รองนายกฯ ‘จุรินทร์’ ร่วมงาน “บ้านสวย คลองใส วิถีใหม่ ชุมชนริมคลอง” มอบทะเบียนบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร 176 หลัง ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยให้คนจนครบ 1 ล้านหลังภายในปี 2579

รองนายกฯ จุรินทร์ร่วมงานที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร

คลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ /  รองนายกฯ จุรินทร์ ร่วมงาน  บ้านสวย  คลองใส  วิถีใหม่  ชุมชนริมคลอง

มอบทะเบียนบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองเปรมประชากร 176 หลัง  มีเป้าหมายทั้งหมด  38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน  โดยรัฐบาลมีแผนพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  ทั้งป้องกันน้ำท่วม  บำบัดน้ำเสีย  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  เชื่อมการคมนาคมรถ-ราง-เรือ ฯลฯ  ส่วนคลองลาดพร้าวสร้างบ้านแล้วกว่า 3,000 หลัง  ตั้งเป้าแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ 1 ล้านหลังภายในปี 2579

วันนี้ ( 27 พฤศจิกายน) เวลา 9.30 น.  ที่ริมคลองเปรมประชากร ชุมชนประชาร่วมใจ 2  เขตจตุจักร  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ  พร้อมด้วย นต.สุธรรม ระหงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายปฏิภาณ  จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และประชาชนประมาณ 200 คน ร่วมงาน บ้านสวย  คลองใส  วิถีใหม่  ชุมชนริมคลองการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร   

โดยรองนายกฯ และคณะได้ลงเรือตรวจเยี่ยมการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากร  ระยะทางประมาณ 1,800 เมตร  จากท่าเรือวัดเสมียนนารี  ผ่านชุมชนประชาร่วมใจ 1 และชุมชนประชาร่วมใจ 2  จากนั้นได้เดินเยี่ยมชมบ้านมั่นคง  พบปะพี่น้องประชาชน  มอบทะเบียนบ้านจำนวน 176 หลังให้กับชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร  ที่ก่อสร้างบ้านเสร็จและชาวบ้านเข้าอยู่อาศัยแล้ว  และมอบถุงน้ำใจให้ชาวชุมชน  จำนวน 200 ชุด

 นายจุรินทร์    รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  วันนี้เป็นเรื่องน่ายินดีที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2 สร้างบ้านเสร็จไปแล้ว 176 หลัง  ทางชุมชนต้องช่วยกันดูแลรักษาบ้าน  รักษาชุมชนให้สะอาด ต่อไปจะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนริมคลอง  ทำให้ชุมชนมีอาชีพรองรับที่มั่นคง  เปลี่ยนจากผู้ที่บุกรุกเป็นผู้อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 

รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน  เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัย    และจะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนต่อไปตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  แต่ประชาชนจะต้องช่วยกันดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม  ทำบ้านเรือนให้สะอาด  ดูแลคลองให้สวย  น้ำใส   คูคลองสะอาด  ปรับปรุงบ้านให้มีหน้าบ้านทั้ง 2 ด้าน ทั้งหน้าบ้านริมคลองและหน้าบ้านริมถนน ต่อไปในอนาคตจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของกรุงเทพมหานครรองนายกฯ กล่าว

รองนายกฯ เยี่ยมชาวชุมชนริมคลองเปรมฯ ชุมชนประชาร่วมใจ 2

รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า  รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกระดับ โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และยังไม่มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง จึงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  ระยะ 20 ปี  (2560-2579) รวมทั้งสิ้น 1,053,702 ครัวเรือน  

ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้แล้ว  รวมทั้งสิ้น 117,165 ครัวเรือน  คิดเป็นร้อยละ 11 ของเป้าหมายทั้งหมด  ประกอบด้วย  การพัฒนาที่อยู่อาศัยในเมืองตามแนวทางบ้านมั่นคง 30,535 ครัวเรือน  บ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร 7,261 ครัวเรือน  การปลูกสร้างและซ่อมแซมบ้านในชนบทตามแนวทางบ้านพอเพียง 78,671 ครัวเรือน  และศูนย์พัฒนาศักยภาพคนไร้บ้าน 698 ครัวเรือน (กรุงเทพฯ  ปทุมธานี  ขอนแก่น  เชียงใหม่)  ตามแผนงานจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2579

นางสมร  จันทร์ฉุน  ประธานสหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด  บอกว่า  ชุมชนประชาร่วมใจ 2 อยู่กันมานานกว่า 80 ปี  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  หาเช้ากินค่ำ  ปลูกสร้างแบบพออยู่พอกินตามฐานะของแต่ละครอบครัว  สภาพทรุดโทรมไม่แข็งแรง  ไม่มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย  เมื่อมีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเข้ามา  ชาวบ้านจึงยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการพัฒนาไปพร้อมกัน  เพราะเป็นโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและการอำนวยความสะดวกในการรื้อย้าย

ชาวบ้านรวมตัวกันเพื่อเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงชุมชนริมคลองของ พอช.  โดยก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจัดตั้งเป็นสหกรณ์  ใช้ชื่อว่า สหกรณ์เคหสถานประชาร่วมใจ 2 จำกัด  โครงการนี้จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชุมชน ทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม  และคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้ดีขึ้น   และดีใจที่เป็นชุมชนแรกของคลองเปรมประชากรในการพัฒนาชุมชน  หวังว่าจะเป็นต้นแบบการพัฒนาให้กับชุมชนอื่น ๆ ในคลองเปรมประชากรต่อไป”  นางสมรบอก

ชุมชนประชาร่วมใจ 2 สภาพเดิมเป็นชุมชนแออัดริมคลอง  ปัจจุบันสวยงามเป็นระเบียบ

เปิดแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว-เปรมประชากร

นายปฏิภาณ  จุมผา รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (รักษาการ ผอ.พอช.) กล่าวว่า  การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมประชากรดำเนินการในลักษณะเดียวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา  มีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ริมคลองซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ  บางส่วนปลูกรุกล้ำลงในคลอง  ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำในคลอง  นอกจากนี้ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีสภาพเป็นชุมชนแออัด  บ้านเรือนทรุดโทรม

สภาพชุมชนริมคลองลาดพร้าวก่อนการพัฒนา

รัฐบาลจึงมีโครงการปรับปรุงคลองทั้งระบบ  เช่น  รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำคลอง   ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเพื่อระบายน้ำ  ขุดลอกคลองให้ลึกกว่าเดิมเพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก  ช่วยป้องกันน้ำท่วม  ฯลฯ  เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นคลองแรกในปี 2559  โดยให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบสร้างเขื่อนระบายน้ำ  กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการบ้านมั่นคงรองรับประชาชนที่รื้อย้ายออกจากแนวคลองและแนวเขื่อนฯ  มีเป้าหมายทั้งหมด  50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน 

ขณะนี้ พอช.ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองลาดพร้าวแล้ว  จำนวน 35 ชุมชน   รวม 3,536  ครัวเรือน  แยกเป็น 1.ก่อสร้างแล้วเสร็จ  รวม 3,065 ครัวเรือน   2.อยู่ระหว่างการก่อสร้าง  194 ครัวเรือน  และ 3.พื้นที่พร้อมก่อสร้าง 277 ครัวเรือน  ทำให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  มีสภาพแวดล้อมที่ดี  เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุกเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย  โดยมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุน รักษาการ ผอ.พอช.กล่าว

ชุมชนริมคลองลาดพร้าวหลัง ม.ราชภัฏจันทรเกษม  เขตจตุจักร  (ซ้าย) หลังการพัฒนาที่อยู่อาศัยดูสวยงาม 

ส่วนหน่วยงานที่ร่วมสนับสนุน  เช่น  กองทัพบก  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กรมประชาสัมพันธ์  ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  กรมธนารักษ์ให้ชุมชนเช่าที่ดินสร้างที่อยู่อาศัยในอัตราผ่อนปรน  (ช่วงแรก 30 ปี)  กรุงเทพมหานคร  และสำนักงานเขตสนับสนุนการพัฒนาชุมชน  กรมส่งเสริมสหกรณ์แนะนำเรื่องการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารโครงการก่อสร้าง 

การประปานครหลวง  การไฟฟ้านครหลวง  สนับสนุนระบบสาธารณูปโภค    กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  และสถาบันการศึกษา  เช่น  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและอาชีพชาวชุมชน 

พอช. สนับสนุนงบประมาณการพัฒนาที่อยู่อาศัย  ครัวเรือนละ 147,000 บาท  แยกเป็น 1.งบพัฒนาสาธารณูปโภค 50,000 บาท   2.อุดหนุนการสร้างบ้าน  25,000 บาท   3.งบช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชน  72,000 บาท  สนับสนุนสินเชื่อกรณีอยู่อาศัยในที่ดินเดิมไม่เกิน 330,000 บาท  และจัดซื้อที่ดินใหม่เพื่อปลูกสร้างบ้าน  ไม่เกิน 360,000 บาทต่อครัวเรือน  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี  ระยะเวลาชำระคืน 20 ปี  

ส่วนรูปแบบที่อยู่อาศัย  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวคอนกรีต 2 ชั้น  ขนาด 4X7 ตารางเมตร  ราคาประมาณ  330,000 บาท  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,600 บาท 

ชุมชนริมคลองเปรมประชากรสภาพก่อนรื้อย้าย-สร้างบ้านใหม่

ส่วนคลองเปรมประชากร  เริ่มดำเนินการในปี 2563  โดยพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานยกเสาเอกสร้างบ้านใหม่ให้ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักร  เมื่อเดือนมกราคม 2563 ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว 176 หลัง  โดยรองนายก ฯ จุรินทร์  เดินทางมามอบทะเบียนบ้านให้ชาวชุมชนในวันนี้ 

ขณะที่ชุมชนอื่นๆ ในคลองเปรมประชากรกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ  มีเป้าหมายทั้งหมด  38 ชุมชน  รวม 6,386 ครัวเรือน  ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (เขตดอนเมือง หลักสี่ และจตุจักร) จำนวน 32 ชุมชน  และพื้นที่เทศบาลตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี  จำนวน 6 หมู่บ้าน  ก่อสร้างบ้านแล้วใน  5 ชุมชน  รวม  763 ครัวเรือน  (ร้อยละ 11.95 ของกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด) แยกเป็น 1.ก่อสร้างแล้วเสร็จ 196 ครัวเรือน   2.อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 472 ครัวเรือน  และ 3.พื้นที่พร้อมก่อสร้าง 95 ครัวเรือน 

นอกจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยและก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำในคลองเปรมประชากรแล้ว  รัฐบาลยังมีแผนพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  เช่น  สร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย  อุโมงค์ระบายน้ำจากคลองเปรมฯ สู่แม่น้ำเจ้าพระยา  เพื่อระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วม  ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ริมคลอง  ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนทางน้ำ  ส่งเสริมอาชีพชุมชน  ตลาดน้ำ  เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทางน้ำ-ทางจักรยาน-รถไฟฟ้า-รถยนต์  หรือ ‘รถ-ราง-เรือ’  ฯลฯ

ทั้งนี้การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี ( 2560-2579) ของรัฐบาลและกระทรวง พม.  โดยมีเป้าหมาย คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579

ชุมชนประชาร่วมใจ 2 เขตจตุจักรสภาพหลังรื้อย้าย-สร้างบ้านใหม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ