดปลอดภัยที่เตรียมเอาไว้ได้
กระทรวง พม.ใช้ระบบ ESS แจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. ได้ลงนามความร่วมมือการใช้ ‘ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคม’ หรือ ESS (Emergency Social Services) โดยประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมในพิธีความร่วมมือในครั้งนี้
พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ร่วมในพิธีลงนามความร่วมมือใช้ระบบ ESS
ระบบ ESS จะให้บริการเฉพาะกรณีปัญหาเร่งด่วนจาก 5 สาเหตุ คือ 1. ข่มขู่ว่าจะทำร้ายหรือทำร้าย 2.กักขังหน่วงเหนี่ยว 3.เสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ 4. ผู้คลุ้มคลั่งก่อให้เกิดเหตุร้าย และ 5.มั่วสุมจนก่อให้เกิดเหตุร้าย
โดยระบบจะทำงานผ่าน Line OA 24 ชม. ด้วยการค้นหาชื่อคำว่า ‘ESS Help Me’ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์ โดยกระทรวง พม. จะเริ่มเปิดใช้ระบบแจ้งเหตุ ESS ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นต้นไป
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นวันนี้ มีทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมและครอบครัว รวมถึงความรุนแรงจากยาเสพติด ทำให้สังคมมีปัญหา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็ลดลง ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแล เพราะนี่คือประเทศของเรา...
รัฐบาลมุ่งหวังที่จะทำให้สังคมเราสงบสุข ปลอดภัย และให้ความสำคัญกับคนทุกช่วงวัย โดยรัฐบาลได้มีการหาแนวทางและมาตรการต่าง ๆ มาดูแลประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงในช่วงนี้ที่เป็นช่วงแห่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีบทบาทและมีความสำคัญในสังคม รัฐบาลได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” พลเอกประยุทธ์กล่าวย้ำ
***********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
ศปถ. สรุปผล 10 วันอันตรายปีใหม่ เสียชีวิต 436 ราย เจ็บ 2,376 คน เกิดอุบัติเหตุ 2,467 ครั้ง สั่งถอดบทเรียนวิเคราะห์ข้อมูลทุกมิติ ขับเคลื่อนสร้างความปลอดภัยทางถนนนตลอดทั้งปี
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ