ดร.ป๋วย (แถวยืนที่ 2 จากซ้ายไปขวา) ผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท ในปี 2510 ได้ก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ (เกิดปี 2459 เสียชีวิต 2542) เป็นปูชนียบุคคลของสังคมไทย เป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บุกเบิกงานพัฒนาชนบท ฯลฯ ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะในปี 2508 และองค์การยูเนสโกยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกในปี 2558
ย้อนกลับไปในปี 2516 ดร.ป๋วยเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง “คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ขนาด 2 หน้า เพื่อนำเสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากนั้นมีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เรียกบทความนี้สั้นๆ ว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐตั้งแต่เกิดจนตาย มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า...
“ เมื่อผมอยู่ในครรภ์ของแม่ ผมอยากให้แม่ได้กินอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับการเอาใจใส่และบริการอันดีในเรื่องสวัสดิภาพของแม่และเด็ก...
ในระหว่าง 2-3 ขวบแรกของผม ซึ่งสมองและร่างกายผมกำลังเติบโตในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่และตัวผมได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์
ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาวหรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรมแห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ก็ขอให้มีโอกาสได้เรียน ไม่ว่าพ่อแม่ผมจะรวยหรือจน
เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม....
เมื่อแก่ ผมและเมียก็ควรจะได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา...” ฯลฯ
ดร.ป๋วยกับชาวบ้านในชนบท
รางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์
นั่นคือข้อเขียนและความปรารถนาดีต่อสังคมไทยที่ ดร.ป๋วยเขียนเอาไว้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.psds.tu.ac.th/puey ) แม้จนถึงบัดนี้ข้อเขียนนี้ก็ยังดูล้ำสมัย และเป็นแรงบันดาลใจให้คนในรุ่นต่อมาได้ก้าวเดินตาม เช่น การส่งเสริมงานพัฒนาในเมืองและชนบท การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนต่างๆ ขึ้นมาช่วยเหลือกัน การดูแลอนามัยแม่และเด็ก ตลอดจนการจัดสวัสดิการภาคประชาชน
โดยเฉพาะการจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันของภาคประชาชน ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ที่ไม่มีสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการ พนักงานรัฐ บริษัทเอกชน ถือเป็นการสืบสานปณิธานที่ ดร.ป๋วยเคยวาดหวังเอาไว้
ดังนั้นเพื่อส่งเสริมแนวคิดดังกล่าว หน่วยงานด้านสังคมหลายหน่วยงาน เช่น สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์, มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ, เครือข่ายสวัสดิการชุมชน, คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน), สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จึงร่วมกันจัดประกวดรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ” ตามแนวคิดการจัดสวัสดิการสังคม “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อยกย่อง เชิดชู องค์กรหรือกองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินงานช่วยเหลือ ดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ โดยจัดประกวดครั้งแรกในปี 2559 เพื่อเฟ้นหากองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่างๆ จากทั่วประเทศ ที่ผ่านมาจัดประกวดไปแล้ว 5 ครั้ง (ยกเว้นช่วงโควิด-19) มีกองทุนสวัสดิการที่ได้รับรางวัลไปแล้วประมาณ 40 กองทุน
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานสถาบันป๋วย (ที่ 4 จากซ้าย) มอบรางวัลให้แก่ผู้แทนกองทุนสวัสดิการฯ เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา
8 กองทุนดีเด่นรับรางวัลประจำปี 2566
ในปี 2566 นี้ เป็นการจัดประกวดรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นปีที่ 6 โดยเริ่มกระบวนการคัดเลือกกองทุนสวัสดิการที่มีความโดดเด่นในด้านต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีกองทุนฯ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศ จำนวน 50 กองทุน และผ่านกระบวนการพิจารณากลั่นกรองในระดับภาคสู่ระดับประเทศ จนได้กองทุนดีเด่น 8 กองทุนใน 8 ประเภท จากรางวัลทั้งหมด 10 ประเภท คือ
1.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร รางวัลประเภทที่ 2 : ด้านการพัฒนาสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร
2.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลวังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ รางวัลประเภทที่ 3 : ด้านการพัฒนาสังคมสูงวัย
3.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเสวียด อ.ท่าฉาง จ..สุราษฎร์ธานี รางวัลประเภทที่ 5 : ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
กองทุนฯ ตำบลเสวียดอนุรักษ์ต้นยางเหียง โดยขึ้นทะเบียนแล้ว 500 ต้น และเตรียมปลูกเพิ่มเติม
4.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบางขะแยง อ..เมือง จ.ปทุมธานี รางวัลประเภทที่ 6 : ด้านการพัฒนาสัมมาชีพในชุมชน
5 .กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตธนบุรี กรุงเทพฯ รางวัลประเภทที่ 7 : ด้านการสร้างความมั่นคง ความปลอดภัย
6.กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลเมืองตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี รางวัลประเภทที่ 8 : ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน
7.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบ้านใหม่ อ. พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รางวัลประเภทที่ 9 : ด้านการสร้างสังคมที่เป็นธรรม
และ 8.กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลเขาขาว อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช รางวัลประเภทที่ 10 : ด้านการฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมและสุนทรียะ
กองทุนฯ ตำบลเขาขาวส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนอนุรักษ์รำมโนราห์
ทั้งนี้รางวัลประเภทที่ 1 ด้านการพัฒนาครอบครัว แม่และเด็ก และประเภทที่ 4. ด้านการพัฒนาการศึกษา การเรียนรู้ ทักษะการดำรงชีวิต ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล (ดูรายละเอียดกองทุนที่ได้รับรางวัลที่ www.codi.or.th)
กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ได้รับรางวัลจะมีพิธีมอบโล่และใบประกาศเกียรติคุณในงานธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2566 ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย บางขุนพรหม กรุงเทพฯ ในวันนี้ (9 มีนาคม) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ !!
*******
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา