26 ชั่วโมงแห่งความตึงเครียด....เหตุเกิดที่บ้านมั่นคงชุมชนเลียบคลองสอง

รถพยาบาลนำผู้ก่อเหตุที่ได้รับบาดเจ็บจากการบุกเข้าไประงับเหตุในบ้านพักชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสองออกมาส่ง รพ.  เมื่อเที่ยงวันนี้ (15 มีนาคม)  ยุติเหตุระทึกขวัญที่ยาวนานกว่า 26 ชั่วโมง

เสียงปืนนัดแรกดังมาจากบ้านหลังหนึ่งในชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง  ซอยจิระมะกร  เขตสายไหม  กรุงเทพฯ เมื่อเวลาประมาณ 10 นาฬิกาเศษของวันที่ 14 มีนาคม   สร้างความแตกตื่นให้กับชาวชุมชน   บางคนกำลังกินข้าวมื้อสายด้วยความเอร็ดอร่อยต้องวางมือจากจานข้าว  เพื่อออกมาดูเหตุการณ์ที่หน้าบ้าน...

หลังจากนั้นเสียงปืนยังดังติดต่อกันอีกหลายนัด  ทำให้เกิดความโกลาหลไปทั้งชุมชน  บ้างรีบจูงลูกหลานเข้าบ้าน  แล้วปิดประตูแน่นหนา   บ้างออกมาสอบถาม  เสียงตะโกนโหวกเหวกดังลั่นไปทั้งชุมชน !!

ไม่นานเสียงไซเรนจากรถยนต์ปิกอัพของอาสาสมัครกู้ภัยที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุก็มาถึงก่อน  ติดตามด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.สายไหม  หลังจากนั้นกองทัพสื่อมวลชนที่ทราบเหตุ  และ  ‘หน่วยอรินทราช 26’  หน่วยปฏิบัติการพิเศษจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลายสิบนายได้เดินทางมายังจุดที่เกิดเหตุ

ตลอดช่วงเย็นวันที่ 14 มีนาคม  เจ้าหน้าที่พยายามเจรจาเกลี้ยกล่อมกับผู้ก่อเหตุ  ใช้เพื่อน  ใช้นักจิตวิทยา  และครอบครัว....แต่ไม่เป็นผล   และแม้จะใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่บ้านพัก  แต่ผู้ก่อเหตุยังไม่จำนน  ยังใช้ปืนยิงตอบโต้ออกมาเป็นระยะๆ  จนล่วงเข้าสู่เช้าวันที่ 15 มีนาคม... 

จนถึงเวลาประมาณเที่ยงวัน  เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงบุกเข้าไปชาร์จในบ้าน  มีการยิงปะทะกัน  เสียงปืนดังสนั่นกว่า 10 นัด  เหตุการณ์จึงยุติลง  ผู้ก่อเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส  ถูกนำส่งโรงพยาบาล  เหตุการณ์ระทึกขวัญกว่า 26 ชั่วโมงจึงยุติลง... !!

ควันแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ใช้ระงับเหตุ  แต่ไม่เป็นผลจึงต้องบุกเข้าชาร์จ (ภาพจากเพจอีจัน)

บ้านมั่นคงของคนริมคลองลาดพร้าว

ชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง  เป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยโครงการ 1 ใน 50  ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมคลองลาดพร้าว  เขตสายไหม  เดิมชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมคลองลาดพร้าวใกล้กับกองทัพอากาศดอนเมือง  และอยู่ไม่ไกลจากตลาดยิ่งเจริญสะพานใหม่มากนัก  สภาพเป็นชุมชนแออัด  ปลูกสร้างบ้านเรือนเรียงรายในพื้นที่ริมคลองซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ  กรมธนารักษ์ดูแล  และบางส่วนปลูกสร้างรุกล้ำลงไปในคลอง

ในปี 2559  รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีโครงการป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ  เพราะเคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554   สาเหตุหลักส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากมีสิ่งปลูกสร้าง  บ้านเรือนรุกล้ำคูคลอง   

รัฐบาล คสช.มอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อให้การระบายน้ำในคลองมีประสิทธิภาพ  เริ่มดำเนินการแห่งแรกในคลองลาดพร้าว   และมอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำลำคลอง 

สภาพบ้านเรือนที่รุกล้ำคลอง (ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ) ย่านสายไหม  ก่อนการพัฒนา

พอช. ใช้แนวทางการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองตามแนวทาง ‘บ้านมั่นคง’  ที่พอช.ใช้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศมาตั้งแต่ปี 2546  โดยมีหลักการสำคัญ  คือ  “ให้ชาวชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา”  พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุน 

เช่น  สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่ม  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อออมเงินเป็นรายเดือน  เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ฝึกการบริหารจัดการการเงิน  จัดตั้งสหกรณ์ขึ้นมาบริหารโครงการ   สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างบ้าน (บางส่วน) งบพัฒนาสาธารณูปโภคส่วนกลาง  สินเชื่อก่อสร้างบ้าน  ซื้อที่ดิน (กรณีอยู่ในที่ดินเดิมไม่ได้)  หากอยู่ในชุมชนเดิมได้  กรมธนารักษ์ในฐานะดูแลพื้นที่ราชพัสดุริมคลองจะให้เช่าที่ดินในระยะยาว (ระยะแรก 30 ปี)  ในอัตราผ่อนปรน

ในเดือนเมษายน 2559  ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  เขตสายไหม  (ตรงข้ามตลาดยิ่งเจริญ)  จำนวน 64 ครอบครัว  เข้าร่วมโครงการ ‘บ้านมั่นคงคลองลาดพร้าว’ เป็นชุมชนแรก  โดยรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากพื้นที่ริมคลองเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่   โดยมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกฯ ในขณะนั้น  เป็นประธานในพิธียกเสาเอก

หลังสร้างบ้านเสร็จในช่วงต้นปี 2560  ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญมีสภาพสวยงาม  เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุกเป็นชุมชนเช่าที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  มีหน่วยงานต่างๆ  เข้ามาส่งเสริมเรื่องอาชีพ  การจัดการน้ำเสีย  กำจัดขยะ  ปลูกต้นไม้  มอบเครื่องออกกำลังกายให้ชุมชน  ฯลฯ  ทำให้ชุมชนต่างๆ  เห็นเป็นแบบอย่างและทยอยเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง

พลเอกประวิตร  รองนายกฯ  เป็นประธานพิธียกเสาเอกสร้างบ้านชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญในเดือนเมษายน 2559

เช่นเดียวกับชาวชุมชนเลียบคลองสอง (คลองลาดพร้าว) ที่อยู่เยื้องกับชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  และอนาคตที่ดีกว่าเดิมของลูกหลานและครอบครัวจึงเข้าร่วมโครงการ  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน   ออมเงินกันอย่างน้อย 500-1,000 บาทต่อเดือน  ใครมีมากก็ออมมาก

แต่เนื่องจากชุมชนเลียบคลองสองเป็นชุมชนใหญ่  มีชาวบ้านอยู่อาศัยเกือบ 300 ครอบครัว  เมื่อรื้อบ้านออกจากแนวคลองแล้ว  พื้นที่ชุมชนเดิมไม่เพียงพอที่จะอยู่อาศัยได้ทั้งหมด  ชาวชุมชนจึงรวมกลุ่มกันไปหาที่ดินแปลงใหม่  ไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากนัก  ได้ที่ดินเปล่าในซอยจิระมะกร  เขตสายไหม  เนื้อที่ประมาณ  10 ไร่เศษ  ราคาประมาณ 50 ล้านบาท  รองรับชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 280  ครอบครัว 

โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและงบประมาณก่อสร้างบ้าน  (บางส่วน)  และสาธารณูปโภคส่วนกลาง  เช่น  ถนน  ระบบประปา  ไฟฟ้า  ฯลฯ  ชาวบ้านใช้สินเชื่อเฉลี่ยครัวเรือนละ  330,000  บาท  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,900 บาท  ระยะเวลา 20 ปี   และได้ร่วมกันจดทะเบียนเป็น ‘สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเลียบคลองสามัคคีจำกัด’  เพื่อก่อสร้างบ้านและบริหารสหกรณ์

เริ่มก่อสร้างบ้านในปี  2560  เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4 X 6 ตารางเมตร   ก่อสร้างบ้านเสร็จทั้ง 280 หลังในเดือนเมษายน 2562  หลังจากนั้นชาวบ้านจึงทยอยเข้าอยู่อาศัย  เปลี่ยนสภาพจากชุมชนแออัดบุกรุกริมคลอง  มีบ้านใหม่ที่มั่นคง  สวยงาม  ลูกหลานมีที่วิ่งเล่น  ฯลฯ   

สภาพชุมชนเลียบคลองสองในปัจจุบัน  รวม 280 หลัง/ครอบครัว

เสียงจากชาวชุมชนเลียบคลองสอง..ก่อนยุติเหตุระทึกขวัญ !!

นางทัศนีย์  พุฒแก้ว  ประธานชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง  บอกว่า  ชาวบ้านทั้งชุมชนมีทั้งหมดประมาณ 500  คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป   เป็นพนักงานบริษัท    ทำงานนอกชุมชน  และค้าขายเล็กๆ น้อย    อยู่กันด้วยความสงบสุขมาตลอด  ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา  ชุมชนได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  ทำครัวกลาง  แจกจ่ายอาหารช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ 

ส่วนตำรวจนายที่ก่อเหตุไม่ได้มีสิทธิ์ในบ้านมั่นคง  แต่เป็นเพื่อนกับเจ้าของบ้าน  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเจ้าของบ้านหลังนี้ไปเปิดอู่ซ่อมรถที่ต่างจังหวัด  บ้านจึงว่าง  เพื่อนตำรวจรายนี้และอีกคนที่เป็นตำรวจ สน.วิภาวดี  ได้มาขออยู่อาศัย  อยู่มาได้ประมาณ 1 ปีเศษ 

นางสาววิริยาณัฐ  สุดโท  เจ้าหน้าที่สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงเลียบคลองสองฯ   บอกว่า  เมื่อวาน (14 มีนาคม) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กั้นเขตไม่ให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุเข้าไปที่บ้านเพื่อป้องกันเหตุร้าย   เมื่อคืนมีชาวบ้าน 2 ครอบครัวที่อยู่ใกล้จุดเกิดเหตุมานอนพักอยู่ที่ทำการสหกรณ์ซึ่งห่างออกมาประมาณ 100 เมตร  ในจำนวนนี้มีเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดเกาะ 1 ราย  เรียนระดับประถม  วันนี้ (15 มีนาคม) ไม่สามารถไปโรงเรียนได้  เพราะชุดนักเรียน  กระเป๋าหนังสืออยู่ในบ้าน  ไม่ได้เอาออกมา 

นอกจากนี้ยังมีแม่ค้าขายผัก 1 คน  ไม่สามารถออกไปขายผักที่ตลาดได้  รวมทั้งเมื่อคืนมีชาวบ้าน 2 ครอบครัว  ต้องออกไปเช่าห้องพักชั่วคราวอยู่นอกชุมชน  ส่วนครอบครัวอื่นๆ ไปอาศัยนอนกับเพื่อนบ้าน  รวมแล้วมีชาวบ้านได้รับผลกระทบประมาณ 20 ครอบครัว

“ชาวบ้านอยากจะให้เหตุการณ์จบเร็วๆ เพราะหลายคนยังไม่ได้นอนหลับพักผ่อน  หลายคนออกไปทำมาหากิน  นอกบ้านไม่ได้  เพราะเข้าไปเอาของไม่ได้   นักเรียนก็ไม่ได้ไปเรียน  บางคนไม่ได้ไปสอบ    เจ้าหน้าที่เขตสายไหมบอกว่า  ถ้าเย็นนี้   เหตุการณ์ยังไม่จบ  จะให้ชาวบ้านที่เข้าบ้านไม่ได้ไปนอนที่โรงเรียนประชานุกูลที่อยู่นอกชุมชนก่อนเป็นการชั่วคราว”  เจ้าหน้าที่สหกรณ์รายนี้บอก

ล่าสุดวันนี้ (15 มีนาคม) เวลาประมาณ  12 นาฬิกาเศษ   หลังการเจรจาเพื่อยุติเหตุไม่เป็นผล  เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงบุกเข้าไปชาร์จในบ้าน  มีการยิงปะทะกัน  เสียงปืนดังสนั่นกว่า 10 นัด  เหตุการณ์จึงยุติลง  ผู้ก่อเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัส  ถูกนำส่งโรงพยาบาลภูมิพล  เหตุการณ์ระทึกขวัญนานกว่า 26 ชั่วโมงจึงยุติลง... !!

เจ้าหน้าที่ปิดกั้นพื้นที่  ก่อนเหตุระทึกขวัญจะยุติลง (ภาพจากเว็บไซต์คมชัดลึก)

ความห่วงใยจากกระทรวง พม.-พอช.

นับจากเหตุการณ์ตึงเครียดตั้งแต่เมื่อวาน   นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  และผู้บริหารกระทรวง พม.  มีความห่วงใยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน  โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง  เช่น  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยติดเตียง  และเด็ก  จึงให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายกฤษดา   ผอ.พอช. เยี่ยมชาวชุมชนบ้านมั่นคงเลียบคลองสอง

โดยในวันนี้ (15 มีนาคม)  เวลาประมาณ 13,30 น. นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  และคณะเจ้าหน้าที่ พอช.ได้เยี่ยมสมาชิกในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยติดเตียง  และผู้เปราะบางในพื้นที่   เพื่อให้กำลังใจ  และสอบถามชีวิตความเป็นอยู่

ขณะที่ชาวชุมชนได้สอบถามเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุ   บางคนเป็นผู้ป่วยติดเตียง ไม่มีรายได้  และเข้าไม่ถึงการบริการของรัฐที่ทันท่วงที   โดย ผอ.พอช.  กล่าวกับชาวชุมชนว่า  พอช.พร้อมที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องของชาวชุมชนในทุกมิติต่อไป   

ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  มีโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มเปราะบาง  เช่น  ผู้สูงอายุ  ผู้ป่วยติดเตียง   แม่เลี้ยงเดี่ยว  ผู้มีปัญหาทางสังคม  ผู้ที่มีรายได้น้อย  การส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ  ขณะที่ พอช.ก็มีการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเพื่อดูแลสมาชิกในชุมชนตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

ผอ.พอช.. (ที่ 5 จากซ้าย)  และคณะกรรมการชุมชนบ้านมั่นคงฯ

***********

เรื่องและภาพ :  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"วราวุธ" ย้ำ พม. ห่วงใย เหตุน้ำท่วมใต้ กำชับเยียวยากลุ่มเปราะบาง

วันที่ 21 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง พม. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

“วราวุธ” มอบ "ปลัด พม." ร่วมคณะนายกฯ “แพทองธาร” ลุยน้ำท่วมนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ ช่วยผู้ประสบภัย

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567