ครม.อนุมัติแผนแก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.35 จังหวัด รวม 27,084 ครัวเรือน ใช้งบ 7,718 ล้าน ด้านพอช.พร้อมเริ่มทันที

พลเอกประยุทธ์ร่วมกิจกรรมนำเสนอระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินทางสังคมของกระทรวง พม. ที่ทำเนียบรัฐบาล  ก่อนประชุม ครม.วันนี้ (14 มีนาคม) / ภาพจาก Facebook ไทยคู่ฟ้า

ทำเนียบรัฐบาล/ ครม.เห็นชอบอนุมัติแผน 5 ปี (2566-2570) แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ  ตามที่กระทรวง พม.เสนอ  รวม 35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084 ครัวเรือน ใช้งบ 7,718 ล้านบาท   โดยรัฐบาลจะอุดหนุนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ไม่เกินครัวเรือนละ 160,000 บาท  และสินเชื่อไม่เกิน 250,000/ครัวเรือน  ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือพอช. พร้อมเดินหน้าทันที  939 ครอบครัวใน 6 จังหวัด  เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง   มีคุณ ภาพชีวิตที่ดี

วันนี้ (14 มีนาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล  มีการประชุมคณะรัฐมนตรี  โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม  มีวาระการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  โดยคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

โดยทีมโฆษกคณะรัฐมนตรีแถลงรายละเอียดว่า  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  จะดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  โดยการกำกับของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   แบ่งการช่วยเหลือเป็น 3  ส่วน  คือ 1.งบอุดหนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  การก่อสร้างสาธารณูปโภค  การพัฒนาที่อยู่อาศัย ไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท  2.งบอุดหนุนผู้ได้รับผลกระทบ  เช่น  ค่าเช่าบ้านระหว่างการก่อสร้างบ้านถาวร  ไม่เกินครัวเรือนละ 80,000 บาท  และ 3.งบสินเชื่อเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยหรือซื้อที่ดินใหม่  ไม่เกินครัวเรือนละ 250,000 บาท

แผนงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยที่กระทรวง พม.เสนอ  ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

ย้อนรอยการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.      รูปธรรมที่ ‘หินเหล็กไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์’

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  มีแผนแม่บทในการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่  รถไฟความเร็วสูง  โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)  ขณะนี้หลายโครงการเริ่มดำเนินการแล้ว  เช่น   รถไฟรางคู่สายใต้   จากนครปฐม-หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  รถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ หนองคาย (กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย) ระยะทาง 609 กิโลเมตร  ขณะนี้กำลังก่อสร้างในช่วงนครราชสีมา   โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน   โครงการเด่นชัย จ.แพร่-เชียงของ จ.เชียงราย  ฯลฯ

ขณะเดียวกันมีชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศที่อาศัยอยู่ในที่ดิน รฟท. มานานหลายสิบปี  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนผู้มีรายได้น้อย  อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟ  ไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับ รฟท.  บางชุมชนทำสัญญาเช่าที่ดินอย่างถูกต้องกับ รฟท.  แต่จะถูกยกเลิกสัญญา  จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวเส้นทางการพัฒนาระบบรางเช่นกัน  

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีหลายสิบชุมชนที่ต้องรื้อย้ายออกจากที่ดิน รฟท. แล้ว  เช่น  ชุมชนย่านสถานีรถไฟหัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  รวม 19 ชุมชน  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง  ค้าขายเล็กๆ น้อย  ลูกจ้างร้านอาหาร  สถานบริการในหัวหิน  โดนรื้อย้ายตั้งแต่ช่วงปี 2561-2562  เพื่อก่อสร้างรางคู่เส้นทางนครปฐม-หัวหิน  ทำให้ชุมชนต่างๆ ต้องแตกฉานซ่านเซ็น  ไม่สามารถอยู่อาศัยเพื่อทำมาหากินที่หัวหินต่อไปได้

การก่อสร้างรางรถไฟรางคู่ย่านสถานีหัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์ (ภาพจาก รฟท.)

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ในฐานะโฆษก พอช.  กล่าวว่า  ที่ผ่านมา  พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนหินเหล็กไฟ   อ.หัวหิน  จ.ประจวบคีรีขันธ์  มี 70 ครอบครัว  ต้องรื้อย้ายออกจากที่ดิน รฟท.ในปี 2561-2562

ขณะที่ พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ โดยชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการแก้ไขปัญหา  แล้วจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยจัดซื้อที่ดินใหม่ในตำบลหินเหล็กไฟ  เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ เพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร  โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  รวมทั้งหมดประมาณ 27 ล้านบาทเศษ

เริ่มก่อสร้างบ้านในช่วงต้นปี 2564  แบ่งที่ดินได้ครอบครัวละ 22  ตารางวา  สร้างบ้านชั้นเดียวขนาดประมาณ  4x8   และ  6x8 ตารางเมตร  สร้างบ้านเสร็จในช่วงกลางปี 2565   ขณะนี้ชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยหมดแล้ว   ทำให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  สามารถทำมาหากินที่หัวหินต่อไปได้   โดยมีภาระผ่อนชำระค่าที่ดินและก่อสร้างบ้านประมาณเดือนละ 2,600 บาท  ระยะเวลา 15 ปี  ขณะที่หากเช่าที่พักในหัวหินจะมีค่าเช่าไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท/เดือน

ป้าอัมพร  นาถถัต  อายุ 65 ปี  อาชีพรับจ้างนวดแผนโบราณ  บอกว่า  บ้านเดิมอยู่อีสาน  เข้ามาหากินที่หัวหินตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน  ได้ค่านวดชั่วโมงละ 110 บาท  วันหนึ่งได้นวดไม่กี่ชั่วโมง  พอมีรายได้อยู่กินไปวันๆ   ต้องเช่าบ้านอยู่มาตลอด  พอโดนไล่ที่จึงมาเข้าร่วมกับโครงการบ้านมั่นคง   โดยออมทรัพย์กับสหกรณ์มาตลอด  เดือนละ 300 บาท  และส่งค่าหุ้นสหกรณ์เดือนละ 200 บาท  

“ตอนนี้ป้าเข้าอยู่ที่บ้านใหม่ได้เกือบ 1 ปีแล้ว  เป็นบ้านชั้นเดียวขนาด 4  คูณ  8 ตารางเมตร      ไม่กว้างใหญ่  แต่ก็อยู่กับลูกสาวได้สบาย  ดีกว่าเช่าบ้านอยู่  เพราะเป็นของตัวเอง  ป้าผ่อนเดือนละ 2,600 บาท   ถ้ามีนักท่องเที่ยวกลับมาที่หัวหินก็ยังทำมาหากินได้  มีรายได้พอส่งค่าบ้าน  ค่าที่ดิน  ลูกสาวทำงานแล้วก็ช่วยผ่อนด้วย”  ป้าอัมพรบอก

ป้าอัมพรกับบ้านหลังแรกในชีวิต

P-Move สลัม 4 ภาคผลักดันแก้ปัญหาที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ

ขณะเดียวกัน  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-Move  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  ได้เคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นผลกระทบมาจากนโยบายรัฐทั่วประเทศ  ซึ่งปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดิน รฟท. เป็นหนึ่งในปัญหาหลายสิบปัญหาที่ P-Move  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  เสนอให้รัฐบาลแก้ไข   โคยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์  2565  เห็นชอบตามข้อเสนอของ P-Move  ในการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.  โดยให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติคณะกรรมการ รฟท. 13 กันยายน 2543 

ทั้งนี้มติคณะกรรมการ รฟท.  วันที่ 13 กันยายน  2543  มีที่มาจากนโยบาย รฟท. ในปี 2541 จะนำที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศมาให้เอกชนเช่าทำธุรกิจ  ชาวชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค  เพื่อขอเช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องจาก รฟท.  เนื่องจากกลัวถูกไล่รื้อชุมชน

การเรียกร้องของชุมชนในที่ดิน รฟท.ยังดำเนินต่อเนื่องนับจากปี 2541  จนถึงเดือนกันยายน 2543   มีการชุมนุมที่หน้ากระทรวงคมนาคม  กรุงเทพฯ  มีชาวชุมชนทั่วประเทศมาแสดงพลังกว่า 2,000 คน  ใช้เวลา 3 วัน   ในที่สุดคณะกรรมการบริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย  หรือ ‘บอร์ด รฟท.’ ได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 กันยายน  2543  โดยเห็นชอบข้อตกลงตามที่กระทรวงคมนาคมเจรจากับผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  คือ

1.ชุมชนที่อยู่นอกเขตทางรถไฟ 40 เมตร  หรือที่ดิน รฟท.ที่เลิกใช้  หรือยังไม่มีแผนใช้ประโยชน์  ให้ชุมชนเช่าอยู่อาศัยระยะยาว 30 ปี   2.ที่ดินที่อยู่ในเขตทางรถไฟรัศมี 40 เมตรจากกึ่งกลางรางรถไฟ  ชุมชนสามารถเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  และต่อสัญญาเช่าได้ครั้งละ 3 ปี  หาก รฟท.จะใช้ประโยชน์จะต้องหาที่ดินรองรับในรัศมี 5 กิโลเมตร  ระหว่างการเช่า  รฟท.ต้องอนุญาตให้หน่วยงานต่างๆ  เช่น  ประปา  ไฟฟ้า  เข้ามาบริการชุมชนได้  ส่วนชุมชนจะต้องร่วมมือกับ รฟท.ในการจัดการสภาพพื้นที่ให้เรียบร้อย

3.กรณีชุมชนอยู่ในที่ดิน รฟท.รัศมี 20 เมตร  หาก รฟท.เห็นว่าไม่เหมาะสมในการให้เช่าเป็นที่อยู่อาศัยระยะยาว     ให้ รฟท.จัดหาที่ดินรองรับในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรจากชุมชนเดิม  4.ให้ตัวแทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  มีส่วนร่างสัญญาและกำหนดอัตราค่าเช่าที่ดินร่วมกับ รฟท. ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม

หลังจากมติบอร์ด รฟท.มีผล  ชุมชนในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  เช่น  กรุงเทพฯ  เชียงใหม่    สงขลา  ฯลฯ  รวม 61 ชุมชนได้ทยอยทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ  และพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2547  (อัตราค่าเช่าตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี)  จน รฟท.มีโครงการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศในปัจจุบัน  ทำให้มีชุมชนที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น เครือข่ายริมรางรถไฟและสลัม 4 ภาคจึงเคลื่อนไหวผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาจนประสบความสำเร็จ

ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  โดนหมายศาลให้รื้อย้ายบ้าน

นอกจากมติ ครม. 1 กุมภาพันธ์ดังกล่าวแล้ว  ครม.ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  จัดทำแผนงานรองรับที่อยู่อาศัยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง   โดยให้พิจารณาช่วยเหลืองบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัยเทียบเท่ากับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและเปรมประชากรที่ พอช. ดำเนินการอยู่

โดยที่ผ่านมา  พอช.ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) และเครือข่ายริมรางรถไฟ 5 ภาค  ร่วมกันสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในที่ดิน รฟท. ทั่วประเทศ  เพื่อจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางตามมติ ครม.ดังกล่าว

ผลการสำรวจพบว่า  มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ  ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน ขณะนี้บางชุมชนโดนไล่รื้อแล้ว  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟในย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ  ที่ต้องรื้อย้ายเพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน   ชุมชนริมทางรถไฟในเขต  อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.ขอนแก่น  จากโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย  ฯลฯ

นายสยาม  นนท์คำจันทร์  โฆษก พอช.  กล่าวว่า  ข้อมูลชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศนี้   พอช.ได้นำมาจัดทำเป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหา  โดยเสนอผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามลำดับ  เช่น  กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ   สภาพัฒน์  และสำนักงบประมาณ   จนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี  และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบแผนงานในการประชุมวันนี้ (14 มีนาคม)

ชุมชนริมรางรถไฟ อ.เมือง  จ.นครราชสีมา

พอช. พร้อมเดินหน้าพัฒนา 6  พื้นที่เร่งด่วน  939 ครอบครัว

โฆษก พอช. กล่าวว่า  หลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแผนงานการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในวันนี้แล้ว  พอช.ก็พร้อมจะเดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชน   โดยขณะนี้มี  6 พื้นที่เร่งด่วนที่จะดำเนินการ  คือ  1.ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวีที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน   ขณะนี้มีที่ดินรองรับย่านบึงมักกะสัน  เขตราชเทวี  จำนวน  306  ครอบครัว  โดย พอช. อยู่ในระหว่างการออกแบบที่อยู่อาศัย

2.ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดฉะเชิงเทรา  43 ครอบครัว  3..ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดพิษณุโลก  30 ครอบครัว   4.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  166  ครอบครัว  5.ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.ขอนแก่น 169  ครอบครัว  และชุมชนริมทางรถใน จ.ตรัง 225  ครอบครัว  รวมทั้งหมด 939 ครอบครัวที่จะดำเนินการในปีนี้

“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยนั้น  พอช.จะสนับสนุนตามกระบวนการบ้านมั่นคง  คือ  ชาวชุมชนที่เดือดร้อนต้องรวมกลุ่มกันจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  และจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการโครงการ  เมื่อสามารถเช่าที่ดินจาก รฟท. หรือหาที่ดินแปลงใหม่ได้แล้ว  พอช.ก็จะสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  การก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  เช่น  ถนน  ประปา  ไฟฟ้า  ระบบบำบัดน้ำเสีย   รวมครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน  160,000 บาท  และสินเชื่อซื้อที่ดิน  ก่อสร้างบ้านไม่เกิน 250,000 บาท  ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี”   นายสยามชี้แจงรายละเอียด 

ส่วนรูปแบบการดำเนินการนั้น  จะมีทั้งการปรับปรุง  ก่อสร้างบ้านในที่ดินเดิม (กรณีอาศัยในที่ดินเดิมได้)  การก่อสร้างบ้านในที่ดินใหม่   หรือจัดซื้อ-เช่าในโครงการที่มีอยู่แล้ว  เช่น  โครงการที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาติ  ฯลฯ   นอกจากนี้เมื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแล้ว  พอช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นจะร่วมกันส่งเสริมอาชีพ  พัฒนาสิ่งแวดล้อม  กิจกรรมเด็กและเยาวชน  การดูแลผู้สูงอายุ  ฯลฯ  เพื่อให้ชาวชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ตามแผนงานโครงการ  ในปี 2566 จะเริ่มดำเนินการใน  6 พื้นที่  รวม 939 ครอบครัว  ใช้งบประมาณ   267 ล้านบาทเศษ  และจะดำเนินการในปีต่อๆ ไป จนถึงปี 2570 รวมทั้งหมด  35 จังหวัด 300 ชุมชน  จำนวน  27,084 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด  7,718 ล้านบาทเศษ

ชาวชุมชนริมรางรถไฟใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา  8 ชุมชน  166 ครอบครัว  รวมตัวกันเช่าที่ดิน รฟท.บริเวณชุมชนบ้านพะไลห่างจากชุมชนเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร  เช่าที่ดิน รฟท. 7 ไร่เศษ  ระยะเวลา 30 ปี  ราคา ตรม.ละ 23 บาทต่อปี  เมื่อ ครม.อนุมัติแก้ปัญหาในวันนี้แล้ว  ชุมชนจะเริ่มก่อสร้างบ้านใหม่ได้ทันที

***********

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา